HomeInsightเปิดแผน PR ขั้นเทพ 6 กระบวนยุทธ์ กู้ชื่อ ‘หัวเว่ย’ ล้างภาพสปายจากจีน

เปิดแผน PR ขั้นเทพ 6 กระบวนยุทธ์ กู้ชื่อ ‘หัวเว่ย’ ล้างภาพสปายจากจีน

แชร์ :

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ ชื่อของ Huawei (หัวเว่ย) มีภาพลักษณ์ติดลบในสายตาชาวโลกอย่างมาก ทั้งจากเหตุการณ์ที่ “เมิ่ง เหวินโจว” ลูกสาวของประธานบริษัท  ถูกควบคุมตัวในประเทศแคนาดาภายใต้การร้องขอของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาด้วยข้อกล่าวหาด้านความมั่นคง หรือการถูกรัฐบาลสหรัฐอเมริกากล่าวหาว่าระบบเครือข่าย 5G ของ Huawei เป็นสปายให้รัฐบาลจีนในการสอดแนม เก็บข้อมูลประเทศต่าง ๆ จนทำให้โอเปอเรเตอร์ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา และชาติพันธมิตรออกมาประกาศแบน 5G จาก Huawei กันอย่างพร้อมเพรียง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

นาทีนั้น ใครเป็นทีมประชาสัมพันธ์ของ Huawei ก็คงนอนก่ายหน้าผากด้วยความปวดหัวกันทั้งสิ้น แม้กระทั่งคนในแวดวงการตลาดอย่าง Jonathan Bernstein จาก Bernstein Crisis Management ก็ยังเคยพูดว่า สถานการณ์ของ Huawei นั้นยากจะเรียกคืนชื่อเสียงที่เสียไปให้คืนมาได้ เพราะข่าวด้านลบยังคงมีออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากสื่อและจากรัฐบาลประเทศต่างๆ และปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่องแบรนด์เท่านั้น แต่โยงใยอีรุงตุงนังระดับชาติเลยทีเดียว

1.สร้างความเชื่อมั่นผ่านยอดขาย

แต่แผนแก้เกมของ Huawei ก็เริ่มต้นขึ้นอย่างเงียบ ๆ ด้วยการรุกสร้างคอนเทนต์แบบ 360 องศา เริ่มแรกจากข่าวตัวเลขยอดขายกว่า 200 ล้านเครื่องที่บริษัทส่งออกมาในช่วงปลายปี 2018 รวมถึงเปิดตัวเลขสัญญาการติดตั้งอุปกรณ์เครือข่าย 5G ที่มีแล้ว 22 ฉบับเพื่อสร้างความเชื่อมั่น โดยในข่าวชิ้นนั้น ปรากฏชื่อของ Ren Zhengfei (เหริน เจิ้งเฟย) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอที่ไม่ค่อยออกสื่อมากนักอยู่ในข่าวด้วย และเขาเป็นผู้คาดการณ์ว่า ทิศทางการเติบโตนี้จะดำเนินต่อไปในปี 2019 แม้จะมีความท้าทายจากตลาดโลกรออยู่ก็ตาม

Ren Zhengfei (เหริน เจิ้งเฟย) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Huawei (ขอบคุณภาพจากบลูมเบิร์ก)

2. ยอมให้ CEO มาปรากฏตัวผ่านสื่อ

เท่านั้นยังไม่พอ Huawei ยังยอมให้ซีอีโอออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อทั้งในและต่างประเทศผ่านรายการทีวีของรัฐบาลจีนนานถึง 2 ชั่วโมง ทั้งๆ ที่ไม่บ่อยครั้งนักที่หัวเรือใหญ่ของ Huawei คนนี้จะออกมาพบปะกับสื่อมวลชนหรือแม้แต่ปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชนอย่างเป็นทางการ ซึ่งการออกรายการครั้งนั้นได้ทำให้ Ren ได้ย้ำประโยคสำคัญอย่างการบอกว่า Huawei ไม่ใช่สปายของรัฐบาลจีน และจะไม่มีวันแชร์ดาต้าผู้ใช้งานให้ทางแดนมังกรออกไปในวงกว้าง ซึ่ง Zhang Haizhou ที่ปรึกษาด้านตลาดจาก Kreab กล่าวว่า กระบวนการเหล่านี้เป็นการทำงานที่ล้ำลึกมาก และทำให้เสียงจาก Huawei ส่งไปถึงตลาดเป้าหมายอย่างอังกฤษและเยอรมนีที่กำลังจะตัดสินใจว่าจะแบนหรือไม่แบนอุปกรณ์ 5G จาก Huawei ในขณะนี้ได้อย่างตรงจุด

นอกเหนือจากการออกสื่ออย่างเป็นทางการแล้ว ยังมีภาพของการที่ซีอีโอระดับมหาเศรษฐีเบอร์ต้นๆ ของโลกยืนรอคิวขึ้นแท็กซี่ ซึ่งความจริงเป็นภาพตั้งแต่ปี 2016 ถูกนำมาพูดถึงซ้ำในช่วงเวลาแห่งวิกฤตินี้ เพื่อโชว์ภาพความติดดินของเขาให้แฟนๆ ได้ชื่นชม สลัดภาพความเป็นสปายหรือความร้ายกาจของแบรนด์ทิ้ง

3. คัดกรองคอนเทนต์ให้เข้ากับแต่ละประเทศ

Huawei ยังมีคอนเทนต์ที่ส่งตรงถึงอังกฤษโดยเฉพาะ (รัฐบาลอังกฤษคาดว่าจะตัดสินใจเลือกผู้ให้บริการ 5G ได้ภายในช่วงฤดูใบไม้ผลินี้) โดยการเปรียบเทียบการแบน Huawei ในตลาดอุปกรณ์เครือข่าย 5G ว่า ไม่ต่างจากการเล่นพรีเมียร์ลีก แต่ไม่มีทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด เอากับเขาสิ

4. ใช้ศัตรูให้เป็นประโยชน์

ส่วนคู่ปรับตลอดกาลอย่างรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ประเทศที่เคยประกาศว่าจะไม่ร่วมสังฆกรรมกับประเทศใดก็ตามที่ใช้เทคโนโลยีของ Huawei นั้น ทางบริษัทก็มีข้อความสั้น ๆ ให้เจ็บใจเล่นด้วยการ “ขอบคุณ” รัฐบาลทรัมป์ที่ช่วยโปรโมทบริษัท และทำให้ภาพของ Huawei มีความโดดเด่นขึ้นในฐานะคู่แข่งตัวฉกาจของสหรัฐอเมริกา และการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี

5. อย่าลืมโซเชียลมีเดีย

ขณะที่บนโลกโซเชียลก็จำเป็นต้องมีคอนเทนต์ที่เป็นข้อเท็จจริงจากบริษัทออกมาเช่นกัน นั่นจึงนำไปสู่แฮชแท็ก #Huaweifacts ที่บริษัทสร้างขึ้นสำหรับนำเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับแบรนด์ Huawei โดยเฉพาะ และเมื่อสัปดาห์ก่อน บริษัทได้มีการเชิญผู้สื่อข่าวจากต่างประเทศมาเยี่ยมโรงงานการผลิตสมาร์ทโฟนในเมืองตงกวน ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเสินเจิ้น นัยว่าเพื่อแสดงความจริงใจ ว่า Huawei เปิดกว้างและไม่มีอะไรซ่อนเร้นจริง ๆ นะ แถมยังได้โชว์แคมปัสที่ทันสมัยไม่แพ้สิ่งปลูกสร้างของชาติตะวันตกด้วย

Huawei Mate X (ขอบคุณภาพจาก BBC)

6. เปิดตัวเทคโนโลยีล่าสุด

สุดท้าย คือการสร้างชื่อในฐานะผู้พัฒนา Huawei Mate X สมาร์ทโฟนพับได้เครื่องแรกของโลกที่รองรับเครือข่าย 5G โดยมีการเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ในงาน MWC 2019 เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า การถูกกล่าวหาที่อาจนำไปสู่การเสียชื่อเสียง เสียโอกาสทางหน้าที่การงาน และเสียภาพลักษณ์ของแบรนด์มีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่คนที่จะแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างสง่างามนั้น อาจต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง ซึ่ง Huawei ในวันนี้ก็เป็นอีกแบรนด์หนึ่งที่กำลังพิสูจน์ตัวเองกับอุปสรรค์ข้อนี้อยู่เช่นกัน ในภาษาจีนคำว่า “วิกฤติ” (Weiji) ประกอบไปด้วยตัวอัษรคำว่า “โอกาส” (Jihui) อยู่ภายใน ถ้าหากว่า Huawei ฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปได้ เส้นทางอันสดใสทั้งเรื่องอุปกรณ์ 5G และสมาร์ทโฟน รออยู่ในตลาดโลก

Source

Source


แชร์ :

You may also like