HomeBig Featuredทำความรู้จัก ‘ธนจิรา กรุ๊ป’ กลุ่มที่กล้าทุ่ม ‘พันล้าน’ ซื้อกิจการ HARNN 100%

ทำความรู้จัก ‘ธนจิรา กรุ๊ป’ กลุ่มที่กล้าทุ่ม ‘พันล้าน’ ซื้อกิจการ HARNN 100%

แชร์ :

กลุ่มธนจิรา เป็นกลุ่มธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ ที่ผู้บริโภคหลายคนอาจจะไม่รู้จัก หรืออาจจะรู้จักแต่ก็คงอยู่ในวงจำกัด เพราะดำเนินธุรกิจมาเพียง 8 ปีเท่านั้น  แต่หากเอ่ยชื่อแบรนด์สินค้า ไม่ว่าจะเป็น แพนดอร่า (PANDORA) เครื่องประดับแบรนด์ดังจากเดนมาร์ก  มารีเมกโกะ (MARIMEKKO) แบรนด์ไลฟ์สไตล์แฟชั่นจากฟินแลนด์  โจนาธาน แอดเลอร์ (JONATHAN ADLER) แบรนด์สินค้าตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์ลักซ์ชัวรี่จากนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ทิลดา (TILDA) แบรนด์เครื่องประดับจิวเวลรี่เพชรแท้ และ แคท คิดสตัน (CATH KIDSTON) แบรนด์ไลฟ์สไตล์โมเดิร์นวินเทจ จากประเทศอังกฤษ ที่นำเข้ามาในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เชื่อว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่จะรู้จักมากกว่า

Time-line ธุรกิจกลุ่มธนจิรา

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ปี 2010 เริ่มนำแบรนด์แพนดอร่ามาจำหน่ายในประเทศไทยครั้งแรก

ปี 2016  นำเข้าแบรนด์มารีเมกโกะ และโจนาธาน แอดเลอร์  พร้อมกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ภายใต้แบรนด์ทิลดา ซึ่งเป็นเครื่องประดับจากจิวเวลรี่เพชรแท้

ปี 2017 ลงทุน 300 ล้านบาท ซื้อกิจการแบรนด์ แคท คิดสตัน ในประเทศไทยและนำมาทำตลาด  ซึ่งแบรนด์แคท คิดสตัน เป็นแบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์แฟชั่น จากประเทศอังกฤษ และจับลูกค้ากลุ่มพรีเมียมแมส

ปี 2018 ลงทุนหลัก 1,000 ล้านบาท ซื้อกิจการแบรนด์ หาญ (HARNN) แบบ 100% เข้ามาอยู่เติมเต็มในพอร์ตสินค้าไลฟ์สไตล์

เป้าหมายและโจทย์สำคัญของกลุ่มธนจิรา คือ การก้าวไปสู่การเป็น Regional Lifestyle Company  แต่หากดูจากแบรนด์สินค้าในปัจจุบัน มีสินค้าเฉพาะในกลุ่มแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ จิวรี แอคเซสเซอรี่ และโฮมแวร์ แต่ยังขาดสินค้ากลุ่มสุขภาพและความงาม (Health and Beauty) อาทิ เครื่องหอม  สปาโปรดักส์  บอดี้แคร์ และสกินแคร์ จึงได้มองหาแบรนด์สินค้าที่จะมาตอบโจทย์ดังกล่าว จึงได้ซื้อกิจการแบรนด์ หาญ (HARNN) ในครั้งนี้ ซึ่งจะมาช่วยเติมเต็มเป้าหมายและผลักดันให้ธุรกิจก้าวไปสู่ความสำเร็จ

สิ่งที่กลุ่มธนจิรา จะได้จากการถือครอง HARNN มีอะไรบ้าง

1.ร้านสาขาของแบรนด์ในเครือ HARNN และสปา ด้วยจุดขายและบริการประมาณ 30 สาขาในประเทศไทย และยังจัดจำหน่ายผ่านตัวแทนจำหน่ายในอีก 16 ประเทศ โดยส่วนมากเป็นประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย

2.การได้สินทรัพย์ทางปัญญาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Branding and IP Assets) และเครือข่ายเชิงธุรกิจทั้งหมดของกิจการ รวมถึงแบรนด์ต่างๆ ภายใต้แบรนด์ HARNN ได้แก่ HARNN (หาญ), Vuudh (วุฒิ), Tichaa by HARNN  (ธิชา บาย หาญ), HARNN Heritage Spa  (หาญ เฮอริเทจสปา) และ Asian Holistic Academy (เอเชี่ยน โฮลิสติก อะคาเดมี)  

3.ธุรกิจที่มีอายุยาวนานกว่า 18 ปี  และสร้างรายได้จากอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 15%  ซึ่งจะมีส่วนผลักดันให้ผลประกอบการโดยรวมของบริษัทเติบโตแบบก้าวกระโดด ลดความเสี่ยงในการพึ่งพิงรายได้จากแบรนด์นำเข้าเพียงอย่างเดียว  โดยตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2563 แบรนด์ HARNN จะทำรายได้ให้กับบริษัทเป็นสัดส่วน 25% จากรายได้รวมที่ 2,250 ล้านบาท

4.เป็นแบรนด์ธุรกิจสำคัญในการผลักดันให้บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในปี 2020

5.ทีมผู้บริหารและพนักงานมืออาชีพ ในการช่วยสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ

สิ่งที่กลุ่มธนจิราจะปั้นแบรนด์ HARNN ให้แข็งแกร่ง เพื่อเป็นจิ๊กซอว์สำคัญผลักดันให้บริษัทไปสู่เป้าหมาย

1.ทำการตลาดและสร้าง Brand Awareness เพื่อการรับรู้ในแบรนด์ จากการรับรู้ว่าเป็นแบรนด์สปา สู่การเป็นแบรนด์สุขภาพและความงาม พร้อมกับโฟกัสการทำตลาดในประเทศไทยเป็นหลัก ก่อนทำตลาดในต่างประเทศอย่างจริงจัง

2.ปรับภาพลักษณ์แบรนด์ให้ทันสมัย เพื่อจับกลุ่มลูกค้าอายุน้อยลง  จากเดิมกลุ่มลูกค้าหลักเป็นผู้หญิงมีอายุ รวมถึงโฟกัสกลุ่มลูกค้าคนไทยเป็นหลัก เพื่อให้มีสัดส่วนยอดขายคนไทย 80% จากปัจจุบัน 20%

3.ปรับพอร์ตสินค้าบางรายการ ให้สอดคล้องกับรสนิยมและไลฟ์สไตล์ของคนไทย จากการวิจัยและสำรวจตลาดพบว่า คนไทยยังซื้อสินค้าไม่มาก เพราะไม่รู้จักแบรนด์และไม่ชอบกลิ่นของผลิตภัณฑ์  ซึ่งมีความเป็นไทยสูง แต่เป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างชาติ จึงวางแผนเลิกผลิตสินค้าบางรายการ  และการเพิ่มสินค้าใหม่เข้ามาทำตลาด

4.เตรียมงบทำตลาดและขยายสาขา 50 ล้านบาท แบ่งเป็นการทำตลาด 20 ล้านบาทและการขยายสาขาเพิ่ม 30 ล้านบาท โดยเตรียมขยายสาขาร้านแบรนด์ HARNN จำนวน 29 สาขาและแบรนด์ Vuudh จำนวน 2 สาขา

5.สร้างพันธมิตรใหม่ที่มีศักยภาพ ในการทำตลาดต่างประเทศ ทั้งในประเทศเดิมที่มีตัวแทนจำหน่ายอยู่แล้ว  และประเทศใหม่ที่ยังไม่มีตัวแทนจำหน่าย โดยเริ่มจากภูมิภาคเอเชีย  และจะวางกลยุทธ์การวางจำหน่ายสินค้าใหม่ การกำหนดกรอบราคาขาย การตกแต่งร้าน การวางกลยุทธ์ visual merchandizing และการกำหนดนโยบายการตลาด  เพื่อสร้างมูลค่าให้กับแบรนด์ในระยะยาว และเพิ่มมูลค่าการส่งออก ลดการพึ่งพิงรายได้จากการขายในประเทศ บริษัทตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการส่งออกจากเดิม 20%  หรือทำรายได้ 60 ล้านบาท เป็นสัดส่วน 40%  หรือมีรายได้ 120 ล้านบาท ภายใน 2 ปี

คุณธนพงษ์  จิราพาณิชกุล กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด เล่าว่า “การเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ จะสร้างความชัดเจนให้กับแนวทางการเจริญเติบโตของบริษัท  ด้วยการมีแบรนด์เป็นของตนเอง  จากที่ผ่านมานำเข้าแบรนด์มาทำตลาดอย่างเดียว  ถือว่ามีความเสี่ยง”

5 เกณฑ์การเลือกซื้อแบรนด์เข้าพอร์ต สู่เป้ายอดขาย 2,250 ล้าน หากนับจำนวนแบรนด์ในพอร์ตของกลุ่มธนจิรา ปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 9 แบรนด์  แต่ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป  จะยกเลิกการทำตลาดแบรนด์ โจนาธาน แอดเลอร์ เนื่องจากเป็นแบรนด์สินค้าที่จับตลาดเฉพาะกลุ่มเกินไป ฐานลูกค้าและรายได้มีจำกัด  ซึ่งทำยอดขายได้ประมาณ ​20 ล้านบาทเท่านั้น  ไม่ตอบโจทย์กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของบริษัท เพราะการคัดเลือกแบรนด์เข้ามาในพอร์ต  จะต้องตอบโจทย์​ 5 กลยุทธ์หลัก คือ

1.เป็นแบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์ในกลุ่มพรีเมี่ยมแมสขึ้นไป

2.แบรนด์เป็นที่รู้จัก มีจุดแข็งสามารถสร้างแบรนด์และทำตลาดได้  มีความแข็งแรงโดยไม่ต้องลงไปแข่งขันด้านราคา เพราะจะทำให้กำไรน้อยลง

3.แบรนด์มีศักยภาพในการพัฒนาและสร้างการเติบโตในอนาคต

4.เป็นแบรนด์มีศักยภาพและโอกาสขยายตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยว  และในตลาดเซาท์อีสเอเชีย

5.สามารถให้ผลตอบแทนได้ในอัตราไม่ต่ำกว่า 15% ต่อปี

กลุ่มธนจิรา ยังคงเดินหน้าเพื่อหาแบรนด์สินค้าเข้ามาเติบเต็มพอร์ต โดยเฉพาะกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) รวมถึงสินค้าไลฟ์สไตล์  เพื่อไปสู่เป้าหมายทั้ง Regional Lifestyle Company  และการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งในปี 2020 บริษัทคาดว่าจะทำรายได้ 2,250 ล้านบาท  จากปีนี้ที่น่าจะทำรายได้ 1,560 ล้านบาท  การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ  บริษัทหวังว่าจะได้เงินจากการระดมทุนมา 1,500-2,000 ล้านบาท  เงินก้อนนี้จะเอามาใช้สำหรับชำระหนี้ จากการไปซื้อกิจการและนำเข้าแบรนด์  รวมถึงการนำมาใช้ขยายกิจการ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อแบรนด์ใหม่ หรือการทำตลาด


แชร์ :

You may also like