ประเทศเนเธอร์แลนด์ (Netherland) หรือเดิมเรียกว่า ฮอลแลนด์ มีองค์ความรู้และกลยุทธ์ “ความยั่งยืน” ในการบริหารประเทศมาอย่างยาวนาน เพื่อให้อยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีความสุขและยั่งยืน ตัวอย่างเช่น การบริหารจัดการน้ำมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 ซึ่งกลยุทธ์ได้สอดคล้องกับ Sustainability Development Goals ของ UN
BrandBuffet ชวนมาถอดบทเรียนจาก 4 องค์กรสัญชาติ “ดัตซ์” ที่มีใจเพื่อสังคมในด้านการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนสไตล์ดัตช์ๆ ที่ไม่ใช่ดัตช์ก็สามารถมาช่วยกันได้เช่นกัน
KLM เที่ยวบินสู่ความยั่งยืนตั้งแต่พรมไปถึงการทำงานของนักบิน
ใครจะไปคิดว่าสายการบินกับความยั่งยืนจะไปด้วยกันได้ เนื่องจากธุรกิจการบินคือคนที่ใช้เชื้อเพลิงอย่างหนักหน่วงในการบินแต่ละเที่ยว แต่ KLM เริ่มต้นด้วยการตั้งเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ลง 20% ต่อผู้โดยสาร 1 คน ภายในปี 2020 โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2011 ซึ่งในปี 2017 สามารถลดได้แล้ว 16%
KLM หันกลับมามองทุกๆ กิจกรรมของบริษัทว่าอะไรยั่งยืนและไม่ยั่งยืนบ้างและทำการเปลี่ยนให้สิ่งที่ไม่ยั่งยืนนั้นให้ยั่งยืน เช่น พรมบนเครื่องบินมักมีอายุการใช้งานไม่นานเมื่อเทียบกับอายการใช้งานของตัวเครื่องบินที่อาจจะนานไปถึงหลาย 10 ปี KLM เลือกใช้ชุดเครื่องแบบของพนักงานเก่ามาเปลี่ยนให้เป็นพรม ลดการสร้างขยะและต้นทุนในการผลิตเส้นใยเพื่อมาทำพรมใหม่
นอกจากนี้น้ำหนักบรรทุกของเครื่องบินถือเป็นปัจจัยหลักของการใช้เชื้อเพลิง KLM พยายามทำทุกวิถีทางในการลดน้ำหนักการบรรทุกตั้งแต่จานกระเบื้องน้ำหนักเบา ขวดไวน์ รถเข็นที่ใช้เสิร์ฟอาหารน้ำหนักเบา จนไปถึง เอกสารนักบินที่ปกติหนักมากมาใช้เอกสารต่างๆ ผ่าน iPad แทน
สำหรับการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์นั้น KLM พยายามหันมาใช้เชื้อเพลิง biofuel จากน้ำมันทอดใช้แล้ว และ ความพิเศษของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ KLM เลือกใช้คือมันสามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 80% นี่ยังไม่รวมถึงวิธีการล้างเครื่องบินแบบกึ่งเปียกกึ่งแห้งที่สามารถประหยัดน้ำได้ไม่น้อยกว่าปีละ 8 ล้านลิตร และ ใน 1 เที่ยวบินก่อให้เกิดขยะจำนวนมาก ซึ่งจำเป็นที่ต้องแยกขยะก่อนนำไปรีไซเคิล ซึ่ง KLM ไม่นิ่งนอนใจกับขยะเหล่านี้ โดยแยกขยะคร่าวๆ ระหว่างเที่ยวบินไว้อยู่ส่วนหนึ่ง และ หลังจากเครื่องบินลงจอดแล้วจะส่งขยะดังกล่าวมาแยกต่อแบ่งออกเป็น12 ประเภทเพื่อส่งต่อไปรีไซเคิลตามชนิดของขยะเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดต่อไป
นอกจากนี้ KLM ยังมองว่าความรู้ในการบริหารสายการบินอย่างยั่งยืนนั้นจำเป็นต่อทั้งอุตสาหกรรมการบินพาณิชย์มาก โดย KLM ตกลงเป็นพันธมิตรให้ความช่วยเหลือสายการบินอื่นเพื่อเปลี่ยนมาเป็นสายการบินเพื่อความยั่งยืนด้วยกันทั้งอุตสาหกรรม รวมทั้ง Thai Airways International ก็เข้ามาจับมือเป็นพันธมิตรครั้งนี้อีกด้วย
Shell พลังงานแห่งอนาคต
น้ำมันจะหมดโลก เป็นประโยคที่ได้ยินมาไม่น้อยกว่า 10 ปี แต่ไม่รู้ว่าน้ำมันจะหมดโลกก่อนหรือโลกจะดับสูญจากการใช้ทรัพยากรเหมือนโลกนี้มี 3 ใบจะเกิดขึ้นก่อนกันเชลล์ไม่นิ่งนอนใจจะรอให้น้ำมันหมดโลกหรือโลกสล่ายไปก่อนทั้งนั้น
สิ่งที่เชลล์ (Shell) ทำในตอนนี้คือการมุ่งเป็นผู้จำหน่ายพลังงานแห่งอนาคตทั้งหมด ผ่านโปรแจค New Energies แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ เชื้อเพลิงแบบใหม่สำหรับการขนส่ง เช่น biofuel, ไฮโดรเจน และ พลังงานไฟฟ้า ที่เชลล์เข้าไปมีบทบาทในเกือบทุกขึ้นตอนตั้งแต่การผลิต ซื้อ ขาย และส่งต่อไปให้ผู้บริโภคใช้โดยตรงตามบ้านที่อยู่อาศัยหรือโรงงานซึ่งจากสภาพของระบบพลังงานโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปเพื่อรองรับคนและเมืองที่มีมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ส่งผลโดยตรงต่อความต้องการใช้พลังงานที่จะมีมากขึ้นตามไปด้วย แต่โลกนี้ก็ต้องการพลังงานที่สะอาดมากขึ้น ปล่อยคาร์บอนน้อยลง และ ต้องลดปัญหาสภาวะโลกร้อนอีกด้วย ที่ผ่านมา โครงการ New Energies ลงทุนปีละกว่า 2 พันล้านดอลลาร์เพื่อหาพลังงานสะอาดเพื่อโลกสำหรับทุกคน
เชลล์ลงตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะลงทุนต่อไปเพื่อเป้าหมายของการหาโอกาสทางการค้าจนถึงปี 2020 ในอุตสาหกรรมพลังงานที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เชลล์เข้าซื้อกิจการ sonnen Group ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตระบบจัดเก็บพลังงานอัจฉริยะสำหรับบ้านอยู่อาศัย และ ยังเป็นผู้นำของเทคโนโลยีสำหรับระบบพลังงานสะอาดที่กระจายตัวและเชื่อมต่อเข้าด้วยกันอีกด้วย ที่ผ่านมา sonnen ได้รับรางวัลระดับโลกมากมายจาก virtual battery ที่ติดตั้งกับระบบเก็บพลังงานตามที่อยู่อาศัยพร้อมทั้งระบบ grid แบบใหม่ โดยที่ผ่านมีทำการตลาดอยู่ที่เยอรมนี อิตาลี สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และ สหรัฐอเมริกา
Unilever ผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนแก้ปัญหาขยะพลาสติกลงทะเล
สินค้า FMCG เป็นสินค้าสิ้นเปลือง ผู้ผลิตอย่าง Unilever รู้ดีว่าพลาสติกสำหรับบรรจุภัณฑ์นั้นมีความสิ้นเปลืองมาก แต่ Unilever ตั้งเป้าหมายว่าภายในปี2025 บรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้งหมดจะทำมาจากพลาสติกรีไซเคิล100%
จากสถิติทั่วโลกพบว่า มีเพียง 14% ของพลาสติกเท่านั้นที่มีการนำกลับมาใช้ใหม่ผ่านกระบวนการรีไซเคิล ในขณะที่อีก 40% ถูกนำไปฝังกลบ และกว่า 30% หลุดไปอยู่ในระบบนิเวศธรรมชาติ หากเป็นอย่างนี้ต่อไป ภายในปี 2050 จะมีจำนวนพลาสติกในมหาสมุทรมากกว่าจำนวนปลา
Unilever เริ่มเปลี่ยนแปลงตั้งแต่การออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ ที่มีแนวทางการออก 3 แนวทางคือ Less plastic ใช้ให้น้อยลง น้ำหนักที่เบาขึ้น, Better plastic พลาสติกที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ และ No plastic ที่เปลี่ยนจากพลาสติกเป็นวัสดุจากธรรมชาติ เช่น ด้ามแปรงสีฟันที่ทำมาจากไม้ไผ่ จนไปถึงการจัดการปัญหาขยะเพื่อปิดช่องทางของขยะที่สร้างจากผลิตภัณฑ์ของ Unilever เอง ไม่ว่าจะเป็นการแยกขยะ หรือในบางตลาด Unilever จะเป็นคนไปตามเก็บขยะพลาสติกเหล่านั้นเอง ตามหลัก 3Es คือ Educate เพื่อสร้างความตระหนักรู้และความรู้ให้กับผู้บริโภคถึงความจำเป็นในการแยกขยะและกำจัดขยะให้ถูกวิธี, Enable ในบางตลาดที่ระบบเก็บขยะไม่มีประสิทธิภาพดีพอ Unilever จะเป็นผู้เข้าไปเก็บขยะพลาสติกของตัวเองผ่านโครงการธนาคารขยะหรือการรวมตัวกันของชุมชน, และ Expand โดยการเริ่มทำระบบจัดการของเสียอย่างเต็มตัวเพื่อนำพลาสติกกลับมารีไซเคิลให้ได้มากที่สุดและเพื่อป้องกันปัญหาพลาสติกหลุดไปสู่ธรรมชาติ
Paul Polman ซีอีโอของ Unilever กล่าวว่า“พลาสติกถือว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ของพวกเราโดดเด่น ปลอดภัย และใช้งานง่ายต่อผู้บริโภคของพวกเรา แต่แน่นอนว่าหากพวกเราต้องการจะใช้ประโยชน์ของมันต่อไป พวกเราต้องรวมตัวกันทั้งอุตสาหกรรมเพื่อจัดการด้วยความรับผิดชอบและอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับพลาสติกที่ผู้บริโภคใช้แล้ว
“ปัญหาพลาสติกที่หลุดไปในมหาสมุทร พวกเรามีหลายวิธีในการจัดการปัญหานี้ หนึ่งในนั้นคือการหยุดการทิ้งขยะลงแหล่งน้ำ พวกเราหวั่งว่าความตั้งใจนี้จะโน้มน้าวผู้เล่นคนอื่นในอุตสาหกรรมมาช่วยในการจัดเก็บขยะในขึ้นแรกสู่เส้นทางของการใช้พลาสติกชนิดที่สามารถรีไซเคิลได้ทั้งหมด (เพราะไม่ใช่พลาสติกทุกชนิดจะสามารถรีไซเคิลได้)
“พวกเราทุกคนต้องร่วมมือกันทั้งในอุตสาหกรรม รัฐบาล และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในการพัฒนาและการจัดเก็บขยะพลาสติกในเศรษฐกิจหมุนเวียน(circular economy) สุดท้ายแล้ว พวกเราต้องการให้พลาสติกหมุนเวียนได้ทั้งหมดโดยไม่มีการหลุดออกไปยังธรรมชาติ”
Synova startup ไฟฟ้าพลังขยะตามเศรษฐกิจหมุนเวียน
นอกจากประเทศเนเธอร์แลนด์จะมีบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่หันมาสนใจความยั่งยืนอย่างจริงจังแล้ว กิจการสตาร์ทอัพของเนเธอร์แลนด์เองก็มีหลายแห่งที่มุ่งเน้นแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนด้วย
Synova เป็นสตาร์ทอัพที่ผลิตเตาเผาขยะให้เปลี่ยนมาเป็นพลังงานในขั้นตอนที่มีชื่อว่า MILENA-OLGA ซึ่งใช้ชีวมวล(biomass) มาผลิตกระแสไฟฟ้า ในขณะที่บริษัทอื่นไม่มาสนใจจะใช้ชีวมวลมากนักเพราะเนื่องจากจะทำให้เกิดทาร์ซึ่งทำให้อุดตันเครื่องจักร ลดประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าและทำให้เครื่องจักรพังในที่สุดแต่ในท้ายที่สุดสามารถแก้ปัญหาทาร์ได้ และทำให้วิธีนี้เป็นวิธีที่กำจัดขยะได้ดีที่สุดในตอนนี้ Synova จึงถือกำเนิดขึ้นจากการรวมตัวของอดีตนักวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลในการเอาเทคโนโลยีเผาขยะให้เป็นไฟฟ้านี้มาสู่ตลาด
โปรเจคที่ผ่านมาและประสบความสำเร็จอย่างมากจนสร้างชื่อเสียงให้กับ Synova คือ โรงไฟฟ้า 3.5 Megawatt ที่โปรตุเกส และ โรงไฟฟ้า 4.8 Megawatt ที่อินเดีย ซึ่งโดยเฉพาะที่อินเดีย ก่อนหน้านี้มลภาวะทางอากาศ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการเผาขยะทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 2.5 ล้านคนต่อปี โดยมีโปรเจคโรงไฟฟ้าขนาด 30 Megawatt ของกรุงเทพที่คาดว่าจะสามารถเปิดตัวได้ในปี2019 นี้ รวมทั้งยังมีโปรแจคอื่นที่คอสตา ริก้า และ แคลิฟอเนีย อีกด้วย
Kees Rade ท่านเอกอัคราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทยกล่าวในพิธีเปิด Dutch Sustainability Day ถึงความร่วมมือในการแบ่งปันความรู้ งานวิจัย และวิธีการแก้ปัญหาของทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกัน โดยประเทศเนเธอร์แลนด์มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน และทิ้งท้ายไว้ว่า “We’re all in this together and we need to act now.”
Writer : Tata W.
Source:https://blog.klm.com/making-klm-more-sustainable-but-how/
https://www.shell.com/energy-and-innovation/new-energies.html
https://synovapower.com/were-drowning-in-trash-these-dutch-scientists-have-a-solution/