HomeBrandingใครว่า “กาฬสินธุ์” ไม่น่าเที่ยว? ยุทธการรีแบรนด์เมืองรอง ปรับภาพจำในมุมมองใหม่

ใครว่า “กาฬสินธุ์” ไม่น่าเที่ยว? ยุทธการรีแบรนด์เมืองรอง ปรับภาพจำในมุมมองใหม่

แชร์ :

แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน หากแต่ “กาฬสินธุ์” กลับเป็นจังหวัดที่ใครต่างมองข้าม และใช้เป็นทางผ่านไปสู่เมืองหลัก ด้วยภาพจำของการเป็นเมืองขนาดเล็ก การเดินทางก็ไม่สะดวกสบาย อีกทั้งยังไม่รู้จักสถานที่ท่องเที่ยวว่ามีที่ใดน่าสนใจบ้าง ทำให้ภาพรวมของการท่องเที่ยวในกาฬสินธุ์ค่อนข้างจะเงียบเหงาเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นในแดนอีสาน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

จากการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2560 นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเดินหน้าดำเนินการขับเคลื่อนโครงการ “คนกาฬสินธุ์ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” หรือ “กาฬสินธุ์แฮปปี้เนส 2019” เพื่อแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งหนึ่งในแนวนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของกาฬสินธุ์ คือการดึงเอาศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดกาฬสินธุ์ออกมา โดยให้เชื่อมโยงศิลปวัฒนธรรม อาหาร ผลิตภัณฑ์ ดนตรี แหล่งขุดค้นทางโบราณคดี ให้สามารถนำมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอีกทางหนึ่ง

นโยบายดังกล่าวได้ถูกส่งไม้ต่อให้กับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในการรีแบรนด์เมือง (Rebranding City) เพื่อสร้างการรับรู้และสร้างภาพจำใหม่ของจังหวัดกาฬสินธุ์ ด้วยการนำเสนอมุมมองเชิงสร้างสรรค์ในแนวคิด “ทุกสิ่งสร้างสรรค์ ณ กาฬสินธุ์”

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า “ปัจจุบันการคมนาคมในจังหวัดกาฬสินธุ์ถูกพัฒนาขึ้นมาก ทำให้การเดินทางมายังกาฬสินธุ์เป็นเรื่องง่ายขึ้น โดยมีสนามบินใกล้เคียงถึง 2 แห่ง คือ ท่าอากาศยานร้อยเอ็ด และ ท่าอากาศยานนานาชาติขอนแก่น ที่ใช้เวลาเดินทางเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น ขณะเดียวกันทางททท.ยังได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจเชิงลึกและมองหาแง่มุมใหม่ๆ ของกาฬสินธุ์ เพื่อป็นการขยายภาพพื้นที่ด้านการท่องเที่ยวให้มากขึ้น ซึ่งเป็นการ rebranding กาฬสินธุ์ให้เห็นในมุมมองเก๋ไก๋”

เปิดภาพ “กาฬสินธุ์” ในมุมใหม่

เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เห็นภาพปัจจุบันของจังหวัดกาฬสินธุ์ ทั้งเชิงวิถีชีวิตในเมือง วิถีชีวิตในพื้นที่อำเภอต่างๆ รวมไปถึงแหล่งเรียนรู้ทางโบราณคดีชีววิทยาที่มีความทันสมัยและเป็นแหล่งเรียนรู้ซากดึกดำบรรพ์ที่สำคัญของประเทศไทย ททท.จึงได้นำเสนอภาพถ่ายและเผยแพร่ในแนวคิด มอง “กาฬสินธุ์” ในมุมใหม่ ซึ่งภาพ KALASIN ‘s ePOSTER จะถูกเน้นการเผยแพร่ทางออนไลน์เป็นหลัก เพื่อให้เกิดการส่งต่อภาพเหล่านี้ให้กัน เพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจในการเดินทาง ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูภาพหรือดาวน์โหลดได้ที่ https://www.facebook.com/eGREETTAT  อัลบั้ม กาฬสินธุ์มุมใหม่

“แผนการดำเนินงานต่อจากนี้ ททท. จะนำเสนอเนื้อหาของจังหวัดกาฬสินธุ์ผ่านสื่อต่างๆ โดยให้เห็นถึงความน่าสนใจด้วยมุมมองที่สร้างสรรค์เพิ่มเติมโดยไม่ละทิ้งเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรม รวมทั้งดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นการเดินทาง ในจังหวัดกาฬสินธุ์ตลอดทั้งปีด้วย อาทิ การจัดเทศกาลสงกรานต์ “ดีโน่ศิลป์ถิ่นคนน่ารัก” ที่จะเนรมิตไดโนเสาร์พ่นน้ำและเล่นน้ำร่วมกับไดโนเสาร์ให้ได้ชุ่มฉ่ำกันทั่วเมือง และเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีการจัดงานดีโนศิลป์ถิ่นอาร์ต ซึ่งเป็นการรวบรวมศิลปินทั้งชาวกาฬสินธุ์และต่างถิ่นมานำเสนองานศิลปะหลากหลายรูปแบบ อาทิ ดนตรีท้องถิ่น ดนตรีสากล Graffiti งานปั้น หุ่นเหล็กไดโนเสาร์  การจัดงานมหกรรมอาหาร  เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดนี้ ภายใต้นโยบายของรัฐบาลและเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองรองตามแคมเปญ Amazing Thailand Go Local หรือ เที่ยวท้องถิ่นไทย ชุมชนเติบใหญ่ เมืองไทยเติบโต ที่ส่งเสริมให้เกิดการเดินทางไปท่องเที่ยวในเมืองรอง เพื่อการท่องเที่ยวช่วยสร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำให้กับท้องถิ่นอย่างยั่งยืน” ยุทธศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติม

ดินแดนแห่งเสน่ห์ทางวัฒนธรรม

หากเจาะลึกเข้าไปถึงความเป็น “กาฬสินธุ์” จะพบว่าจังหวัดแห่งนี้มีความเงียบสงบ ผู้คนมีรอยยิ้มและไมตรี อีกทั้งยังมีธรรมชาติและทรัพยากรที่สมบูรณ์ จึงมีสถานที่น่าท่องเที่ยวมากมายรอคอยนักท่องเที่ยวไปสัมผัสเสน่ห์ที่ซ่อนอยู่นั้น ซึ่งสามารถแยกย่อยออกเป็นหลายรูปแบบตามความสนใจของนักเดินทาง อาทิ

“งานบุญคูนลาน” ที่ชาวนาจะถือปฏิบัติเมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้นในเดือนยี่หรือราวเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นการทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคลและสู่ขวัญแม่โพสพที่บันดาลให้มีข้าวอุดมสมบูรณ์ ชาวตำบลเหนือ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ได้ทำงานบุญคูนลานในทุกปีเช่นกัน แต่ในปี พ.ศ. 2537 – 2540 เป็นช่วงปีแห่งการปรับปรุงรูปแบบงานบุญคูนลาน  จากที่เคยทำเฉพาะในครอบครัวสู่การร่วมกันทั้งตำบล จากกองข้าวที่ชาวบ้านนำมาร่วมทำบุญกลายเป็นรูปแบบปราสาทรวงข้าวที่สวยงาม โดยอาศัยแรงศรัทธา ความสามัคคี และการสร้างสรรค์ของคนในท้องถิ่นโดยแท้ ปราสาทรวงข้าวจะตั้งตระหง่าน ณ วัดเศวตวันวนาราม จนถึงต้นเดือนเมษายน

“วิถีผ้าของชาวผู้ไทย” ชาวผู้ไทยบ้านโพน อำเภอคำม่วง มีชื่อเสียงในการทอผ้าแพรวา ซึ่งเป็นผ้าไหมลายมัดหมี่ที่มีความวิจิตรและละเอียดละออ  โดยลายที่สวยงามเกิดจากการย้อมและการใช้นิ้วก้อยเกี่ยวไหมเรียงร้อยเป็นลายผ้าที่เป็นทรงเรขาคณิตมากมายในผ้า 1 ผืน ผู้ที่ชื่นชอบงานผ้าทอ คงใฝ่ฝันที่จะได้ครอบครองผ้าแพรวาสักผื่น ด้วยเพราะความสวยงาม ภูมิปัญญา และความอุตสาหะของผู้ทอ เสริมให้คุณค่าของผ้าแพรวาเป็นผ้าอีกผืนที่ชวนหลงใหล ชาวผู้ไทบ้านโคกโก่ง  ที่มีฝีมือในการปักผ้าเป็นลวดลายประดับคอเสื้อ ข้อมือ สาบเสื้อ หรือขอบกระเป๋า ซึ่งมีความละเอียดละออ รวมทั้งการเดินเส้นตะเข็บผ้าและลวดลายของชายเสื้อทั้งชายและหญิง สร้างสีสันให้กับเครื่องแต่งกายได้อย่างสวยงาม

ถิ่นไดโนเสาร์ ทุกมุมเมืองจะปรากฏภาพหรือหุ่นไดโนเสาร์ให้เห็นได้ไม่ยากนัก เนื่องเพราะเป็นแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีชีววิทยาที่สำคัญของประเทศไทย พบฟอสซิลและโครงกระดูกไดโนเสาร์ที่สมบูรณ์จำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์สิรินธร ซึ่งมีการจัดแสดงกำเนิดโลกและสิ่งมีชีวิตที่ทันสมัยและน่าสนใจ บริเวณใกล้เคียงยังมีแหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าวเป็นจุดแรกของการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ที่สำคัญ จึงเหมาะกับการท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้สำหรับเยาวชน

ชีวิตติดชิลล์ ท่องเที่ยวแบบสโลว์ไลฟ์

ขณะเดียวกัน กาฬสินธุ์ก็ยังมีสถานที่สำหรับคนรุ่นใหม่ที่อยากจะ “ชิลล์กับธรรมชาติ” อาทิ การล่องเรือชมบรรยากาศของผืนน้ำบริเวณ “เขื่อนลำปาว” หรือผู้ที่ชื่นชอบชิลล์กับภาพช่วงพระอาทิตย์ขึ้น-ตก บน “สะพานเทพสุดา” ที่เป็นจุดถ่ายภาพที่ช่วยสร้างความชิลล์ไม่แพ้ที่อื่น

ส่วนใครที่อยากจะ “ชิลล์กับอาหาร” ในตัวเมืองกาฬสินธุ์มี ตลาดโรงสี เป็นแหล่งชิลล์เอาท์ ที่ตั้งอยู่กลางเมือง มีร้านอาหารท้องถิ่น ร้านอาหารแบบฟิวชั่น ซึ่งมีการสร้างสรรค์อาหารให้เข้าบรรยากาศเมืองไดโนเสาร์ เรียกได้ว่านั่งชิลล์ตั้งแต่เย็นจนค่ำก็ไม่เบื่อ

หรือจะ “ชิลล์ในเมืองเก่าและร้านกาแฟเก๋” ในย่านเมืองเก่าเหมาะกับการเดินเที่ยวชมเมืองเป็นอย่างมาก ด้วยกลุ่มอาคารที่มีอายุอยู่ระหว่าง 50-100 ปี ตั้งอยู่ระยะการเดินที่ไม่ไกลกันนักอย่าง ถนนโสมพะมิตร มีโรงภาพยนตร์หลักเมืองภาพยนตร์ที่มีอาคารทรงยุค 70-80 ฝั่งตรงข้ามเป็นโกดังเก็บสุราสร้างแบบเรือนไม้แถว มีความสมบูรณ์ทั้งประตูบานเฟี้ยมและป้ายชื่อร้าน  หากเดินไปอีกสัก 100 เมตร ก็จะพบกับ ศาลเจ้าปึงเถ่ากงม่ากาฬสินธุ์ ที่มีความงดงามแบบจีน ประดับและตกแต่งหลังคาด้วยกระเบื้องเคลือบสีสันสวยงาม  ส่วนบน ถนนธนะผล มีอาคารเก่าที่อยู่บนถนนนี้หลายแบบอย่างโรงงานไส้กรอกปลา เป็นอาคารคอนกรีตแบบ โคโลเนียล อายุร่วมร้อยกว่าปี และยังมีอาคารไม้อื่น ๆ ที่มี ความเก่าแก่และสวยงามไม่แพ้กัน และ ถนนผ้าขาว มีอาคารไม้ชั้นเดียว ประกอบด้วยประตูบานเฟี้ยม มีลูกกรงด้านหน้า ซึ่งมีความเก๋ในแบบอาคารไม้ หากต้องการหาที่นั่งพักผ่อน ก็มีร้าน Café De SUPAK ให้นั่งหย่อนอารมณ์ในอาคารเก่าที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ บรรยากาศในร้านดูอบอุ่น โล่ง โปร่ง เหมาะกับการถ่ายรูปหรือพูดคุยแบบสบายๆ “ชิลล์ในสวน” สวนสาธารณะแก่งดอนกลาง เป็นสถานที่ออกกำลังกายกลางเมืองที่อากาศเย็นสบายโดยเฉพาะในช่วงเช้าและเย็น

อย่างไรก็ตาม การรีแบรนด์เมือง “ กาฬสินธุ์ ” โดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในครั้งนี้ นับว่าเป็นเรื่องที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งในด้านการตลาดของการท่องเที่ยว  สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.tourismthailand.org/golocal หรือ https://www.facebook.com/golocal.tourismthailand/


แชร์ :

You may also like