HomeBrand Move !!ถอดตัวตน WeWork หมาป่าห่มหนังลูกแกะสุดเนียนขนาด SoftBank ยังหลงกล

ถอดตัวตน WeWork หมาป่าห่มหนังลูกแกะสุดเนียนขนาด SoftBank ยังหลงกล

แชร์ :

 

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ย้อนกลับไปในปี 2010 ซึ่งเป็นปีแห่งการก่อตั้ง WeWork ในฐานะบริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ให้บริการสถานที่ทำงานแก่เทคสตาร์ทอัพ และองค์กรขนาดใหญ่ สภาพเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นอยู่ในภาวะชะลอตัว ทำให้มีตึกร้างว่างเปล่าอยู่มากมาย พอ ๆ กับการที่ผู้คนเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำงานและใช้ชีวิต ด้วยการหันมาเป็นฟรีแลนซ์ และสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพของตนเองกันมากขึ้น Adam Neumann, Miguel McKelvey และ Rebekah Neumann สามผู้ก่อตั้ง WeWork จึงสบช่องด้วยการเข้ามาพัฒนาพื้นที่ว่างเปล่าเหล่านั้น และทำเงินโดยการดึงคนที่อยากมีธุรกิจของตัวเองให้เข้ามาใช้งานพื้นที่ที่พวกเขาพัฒนาขึ้น

ลูกค้าในยุคเริ่มแรกของ WeWork เต็มไปด้วยสตาร์ทอัพ ไม่ว่าจะเป็น Consumr, Coupon Follow, Fitocracy, HackHands, Reddit, Turf, Whole Whale รวมถึงบริษัทอย่าง PepsiCo ที่ตัดสินใจหย่อนคนของตัวเองลงมาในพื้นที่ของ WeWork ด้วยเช่นกัน

ในช่วงปี 2014 นักลงทุนอย่าง J.P. Morgan Chase & Co, T. Rowe Price Associates, Wellington Management, Goldman Sachs Group, the Harvard Corp., Benchmark และ Mortimer Zuckerman เริ่มให้ความสนใจบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายนี้มากขึ้น เงินที่พวกเขาใส่เข้ามาทำให้ WeWork ขยายสาขาได้อย่างรวดเร็วจนมีจำนวนสาขาเพิ่มเป็นสองเท่าตัวภายในปีเดียว และการเติบโตที่รวดเร็วนี้ทำให้นิตยสาร Fast Company ตัดสินใจมอบตำแหน่ง The Most Innovative Companies ประจำปี 2015 ให้ WeWork ในที่สุด

อดีตซีอีโออย่าง Adam Neumann เคยแสดงวิสัยทัศน์ไว้อย่างสวยหรูว่า ในช่วงปี 2000 ที่ผ่านมาคือยุคของ “I” เห็นได้จากการที่เรามี iPhone, iPad และอีกสารพัด I แต่ยุคต่อไป (อีก 10 ปีนับจากนี้) คือยุคของ “We” นั่นคือคนเราจะหันมาทำงานร่วมกันมากขึ้น และ WeWork ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับรูปแบบการทำงานดังกล่าว

อย่างไรก็ดี แค่วิสัยทัศน์บอกอะไรมากไม่ได้ เราจึงได้เห็นคำถามที่ถาโถมเข้ามายัง WeWork ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาว่า บริษัทจะทำกำไรได้จริงหรือ โดยเฉพาะข้อเท็จจริงที่ว่า บริษัทมีการทำสัญญาเช่าระยะยาวกับอาคารสำนักงานต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้านานถึง 15 ปี แต่กลับปล่อยเช่าให้สมาชิกในระยะเวลาที่สั้นกว่ามาก เฉลี่ยรายละประมาณ 2 ปี ซึ่งหากพวกเขาย้ายออกจะกลายเป็นภาระที่ WeWork ต้องแบกรับทันที

ขณะที่โดมิโนด้านความเชื่อมั่นในตัวผู้บริหารของ WeWork ก็ง่อนแง่นเช่นกัน เห็นได้จากการซื้อเครื่องบินเจ็ทสุดหรูอย่าง Gulfstream G650 มูลค่า 60 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อมาเป็นยานพาหนะในการเดินทางของ Adam Neumann ในขณะที่พนักงานต้องทำงานอย่างสิ้นหวัง และไร้การการันตีว่าจะได้โบนัส หรือการขึ้นเงินเดือน การซื้อเครื่องบินเจ็ทนี้ทำให้ผู้ที่ติดตามความเคลื่อนไหวของ WeWork ตั้งคำถามถึงธรรมาภิบาลของผู้บริหารเพิ่มขึ้นด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีรายงานว่า WeWork ต้องจ่ายเงินเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่ Adam Neumann เป็นเจ้าของเพื่อมาให้บริการกับสมาชิกอีกต่อ ไม่นับรวมการดึงคนใกล้ชิดของ Adam Neumann เข้ามารับตำแหน่งต่าง ๆ ใน WeWork มากมายเต็มไปหมด

“จัดปาร์ตี้” กลดึงเงินจากกระเป๋านักลงทุน

แต่เงินจากนักลงทุนก็ยังไหลมาเทมาสู่ออฟฟิศของ WeWork ซึ่ง Wall Street Journal ได้เผยทริกที่ Adam Neumann เล่นกลกับกระเป๋าของนักลงทุนเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ก่อนที่ Neumann จะเชิญนักลงทุนมาที่สำนักงานใหญ่ของ WeWork นั้น (บางครั้ง) เขาจะสั่งให้พนักงานจัด “ปาร์ตี้” ขึ้นที่ออฟฟิศ ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อนักลงทุนย่างเท้าเข้ามา บรรยากาศย่อมเต็มไปด้วยชีวิตชีวา และดูเป็นการทำงานในสภาวะที่รื่นเริงดีทีเดียว

หนึ่งในคนที่ควักเงินให้ WeWork มูลค่า 15 ล้านเหรียญสหรัฐอย่าง Joel Schreiber มหาเศรษฐีในแมนฮัตตัน ยอมรับว่าเขาแทบไม่ได้ต่อรองอะไรเลย เขาแค่ชอบพลังงานอันล้นเหลือของ Adam Neumann เท่านั้นเอง

ส่วน SoftBank กลุ่มทุนกระเป๋าหนักที่ปัจจุบันน่าจะเป็นผู้ถือครองหุ้นของ WeWork มากที่สุดไปแล้ว ไม่มีรายงานว่าเจอฤทธิ์ปาร์ตี้ของ WeWork ด้วยหรือเปล่า แต่ SoftBank สนใจ WeWork และตัดสินใจเข้าร่วมลงทุนในปี 2017 ซึ่งจนถึงวันนี้คิดเป็นเงินที่ SoftBank ใส่เข้ามาใน WeWork ทั้งสิ้นประมาณ 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

แต่สุดท้าย สัญญาณไม่ดีของ WeWork ก็ปะทุขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อมีรายงานจาก Wall Street Journal พบว่า Adam Neumann มีการขายหุ้นมูลค่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐของตนเองออกไปก่อนหน้าที่จะยื่นเอกสาร S-1 ต่อ ก.ล.ต. ของสหรัฐอเมริกาเพียงไม่กี่วัน

ผีซ้ำด้ามพลอยเมื่อการยื่นเอกสาร S-1 ของ WeWork แสดงให้เห็นว่าแค่ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2019 บริษัทก็ขาดทุนอย่างหนักถึง 900 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ปี 2018 บริษัทขาดทุนถึง 1,900 ล้านเหรียญสหรัฐ (จากรายได้ 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือเท่ากับว่ามีการโยนเงินทิ้งไป 219,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 6.6 ล้านบาท) ทุก ๆ ชั่วโมง ระหว่างมีนาคม 2018 – มีนาคม 2019

การขุดรากถอนโคน WeWork จึงเริ่มขึ้น และความจริงหลายอย่างก็ถูกเผยออกมาให้เห็นกันว่า แท้จริงแล้ว WeWork คือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่พยายามเนียนเป็น Tech Company มาโดยตลอด

การแสดงตัวเป็น Tech Company ของ WeWork เกิดขึ้นผ่านเอกสารสำหรับยื่น IPO หลังมีการพบคำว่า Tech ปรากฏอยู่ตามที่ต่าง ๆ มากกว่า 100 แห่ง รวมถึงคำอธิบายที่ WeWork ระบุว่า เทคโนโลยีคือพื้นฐานของแพลตฟอร์มที่บริษัทสร้างขึ้น ส่วนวัตถุประสงค์ในการสร้างเทคโนโลยีก็เพื่อรองรับความสามารถในการสเกลธุรกิจ Space-as-a-service ให้รวดเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงลดค่าใช้จ่ายในการค้นหาตำแหน่งที่ตั้ง ฯลฯ ได้ดีขึ้น

อีกสิ่งหนึ่งที่ WeWork ใช้ในการยืนยันว่าพวกเขาเป็น Tech Company ก็คือจำนวนวิศวกร, Product Designer และผู้เชี่ยวชาญด้าน Machine Learning ที่มีอยู่มากถึง 1,000 คน จากจำนวนพนักงานทั้งหมด 12,500 คน

อย่างไรก็ดี เมื่อหันมาดูตัวเลขรายได้ของ WeWork กลับไม่พบว่า ซอฟต์แวร์ หรือแอปพลิเคชันจะนำพารายได้เข้าองค์กรแต่อย่างใด โดยรายได้ของ WeWork มาจากสองทาง นั่นคือ “รายได้จากเมมเบอร์ชิป-การบริการ” และ “รายได้อื่น ๆ” ซึ่งประกอบด้วยรายได้จากสปอนเซอร์ และการขายตั๋วอีเวนท์

สำคัญที่สุดก็คือ สินค้าหลักที่นำพารายได้เหล่านั้นเข้ามาก็คือ ตัวออฟฟิศที่เปิดให้เช่า หาใช่ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นโดยมีเทคโนโลยีอยู่เบื้องหลังแต่อย่างใด

ไม่เพียงเท่านั้น Harvard Business School ยังได้มีการเผยแพร่บทวิเคราะห์ถึงความแตกต่างระหว่าง Tech Company สไตล์ WeWork กับ Tech Company สไตล์ Google, Airbnb, Uber, Twitter, Microsoft หรือแม้กระทั่ง Facebook เอาไว้ด้วยว่า

บริษัทอย่าง Google – Facebook – Microsoft นั้นสามารถสเกลได้แบบ Exponential ในชั่วข้ามคืน โดยที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพียงนิดเดียว

หรือหากกล่าวให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็คือ Microsoft สามารถขายไลเซนต์ระบบปฏิบัติการ Windows 10 กี่ชิ้นก็ได้โดยที่ต้นทุนแทบจะคงเดิม หรือ Facebook สามารถรับลงโฆษณาให้ลูกค้ากี่รายก็ได้ บนแพลตฟอร์มที่พวกเขามีอยู่

แต่ Tech Company สไตล์ WeWork นั้นไม่ใช่เลย บริษัทมีค่าเบียร์, ค่าของว่าง, ค่ากาแฟ และอื่น ๆ อีกมากมายที่ต้องจ่ายเพื่อแลกกับการเข้าใช้บริการของเมมเบอร์ ไม่นับรวมค่าบำรุงรักษาสถานที่, ค่าประกันภัย, ค่าดูแลความปลอดภัย ฯลฯ

ความจริงอีกข้อที่ทำให้ WeWork แตกต่างจาก Tech Company อื่น ๆ ก็คือเรื่องการถือครองดาต้าที่พบว่าไม่มีความชัดเจนในการเก็บข้อมูล แตกต่างจาก Uber, Amazon, Apple, Google, Facebook ฯลฯ ที่จะเห็นว่ามีการชิงไหวชิงพริบเพื่อให้คนอยู่กับแพลตฟอร์มของตนเองให้ยาวนานที่สุดมาโดยตลอด

ดังนั้น กล่าวโดยสรุปแล้ว WeWork ก็คือบริษัทให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ดี ๆ นี่เอง

ความจริงดังกล่าวส่งผลให้มูลค่าของบริษัทจากที่เคยสูงถึง 47,000 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อช่วงต้นปี 2019 ถูกหั่นลงมาจนอยู่ที่ราว ๆ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น โดยสิ่งที่นักวิเคราะห์สรุปได้จากเอกสารก็คือ ไม่เห็นหนทางที่ WeWork จะทำกำไรได้เลย

สุดท้าย WeWork จึงต้องระงับการยื่น IPO ออกไป

คนที่นั่งไม่ติดรายแรกหนีไม่พ้น SoftBank เพราะจากเงินทุนที่ใส่ลงมาให้ WeWork นั้น มูลค่าของมันได้หดเล็กลงอย่างน่าใจหาย สิ่งที่ SoftBank ต้องรีบเข้ามาจัดการก็คือการลงทุนอีกครั้งใน WeWork เพื่อให้มีสัดส่วนที่มากพอ จะได้ส่งคนของตนเองเข้ามากุมบังเหียนกิจการนี้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งการลงทุนครั้งล่าสุดของ SoftBank ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของ SoftBank เพิ่มขึ้นเป็น 80% และนั่นนำไปสู่ฝันร้ายของชาว WeWork อย่างแท้จริง

โดยฝันร้ายข้อแรกที่ชาว WeWork ต้องเผชิญก็คือการลดจำนวนพนักงานครั้งใหญ่ ตามที่ Marcelo Claure ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการคนใหม่สายตรงจาก SoftBank บอกว่าต้องเกิดขึ้น

โดยสื่ออย่าง Financial Times เคาะตัวเลขมาว่า WeWork อาจต้องปรับลดพนักงานออก 1 ใน 3 หรือราว ๆ 4,000 คน จากที่มีอยู่ 12,500 คน เพื่อให้เหมาะสมกับขนาดธุรกิจ กระนั้น ก็เป็นไปได้ว่า การลดพนักงานครั้งนี้อาจต้องทอดระยะเวลาออกไป เนื่องจาก WeWork เพิ่งประกาศผลการดำเนินงานขาดทุน 900 ล้านเหรียญสหรัฐไปเมื่อกลางปี ในภาวะเช่นนี้ อาจเป็นเรื่องยากที่บริษัทจะหาเงินมาจ่ายค่าชดเชยให้กับพนักงานที่จะปลดออกได้

นอกจากนั้น เครื่องบินเจ็ทส่วนตัวของ Neumann ก็ต้องถูกนำมาเลหลัง รวมถึงธุรกิจที่ WeWork ซื้อมาก่อนหน้านี้ อย่าง Conductor, Managed by Q และ Meetup ก็จะถูกขายออกไปเช่นกัน

แน่นอนว่า บรรดาเพื่อนของ Neumann และคนใกล้ชิดที่เข้ามารับตำแหน่งใน WeWork เต็มไปหมดก็ต้องเตรียมตัวเก็บกระเป๋าออกจากบริษัทด้วย ซึ่งจากจุดนี้ WeWork ควรจะเสียขวัญจากข่าวฉาวมากมาย แต่ผลปรากฏว่า WeWork ก็ยังประกาศเดินหน้าเปิด 2 ออฟฟิศใหม่ในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์กันต่อไป ส่วน Neumann ซึ่งกลายเป็นอดีตซีอีโอไปแล้วนั้น ก็ต้องยอมรับว่าทำบุญมาดี เพราะการสละเก้าอี้ผู้บริหาร WeWork ในครั้งนี้ เขาได้แพกเกจเป็นมูลค่า 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐไปนอนกอดเป็นที่เรียบร้อย

แต่สิ่งที่จะตามมาจากเหตุการณ์นี้ก็คือ ความขยาดของนักลงทุนต่อธุรกิจสตาร์ทอัพที่ให้อำนาจกับผู้ก่อตั้ง หรือนักลงทุนในช่วงแรก ๆ “มากเกินไป” ภายใต้สิ่งที่เรียกว่า High-Voting Shares ซึ่งแม้สตาร์ทอัพเหล่านั้นจะมองว่า High-Voting Shares เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อรักษาทิศทางในการดำเนินกิจการ ไม่ให้ผิดเพี้ยนไปจากสิ่งที่ผู้ก่อตั้งวางเป้าหมายเอาไว้ก็ตาม แต่ในอนาคต หากสตาร์ทอัพไม่สามารถสร้างสมดุลระหว่างผู้ถือ High-Voting Shares กับสภาพเศรษฐกิจที่แท้จริงได้ ก็คงไม่มีใครอยากเป็น SoftBank เบอร์ 2, 3, 4 เป็นแน่

Source

Source

Source

Source

Source

Source

Source

 


แชร์ :

You may also like