“รอยัล พารากอน ฮอลล์” (Royal Paragon Hall) ศูนย์แสดงนิทรรศการและการประชุมที่เปิดพื้นที่ต้อนรับการจัดงานอีเวนต์ทั้งในระดับประเทศและในระดับโลก มานับครั้งไม่ถ้วนตลอดระยะเวลา 12 ปีเต็มที่ผ่านมา บนพื้นที่ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน ด้วยจุดเด่นความเป็นมืออาชีพด้านการบริหารจัดการพื้นที่ จนกลายเป็นอีกหนึ่งสถานที่จัดงานสำคัญในระดับภูมิภาค ขณะเดียวกันยังใส่ใจเรื่อง “ความยั่งยืน” ให้กับองค์กร ไปพร้อมกับการดำเนินธุรกิจด้วยเช่นกัน
ตลาดอีเว้นท์โต ธุรกิจพื้นที่จัดงาน
คุณทาลูน เทง กรรมการผู้จัดการ รอยัล พารากอน ฮอลล์ กล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์ธุรกิจสถานที่จัดแสดงงานฯ ในปี 2562 คาดว่าจะมีการแข่งขันสูงขึ้น จากปัจจัยหลัก คือ การเติบโตของการจัดอีเว้นท์มีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดความต้องการในสถานที่จัดงานมากขึ้น และทำให้มีสถานที่จัดงานรายใหม่เกิดขึ้นอีกจำนวนมาก
สถานการณ์ดังกล่าว ถือเป็นความท้าทายอย่างมากของ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ต่อการพัฒนาการให้บริการซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจนี้ รวมถึงการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าในการจัดงานอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังดำเนินธุรกิจคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ไปพร้อมกันด้วย หรือที่เรียกกันว่า “การบริหารการจัดการอย่างยั่งยืน”
ผลการดำเนินงาน รอยัล พารากอน ฮอลล์ ในครึ่งปีแรก 2561 มีแนวโน้มดีมากคาดในปีนี้จะมีผลประกอบการอยู่ที่ 250 ล้านบาท เติบโตประมาณ 10% มีอัตราการใช้สถานที่ (Occupancy) ทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 80% และในขณะนี้รอยัล พารากอน ฮอลล์ มียอดจองใช้พื้นที่ยาวล่วงหน้าไปถึงปี 2563
โดยเป็นในทิศทางเดียวกับ ภาพรวมธุรกิจการจัดงานในประเทศไทย ในปี 2561 ซึ่งพบว่าธุรกิจศูนย์กลางสถานที่จัดงาน ในครึ่งแรกของปีนี้เติบโตดี โดยภาพรวมการจัดงานแสดง(อีเวนท์) คาดว่าจะมีอัตราเติบโต 5-10% ในปีนี้ และเติบโตดีต่อเนื่องในปีหน้า
ขณะที่การจัดงานอีเวนท์ทั้งในและต่างประเทศ จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยเทรนด์การจัดงานในอนาคต จะมีนำเทคโนโลยีรวมถึงนวัตกรรมต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้กับการจัดงานมากขึ้น เพื่อสร้างความสะดวกให้กับผู้ร่วมงาน รวมถึงการลดผลกระทบที่เกิดจากการจัดงานต่อสิ่งแวดล้อม โดยในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะเป็นสิ่งที่ทุกการจัดงานจะต้องตระหนักและให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
12 ปีแห่งความสำเร็จ ส่งคืนกลับสังคม
ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา รอยัล พารากอน ฮอลล์ ไม่ได้วัดความสำเร็จเพียงแค่ตัวเลขของผลประกอบการ แต่สิ่งหนึ่งที่องค์กรให้ความสำคัญคือการเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกับสังคม ในทุกปี รอยัล พารากอน ฮอลล์ จึงได้วางนโยบาย “ระบบการบริหารการจัดงานอย่างยั่งยืน” (Event Sustainability Management Systems) เป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญขององค์กร เพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากการดำเนินงานขององค์กรต่อ สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ
ซึ่งสอดคล้องกับความสำเร็จของ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ที่ได้รับการสนับสนุนและการตอบรับอย่างดีจากทุกภาคส่วนในสังคม ผลักดันให้แบรนด์ รอยัล พารากอน ฮอลล์ สามารถขึ้นสู่ “การเป็นสถานที่จัดงานระดับโลก” ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งนโยบายดังกล่าวมาจากจิตสำนึกที่องค์กรจะต้องตอบแทนสิ่งดี ๆ คืนสู่สังคมบ้าง และสิ่งนี้เองจะเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งองค์กรต่อการดำเนินธุรกิจการบริหารจัดการพื้นที่จัดงานในอนาคตได้เป็นอย่างดีด้วย
การจัดห้องประชุมแบบไม่ใช้ผ้าคลุมโต๊ะ-เก้าอี้
โดย รอยัล พารากอน ฮอลล์ ได้นำหลักการบริหารจัดการอย่างยั่งยืนมาใช้กับธุรกิจอย่างจริงจัง ภายใต้วิสัยทัศน์สร้างประโยชน์สูงสุดให้กับทุกภาคส่วน ทั้งลูกค้า คู่ค้า พนักงาน และสังคม ด้วยจรรยาบรรณและจริยธรรม เพื่อเป็นต้นแบบในการดำเนินการ และส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับผู้เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) ภายในประเทศ ตระหนักร่วมกัน
“ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญมากที่ผม และทีมงานทุกคนของ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ยึดถือมาตลอด และปลูกผังให้เป็นวัฒนธรรมขององค์กรตั้งแต่ปีแรกที่เปิดสถานที่แห่งนี้” ทาลูน กล่าว
3 เสาหลัก ค้ำองค์กรยั่งยืน
สำหรับแผนดำเนินการภายใต้นโยบายดังกล่าว รอยัล พารากอน ฮอลล์ จะนำพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ “Creativity” ซึ่งมาจาก DNA ขององค์กรที่มีความกล้าคิดใหม่ ทำใหม่ บวกกับ “Experience” ประสบการณ์ความสำเร็จในแวดวงธุรกิจการจัดงานตลอด 12 ปีที่ผ่านมา มาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสร้างสรรค์กิจกรรมและแผนงานต่างๆ โดย 3 ส่วนหลักที่เป็นเหมือนเสาหลักของการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กร จะประกอบไปด้วย
- สิ่งแวดล้อม ดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ “4R” อย่างต่อเนื่อง คือ Re-think Reduce Recycle และ Re-use ด้วยการนำแนวคิด และนวัตกรรมใหม่ๆมาใช้ เพื่อลดการใช้ทรัพยากรที่ไม่จำเป็น และสร้างความตระหนักในทุกภาคส่วนร่วมจัดงานอย่างยั่งยืนร่วมกัน
- สังคม ร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมไทย เช่น การให้การสนับสนุนการจัดงานออกร้านคณะภริยาทูตเพื่อหารายได้ช่วยเหลือกิจกรรมสาธารณะของสภากาชาดไทย ฯลฯ พร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในกิจกรรมต่างๆของชุมชน รวมถึงการออกไปสำรวจ พูดคุยกับชุมชนถึงผลกระทบต่างๆ จากการดำเนินงานที่อาจเกิดกับชุมชนรอบข้าง รอยัล พารากอน ฮอลล์
- เศรษฐกิจ ร่วมส่งเสริมการบริหารงาน โดยยึดมั่นหลักจรรยาบรรณ และจริยธรรม ด้วยการเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับองค์กรอื่นๆ ด้วยเรื่องดังกล่าวมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศชาติอย่างมาก เพราะหากทุกองค์กรการันตีความโปร่งใสทั้งด้านจรรยาบรรณ และจริยธรรม ในการดำเนินงานแล้ว ย่อมส่งผลที่ดีให้กับภาพลักษณ์ของธุรกิจโดยรวมของประเทศเช่นกัน โดยในช่วงที่ผ่านมา รอยัล พารากอน ฮอลล์ ยังได้รับรางวัลต่างๆ อาทิ รางวัลบรรษัทภิบาลดีเด่น จาก ปปช. รางวัลองค์กรโปร่งใสดีเด่น จาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และรางวัล TCC Best จากหอการค้าไทย นอกจากนี้ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ยังได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) สสปน. หรือ ทีเส็บ (TCEB) ในการช่วยพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นด้านการพัฒนาบุคลากร คนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในอนาคต
ส่งต่อแรงกระเพื่อมสู่สังคม
สำหรับผลที่ได้รับอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้นโยบายการบริหารการจัดงานอย่างยั่งยืนนี้ คุณทาลูน เชื่อว่าส่วนหนึ่งจะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมไปยังผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆที่เกี่ยวข้องกับองค์กรทั้งทางตรงและทางอ้อม ให้ได้เห็นความสำคัญพร้อมดำเนินนโยบายนี้ร่วมกัน พร้อมส่งต่อไปยังอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศไทย และขยายไปยังภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
พร้อมวางเป้าหมายจากการนำนโยบายฯมาใช้ โดยจะยังรักษามาตรฐานระบบ ISO 20120 การบริหารการจัดงานอย่างยั่งยืนที่ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ได้รับเมื่อปีที่แล้ว พร้อมกับการพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังลดผลกระทบเชิงรูปธรรม ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคมชุมชนรอบข้าง ที่เกิดจากการบริหารงานของสถานที่จัดงานแห่งนี้ให้ได้น้อยที่สุด อาทิ จากการลดการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณน้ำเสียที่ปล่อยออกไป จำนวนขยะที่นำมารีไซเคิลได้ จำนวนข้อร้องเรียนต่างๆ จากชุมชนรอบข้าง ฯลฯ รวมถึงพนักงานมีส่วนร่วมพัฒนาระบบการจัดการอย่างยั่งยืนขององค์กร
ในด้านลูกค้า มีความตระหนักและให้การตอบรับในการจัดงานอย่างยั่งยืนร่วมกัน โดยวัดความสำเร็จจากการตอบรับผ่านแบบฟอร์มการจัดงานอย่างยั่งยืนซึ่งกำหนดการลดการใช้ทรัพยากรในด้านต่างๆที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เช่น งดการใช้ผ้าคลุมโต๊ะ-เก้าอี้, งดการใช้ดอกไม้สด, งดการใช้ภาชนะที่เป็นโฟม-พลาสติก, การดำเนินการตกแต่งสถานที่จัดงานโดยใช้วัสดุหรืออุปกรณ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ฯลฯ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติที่ส่งให้กับลูกค้าได้เข้ามามีส่วนร่วม และนำหลักการดังกล่าวมาใช้จริงจัง ด้านคู่ค้าและผู้รับเหมา ต่างมีความเข้าใจ พร้อมให้ความร่วมมือในหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน วัดความสำเร็จจากการตอบรับให้ความร่วมมือ อาทิ จำนวนผู้ให้บริการธุรกิจจัดเลี้ยงที่ร่วมจัดสรร Sustainable Menu ส่วนในด้านพลังงานก็ได้กำหนดมาตรการประหยัดพลังงานไฟฟ้า โดยตั้งเป้าไว้ว่าต้องลดลง 10% ต่อปี เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
Sustainable Menu