HomeBrand Move !!สยามพิวรรธน์ ประกาศ ‘เลิกสร้างศูนย์การค้า’ จากนี้ ‘สร้างเมืองเท่านั้น’ เตรียมยลโฉม 2 เมืองใหม่ของกรุงเทพฯ  5 ปี เจอกันแน่ !

สยามพิวรรธน์ ประกาศ ‘เลิกสร้างศูนย์การค้า’ จากนี้ ‘สร้างเมืองเท่านั้น’ เตรียมยลโฉม 2 เมืองใหม่ของกรุงเทพฯ  5 ปี เจอกันแน่ !

แชร์ :

หลังใช้เวลากว่า 5  ปี ในการขับเคลื่อน​อภิมหาโปรเจ็กต์อย่าง “ไอคอนสยาม”​ จนแล้วเสร็จ และสามารถเปิดประตูโครงการเพื่อต้อนรับผู้คนจากทั่วโลกได้เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา พร้อมผลักดันเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ให้ประเทศได้เป็นผลสำเร็จ จนกลายเป็นอีกหนึ่งในจุดหมายปลายทางของคนทั่วโลก

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ระหว่างขับเคลื่อนโปรเจ็กต์ไอคอนสยาม รวมทั้งความสำเร็จและผลตอบรับที่เกิดขึ้นหลังจากเปิดโครงการแห่งนี้ ได้จุดประกายทิศทางในการขับเคลื่อนธุรกิจของสยามพิวรรธน์จากนี้ไปให้ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะแต่ละโครงการจากนี้​ต้องมองภาพที่ใหญ่มากขึ้น และต้องเป็นโครงการที่สร้างประโยชน์ทางธุรกิจได้มากกว่าแค่สิ่งที่ศูนย์การค้าทั่วไปทำได้  คือต้องสามารถสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นได้กับทุกฝ่าย กระจายประโยชน์ไปสู่คนหมู่มากในวงกว้างได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีต้นแบบที่ชัดเจนจากสิ่งที่ไอคอนสยาม สามารถทำให้เกิดขึ้นได้เป็นผลสำเร็จมาแล้ว

ประกอบกับโอกาสที่ Developer รายสำคัญผู้พัฒนาโครงการนี้อย่าง “สยามพิวรรธน์”​ ดำเนินงานมาครบรอบ 60 ปีแล้ว แม่ทัพหญิงคนเก่งอย่าง คุณแป๋ม ชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด จึงถือโอกาสออกมาประกาศทิศทางที่จะนำพาองค์กรมุ่งไป ว่าจากนี้ไปสยามพิวรรธน์จะไม่สร้างแค่ศูนย์การค้าอีกต่อไป แต่จะเน้นการสร้างเมือง ซึ่งไม่ได้หมายความถึงแค่มิติที่ใหญ่โตของโครงการเท่านั้น แต่ในโครงการต้องมีองค์ประกอบครบทั้ง Retail Destination รูปแบบต่างๆ ที่สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้คน มีโครงการที่อยู่อาศัย​ รวมทั้งมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้อยู่อาศัยภายในอย่างครบครัน

“​เราจะไม่สร้างแค่ศูนย์การค้าอีกต่อไป หมายความว่า เราจะไม่ทำแค่การสร้างพื้นที่เพื่อให้มีคนมาขายของเท่านั้น เรื่องพวกนี้มันเอ้าท์แล้ว แต่จากนี้เราต้องทำ Destination โดยขึ้นอยู่กับว่าเราจะหยิบมิติไหนมาสร้างหรือตอบโจทย์ประสบการณ์ด้านใดออกไป โดยมีรีเทลเป็นแค่หนึ่งในส่วนประกอบเท่านั้น ซึ่งเราทำเป็นต้นแบบให้ดูแล้วจากไอคอนสยาม ที่มีสุขสยามอยู่ภายใน ซึ่งไม่ใช่แค่ศูนย์การค้า หรือฟู้ดคอร์ท แต่เป็นแหล่งรวบรวมวัฒนธรรม ประเพณี ที่เป็นรากเหง้าของแต่ละท้องถิ่นมารวมกัน เพื่อเป็น Attraction ใหม่ๆ และยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน”

 ทำไมต้องสร้างเมือง ?

คุณแป๋ม ฉายภาพทิศทางการพัฒนาโครงการของสยามพิวรรธน์จากนี้ ตามโรดแม็พการลงทุนที่วางไว้ จะมีโครงการใหม่ๆ ในไปป์ไลน์เกิดขึ้นอีก 3-4 โครงการ โดยหนึ่งในนั้นคือ โครงการสยามพรีเมี่ยม เอ้าท์เล็ท ที่เป็นการร่วมทุนกับกลุ่มไซม่อน พร็อพเพอร์ตี้ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของอเมริกา ซึ่งมีกำหนดเปิดตัวเดือน ธ.ค. ปลายปีนี้ และคาดว่าจะเป็นการพัฒนาโครงการในลักษณะศูนย์การค้าเป็นโครงการสุดท้าย หลังจากนี้ แต่ละโครงการที่จะคลอดออกมาจากลุ่มสยามพิวรรธน์จะ​เป็นการสร้างสิ่งที่คุณแป๋มนิยามว่า “เป็นการสร้างเมืองเท่านั้น”

ทำไมต้องสร้างเมือง? คุณแป๋มให้คำตอบว่า “เพราะประโยชน์จากการสร้างเมือง จะส่งผ่านไปสู่ผู้คนอย่างทั่วถึงในหลากหลายกลุ่ม แต่ศูนย์การค้าแบบเดิมๆ ประโยชน์ส่วนใหญ่อาจจะอยู่ที่เจ้าของโครงการ​ ผู้เกี่ยวข้อง และร้านค้าที่เข้ามาเช่าพื้นที่เพื่อค้าขายเป็นหลัก หรืออาจจะรวมไปถึงผู้ที่เข้ามาพักผ่อนหรือใช้บริการภายในศูนย์ แต่การสร้างเมืองแบบที่เราทำได้ในไอคอนสยาม เป็นการยกระดับชีวิตคนฝั่งธน ผู้ประกอบการโรงแรม ผู้ทำธุรกิจ ท่าเรือ ค้าขายโดยรอบต่างได้ประโยชน์ถ้วนหน้า รวมทั้งการจ้างงานในช่วง 5 ปีระหว่างพัฒนาโครงการและ​ต่อเนื่องกระจายไปได้กว่า 3 แสนคน ขณะที่ประเทศก็มีแลนด์มาร์กใหม่ๆ ที่สามารถดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกได้เพิ่มขึ้น​​ ทำให้ภาพของประเทศไทยในเวทีโลกได้รับการยอมรับในฐานะจุดหมายปลายทางของโลก”

ส่วนเมืองใหม่ที่จะเกิดขึ้นต่อจากไอคอนสยาม คุณแป๋ม แย้มให้ฟังว่า ช่วงไตรมาสสุดท้ายราวๆ เดือนตุลาคมของปีนี้ จะมีความชัดเจนของโครงการแรกมาฝากอย่างแน่นอน โครงการใหม่นี้จะใหญ่กว่าไอคอนสยาม มี​ Party ที่เข้ามาร่วมพัฒนาไม่ต่ำกว่า 10 ราย ทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อสร้างอีกหนึ่งเมืองใหม่ในกรุงเทพฯ  ส่วนที่ตั้งโครงการเป็นไปได้ทั้งกรุงเทพฯ ฝั่งเหนือ  ฝั่งตะวันออก หรือกรุงเทพฯ ตอนกลาง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการมองหาที่ดินที่เหมาะสม และมีขนาดใหญ่มากพอที่จะใช้ในการพัฒนาเป็นโครงการเมืองใหม่ได้ ซึ่งขนาดของแต่ละแปลงต้องไม่ต่ำกว่า 100 ไร่ แต่อาจจะใช้ในการพัฒนาโครงการราว 50​ ไร่ ซึ่งตลอด 5 ปีนี้ ตั้งใจจะลงทุนสร้างเมืองใหม่ให้ได้อย่างน้อย 2 โครงการ

คุณแป๋ม ประเมิน เม็ดเงินในการลงทุนที่จะต้องใช้ในการสร้าง 2 เมืองใหม่ รวมทั้งใช้ในการ​ขยายธุรกิจในช่วง 5 ปี นับจากนี้ไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นล้านบาท โดยเม็ดเงินส่วนใหญ่ 80-90% จะใช้ในการพัฒนาบิ๊กโปรเจ็กต์ทั้ง 2 โครงการ ส่วนที่เหลือจะใช้ในการขยายธุรกิจค้าปลีกที่มีอยู่ ทั้งการนำแบรนด์ใหม่เข้ามาเพิ่มเติมราว 2 แบรนด์ และยังมองหาโอกาสในการขยายไปยังธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจศูนย์ประชุม สำนักงานออฟฟิศ ธุรกิจด้านโลจิสติกส์ และเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมต่างๆ

จากนี้ต้องมองบริบทระดับโลก

เส้นทางการเติบโตตลอด 60 ปีที่ผ่านมานั้​น  สยามพิวรรธน์มีจุดยืนสำคัญในการสร้างโปรโตไทป์ใหม่ๆ ให้กับธุรกิจค้าปลีกมาโดยตลอด โดยที่แต่ละโครงการต่างประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับไม่เพียงแค่ในประเทศไทยแต่ยังสามารถสร้างปรากฏการณ์ได้ในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างย่านค้าปลีก 8.5 แสนตารางเมตร ใจกลางกรุงเทพฯ ในชื่อวันสยาม จนกลายเป็นจุด​ Check-in มากที่สุดของโลก ทั้งใน IG และอันดับ 6 บนเฟสบุ๊ก รวมทั้งรางวัลการันตีระดับโลกทั้งจากแวดวงธุรกิจค้าปลีกรวมทั้งการดีไซน์ ที่สยามดิสคัฟเวอรี่ได้รับมาในปีล่าสุด ทั้งที่เป็นศูนย์การค้าที่อายุมากกว่า 20 ปีแล้วก็ตาม รวมทั้งโครงการพัฒนาพื้นที่กว่า​ 7.5 แสนตารางเมตร ริมฝั่งแม่นำเจ้าพระยาอย่างไอคอนสยาม ที่ทำให้ทั่วโลกหันมามองประเทศไทยอีกครั้ง

“จากนี้ไปทุกการขับเคลื่อนของสยามพิวรรธน์จะทำภายใต้การมองในบริบทระดับโลก คือ การวางเป้าหมายในระดับโลก และสามารถสร้างปรากฏการณ์ได้ในระดับโลก รวมทั้งการขยายธุรกิจของสยามพิวรรธน์เองก็จะเริ่มออกไปในต่างประเทศมากขึ้น ทั้งในรูปแบบของการลงทุนร่วมกับนักลงทุนในท้องถิ่น เนื่องจากจะมีความเข้าใจอินไซต์ของผู้บริโภค และสภาพแวดล้อมต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ได้ดีกว่าการที่เราจะเข้าไปทำเองคนเดียว หรือจะเข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้กับโครงการในต่างประเทศ เพราะจากสิ่งที่เราทำมาตลอด 60 ปี ทำให้มีนักลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม กัมพูชา พม่า ติดต่อเพื่อให้เราเข้าไปสร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ ในแต่ละประเทศมาโดยตลอด ซึ่งในปีนี้จะเริ่มเห็นบทบาทของสยามพิวรรธน์ในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน”

ทิศทางการขยับตัวของสยามพิวรรธน์ในครั้งนี้ เป็นหนึ่งใน 6 กลยุทธ์สำคัญตามนโยบายการขับเคลื่อนธุรกิจในช่วง 5 ปีจากนี้ของสยามพิวรรธน์ เพื่อก้าวเป็น ผู้นำแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือแนวทางในการทำธุรกิจด้วยการนำนวัตกรรมเพื่อสร้างต้นแบบและมาตรฐานใหม่ๆ ให้กับภาคธุรกิจโดยรวมและในระดับประเทศ และเกิดการ Share Values ไปสู่ทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง พร้อมประเมินโอกาสจากการเติบโตในช่วง​ 5 ปีจากนี้ จะเติบโตได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 1 – 1.5 เท่า จากปัจจุบันมีรายได้ที่กว่า​ 25,500 ล้านบาท สามารถสร้างการเติบโตจากปีที่ผ่านมาได้ 23% โดยในปีนี้จะเติบโตต่อเนื่องได้ราว 12 -15% ซึ่งหากสมารถเติบโตตามโรดแม็พ 5 ปี คาดว่าจะสร้างรายได้ให้เติบโตได้แบบ​ Double Growth หรือมีรายได้เพิ่มขึ้นได้ถึง 5 หมื่นล้านบาท ภายใต้การเดินเกมตามแกน  6 กลยุทธ์สำคัญ ประกอบด้วย

  1. เดินหน้าสร้างปรากฏการณ์ระดับโลกต่อเนื่อง

ด้วยการพัฒนาบิ๊กโปรเจ็กต์ทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ เพื่อต่อยอดความสำเร็จจากทั้งวันสยาม และไอคอนสยาม ภายใต้วิสัยทัศน์ในการพัฒนาเมือง และเป็นต้นแบบในการทำธุรกิจอย่างสร้างสรรค์ และ Beyond ไปกว่าแค่การทำธุรกิจรีเทล ตามที่ได้ฉายภาพให้เห็นไปก่อนหน้านี้  และในปีนี้จะเปิดอีกหนึ่งแม็กเน็ตสำคัญของไอคอนสยามอย่าง ทรู ไอคอน ฮอลล์ พื้นที่กว่า 1.2 หมื่นตารางเมตร เพื่อรองรับการจัดงานประชุม หรือการแสดงแสงสีเสียงระดับโลก รวมทั้งพิพิธภัณฑ์ริมแม่น้ำอย่าง ริเวอร์มิวเซียม แบงค็อก ด้วยมาตรฐานพิพิธภัณฑ์ระดับโลก และการทำงานร่วมกับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ทั่วโลก ในการนำผลงานมาสเตอร์พีซจากทั่วโลกมาจัดแสดงในประเทศไทย

  1. ผนึกกำลังกับพันธมิตรระดับโลก ทั้งในแวดวงรีเทลและอสังหาริมทรัพย์

การเดินหน้าร่วมพัฒนาธุรกิจกับพันธมิตรระดับโลกต่อเนื่อง เช่น ร่วมกับไซม่อน พร็อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จากอเมริกา ในการขยาย Premium Outlet ทั้งใน กทม. และพื้นที่นอกกรุงเทพฯ  รวมทั้งการขยับไปในตลาดต่างประเทศทั้งในรูปแบบที่ปรึกษาธุรกิจ และผู้ร่วมลงทุน ขณะที่ในประเทศจะขยายไลน์ธุรกิจค้าปลีกที่ทำอยู่ให้หลากหลายมากขึ้น ทั้งในรูปแบบแฟรนไชส์ หรือร่วมทุนกับต่างประเทศเพื่อเปิดตัวแบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์เพิ่มเติมอีก 2 แบรนด์ และการให้ความสำคัญกับการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้เติบโตต่อในอนาคต

  1. การลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเสริมความแข็งแรงของธุรกิจหลัก

เพิ่มการลงทุนในธุรกิจที่หลากหลาย ที่สามารถสนับสนุนธุรกิจหลัก เช่น ซื้ออาคารสำนักงาน โดยเฉพาะใน กทม  ธุรกิจโลจิสติกส์ หรือในธุรกิจด้านดิจิทัลและนวัตกรรม ​รวมทั้งขยายศักยภาพของบริษัทลูกเพื่อต่อยอด​การบริหารจัดการให้เปิดกว้างมากขึ้น เช่น การบริหารศูนย์การประชุม การจัดงานแสดงโชว์และการทำตลาดอย่างครบวงจร หรือการให้คำปรึกษาทางด้านการบริหารจัดการธุรกิจ เป็นต้น

  1. เปิดตัวระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ และการทำงานบนฐานข้อมูลมากขึ้น

หลังพัฒนาระบบมากว่า 5 ปี ด้วยงบ 500 ล้านบาท เพื่อเพิ่มศักยภาพในการตอบโจทย์ด้านการมอบประสบการณ์ให้แก่ลูกค้าได้​ตามแนวทาง Customer Centric โดยเฉพาะการตอบโจทย์ลูกค้าได้แบบรายบุคคล จากฐานข้อมูลที่มีกว่า 7-8 ​ล้านข้อมูล ทั้งกลุ่มลูกค้าคนไทย และต่างประเทศ เพื่อนำมาศึกษาและเข้าใจลูกค้าแต่ละกลุ่มได้อย่างถ่องแท้

  1. กลยุทธ์การสร้างคุณค่าร่วม (Co-Creation) และสร้างประโยชน์ร่วมกันอย่างทั่วถึงแก่ทุกฝ่าย (Creating Shared Value)

ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนที่ทางสยามพิวรรธน์ยึดถือในการพัฒนาแต่ละโครงการมาโดยตลอด และเป็นตัวกลางในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในประเทศมีโอกาสเติบโตได้ในระดับโลก หรือ การปั้น​ Local Hero ไปสู่การเป็น Global Hero เพื่อช่วยสร้างชื่อเสียงให้ประเทศได้ในเวทีโลก และสร้างภาพลักษณ์ของประเทศให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล

  1. การพัฒนา​ Siam Piwat Academy และสร้าง Next Gen Leader

เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจที่โตขึ้นอย่างก้าวกระโดด มีจำนวนบริษัทเพิ่มจาก 15 บริษัท เป็น 46 บริษัท ในช่วง 5​ ปีที่ผ่านมานี้ และการส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่มีโอกาสมาเป็นหัวแรงสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร ด้วยการสร้างหน่วยธุรกิจ ​Think Tank เพื่อเปิดโอกาสให้ได้ทำงานร่วมกับผู้บริหารระดับสูงได้อย่างใกล้ชิด และถ่ายทอดองค์ความรู้ภายในให้กับส่วนรวมผ่านการทำงานร่วมกับสถาบันชั้นนำต่างๆ ระดับประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพและทักษะต่างๆ ที่จำเป็นในการทำธุรกิจไปสู่วงกว้างมากขึ้น

 


แชร์ :

You may also like