HomeSeminar & EventsWATS FORUM 2019 พลิกวิถีชีวิต “คนเมือง” ให้ดีขึ้น… เริ่มด้วยการออกแบบผังเมืองและสถาปัตยกรรมอย่างยั่งยืน

WATS FORUM 2019 พลิกวิถีชีวิต “คนเมือง” ให้ดีขึ้น… เริ่มด้วยการออกแบบผังเมืองและสถาปัตยกรรมอย่างยั่งยืน

แชร์ :

เคยตั้งคำถามกันไหมว่า การออกแบบสถาปัตยกรรมและผังเมืองมีความสำคัญต่อการยกระดับความเป็นอยู่และทำให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้นอย่างไร  ทั้ง ๆ ที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวของเราทุกคน โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง จนก่อเกิดปัญหาสะสมมากมาย ทั้งในเรื่องของความแออัดของประชากร การจราจรที่ติดขัด ตลอดจนภาวะน้ำท่วมขัง สเตฟาน เดอ โคนิง (Stefan de Koning) มีคำตอบและแนวทางในการแก้ไขเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สเตฟาน คือสถาปนิกชั้นนำระดับโลก ตำแหน่ง Senior Associate จาก MVRDV สำนักงานออกแบบสถาปัตยกรรมและผังเมืองชื่อดังระดับโลก จากเนเธอร์แลนด์  ซึ่งมีผลงานโดดเด่นในการออกแบบที่ผสานความใส่ใจในสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน ที่ได้รับเชิญจากศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) ของบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) มาร่วมเป็นหนึ่งในผู้บรรยายใน WATS FORUM 2019 ฟอรั่มระดับนานาชาติ

MVRDV ออกแบบโครงการต่าง ๆ ในเขตเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกรวมกันแล้วกว่า 125 ล้านตารางกิโลเมตร ตั้งแต่ที่อยู่อาศัยสำหรับครอบครัวเดียวเรื่อยไปจนถึงอาคารสาธารณะใน 47 ประเทศทั่วโลก โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยทำให้วิสัยทัศน์เพื่อการออกแบบอย่างยั่งยืนสำหรับทุกคนในสังคมเป็นจริงได้ โดยจะต้องคำนึงความเป็นอยู่ที่ดีของคนทุกระดับ

ในฐานะสถาปนิก หรือนักออกแบบเมือง สิ่งที่จะต้องคำนึงถึงนอกจากจะเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งทุกคนได้รับประโยชน์ร่วมกันแล้ว ยังต้องคำนึงถึง Psychological Issue ต่าง ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความแออัดยัดเยียดหรือความหนาแน่นของประชากรที่อาศัยอยู่ในเมือง กลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ เสียงดังจ้อกแจ้กจอแจ ตลอดจนการบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ชุมชน และพื้นที่ส่วนตัวให้เกิดขึ้นอย่างลงตัว เช่น ตัวอย่างของ Future Towers โครงการที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่เพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยกว่า 5,000 คน ที่มีแบ็คกราวด์แตกต่างกัน ในชุมชน Amanora Park Town ของอินเดีย ซึ่งตั้งอยู่ย่านชานเมืองซึ่งเป็นพื้นที่ที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยออกแบบเป็นกลุ่มอาคารโครงสร้างผลึก 6 เหลี่ยม สูงลดหลั่นกันไปตั้งแต่ 17-30 ชั้น จำนวน 9 อาคารที่เชื่อมต่อกัน มีห้องขนาด 45-450 ตารางเมตร ตรงกลางเป็นสนามหญ้าเอนกประสงค์สำหรับทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการออกแบบบล็อกเปิดโล่งรับแสงสำหรับการพักผ่อนสอดแทรกอยู่ในระหว่างชั้น

ในภาพรวมสเตฟานมองว่า การออกแบบสถาปัตยกรรมและผังเมืองมีความท้าทายและยากมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างมีรูปแบบที่ชัดเจน แน่นอน และเหมาะสม เนื่องจากผู้คนมีความต้องการมากขึ้น เมืองมีขนาดใหญ่ขึ้นและสลับซับซ้อนมากขึ้น อีกทั้งเมืองยังโตเร็วมากกว่าเคย ในขณะเดียวกันก็มีช่องว่างความเท่าเทียมระหว่างคนที่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและคนยากไร้ห่างขึ้นไปทุกที การออกแบบโครงการและพื้นที่สำหรับทุกคนจึงไม่ใช่เรื่องง่ายทั้งยังยากขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย

ความสร้างสรรค์ คือ ความปลอดภัยและความสะดวกสบาย

สำหรับนิยามของการสร้างสรรค์ความเป็นอยู่ที่ดีในมุมมองของสเตฟาน คือ นอกเหนือจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมแล้ว สถาปนิกต้องใส่ใจในเรื่องความต้องการพื้นฐานของผู้คนเป็นหลัก ซึ่งไม่เคยเปลี่ยนแปลงในทุกยุค ทุกสมัย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชนชั้นใดก็ตาม นั่นคือความปลอดภัยและความสะดวกสบาย ขณะเดียวกันแม้จะใช้มุมมองระดับโลกมาจับก็ต้องใส่ใจในรูปแบบวิถีชีวิต และเงื่อนไขของแต่ละท้องถิ่นที่แตกต่างกันไป เพื่ออกแบบให้สอดรับความต้องการและ  pain point ที่มีอยู่ในแต่ละสังคมซึ่งหล่อหลอมมาจากต่างวัฒนธรรมได้อย่างเหมาะสม

ส่วนคำแนะนำสำหรับสถาปนิกและดีเวลลอปเปอร์ในการออกแบบที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม คือ ต้องคำนึงให้รอบด้านว่าโครงการนั้นจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร จะหลีกเลี่ยงหรือทำให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดอย่างไร โดยหลักสำคัญคือย้อนกลับไปดูความต้องการพื้นฐานนั่นคือความปลอดภัยและความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต

มองระยะยาว เพื่อ “เมือง” ที่ยั่งยืน

ด้านอุปสรรคที่จะขัดขวางไม่ให้การออกแบบสถาปัตยกรรมและผังเมืองเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนประสบความสำเร็จก็คือวิสัยทัศน์ในระยะสั้นของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชนอย่างดีเวลลอปเปอร์ก็ตาม ทุกฝ่ายควรมองในระยะยาวว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยแผนระยะยาว 30-40 ปี จะทำให้ต้นทุนและค่าใช้จ่ายถูกลงมาก จึงคุ้มค่าที่จะลงทุน แต่หากมองในระยะสั้น ทุกอย่างจะดูแพงไปหมด และอาจทำให้โครงการดี ๆ ที่ควรจะเกิดขึ้นไม่ถูกหยิบยกมาทำให้เป็นจริง

High-rise และ Mixed-Use ทางออกของ “กรุงเทพ”

เมื่อถามว่าอะไรคือวาระเร่งด่วนและสำคัญในการออกแบบกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้น ต้องคำนึงถึงพื้นที่ของกรุงเทพซึ่งเป็นที่ลุ่มและมีแนวโน้มที่จะลดระดับลงทุกปี หรือหมายถึงเป็นพื้นที่สุ่มเสี่ยงต่อการจมน้ำ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การพัฒนาโครงการ High rise จึงเป็นสิ่งจำเป็น ขณะเดียวกันก็จะช่วยลดปัญหาความแออัดได้ เนื่องจากในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ประชากรในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า และภายในปี 2030 คาดว่าจะมีประชากรเพิ่มขึ้นอีก 2.8 ล้านคน ซึ่งประชากรใหม่ที่เพิ่มขึ้นนี้เทียบกับจำนวนประชากรของโรมเลยทีเดียว ขณะเดียวกันก็ต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มความหลากหลายของรูปแบบการเดินทางหรือโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งมวลชนและเครือข่ายขนส่งมวลชนให้มากขึ้น อะไรที่ไม่ใช่รถยนต์ที่ล้นถนนอยู่แล้วเหมือนอย่างทุกวันนี้ต้องส่งเสริมและสนับสนุนอย่างเต็มที่  ซึ่งขณะนี้เมกะโปรเจกต์ต่างๆ  ก็กำลังดำเนินการอยู่ซึ่งถือเป็นนิมิตรหมายอันดี

ขณะเดียวกันพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพฯ ที่มีระยะทางรวมกันกว่า 8.5 กิโลเมตร ก็ควรถูกพัฒนาด้วยความใส่ใจ เปลี่ยนหลังบ้านให้เป็นหน้าบ้าน เพิ่มโอกาสทางธุรกิจได้อีกมากมายอย่างการทำบูเลอวาร์ด รวมถึงการออกแบบพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการใช้งานได้อย่างถ้วนหน้า

สำหรับประเภทของการออกแบบสถาปัตยกรรมและผังเมืองที่สเตฟานเห็นว่าเป็นโซลูชั่นที่จะตอบโจทย์ปัญหาต่างๆ ของเมือง รวมถึงการสงวนพื้นที่ราบที่มีคุณค่าไว้ให้ยาวนานที่สุด และเป็นแนวทางที่เขาเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าก็คือ  High-rise development หรือการออกแบบพื้นที่ในแนวดิ่งแบบ Mixed-Used เป็น Mega Village ขนาดใหญ่ที่ตั้งตระหง่านในแนวดิ่งครอบคลุมชีวิตคนเราทุกมิติ ขณะที่ในปัจจุบันเขากำลังพัฒนาโปรเจคท์เด่นรูปแบบ Mixed-Use ในเมืองไทยอย่างคร่ำเครง แต่ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาและไม่สามารถเปิดเผยได้

ด้านผลงานเด่นที่เขาภาคภูมิใจมากก็คือ พาวิลเลี่ยนของเนเธอร์แลนด์ (Netherlands Pavilion) ที่เมืองฮันโอเวอร์ ประเทศเยอรมนี ที่เขาสร้างสรรค์สำหรับงาน World Expo 2000 ที่นอกจากจะมีดีไซน์โดดเด่นแล้ว ยังคงอรรถประโยชน์ในการใช้สอยจนถึงปัจจุบัน เพราะโดยปกติแล้วเมื่อการจัดงานสิ้นสุดลงจะยุติการใช้งานพาวิลเลี่ยน กลายเป็นพื้นที่รกร้างไร้ประโยชน์ หรือไม่มีการใช้งานที่เหมาะสม แต่สำหรับพาวิลเลี่ยนแห่งนี้กลับถูกพัฒนาเพื่อการใช้งานอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย แต่เป็นการออกแบบเมืองใหม่ที่สมบูรณ์แบบและยั่งยืน ในขณะที่พาวิลเลี่ยนอื่นๆ ถูกรื้อถอนไปจนหมดสิ้น

สุดท้ายสเตฟาน หวังว่าจากการร่วมงาน WATS FORUM 2019 จะช่วยกระตุ้นให้ผู้ร่วมงานได้เห็นโอกาส ก่อเกิดไอเดีย และแรงบันดาลในการออกแบบสถาปัตยกรรมและผังเมืองว่ามีประโยชน์และช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับคนในสังคมได้จริง ๆ

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถรับชมการเสวนา WATS Forum 2019 ฉบับเต็มได้ที่ 

RISC introduction 

Keynote speakers

Panel Discussion “Well-being Today and Tomorrow”

 

 


แชร์ :

You may also like