HomeDesign“Why Not” เมื่อคนรุ่นใหม่สนใจแก้ปัญหา “ขยะการเมือง”

“Why Not” เมื่อคนรุ่นใหม่สนใจแก้ปัญหา “ขยะการเมือง”

แชร์ :

การเมืองเป็นเรื่องของทุกคนก็จริง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเมืองในช่วงที่ผ่านมาก็สร้าง “ขยะ” ให้สังคมไทยต้องแบกรับมากพอสมควร หนึ่งในขยะการเมืองที่เราเห็นได้ชัดก็คือเรื่องของป้ายหาเสียงไวนิล เพราะเมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง มันจะกลายเป็นภาระให้เจ้าหน้าที่เทศกิจเข้ามาจัดการ หรือไม่ก็ถูกชาวบ้านเข้ามาจัดการแยกชิ้นส่วนไปใช้

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แต่หากถามว่า กระบวนการการจัดการที่กล่าวมานี้ เพียงพอแล้วหรือยังสำหรับจัดการป้ายหาเสียงที่ถูกผลิตและใช้งานในช่วงสั้น ๆ ก็อาจตอบได้ว่ายังไม่เพียงพอ ส่งผลให้มีกลุ่มธุรกิจหนึ่งภายในชื่อเพจ Why Not ตัดสินใจก้าวเข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับป้ายไวนิลเหล่านั้นอย่างเป็นทางการ ในรูปแบบของกระเป๋าสะพาย

ทำป้าย ให้เป็นกระเป๋า

คุณภา – ปิยะภา พงศ์ธนาวรานนท์ และคุณเมริน – นุชนาถ จันทราวุฒิกร สองผู้ก่อตั้งของเพจ Why Not ได้เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นของความสนใจในการนำป้ายไวนิลมาทำกระเป๋าว่า เริ่มจากความสนใจในงานมาร์เก็ตติ้ง และงานดีไซน์บนพื้นฐานของความยั่งยืน (Sustainability Design) ซึ่งความสนใจนั้นนำไปสู่การพัฒนาป้ายบิลบอร์ดไวนิลเหลือทิ้งให้กลายเป็นกระเป๋าที่สามารถใช้งานได้จริง แต่ด้วยภาระงานประจำ ทำให้ไม่สามารถลงมาจับงานนี้ได้เต็มตัว

จนกระทั่งเกิดการเลือกตั้ง และถนนหนทางของประเทศไทยเต็มไปด้วยป้ายหาเสียง…

“เรารู้สึกว่าไม่ทำไม่ได้แล้ว เพราะมีป้ายไวนิลเยอะมาก ก็เลยเริ่มติดต่อไปทางพรรคต่างๆ ขอซื้อป้ายหาเสียงมา ที่ขอซื้อเพราะส่วนหนึ่งเราอยากให้มันเป็นโมเดลในเชิงพาณิชย์จริงๆ แต่ก็มีบางพรรคใจดียกให้มาเลยเหมือนกัน” คุณปิยะภากล่าว

เมื่อได้ป้ายหาเสียงมาถึงโรงงาน สิ่งที่ต้องทำต่อไปก็คือการคัดแยก ว่าป้ายไหนใช้ไม่ได้ (เช่น ป้ายบางป้ายมีการตัดเป็นช่องๆ เพื่อไม่ให้มันต้านลม) และทำความสะอาด ก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิต

“เราไม่ได้เป็นผู้ผลิตแบบ Industrial ที่ทำทีละมากๆ ได้ การผลิตของเราทำใบต่อใบ และมีการเลือกลาย วางลายให้ดูดี ทำให้เวลาที่ใช้ในการผลิตกระเป๋าแต่ละใบค่อนข้างนาน แต่โชคดีที่บางพรรคมีการดีไซน์มาเป็นกราฟิกอยู่แล้ว เราก็ทำง่ายขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ ทำให้เราไม่อาจมีลายให้เลือกได้แบบเฉพาะเจาะจง เพราะไวนิลแต่ละผืนก็มีลักษณะแตกต่างกัน” คุณปิยะภาอธิบาย

นอกจากนั้นเพื่อให้การใช้งานกระเป๋ายาวนานมากขึ้น ทางทีมผู้ผลิตยังได้มีการเสริมผ้าบริเวณก้นกระเป๋าเพื่อให้รับน้ำหนักได้ดีขึ้นด้วย

“ต้องเข้าใจก่อนว่า ไวนิลไม่ใช่วัสดุที่ผลิตขึ้นมาแล้วจะรีไซเคิลได้ มันคือพลาสติกที่นำมาฉีดสี ทำให้มีคุณภาพต่ำลง แล้วนำไปผสมกับด้าย เมื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลจะได้พลาสติกเกรดต่ำลงเรื่อยๆ และสุดท้ายจะย่อยสลายไม่ได้กลายเป็นไมโครพลาสติก”

“แต่ในเส้นอายุของไวนิลที่ผลิตมาเป็นป้ายหาเสียง แทนที่พอจบการเลือกตั้งมันก็จะสิ้นอายุขัย กระเป๋าของเราคือการเข้าไปยืดเส้นอายุให้ไวนิลใช้งานได้นานขึ้นอีก อาจจะเป็น 10 ปีถ้ามันอยู่ถึง”

“ปั้นขยะการเมือง” ให้มีคุณค่า

จากขั้นตอนการผลิตที่กล่าวมา หลายคนอาจไม่ปฏิเสธแล้วว่า เป็นกระบวนการผลิตก็มีความซับซ้อนอยู่พอตัว แต่คำถามมาดังขึ้นอีกครั้งเมื่อพบว่า ทางเพจประกาศตั้งราคาขายเอาไว้ที่ใบละ 1,290 บาท ที่หลายคนบอกว่าแพงเกินไปหรือเปล่า

ในจุดนี้ คุณปิยะภาให้ความเห็นว่า “มีคนถามเข้ามาเยอะว่า ทำไมตั้งราคาแพงจัง ทั้งที่ก็ได้ไวนิลมาฟรี แต่เบื้องหลังก็คืออย่างที่เล่ามา ป้ายได้มาฟรีจริง แต่เราต้องจ้างรถหกล้อไปขนมา ต้องแกะแม็ก มีกระบวนการคัดแยก ทำความสะอาด วางแบบ ตัดเย็บ รวมถึงการดีไซน์ให้มันออกมาสวย มันเลยทำให้เรา Suffer เหมือนกันว่าคนไม่ให้คุณค่าในงานดีไซน์ และไม่เชื่อว่าขยะมันจะเป็นอะไรมากไปกว่าขยะไปได้”

ด้านคุณนุชนาถเสริมว่า “สิ่งที่เราทำตอนนี้ คือเราอยากทดลองทำอะไรที่นอกเหนือจากการทำให้คนรู้สึกว่าขยะก็คือขยะ เราอยากสร้างคุณค่าให้มัน ดังนั้นเราจงใจมากที่จะตั้งราคาใบละ 1,290 บาท ทุกลาย เพื่อต้องการพิสูจน์ว่า ถ้าเราใช้ดีไซน์ที่ดีพอ มาร์เก็ตติ้งที่ถูกต้อง สุดท้ายมันสามารถตั้งราคาได้ เราอยากสร้าง Movement นี้ให้เกิดขึ้น”

สำหรับกลุ่มเป้าหมายของกระเป๋า คุณนุชนาถเผยว่า คือคนรุ่นใหม่ที่มีความกวนในหัวใจ และคุ้นเคยกับการใช้ Facebook  รวมถึงเข้าใจพฤติกรรมการซื้อของออนไลน์ เช่น เข้าใจว่ามันมีการพรีออเดอร์ ต้องจ่ายเงินก่อน และต้องรอรับสินค้า ซึ่งอาจจะนานถึง 30 วัน

“ตอนนี้สิ่งที่ลูกค้าสอบถามเข้ามา หลัก ๆ ยังเป็น Waiting List ค่อนข้างเยอะ เพราะเราเพิ่งเริ่มได้ป้ายหาเสียงมาเอง และบางลายมันหมดแล้วหมดเลย เช่น พรรคอนาคตใหม่เขาเน้นดิจิทัล ดังนั้น เขาจึงอาจทำป้ายไวนิลบางแบบแค่ 10 ชิ้น แล้วใน 10 ชิ้น เราได้มาแค่ 2 ชิ้น เลยต้องบอกว่า ไม่ต้องกลัวว่าจะถือกระเป๋าแล้วลายไปชนกับคนอื่น เพราะมันยากมากจริงๆ ที่จะชนกันได้”

คุณภา – ปิยะภา พงศ์ธนาวรานนท์

“อีกหนึ่งคีย์สำคัญที่เราอยากบอกก็คือ เราทำกระเป๋าชุดนี้เพื่อต้องการกำจัดขยะไวนิลโดยเฉพาะ ดังนั้นต่อให้มีออเดอร์เข้ามาเป็น 1,000 ใบ แต่ถ้าซัพพลายอย่างไวนิลหมดแล้วก็คือหมดเลย เราจะไม่ผลิตใหม่แน่นอน” คุณนุชนาถกล่าว

กลุ่ม Why Not ยังได้ฝากถึงองค์กรขนาดใหญ่ที่มีการทำการตลาดด้วยป้ายบิลบอร์ดด้วยว่า

“อยากให้มองขยะการตลาดในมุมอื่นๆ บ้าง เพราะมันอาจมีมุมในการใช้ของเหลือทิ้งที่องค์กรยังคิดไม่ถึงก็ได้ และแทนที่เราจะผลิตของพรีเมียมเพื่อแจกตามเทศกาลต่างๆ ให้ลองนึกว่าจะเอาของเหลือทิ้งแบบนั้นมารีไซเคิลแปลงเป็นของพรีเมียมอะไรได้อีกเพื่อมอบให้กับลูกค้า หรือถ้ายังคิดไม่ออก ก็มาคุยกับเราได้ค่ะ”


แชร์ :

You may also like