HomeSeminar & Eventsปิดจุดอ่อน ‘เกษตรกรรมยุคใหม่’ ต้องรู้ทัน “เทรนด์ตลาด” เสริมจุดแข็งด้วย “นวัตกรรม”

ปิดจุดอ่อน ‘เกษตรกรรมยุคใหม่’ ต้องรู้ทัน “เทรนด์ตลาด” เสริมจุดแข็งด้วย “นวัตกรรม”

แชร์ :

ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการเป็นผู้ผลิตอาหารระดับโลก มีประชากรในประเทศกว่า 38.9 ล้านคน ทำงานอยู่ในกลุ่มสินค้าเกษตร แต่ทว่ารายได้ของสินค้าเกษตรกลับสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม(GDP)ของประเทศได้ไม่ถึง 10 % เป็นเพราะสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ เน้นการส่งออกวัตถุดิบเป็นหลัก ซึ่งราคาผันผวนตามกลไกของตลาดโลกและการแข่งขัน ทำให้ที่ผ่านมาภาคเกษตรประสบปัญหาผลผลิตราคาตกต่ำ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ขณะที่เกษตรกรในประเทศ ที่ขายผลผลิตในรูปแบบวัตถุดิบให้พ่อค้าคนกลางซึ่งเป็น “ผู้กำหนดราคา” ทั้งๆที่ไม่มีขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาด ราคาสินค้าขึ้นอยู่กับดีมานด์และซัพพลาย บางช่วงดีมานด์ตลาดมีมาก ราคาสินค้าปรับตัวขึ้นสูง เกษตรกรก็จะเพิ่มการผลิตจนเกิดภาวะสินค้าล้นตลาด จนสินค้าชนิดนั้นราคาตกต่ำ ทำให้วนกลายเป็นลูปไปมาไม่จบสิ้น  แล้วเกษตรกรต้องปรับตัวและเปลี่ยนอย่างไรเป็นส่งที่ต้องช่วยกันหาทางออก

ผศ.ดร.อัครวิทย์  กาญจนโอภาษ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) กล่าวว่า ภายใน 30 ปีข้างหน้าประชากรโลกจะเพิ่มสูงขึ้นถึง  9.7 พันล้านคนโดยประมาณ และทุกคนต้องกิน ทำให้ความต้องการอาหารของโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 60% ในทางกลับกัน พื้นที่การทำเกษตรจะลดลงเนื่องจากการขยายตัวของเมืองและประชากร และความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทุกอย่างมีผลกระทบต่อการผลิตอาหาร

ภายใน 30 ปีข้างหน้า ทวีปแอฟริกาจะเป็นเบอร์หนึ่งของโลกที่มีประชากรเพิ่มขึ้นถึง 109%  ส่วนละตินอเมริกา อเมริกาเหนือ และเอเชีย ประชากรจะเพิ่ม  20% (ยกเว้น จีน ไทย ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ) ขณะที่ยุโรปการเพิ่มขึ้นของประชากรจะติดลบที่  -4 % เทรนด์นี้เรียกว่า ‘เกิดน้อยกว่าแก่’

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ตลาดในบางพื้นที่จะหดตัวลง และบางพื้นที่ขยายตัวมาก รวมทั้งสังคมผู้สูงอายุจะเป็นปัจจัยสำคัญในหลายประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป และเอเชีย 4 ประเทศคือ จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และไทย ทั้งหมดในกลุ่มนี้จะมีความต้องการสินค้าที่เฉพาะกลุ่มมากยิ่งขึ้น หากตอบโจทย์ได้ ‘ในวิกฤติก็คือโอกาส’ เพราะผู้บริโภคกลุ่มผู้สูงอายุจะกลายเป็นกลุ่มผู้บริโภคขนาดใหญ่ของโลก

ขณะเดียวกัน ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้น แต่พื้นที่ปลูกลดลง ทั้งยังมีความต้องการอาหารของประชากรโลกมีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้ ‘นวัตกรรมอาหาร’ จึงมีบทบาทสำคัญในภาคเกษตร ทั้งการพัฒนาสายพันธุ์ให้เหมาะสม การแปรรูป และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่

ขณะที่บริบทของประเทศไทย การทำเกษตรสมัยใหม่ เกษตรกรต้องใช้การตลาดนำการผลิต ตลอดจนใช้นวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้า เรียนรู้การเกษตรแบบ ‘ทำน้อย แต่ได้มาก’ หรือที่เรียกว่าการทำเกษตรแบบประณีต ผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ราคาสูง เพื่อคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น

วิธีคิด คือ การนําเสนอคุณค่า (Value Proposition) ของสินค้าเกษตร ต้องคิดให้ได้ก่อนว่าเราผลิตสินค้าเพื่อขายใคร คุณค่าสินค้าที่เรานำเสนอ คืออะไร ยกตัวอย่างเช่น เราปลูกแตงโมหวานน้อยเพื่อคนเป็นโรคเบาหวาน ปลูกข้าวคุณภาพดีปลอดสารพิษเพื่อคนรักสุขภาพ ผลิตอาหารเพื่อกลุ่มผู้สูงอายุ หรือ นักกีฬา ซึ่งทุกอย่างจะสรุปเองไม่ได้แต่ต้องดูสิ่งที่เรียกว่า ‘เทรนด์’ และ ‘ไลฟ์สไตล์’ ‘พฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน

ถอดรหัสความสำเร็จ ‘เมล่อน ร้อยล้าน’  

คนวงการเกษตรจะรู้จัก ‘คุณสุวิทย์ ไตรโชค’ เป็นอย่างดีเพราะเป็นผู้บุกเบิกการปลูกเมล่อนในประเทศไทยมากว่า 30 ปี ปัจจุบันเป็นเจ้าธุรกิจฟาร์มเมล่อนสายพันธุ์ญี่ปุ่นกว่า 10 สายพันธุ์ แบรนด์ ‘NAVITA’ ผู้เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ผ่าน Modern Trade และ ช่องทางออนไลน์  โดยรหัสความสำเร็จเกิดขึ้นได้จากความเข้าใจตลาดผู้บริโภค องค์ความรู้และนวัตกรรม โดยเมล่อนแบรนด์ ‘NAVITA’ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพสินค้าในระดับที่สูงสุด และสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำ ทุกวันนี้ลูกค้าจะรู้เลยว่าสินค้าเกษตรแบรนด์ ‘NAVITA’ คือ เมล่อนคุณภาพดี

การปลูกเมล่อนให้เนื้อหวาน หอม สีสวย คุณภาพเกรดพรีเมียมไม่ใช่เรื่องง่าย ที่สำคัญการรักษาคุณภาพให้สม่ำเสมอยิ่งยากมาก แต่คุณสุวิทย์ ทำได้ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี โดย การวางระบบที่เรียกว่า controller ซึ่งเป็นซอฟท์แวร์สำหรับการควบคุมระบบทำงานทั้งหมดในฟาร์มตั้งแต่การควบคุมระบบรดน้ำ ใส่ปุ๋ย ตรวจสอบปริมาณความต้องการน้ำในแต่ละช่วง ความชื้นในอากาศ และอื่นๆ ซึ่งสามารถสั่งงานผ่านสมาร์ทโฟน ได้เลย ทำให้การทำงานในฟาร์มมีประสิทธิภาพ ให้ผลตอบแทนที่เป็นเมล่อนคุณภาพสูงถึง 90 % นับว่าคุ้มค่ามาก ผลผลิตที่ได้ก็คุณภาพสูงสม่ำเสมอ และขายได้ราคาสูงขึ้น

ปัจจุบัน เมล่อนของคุณสุวิทย์ ขายลูกละ  500 – 2,000 บาท เป็นเมล่อนเกรดพรีเมียมที่คุณภาพเทียบเท่าเมล่อนราคาแพงในญี่ปุ่น วางจำหน่ายในซูปเปอร์มาร์เก็ตทั่วประเทศ มีช่องทางจำหน่ายออนไลน์ และมีเทรดเดอร์นำสินค้าไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะประสบการณ์ องค์ความรู้ นวัตกรรม และเข้าใจตลาด

แกะรอย ‘BANANA JOE’ กล้วยฉาบไทยขายดีทั่วโลก

คุณวชิรวิชญ์ ศิริโชควณิชย์ กรรมการผู้จัดการ BANANA JOE  ตัวแทนของเกษตรแปรรูป จากจุดเริ่มต้นของการได้กินกล้วยเบรกแตก หรือกล้วยฉาบบ้านๆ ที่เราเห็นกันชินตา เลยทดลองทำตาม กลายเป็นแบรนด์ BANANA JOE กล้วยหอมไทยที่แปรรูปเป็น Snack ที่ขายดีกว่า 20 ประเทศทั่วโลก โดยเขากล่าวว่า ปัจจุบันยอดขาย  90% BANANA JOE คือตลาดส่งออก ขายดีมากที่สุดคือที่ โปแลนด์และเอสโตเนีย

แบรนด์ BANANA JOE เชื่อมั่นในรสชาติตามสโลแกน Believe in taste  คือ เคลมว่า ‘อร่อย’ นั่นเอง โดยผู้คิดค้นรสชาติเป็นเชฟชื่อดังของเมืองไทย ผ่านการปรับปรุงรสชาติมานับครั้งไม่ถ้วน จนกลายเป็นกล้วยแปรรูปในรูปแบบสินค้ากลุ่ม Snack ที่มีการสร้าง Story เช่น สูตรซอสศรีราชาที่ผสมกับกระเทียมดอง รสบาบีคิวที่มีกลิ่นของไม้ HICKORY รสชาติ SEA SALT ที่มีการนำดอกเกลือที่ดีที่สุดจากสมุทรสาคร ซึ่งกว่าจะได้รสชาติที่สามารถเคลมได้ว่าอร่อย ก็ผ่านการลองผิดถูกมามากมาย นอกจากรสชาติที่ดีต่อใจ แบรนด์ BANANA JOE ยังใช้จุดเด่นเรื่อง Healthy ที่ผู้บริโภคหลายประเทศให้ความสำคัญ ทำให้สามารถมีที่ยืนในซูเปอร์มาร์เก็ตเกรดพรีเมียมหลายประเทศ

นอกจากการโฟกัสที่สินค้า ผู้กระจายสินค้าในต่างประเทศ หรือ Distributors ก็สำคัญ เทคนิคของคุณวชิรวิชญ์ คือ เลือก  Distributors รายขนาดกลางๆ มีสินค้า 30-40 รายการข้อดีของ distributors รายขนาดกลางคือเค้าจะดูแลสินค้าเราและช่วยเราขยายตลาดได้ดีกว่ารายใหญ่ที่มีสินค้าเป็นพันรายการ ที่สำคัญย้ำให้ชัดว่าสินค้าเราพรีเมียม ดังนั้นอย่าไปวางผิดที่

คุณวชิรวิชญ์ มองว่ารูปแบบการใช้นวัตกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารยังมีโอกาสอีกมากในต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าแนวสุขภาพ ล่าสุดได้โฟกัสที่กลุ่มผู้บริโภคอเมริกัน ที่มีความ Healthy มากกว่าผู้บริโภคในยุโรป รวมทั้งช่องทางจำหน่ายในออนไลน์ อาทิ Amazon สำหรับเกษตรกรที่อยากผันตัวเป็นผู้ประกอบการ แนะนำว่า นวัตกรรมจะช่วยให้หลายอย่างง่ายขึ้น แต่ประเด็นสำคัญคือการพัฒนาคุณภาพสินค้าให้มีคุณภาพสูง รู้เทรนด์ตลาด และต้องเชื่อมั่นในสิ่งที่เราทำ อะไรที่คิดว่าดี ก็ขอให้มุ่งมั่นทำต่อไป

แนะเกษตรเพิ่ม Productivity ใช้ตลาดนำ นวัตกรรมตาม

ทางด้านคุณศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทางออกหนึ่งซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาในภาคเกษตร คือ การเปลี่ยนแนวทางพัฒนาด้านเกษตรให้การผลิตมีต้นทุนต่ำ แต่มี Productivity สูง สินค้ามีคุณภาพนำนวัตกรรมการผลิตใหม่ๆ มาสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างความแตกต่าง ให้ผู้บริโภคสนใจซื้อในราคาสูง และพัฒนาเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการ หรือเรียกว่าเป็น Entrepreneur เป็นผู้ผลิตและขายเอง ผ่านช่องทางต่างๆ ไม่ใช่เป็นแค่ Supplier ของพ่อค้าคนกลางเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการภาคการเกษตร ดังนั้นเพื่อให้เจ้าของธุรกิจและเกษตรกรได้รับทราบข้อมูลใหม่ๆ และสามารถปรับให้เหมาะสมกับธุรกิจของท่าน

ทั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งได้เล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตรสมัยใหม่ จึงได้จัดงานสัมมนา “เกษตรยุคใหม่ ตลาดนำ นวัตกรรมตาม” นี้ขึ้นเพื่อให้ผู้ประกอบการทุกท่านได้รับทราบข้อมูลทิศทางการตลาดของสินค้าเกษตรและอาหาร  Mega trends ที่จะเกิดขึ้น  รวมทั้งพฤติกรรมผู้บริโภค หรือ lifestyle ที่เปลี่ยนแปลงไป ทิศทางการพัฒนานวัตกรรมทางด้านอาหารที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน  เพื่อให้เป็นข้อมูลในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค  แล้วนำไปทำแผนการตลาดให้สอดคล้องกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์

สามารถติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวในแวดวง SMEs ได้ที่ https://www.bangkokbanksme.com/

สามารถดาวน์โหลดเอกสารสัมมนาได้ที่ http://www.bangkokbanksme.com/seminar/30782

 


แชร์ :

You may also like