HomeInsight“Smart Buyer-Personalize” ผู้บริโภคยุค Big Data พฤติกรรมการเลือกซื้ออสังหาฯ ที่นักการตลาดต้องรู้

“Smart Buyer-Personalize” ผู้บริโภคยุค Big Data พฤติกรรมการเลือกซื้ออสังหาฯ ที่นักการตลาดต้องรู้

แชร์ :

โลกธุรกิจข้อมูลข่าวสารเป็นหัวใจสำคัญในการวิเคราะห์และวางแผนงาน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต การมีข้อมูลที่มากพอเพื่อใช้ตัดสินใจ ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญ แต่สิ่งที่ควรจะมีมากกว่าปริมาณ คือ เรื่องคุณภาพของข้อมูล โดยเฉพาะการมีข้อมูลที่ถูกต้องและแม่นยำ เรื่องของ Big Data จึงเข้ามาเป็นหนึ่งในหัวใจการดำเนินธุรกิจในยุคนี้ เพราะลูกค้าเดี๋ยวนี้เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายๆ เรียกได้ว่า ฉลาดมากขึ้นและเลือกมากขึ้นด้วย จากการใช้ประโยชน์ของข้อมูลข่าวสารอันมหาศาลบนโลกออนไลน์  

สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เรื่องของข้อมูลถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมาก ทั้งฝั่งนักพัฒนาก่อนที่จำลงมือทำโครงการขึ้นมา ต้องสำรวจและวิจัยตลาด รวมถึงวิเคราะห์ปริมาณความต้องการของลูกค้า ส่วนลูกค้าเมื่อต้องการซื้อที่อยู่อาศัย ต้องหาข้อมูลและเข้าเยี่ยมชมโครงการเพื่อใช้ในการตัดสินใจ ในอดีตการหาข้อมูลต้องทำในรูปแบบ Offline คือ การดูสื่อโฆษณาต่างๆ ก่อนตัดสินใจไปสู่รูปแบบ On ground คือการเดินทางไปเยี่ยมชมโครงการที่สนใจ  แล้วนำมาเปรียบเทียบตัดสินใจ  แต่ปัจจุบันข้อมูลทุกอย่างล้วนมารวมอยู่บนโลก Online  สามารถหาข้อมูลได้ง่ายและมากมาย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

Smart Buyer – Personalize” ผู้บริโภคยุค Big Data  

คุณอัญชนา วิลลิภากร ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บาเนีย (ประเทศไทย) จำกัด เล่าว่า จากการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่าย และมีปริมาณมหาศาลบนโลกออนไลน์  จะส่งผลให้ลูกค้าในยุคดิจิทัล กลายเป็น Smart Buyer ที่สมบูรณ์  คือ  มีพฤติกรรมการหาข้อมูลบนโลกออนไลน์อย่างดี ก่อนการตัดสินใจเข้าชมโครงการ แล้วจึงมาเลือกว่าจะซื้อโครงการอะไร  ค่าเฉลี่ยของผู้บริโภคจะเลือกดูโครงการที่สนใจประมาณ ​11 โครงการ  ในอดีตผู้บริโภคจะต้องเดินทางไปดูโครงการทั้ง 11 แห่ง แต่ผู้บริโภคยุคใหม่ จะหาข้อมูลบนโลกออนไลน์อย่างดีก่อน แล้วจึงคัดเลือกให้เหลือประมาณ ​3 โครงการ  เพื่อเข้าเยี่ยมชมบ้านตัวอย่าง

สิ่งที่ Smart Buyer ต้องการในการซื้ออสังหาฯ  คือ การเข้าถึงสินเชื่อธนาคารได้ไม่ยุ่งยาก สามารถติดต่อกับเจ้าหน้าที่รับผิดชอบโครงการนั้นได้โดยตรง ลูกค้ายุคใหม่ไม่ต้องการอะไรที่ขั้นตอนมากมาย ต้องการความสะดวก รวดเร็ว

ขณะเดียวกัน ยังมีความต้องการในสิ่งที่เป็นเฉพาะของตัวเอง หรือ Personalize เห็นได้จากหลักเกณฑ์การค้นหาที่อยู่อาศัยบนโลกออนไลน์  ผู้บริโภคยุคใหม่ไม่ได้บอกว่าสินค้าที่ต้องการเป็นอะไร แต่จะบอกไลฟ์สไตล์ของตัวเองว่าอยากมีชีวิตแบบไหน หรือมีไลฟ์สไตล์อย่างไร

“คนรุ่นใหม่ไม่ได้ฟันธงว่าเขาต้องการอะไร แต่เขาจะต้องการสิ่งที่ฟิตกับตัวเขา เราสังเกตได้ว่า เด็กรุ่นใหม่ เอาไลฟ์สไตล์มาเป็นตัวนำ แทนเรื่องของสินค้าและราคา”

คุณอัญชนา  เล่าอีกว่า พวกเราทุกจะมีความต้องการอะไรที่เฉพาะตัวเองเยอะขึ้น เช่น ถ้าเราสนใจบ้านเชียงใหม่ ตัวมาร์เก็ตเพลสต้องตอบโจทย์เฉพาะบุคคล ข้อมูลที่ค้นก็ต้องเป็นเฉพาะที่นั่น เพราะปัจจุบันเวลาค้นยังต้องไปในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องอยู่  การเป็น Personalize คนต้องการข้อมูลเฉพาะตัวจริงๆ ไม่ใช่ข้อมูลแมส สองต้องการการติดต่อที่รวดเร็ว และติดต่อกับคนที่รับผิดชอบโดยตรง เช่น ติดต่อโครงการ ก็ต้องการติดต่อเจ้าหน้าที่โครงการนั้นเลย ไม่ใช่ไปคอลเซ็นเตอร์บริษัท  หรือถ้าต้องการติดต่อแบงก์  ต้องเป็นเจ้าหน้าที่แบงก์ที่ดูแลโครงการนั้นโดยตรง

บ้านกลุ่มราคา 1-2 ล้านดีมานด์สูงสุด

แม้ปัจจัยเรื่องของราคาอาจจะเป็นเหตุผลรองๆ ลงมา ในการเลือกซื้อของลูกค้ายุคใหม่  แต่เรื่องของราคาก็ยังมีความสำคัญต่อการซื้อในขั้นตอนสุดท้ายเช่นกัน  ลูกค้าจะมีความสามารถซื้อที่อยู่อาศัยได้เหมาะกับกำลังทรัพย์ตัวเองหรือไม่  ซึ่งดูเทรนด์ตลาดแล้วลูกค้ามีความต้องการที่อยู่อาศัยระดับ 1-2 ล้านบาทมากที่สุดซึ่งส่วนใหญ่ในทำเลเมือง แต่เอาเข้าจริงที่อยู่อาศัยระดับราคานี้มีพัฒนาออกมาน้อย หรือแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีเลย เพราะต้นทุนที่ดินไม่เอื้ออำนวย ถ้าจะให้ดีเวลลอปเปอร์พัฒนาได้ ก็ต้องออกไปโน้นเลย “แถบชานเมือง” ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ต้องการไปอยู่

ส่วนทำเลที่ลูกค้ายังมีความต้องการและให้ความสูงสุดในปีหน้า  คือ โซนสุขุมวิท เพราะมีระบบแมสทรานซิท และราคายังสามารถจับต้องได้ อีกทำเล คือ ถนนพระราม 4 ที่กำลังพัฒนาโครงการเมกะโปรเจ็กต์หลายแห่ง  และจะทยอยก่อสร้างแล้วเสร็จไปจนถึงปี 2565 ซึ่งจะมีอาคารสำนักงานจำนวนมาก กลายเป็นแหล่งงานขนาดใหญ่ รวมถึงการเปิดใช้โครงข่ายระบบแมสทรานซิท  ในย่านฝั่งธนเชื่อมโยงเข้ามาในใจกลางเมือง  ก็เป็นแรงหนุนให้ย่านนี้มีความต้องการสูงนั่นเอง

Topic of The Year บนโลกโซเซียลมีเดีย

ในโลกยุคดิจิทัล โซเชียล มีเดีย ก็มีบทบาทสำคัญต่อการใช้ชีวิตของ Smart Buyer เพราะเป็นทั้งแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่ พื้นที่แสดงความเห็น และการร้องเรียนเมื่อยามประสบปัญหาในเรื่องต่างๆ ของการดำเนินชีวิต แถมยังได้ผลมากกว่าการไปพึ่งพาหน่วยงาน ให้มารับผิดชอบดูแลปัญหาด้วยซ้ำ  หลายครั้งพบว่าผู้ประกอบการซึ่งทำตลาดและสร้างแบรนด์มาอย่างดี  พอเจอปัญหาและถูกนำเอามาแชร์ผ่านโลกโซเชียล มีเดีย แบรนด์นั้นก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ชื่อเสียงของแบรนด์ที่สั่งสมมานานนับปี  จบลงได้เพียงแค่ชั่วข้ามคืนเท่านั้น ผู้ประกอบการจึงให้ความสำคัญต่อเสียงในโลกโซเชียล มีเดียเพิ่มมากขึ้น

มาดูกันว่าช่วง มกราคม-พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมาคนในโลกโซเชียล มีเดีย  มีประเด็นการพูดถึงในอสังหาฯ​ อย่างไรบ้าง  สำหรับ Topic of The Year เกี่ยวกับเรื่องบ้าน  ข้อความถูกพูดถึงมากที่สุด อันดับ 1 คือ ความสนใจบ้านย่านสุขุมวิท 13.53% อันดับ 2 คือ เว็บไซต์ Baania 6.05% อันดับ 3 พูดถึงโครงการแสนสิริ 5.94% อันดับ 4 ให้ความสนใจบ้านย่าน สาทร อโศก รัชดาฯ และลาดพร้าว 77% และอันดับ 5 ให้ความสนใจโฮมออฟฟิศในย่านรังสิต เพชรเกษม และรามอินทรา 5.54%

ส่วนข้อความที่พูดถึงเกี่ยวกับคอนโดฯ มากที่สุด ได้แก่ อันดับ 1 ข้อมูลข่าวของบริษัทอสังหาฯ  14.84% อันดับ 2 โครงการเปิดตัวในย่านสุขุมวิท 14.80% อันดับ 3 ข้อความประกาศขายคอนโดฯ บนโซเชียล มีเดีย 13.05% อันดับ 4 คอนโดฯ กับเสียงระฆังวัดไทร 10.18% และอันดับ 5 มหกรรมบ้านและคอนโดฯ และมาตรการคุมสินเชื่อของธปท. 4.68%

เสียงของผู้บริโภคบนโลกโซเชียล มีเดีย สามารถบ่งบอกได้ถึงความนิยม ความต้องการ ปัญหา และอีกสารพัดความในใจ ที่เปิดเผยออกมาให้ผู้ประกอบการได้รับรู้ หากนักการตลาดจับทิศทางและมอนิเตอร์ได้ทัน จะเป็นประโยชน์ในด้านการทำตลาดและสนองตอบความต้องการของพวกเขาเหล่านั้นได้อย่างดี ที่สำคัญยามเมื่อเกิดปัญหาก็แก้ปัญหาได้ทัน หรือไม่ก็หยุดระดับความรุนแรงของปัญหาไม่ให้ลุกลามใหญ่โตได้ด้วย

เพิ่มบริการใหม่เพื่อคนรักการตกแต่งบ้าน 

สำหรับแผนธุรกิจของบริษัทในปีหน้าจะเพิ่มบริการใหม่ ได้แก่  Baania Décor บริการค้นหาบ้าน เฟอร์นิเจอร์ และสินค้าตกแต่งบ้าน โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาช่วยแนะนำสินค้า  เมื่อลูกค้าเลือกห้องที่ถูกตกแต่งด้วยสไตล์ต่างๆ ในคลังข้อมูลภาพ ระบบจะแสดงสินค้าดังกล่าวพร้อมบอกข้อมูลรายละเอียด และยังแสดงสินค้าใกล้เคียงเพื่อเป็นทางเลือกเพิ่มเติม เบื้องต้นได้ร่วมทุนกับกลุ่มเอสซีจี เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์หลายพันรายการ ในอนาคตยังจะมีความร่วมมือกับพันธมิตรอื่นๆ ในวงการธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลไปยังเว็บไซต์ของแต่ละสินค้า  เพื่อสั่งซื้อสินค้าได้ทันทีด้วย  และเพิ่มการให้บริการด้านข้อมูลที่ดิน Baania Land ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลที่ดินในประเทศไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปใช้ในการตัดสินใจพัฒนาโครงการ ซึ่งจะมีข้อมูลทั้งด้านระบบคมนาคมขนส่ง เส้นทางรถไฟฟ้า การจัดสรรที่ดิน

 


แชร์ :

You may also like