HomeBrand Move !!ศึกษาโมเดลธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมของยักษ์ใหญ่ในโลกยานยนต์ กับเป้าหมายลด ​CO2 เป็นศูนย์ ในปี 2050 ของโตโยต้า

ศึกษาโมเดลธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมของยักษ์ใหญ่ในโลกยานยนต์ กับเป้าหมายลด ​CO2 เป็นศูนย์ ในปี 2050 ของโตโยต้า

แชร์ :

หนึ่งในความตื่นตัวทั่วโลกที่กำลังยกระดับความเข้มข้นขึ้นทุกขณะ เพราะเอฟเฟ็กต์ต่างๆ ที่เกิดกับโลกใบนี้จากปัญหาโลกร้อน โดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่ต่างออกมาประกาศวิสัยทัศน์​ หรือกำหนดทิศทางในการทำธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสภาพแวดล้อมของโลกนี้อย่างมีความสมดุล​ เพื่อให้ยังคงรักษาความแข็งแกร่งในมิติของการสร้างกำไรให้ธุรกิจ ควบคู่ไปกับความพยายามทำให้ตลอดทั้ง Supply Chain ของธุรกิจ เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้น้อยที่สุด

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมโดยตรง จากบทบาทในการเป็นผู้ผลิตยานยนต์เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ผู้คนทั่วโลก และผลผลิตจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงเครื่องยนต์ก็เป็นต้นเหตุของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สู่ช้ันบรรยากาศ หนึ่งในเหตุผลสำคัญของปัญหา Climate Change ต้นเหตุของปัญหาโลกร้อนในปัจจุบัน

กลายมาเป็นหนึ่งในโจทย์สำคัญของบริษัทรถยนต์ทั้งหลาย เพื่อแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมในการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องยนต์ที่พยายามลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างน้ำมันให้น้อยลง รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซ CO2 สู่ชั้นบรรยากาศ นำมาสู่การพัฒนารถยนต์ในเจนเนอเรชั่นใหม่ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฮบริด (HV)  ปลั๊กอินไฮบริด (PHV) รถไฟฟ้า (EV) และล่าสุดที่ถือได้ว่าเป็นโมเดล Eco Friendly อย่างแท้จริง กับรถพลังงานไฮโดรเจน (FCV)

เช่นเดียวกับทิศทางในการขับเคลื่อนของบริษัทผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ระดับโลก สัญชาติญี่ปุ่น อย่างโตโยต้า ที่ให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ ภายใต้การคำนึงถึง Global Environment Issue ตามปรัชญาของผู้ก่อตั้งอย่าง Mr.Kiichiro Toyoda ที่ต้องการดูแลและยกระดับสังคมให้ดีขึ้น ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีประสิทธิภาพสูงในอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่การเริ่มตั้งไลน์ผลิตรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในปี 1936 ก่อนจะเป็นบริษัทผู้ผลิตรถ Passenger Car รายแรกของญี่ปุ่นที่สามารถส่งออกรถยนต์ในขายในตลาดสหรัฐได้ ในปี 1957

 

การเริ่มทำตลาดโมเดล Corolla ในปี 1966 และเริ่มให้ความสำคัญกับการควบคุมการปล่อยมลภาวะต่างๆ สู่ชั้นบรรยากาศมาตั้งแต่ปี 1973 รวมทั้งการเริ่มทำตลาดโมเดลรถ Eco Friendly อย่างโตโยต้า พรีอุส รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดที่สามารถขับเคลื่อนได้ทั้งจากแบตเตอรี่ประจุไฟฟ้าและเครื่องยนต์ ในปี 1997 และล่าสุดกับโตโยต้า มิไร เครื่องยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจน ที่เรียกได้ว่าเป็นโมเดลแห่งรถพลังงานสะอาดอย่างแท้จริง เพราะใช้พลังไฮโดรเจนในการขับเคลื่อน และการเผาไหม้ที่ได้จากเครื่องยนต์จะปล่อยออกมาเป็นน้ำแทน CO2 ซึ่งไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อสิ่งแวดล้อม ​โดยโมเดลนี้​เริ่มทำตลาดในญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกมาตั้งแต่ปี 2014  ​

โตโยต้า มิไร ต้นแบบรถพลังงานไฮโดรเจน

โตโยต้า มิไร ถือเป็นการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์เพื่อสิ่งแวดล้อมตัวล่าสุดของโตโยต้า และถือเป็นโมเดลรถ Eco Car อย่างแท้จริง เพราะเป็นเครื่องยนต์ FCV (Fuel Cell Vehicle) ที่ใช้ก๊าซไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง และผลลัพธ์ที่ได้จากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงประเภทนี้คือ น้ำเปล่า จากการทำปฏิกิริยาทางเคมีกับออกซิเจนในอากาศ ไม่ใช่ CO2 เหมือนกับเชื้อเพลิงจากน้ำมัน จึงถือเป็นการใช้พลังงานสะอาดอย่างแท้จริง แม้ว่าจะเทียบกับ​รถไฟฟ้าหรือ EV ที่ไม่ได้ปล่อย COออกมาเช่นกัน เพราะใช้การขับเคลื่อนจากแบตเตอรี่ที่ชาร์จด้วยไฟฟ้าแทนเครื่องยนต์ แต่ต้นกำเนิดของไฟฟ้าก็ยังต้องมาจากโรงไฟฟ้าที่ใช้ทรัพยากรต่างๆ มาเป็นตัวผลิตไฟฟ้าอยู่เช่นเดิม

ที่สำคัญในกรณีเกิดภัยธรรมชาติต่างๆ เกิดขึ้น​ โตโยต้า มิไร ยังสามารถแปลงเป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้คนในพื้นที่ประสบภัยพิบัติต่างๆ ได้อีกด้วย

สำหรับโตโยต้า มิไรนั้น เริ่มทำตลาดในประเทศญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 2014 และได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาด โดยในปี 2019 มียอดการจองรถตั้งแต่เดือนมกราคมเข้ามาแล้วกว่า 3 พันคัน ส่วนการเติมไฮโดรเจนให้กับรถนั้นก็ทำได้ง่ายเหมือนกับการเข้าไปเติมน้ำมันในสถานีบริการน้ำมันทั่วไป และใช้เวลาไม่นานในการเติมไฮโดรเจน โดยใช้เวลาประมาณ 3 นาที ในการเติมไฮโดรเจนให้ได้ 5 กิโลไฮโดรเจน และปริมาณ 5 กิโลไฮโดรเจนนี้ สามารถวิ่งได้ในระยะทาง 500 กิโลเมตร ซึ่งเมื่อเทียบราคาในญี่ปุ่นแล้วถือว่าประหยัดกว่าการเติมน้ำมัน​

เนื่องจาก ราคาต่อหน่วย 1 กิโลไฮโดรเจน จะอยู่ที่ 1,100 เยน ไม่รวมภาษี เมื่อรวมกับภาษี 8% ราคาก็จะตกอยู่ที่ราว 1,200 เยน เมื่อเติม 5 กิโลไฮโดรเจน เพื่อให้วิ่งได้ 500 กิโลเมตร ก็จะต้องจ่ายค่าเชื้อเพลิงราว 6,000 เยน ขณะที่เมื่อเทียบกับรถยนต์ปกติ เช่น โตโยต้า อัลพาร์ด ซึ่งข้อมูลจากผู้ใช้รถรุ่นนี้ในญี่ปุ่นเล่าว่า หากจะเติมน้ำมันเต็มถังจะต้องจ่ายค่าน้ำมันที่ประมาณ 7,000 เยน โดยวิ่งได้ระยะทางที่ประมาณ 400 กิโลเมตร ดังนั้น เมื่อเทียบกันแล้ว ในญี่ปุ่นจะถือว่าค่าเชื้อเพลิงก๊าซไฮโดรเจนถูกกว่าการใช้น้ำมันเบนซินเล็กน้อย

ด้านความสะดวกในการเข้าถึงสถานีบริการนั้น ปัจจุบันมีปั๊มก๊าซไฮโดรเจนเปิดให้บริการทั่วญี่ปุ่น ตั้งแต่ฮอกไกโดไปจนถึงโอกินาว่า มีจำนวนสถานีบริการอยู่ 113 แห่ง ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็เร่งส่งเสริมให้มีการขยายจำนวนปั๊มก๊าซไฮโดรเจนเพิ่มเติม โดยตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนสถานีบริการให้ครบ 900 แห่ง ทั่วประเทศญี่ปุ่น ภายในปี 2030 หรือในอีก 11 ปีนับจากนี้ ​​​

จะเห็นได้ว่า การส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานสะอาดทั้งจากฟากการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องยนต์ รวมทั้งการส่งเสริมปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน​ในการสนับสนุนให้มีการใช้เครื่องยนต์ไฮโดรเจนในวงกว้างมากขึ้น จะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้บริษัทรถยนต์สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน

น้ำเปล่าที่ได้จากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ไฮโดรเจน ( Credit:blog.toyota.co.uk )

ประกาศวิสัยทัศน์ ENVIRONMENT CHALLENGE 2050

โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น บริษัทแม่ของโตโยต้า ในประเทศญี่ปุ่น แสดงถึงความจริงจังในการเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ที่จะดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญต่อการดูแลปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำตลอดทั้ง Supply Chain ด้วยการประกาศวิสัยทัศน์​​ “TOYOTA ENVIRONMENT CHALLENGE 2050” ในเดือนตุลาคม ปี 2015

โดยได้วาง 6 แนวทางเพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจให้ไปสู่เป้าหมายในการลดการปล่อย CO2 จากการดำเนินธุรกิจ ไปอยู่ในจุดที่เรียกได้ว่า ZERO & BEYOND ภายในปี 2050 ทั้งจากการวางโรดแม็พ Challenge เป้าหมาย ZERO CO2 จากมิติต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นจากการพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ๆ  การคำนึงถึงการสร้าง CO2  ตลอด Lifecycle ของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นจากการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ หรือของเสียจากกระบวนการผลิตต่าง และในส่วนของโรงงานทุกแห่งของโตโยต้าที่ต้องลดการปล่อย CO2 พยายามนำทรัพยากรมาใช้อย่างสูงสุด และส่งเสริมการใช้พลังงานไฮโดรเจน

credit: global.toyota

รวมถึง Challenge ในการทำให้ธุรกิจเข้าไปมีส่วนต่อการสร้างผลกระทบเชิงบวกเพื่อดูแลและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น เช่น ลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิตและฟื้นฟูสภาพน้ำให้สะอาดก่อนส่งกลับไปสู่ระบบตามธรรมขาติ การส่งเสริมโมเดลที่สนับสนุนให้เกิดการรีไซเคิล และกาเข้าไปส่งเสริมการปลูกป่าหรือดูแลสิ่งแวดล้อมของภาคชุมชนและสังคมอย่างต่อเนื่อง

หลังจากคลอดแผนดังกล่าว โตโยต้า มอเตอร์ คอปอร์เรชั่น ก็ได้ประกาศเป้าหมายในทางธุรกิจ ที่จะทำให้รถยนต์ในรุ่นใหม่ๆ ที่จะออกมาทำตลาดนับจากนี้ จะสามารถลดการปล่อย  CO2 สู่ชั้นบรรยากาศลงให้ได้ไม่ตำกว่า 90% ภายในปี 2050 เมื่อเทียบกับความสามารถที่ทำได้ในปี 2010 โดยเฉพาะการเร่งพัฒนาเชื้อเพลิงที่มีประสิทธิภาพ และเป็นพลังงานสะอาด อย่างพลังงานไฮโดรเจน และพลังงานจากไฟฟ้า มาใช้ในการขับเคลื่อนรถยนต์โมเดลใหม่ๆ ที่จะเข้ามาทำตลาดในอนาคตเพิ่มมากยิ่งขึ้น ​​พร้อมเป้าหมายว่าจะสามารถจำหน่ายรถยนต์ในกลุ่มที่ไม่มีการปล่อย CO2 ให้ได้มากกว่า 5.5 ล้านคัน ภายในปี 2030 รวมทั้งจะค่อยๆ ลดการทำตลาดรถรุ่นที่ใช้น้ำมันเบนซินเพียงอย่างเดียวลง ให้เหลือเฉพาะรุ่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่าง HV PHV FCV และรถไฟฟ้าเพียงเท่านั้น

credit: global.toyota

ขณะที่โตโยต้า ประเทศไทยเอง ก็มีการนำ TOYOTA ENVIRONMENT CHALLENGE 2050 มาเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจเช่นกัน โดยในส่วนของ Product ได้ส่งเสริมให้มีการใช้งานโมเดลรถที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งการบุกเบิกทำตลาดรถไฮบริดในประเทศไทย ตั้งแต่การนำโตโยต้า คัมรี่ ไฮบริด เข้ามาทำตลาดตั้งแต่ปี 2009 ตามมาด้วยรุ่นอื่นๆ อย่างโตโยต้า พรีอุส และตัวล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวไปคือ Toyota C-HR เวอร์ชั่นปี 2019

โดยเฉพาะการส่งเสริมและขับเคลื่อนธุรกิจในกลุ่ม Hybrid Business ที่ล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านามา ได้ทำการเปิดสายการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฮบริด ในโรงงานโตโยต้า เกตเวย์ จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อเป็นหนึ่งมิติในการสนับสนุนให้มีการใช้รถในกลุ่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น

รวมทั้งข่วงปลายปียังมีแผนจะเปิดธุรกิจใหม่เพื่อสนับสนุนการไปสู่เป้าหมาย Zero CO2​ จากมิติของ Lifecycle ด้วยการเพิ่มธุรกิจรับซื้อแบตเตอรี่รถยนต์ในกลุ่มไฮบริด เพื่อต่อยอดการใช้งานแบตเตอรี่แต่ละก้อนให้ได้ประโยชน์สูงสุดผ่าน 3 แนวทาง คือ  Rebuilt Reuse และ Recycle

โดยจะประเมินจากสภาพแบตแต่ละก้อน เช่น ถ้าแบตมีเซลล์ที่เสียหายที่ไม่เกิน 10% ก็จะทำการ Rebuilt ด้วยการเปลี่ยนเซลล์ใหม่มาใส่ ทำให้แบตมีความสามารถในการใช้งานได้เหมือนใหม่อีกครั้ง แล้วนำแบตไปขายเป็นแบตมือ 2 หรือแบตเก่าที่ยังมีความสามารถในการเก็บประจุได้ ก็จะนำไป Reuse เพื่อใช้ประโยชน์ในการเก็บประจุพลังงานต่างๆ เช่น จากโซลาร์เซลล์ เพื่อจ่ายพลังงานในเวลาที่ต้องการ หรือแบตที่ไม่สามารถใช้งานได้แล้ว ก็จะทำการแยกชิ้นส่วน แล้วนำไปหลอมตามกระบวนการ Recycle เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่

​ขณะที่ในส่วนการ Go Green ในองค์ประกอบอื่นๆ ของธุรกิจ เช่น ในส่วนของอาคาร หรือโรงงาน ก็คำนึงถึงการลดการใช้พลังงาน และพัฒนาเทคโนโลยี และมาตรฐานสิ่งแวดล้อมต่างๆ หรือการนำระบบกลไกทำงานทางด้านพลังงานกล เช่น หลักแรงโน้มถ่วง คานดีด คานงัด มาใช้ในกระบวนการทำงานบางอย่างแทน​การใช้หุ่นยนต์ เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าลง เป็นต้น

​ขณะที่การตอบรับการใช้รถยนต์ไฮบริดรุ่นต่างๆ ​ในประเทศไทยนั้น ถือว่า ได้รับการตอบรับดีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากการที่ลูกค้าในปัจจุบันมีความตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีความเข้าใจและมั่นใจการใช้งานรถเทคโนโลยีในกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น จนทำให้ที่ผ่านมาจะเห็นการนำเข้ารถโตโยต้า เครื่องยนต์ไฮบริด รุ่นใหม่ๆ เข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าในอนาคตจะมีพอร์ตรถยนต์ในกลุ่มไฮบริดเพิ่มมากขึ้นอีกอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ ยังเห็นความพยายามในการทลายกำแพงที่ทำให้ลูกค้ายังมีความลังเลในการเลือกใช้รถยนต์ไฮบริด โดยเฉพาะความกังวลในเรื่องของราคาแบตเตอรี่ไฮบริด ที่หลายๆ คนมองว่ามีราคาอยู่ในระดับสูง ด้วยการตั้ง New Business Model เพื่อเพิ่มโอกาสให้ลูกค้าเข้าถึงแบตเตอรี่ ไฮบริดได้สะดวกและในราคาที่ถูกลง จึงเชื่อว่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เข้ามาสนับสนุนให้ผู้บริโภคคนไทยเลือกใช้รถยนต์ ไฮบริดโมเดล ที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากยิ่งขึ้นในอนาคตได้อีกทางหนึ่ง


แชร์ :

You may also like