HomeBrand Move !!‘Trans Fat Free มานานแล้ว’ S&P ย้ำชัด ทุกผลิตภัณฑ์ไม่มีไขมันทรานส์ Next Station : Low Sodium

‘Trans Fat Free มานานแล้ว’ S&P ย้ำชัด ทุกผลิตภัณฑ์ไม่มีไขมันทรานส์ Next Station : Low Sodium

แชร์ :

ภายใน 180 วัน หรือราว 6 เดือนให้หลัง นับจากประกาศกระทรวงสาธารณสุขเลขที่ 388 พ.ศ. 2561 ลงวันที่ 13  ก.ค. 2561 เรื่องกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย กรดไขมันทรานส์ (Trans Fatty Acids) จากน้ำมันที่ผ่านการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oils หรือ PHO) เพราะพิสูจน์ได้ว่าส่งผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด กลายเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ ทั้งในฟากฝั่งผู้บริโภคที่กังวลถึงผลกระทบต่อสุขภาพ รวมทั้งผู้ประกอบการโดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจอาหารและเบเกอรี่ที่ออกมาสร้างความเชื่อมั่นให้กับผลิตภัณฑ์ของตัวเองว่าปราศจากส่วนประกอบสารต้องห้ามนี้

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

การตื่นตัวเกี่ยวกับความกังวลต่อไขมันทรานส์ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เริ่มเป็นประเด็นที่หลายๆ ฝ่ายให้ความสนใจมาก่อนหน้านี้ และเพิ่มน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น หลังจากสหรัฐฯออกข้อกฏหมายเกี่ยวกับการผลิตอาหารภายในสหรัฐฯที่กำหนดให้ปริมาณไขมันทรานส์ต้องเป็น 0 โดยระบุไว้ในประกาศของ U.S. FDA ( The U.S. Food and Drug Administration) ที่ออกมาในเดือน มิ.ย. 2558 โดยมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อเดือน มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา หลังจากให้โอกาสและเวลาสำหรับผู้ประกอบการเพื่อปรับระบบการผลิตต่างๆ ให้ได้ตามมาตรฐานเป็นเวลา 3 ปี

ปรับตัวมาก่อนแล้วเป็นสิบปี

หนึ่งในแบรนด์ที่ออกมา Action แต่ไม่ใช่ในเชิงของการปรับปรุงสูตรหรือระบบการผลิตให้เป็นไปตามข้อกำหนด เพราะสิ่งเหล่านี้ บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) หรือ S&P เจ้าของแบรนด์อาหารและเบเกอรี่ที่คนไทยคุ้นเคย ยืนยันว่า ทำมานานเป็นสิบปีแล้ว ทำให้ไม่จำเป็นต้องปรับปรุงหรือปรับตัวอะไร สิ่งสำคัญในขณะนี้จึงอยู่ที่การประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความมั่นใจไปสู่ผู้บริโภคว่าทุกผลิตภัณฑ์ของ S&P นั้น ปลอดภัยจากไขมันทรานส์ ด้วยปริมาณไขมันทรานส์อยู่ที่ 0 กรัมต่อ 1 เสิร์ฟ หรือพูดให้เข้าใจได้ง่ายก็คือ ไม่มีไขมันทรานส์นั่นเอง

 คุณกำธร ศิลาอ่อน กรรมการผู้จัดการใหญ่ สายการผลิตและการเงิน S&P ยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ของ S&P ไม่มีส่วนประกอบของ PHO ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญของไขมันทรานส์ ทำให้ปริมาณไขมันทรานส์อยู่ที่ 0 กรัมต่อ 1 เสิร์ฟ หรือไม่มีไขมันทรทานส์นั่นเอง เพราะนอกเหนือจากการควบคุมหรือเลือกใช้วัตถุดิบต่างๆ ในการผลิตของตัวเองแล้ว S&P ยังคุมไปถึงซัพพลายเออร์ทุกราย ที่มีทั้งในกลุ่มอาหารและเบเกอรี่กลุ่มละไม่ต่ำกว่าร้อยราย เพื่อขอให้แสดงใบรับรองวัตถุดิบต่างๆ ที่ส่งให้กับทาง S&P ว่าปราศจากไขมันทรานส์ เพื่อตัดวัตถุดิบที่มีความเสี่ยงออกไป รวมทั้งทำการ Recheck ด้วยการส่งไปตรวจสอบและวิเคราะห์ซ้ำ เพื่อให้ได้ความมั่นใจจนสามารถยืนยันแก่ผู้บริโภคได้อย่างชัดเจน

“เราไม่ได้เพิ่งมาให้ความสำคัญหรือตื่นตัวเกี่ยวกับประเด็นเรื่องไขมันทรานส์แค่ในช่วงนี้ เพราะเราทำมาก่อนหน้านี้เป็น 10 ปี โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีหลัง ที่ทำอย่างเข้มข้นกว่าเดิม แม้แต่สินค้าที่เคยตรวจแล้วก็นำไปตรวจซ้ำเพื่อให้ได้ความมั่นใจสูงสุด ทั้งอาหารและสินค้าทุกอย่างที่มีอยู่ในเมนู วัตถุดิบต่างๆ ที่เลือกใช้ รวมทั้งวัตถุดิบที่รับมาจากซัพพลายเออร์ทั้งหมดจะต้องปลอดภัย พร้อมทั้งได้แสดงปริมาณไขมันทรานส์ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคไว้ที่ฉลากโภชนาการอย่างชัดเจน”

ดังนั้น กับคำถามว่าเรามีต้นทุนในการดำเนินงานต่างๆ เพิ่มขึ้นหรือไม่ในช่วงนี้ คำตอบคือ ทุกๆ อย่างเป็นการลงทุนตามกระบวนการทำงานตามปกติ เพราะเป็นสิ่งที่ทำมาโดยตลอด เพียงแต่อาจจะต้องให้ความสำคัญและโฟกัสในเรื่องของการสื่อสารเพื่อให้ผู้บริโภครับทราบข้อมูลที่ถูกต้องเพิ่มมากขึ้นเท่านั้นเอง

เส้นทาง Trans Fat Free ของเอสแอนด์พี

ปี 2549 :  U.S.FDA ออกกฏระเบียบให้ภาคอุตสาหกรรมแสดงปริมาณไขมันทรานส์ ในกรอบข้อมูลโภชนาการบนฉลากอาหาร และเป็นจุดเริ่มต้นในการศึกษาและตระหนักในเรื่องของไขมันทรานส์อย่างจริงจังของ S&P

ปี 2550 : เริ่มส่งสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ เพื่อตรวจวิเคราะห์หาปริมาณไขมันทรานส์ ทั้งเค้ก พาย ขนม ปัง คุกกี้ ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย โดยเฉพาะพัฟเห็ด ที่ปริมาณไขมันทรานส์ต่ำเพียง 0.33% เท่านั้น (เทียบเท่ากับไม่มี)

ปี 2551 : เริ่มเจรจากับซัพพลายเออร์บางรายที่มีปริมาณไขมันทรานส์ในระดับสูง เพื่อขอให้พัฒนาวัตถุดิบให้มีปริมาณค่าไขมันทรานส์ที่ต่ำลง ตามข้อกำหนด U.S FDA

ปี 2555 : วิเคราะห์ปริมาณไขมันทรานส์ในกลุ่มอาหารแช่เข็ง

ปี 255-2560 : ซัพพลายเออร์บางรายเริ่มพัฒนาสูตรหรือวัตถุดิบให้เข้าเกณฑ์ตามมาตรฐาน ขณะที่ S&P มองหาซัพพลายเออร์รายใหม่ที่มีวัตถุดิบตามเกณฑ์มาตรฐานควบคู่ไปด้วย พร้อมทยอยส่งผลิตภัณฑ์วิเคราะห์ซ้ำใหม่อีกครั้ง เพื่อความมั่นใจที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งบางรายการค่าไขมันทรานส์ดีขึ้น เช่น พัฟเห็ด ที่แม้ปริมาณไขมันทรานส์ตามสูตรเดิมจะระบุว่าไม่มีไขมันทรานส์อยู่แล้ว (0.33%) แต่สูตรใหม่ปริมาณค่าไขมันทรานส์เป็น 0%

นอกจาก ไขมันทรานส์แล้ว S&P ยังพยายามลดส่วนประกอบที่จะส่งผลต่อสุขภาพผู้บริโภคลงอย่างต่อเนื่อง โดย Agenda ต่อไปที่ทาง S&P ให้ความสำคัญ คือ การพยายามปรับสูตรผลิตภัณฑ์ให้อยู่ในกลุ่ม Low Sodium ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสารที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้เช่นกันหากบริโภคในปริมาณมากๆ เช่น ส่งผลกระทบต่อการทำงานของไต หรือมีผลต่อความดันเลือด เพื่อเป็นการตอกย้ำนโนยบายในการดำเนินธุรกิจตามคำมั่นสัญญาที่ว่า Healthier Family,Happier World เพื่อส่งมอบสุขภาพที่ดีให้กับทุกคนในครอบครัว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขต่อไป

สำคัญกว่าคือ ข้อมูลที่ถูกต้อง

คุณกำธร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า S&P ไม่ได้กังวลเกี่ยวกับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ แต่กังวลในการทำอย่างไรให้ผู้บริโภคทุกคนเข้าใจและรับทราบข้อมูลที่ถูกต้องว่า ผลิตภัณฑ์ทุกๆ รายการของ S&P ปลอดภัย การบ้านหนักในขณะนี้จึงอยู่ที่การสื่อสารไปยังวงกว้างด้วย Message ที่ถูกต้องและตรงกัน โดยเฉพาะหน้าร้านในแต่ละสาขาที่กระจายไปกว่า 500 แห่งทั่งประเทศ ซึ่งต้องอาศัยการให้ข้อมูลที่ถูกต้องผ่านพนักงานสาขาที่ราว 4-5 พันคน เพราะเป็นกลุ่มที่เข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง

“หลังประกาศของกระทรวงสาธารณสุขออกมาหลังวันที่ 13 ผู้บริโภคเริ่มสอบถามเรื่องเกี่ยวกับไขมันทรานส์มาอย่างต่อเนื่องทั้งช่องทางออนไลน์และหน้าร้าน การให้ข้อมูลที่ถูกต้องและตรงกันจึงมีความสำคัญ ซึ่ง S&P ได้ทำการชี้แจงลูกค้าในทุกช่องทาง โดยเฉพาะผ่านพนักงานสาขาที่ใกล้ชิดและเข้าถึงลูกค้าโดยตรง โดยในแต่ละวันทุกๆ สาขาจะมีการ Morning Talk เพื่อให้ข้อมูลต่างๆ แก่พนักงานทุกคน โดยที่ผ่านมายังไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อยอดขายหรือความเชื่อมั่นต่อแบรนด์ S&P”

ขณะนายใหญ่แห่ง S&P อย่าง คุณประเวศวุฒิ ไรวา ประธานกรรมการบริหาร S&P กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นหรือการมีกฏหมายออกมาควบคุมเช่นนี้ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น เพราะทำให้ลูกค้าได้ตระหนักและได้รับรู้ข้อมูลถึงสิ่งที่จะส่งผลกระทบต่อร่างกายของตัวเอง ขณะเดียวกันก็จะได้ระมัดระวังและเลือกสินค้าที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังเป็นการสร้างความตื่นตัวแก่ผู้ประกอบการทั้งอุตสาหกรรมในการให้ความสำคัญกับการส่งมอบคุณภาพและความปลอดภัยไปสู่ผู้บริโภค การแจ้งส่วนผสมต่างๆ ในอาหารแต่ละประเภทจะต้องชัดเจน ขณะที่พฤติกรรมจากฟากผู้บริโภคที่จะเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นคือ การเลือกแบรนด์ที่มีความเชื่อมั่นว่าปลอดภัย ซึ่งเป็นนโยบายที่ S&P ให้ความสำคัญมาตั้งแต่วันแรกในการดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว


แชร์ :

You may also like