HomeBrand Move !!Dean & Deluca ปรับกลยุทธ์ ใช้ระบบแฟรนส์ ขยายสาขา 500 แห่ง เพราะธุรกิจต้องแข่งด้วยสปีด+ต้นทุนต่ำ

Dean & Deluca ปรับกลยุทธ์ ใช้ระบบแฟรนส์ ขยายสาขา 500 แห่ง เพราะธุรกิจต้องแข่งด้วยสปีด+ต้นทุนต่ำ

แชร์ :


ธุรกิจปัจจุบันต้องแข่งขันกันด้วย “ความเร็ว” (Speed) เหมือนกับคำพูดที่ว่าเป็นยุคของ “ปลาเร็ว” ไม่ใช่ “ปลาใหญ่” หรือ “ปลาเล็ก” อีกต่อไป เพราะโลกหมุนเร็ว พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปแทบจะทุกวินาที ใครใส่เกียร์เดินหน้าธุรกิจได้เร็วกว่า โอกาสคว้าชัยชนะก็ย่อมมีมากกว่า มากกว่านั้น หากมีต้นทุนธุรกิจต่ำด้วยแล้ว ความเสี่ยงจากความผิดพลาดก็เป็นเรื่องที่รับได้ เพราะเม็ดเงินลงทุนไม่ได้มากมายอะไร ปัจจัย 2 เรื่องดังกล่าว ใครสามารถทำได้ดี เส้นชัยทางธุรกิจก็อยู่แค่เอื้อม

ดีน แอนด์ เดลูก้า(Dean & Deluca) แบรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มกูร์เม่ต์จากนิวยอร์ค ภายใต้การบริหารงานของ บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PACE ก็ได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจโดยเน้นการขยายสาขาแบบให้สิทธิแฟรนไชส์ โดยการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจระดับโลก เนื่องจากมองเห็นว่ามีข้อดีในเรื่องความเร็ว  เพราะกลยุทธ์การให้สิทธิแฟรนไชส์คือสามารถขยายร้านได้เร็วตามกำลัง และเครือข่ายของพาร์ทเนอร์ แถมด้วยไม่ต้องใช้เงินลงทุน ความเสี่ยงต่ำ และสามารถรับรู้รายได้จากการเก็บค่าสิทธิได้ทันที

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

คุณสรพจน์ เตชะไกรศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เพซฯ  ซึ่งเป็นบริษัทไทยที่เป็นเจ้าของแบรนด์ ดีน แอนด์ เดลูก้า ทั่วโลก เล่าว่า  ได้เซ็นสัญญากับ Lagardère Travel Retail ให้เอ็กซ์คลูซีฟแฟรนไชส์เพื่อเปิดร้าน ดีน แอนด์ เดลูก้า ในสนามบิน สถานีรถไฟ และจุดท่องเที่ยวหรือ Travel Hub  แผนในปี 2019 จะเปิดอย่างน้อย 30 สาขา และคาดการณ์รายได้จากการให้สิทธิแฟรนไชส์กับพาร์ทเนอร์เจ้านี้ประมาณ 600 ล้านบาท พร้อมกับตั้งเป้าขยาย 150 สาขาภายใน 5 ปีด้วย

“ความตั้งใจของเพซที่จะต่อยอดแบรนด์ ดีน แอนด์ เดลูก้า ไปสู่ตลาดโลกเราได้วางกลยุทธ์ในการขยายแบรนด์โดยการให้สิทธิแฟรนไชส์กับคู่ค้าที่มีเครือข่ายระดับโลก จากนี้ไป การหาพาร์ทเนอร์เพื่อให้สิทธิแฟรนไชส์ เราจะโฟกัสไปที่พาร์ทเนอร์ที่มีศักยภาพและมีโลเคชั่นของร้านที่ดี เพราะจากประสบการณ์ของเราโลเคชั่นที่ดีสามารถทำยอดขายและรายได้ได้มากกว่าร้านที่มีจำนวนเยอะ แต่ไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มลุกค้าเป้าหมายได้”

สำหรับตลาดลูกค้าสนามบิน สถานีรถไฟ และจุดท่องเที่ยวหรือ Travel Hub ถือเป็นตลาดที่มีความพิเศษ เพราะลูกค้าพร้อมจ่าย มีกำลังซื้อสูงและสามารถขายได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยจากประสบการณ์ ร้านดีน แอนด์ เดลูก้าสาขาสนามบินสุวรรณภูมิ 1 สาขา สามารถทำยอดขายได้กว่า 400,000 บาทต่อวัน เท่ากับรายได้ประมาณ 150 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นรายได้มากกว่าสาขาในเมือง 4-5 เท่า

จากการทำสัญญาในครั้งนี้ Lagardère Travel Retail จะเปิดอย่างน้อย 150 สาขาภายใน 5 ปี และคาดว่าจะสามารถทำรายได้อย่างน้อยสาขาละ 100 ล้านบาทต่อปี ทำให้ดีน แอนด์ เดลูก้าสามารถรับรู้รายได้จากค่าเก็บสิทธิ Royalty Fee ที่ประมาณ 4 ล้านบาทต่อสาขาต่อปี ซึ่งเมื่อขยายได้ครบ 150 สาขา จะทำให้เราสามารถเก็บค่าสิทธิหรือ Royalty Fee ได้มากถึง 600 ล้านบาทต่อปี นอกจากนั้นแล้วบริษัทฯ ยังสามารถนำสินค้ารีเทล แบรนด์ดีน แอนด์ เดลูก้าไปขายในร้าน Travel Essentials ในโลเคชั่นต่างๆ กว่า 2,900 แห่ง ที่ทาง Lagardère Travel Retail มีร้านค้าทั่วโลกอยู่แล้วอีกด้วย

“เรามั่นใจว่า การปรับกลยุทธ์แบรนด์โดยการให้สิทธิแฟรนไชส์กับพาร์ทเนอร์ระดับโลก เช่น Lagardère Travel Retail และพาร์ทเนอร์ที่สนใจรายอื่นๆ จะทำให้รายได้ ดีน แอนด์ เดลูก้า ในอนาคตเติบโตต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญผ่านการเก็บค่าสิทธิรวมถึงรายได้จากการขายสินค้าให้กับ franchisee และรายได้ที่เกียวเนื่องในส่วนอื่นเพิ่มอีกด้วย”

ปัจจุบัน ดีน แอนด์ เดลูก้า มีสาขาทั่วโลกจำนวนทั้งสิ้น 78 สาขา โดยแบ่งเป็นสาขาที่เป็นแฟรนไชส์ จำนวน 36 สาขา ใน 12 ประเทศ  และเพซฯ เป็นเจ้าของกิจการในสหรัฐอเมริกา จำนวน 6 สาขา ในประเทศไทยจำนวน 12 สาขา และยังถือหุ้นร้อยละ 50 ใน ดีน แอนด์ เดลูก้า แบบคาเฟ่ที่ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 24 สาขา อีกทั้งยังมีแผนขยายสาขาทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง โดยสาขาที่กำลังจะเปิดตัวเร็ว ๆ นี้ ได้แก่ สาขา meatpacking ในนครนิวยอร์ค ซึ่งมีกำหนดเปิดให้บริการภายในไตรมาสแรกปี 2562


แชร์ :

You may also like