“ชาร์ลส์ โรเบิร์ต ดาร์วิน” (Charles Robert Darwin) นักธรรมชาติวิทยาชื่อก้องของโลก ผู้นำเสนอ “ทฤษฎีวิวัฒนาการ” ที่ว่าสิ่งมีชีวิตทุกชนิดต่อสู้ ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด สิ่งมีชีวิตใดที่สามารถปรับตัวเองให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุด ย่อมจะดำรงอยู่ต่อไปได้…
ถ้าเปรียบองค์กรธุรกิจ เป็นสิ่งมีชีวิต หนทางของการอยู่รอด ก็คงไม่ต่างกับสิ่งมีชีวิตประเภทอื่นๆ นั่นคือ “การปรับตัว” ยิ่งในยุคดิจิทัล เปรียบดั่งคลื่นสึนามิลูกใหญ่ที่ถาโถมเข้ามา จนแทบไม่มีบริษัทไหน อุตสาหกรรมใดในโลกที่เติบโตมาตั้งแต่ยุคอนาล็อก ไม่โดนผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงนี้ ความท้าทายขององค์กรในยุคนี้ จึงอยู่ที่ว่าใครสามารถปรับตัวได้ เพื่อนำพาธุรกิจก้าวไปข้างหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน
เช่นเดียวกับ “ธุรกิจพัฒนาที่ดิน เพื่อการอยู่อาศัย” เวลานี้กำลังถูก Digital Disruption ไม่น้อย! ทั้งดิจิทัลทำให้ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป เกิดแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น สื่อสังคมออนไลน์ ที่ทำให้เสียงของผู้บริโภคดังขึ้น และขยายวงกว้างออกไปอย่างรวดเร็ว มีผลต่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต้องทำงานด้วยความโปร่งใส ตรงไปตรงมา หรือแม้แต่ออนไลน์ ทำให้ผู้บริโภคหาข้อมูลด้วยตัวเอง เชื่อเพื่อนและผู้เชี่ยวชาญ มากกว่าโครงการ
อีกทั้งทุกวันนี้ยังเกิด “เทคโนโลยีการก่อสร้างที่อยู่อาศัย” มากมาย ทำให้ในบางขั้นตอนของการก่อสร้าง “เทคโนโลยี” เข้ามาทดแทน “แรงงานมนุษย์” โดยที่เทคโนโลยีทำงานได้แม่นยำ และทำให้ Developer ควบคุมต้นทุนได้มีประสิทธิภาพดีขึ้น
ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อปีที่แล้ว “แสนสิริ” ได้ประกาศยุทธศาสตร์ “Digital Transformation” เพื่อขับเคลื่อนองค์กรในยุคดิจิทัล พร้อมทั้งปรับ Mindset บุคลากรในองค์กร ให้ได้เข้าใจและเรียนรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น ขณะที่ในปีนี้ ภายใต้แนวคิดหลัก “Tomorrow is Unfolded” หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญ คือ การเดินหน้าปรับภายในองค์กรต่อเนื่อง
“เราเห็นพลังของเทคโนโลยี พูดถึงการ Disruption, Transform องค์กร ในช่วงปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่เราเรียนรู้การปรับตัว ทำความเข้าใจว่าธุรกิจแสนสิริที่เกี่ยวกับ Real Estate จะปรับตัวอย่างไร และเราทำให้พนักงานตระหนักในเรื่อง “Disrupt” เพราะคำนี้สอนให้คนเริ่มกลัว เปรียบเหมือนคนเรา ถ้ามีหมอมาบอกว่าคุณกำลังจะตาย เราจะรู้สึกกลัว และหาทางฟื้นฟู-ดูแลร่างกายตัวเอง กินอาหารดีๆ ดูแลตัวเอง
วันนี้ผ่านมา 1 ปี Mindset ของคนแสนสิริเปลี่ยนไปแล้ว เริ่มวิ่งได้เร็วขึ้น และไกลขึ้น แต่ยังไม่ถึงจุดที่เราต้องการ ต้องไปมากกว่านี้ ในปีนี้เราจึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน ด้วยการนำแนวคิด Agile Way มาปรับใช้” คุณอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เล่าถึงการปรับภายในองค์กรในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา
“Agile Way” ลดขั้นตอนการทำงานยุ่งยาก-เพิ่มความเร็วพัฒนาสินค้าและบริการ
ในโลกยุคดิจิทัล เกิดรูปแบบการทำงานใหม่ที่เรียกว่า “Agile Model” ที่เริ่มต้นใช้ในวงการ IT และ Tech Startup เป็นโมเดลที่ลดขั้นตอนการทำงานที่ยุ่งยาก มีอิสระในทุกการทำงาน และเปิดรับทุกความคิดสร้างสรรค์ โดยเอา “ความต้องการ” หรือ “Consumer Insight” เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาสินค้าและบริการต่างๆ พร้อมทั้งนำผลตอบรับของผู้ใช้งานจริง มาพัฒนาและปรับปรุงสินค้า-บริการได้เร็วขึ้น เพื่อให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีตลอดเวลา และตรงใจความต้องการของลูกค้า
ปัจจุบันแนวคิด “Agile Way” ไม่เพียงแต่ได้รับความนิยมในวงการ IT และ Tech Startup เท่านั้น แต่ยังได้ขยายวงไปยังกลุ่มธุรกิจอื่นๆ เช่น ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค “ยูนิลีเวอร์” นำแนวคิดการทำงานนี้ ไปประยุกต์ใช้เช่นกัน หรือแม้แต่ในวงการธนาคาร ได้นำวิธีการดังกล่าวไปปรับใช้ในการพัฒนาดิจิทัลแบงก์กิ้ง
ล่าสุด “แสนสิริ” ได้นำวิธีการทำงาน “Agile Way” มาใช้กับส่วนงานฝ่ายออกแบบ ฝ่ายก่อสร้าง และฝ่ายการตลาด ให้มาอยู่รวมกัน เพื่อระดมสมอง ช่วยกันสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ ที่ได้จาก Consumer Insight และการทดลองที่แสนสิริได้สร้าง Lab Room และ Lab House ที่เรียกเป็นการภายในว่า “Haus 2025” สำหรับการทดสอบบ้านและบ้านเพื่ออนาคต ซึ่งรวมถึงการทดสอบนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้วย
“ที่ผ่านมา “แสนสิริ” ใช้โมเดลการทำงานแบบ Silo (การทำงานแบบแยกส่วน/แยกแผนก) เช่น แผนกจัดซื้อที่ดิน ออกไปหาที่ดินทำเลสวย เมื่อได้แล้ว ส่งต่อไปยังแผนกออกแบบ จากนั้นเมื่อออกแบบเสร็จ ส่งต่อไปยังแผนกก่อสร้าง โดยแต่ละแผนก มีหัวหน้างานดูแล ด้วยกระบวนการทำงานโมเดลนี้ ทำให้เกิดความล่าช้า เพราะเมื่อเกิดปัญหา ลูกน้องจะรายงานกลับไปที่หัวหน้างานของตนเอง
ขณะที่โลกทุกวันนี้หมุนเร็วมาก เราจึงมองว่าระบบ Agile Way ตอบโจทย์ความเร็วในการทำงาน แต่ของ “แสนสิริ” ยังไม่ได้เป็นการทำงานแบบ Agile 100% เราทำในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงการ ทั้งฝ่ายออกแบบ ฝ่ายก่อสร้าง ฝ่ายการตลาดมานั่งรวมกัน เพราะทั้ง 3 แผนกนี้สร้างรายได้ให้กับองค์กร และดูแลเรื่องยอดขาย และต้นทุน จึงต้องเคลื่อนไหวเร็ว ปรับตัวเร็ว จึงต้องทำงานรวมกัน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เกิดไอเดียใหม่ๆ และตัดสินใจร่วมกัน”
นอกจากนี้ “แสนสิริ” นำการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) เข้ามาช่วยในการตัดสินใจให้แม่นยำ และมีประสิทธิภาพดีขึ้น เพื่อต่อยอดการพัฒนาโครงการและบริการในอนาคต
ไม่มีอีกแล้วกับคำว่า “จ้างงานตลอดชีวิต” ถ้าอยากถูกว่าจ้างระยะยาว ต้องไม่หยุดพัฒนาตัวเอง
“ในการทำ Transformation องค์กร เราบอกกับพนักงานตรงไปตรงมาว่า การทำงานในยุคนี้ ไม่มี “Lifetime Employment” หรือ “การจ้างงานตลอดชีวิต” อีกแล้ว มีแต่ “Life-long Employability” หรือ “การสร้างความมั่นคงในการทำงาน” ด้วยการที่พนักงานต้องสร้างความสามารถให้กับตัวเอง เพื่อให้ถูกว่าจ้างในระยะยาว ซึ่งนอกจาก “แสนสิริ” นำการทำงานรูปแบบใหม่มาใช้ ยังได้สร้างเสริมพัฒนาบุคลากรให้มีคุณค่า ให้เก่งขึ้น ฉลาดขึ้น ให้โอกาสพนักงานได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
ขณะเดียวกันพนักงานต้องพร้อมพัฒนาตัวเอง เราจะพาเขาก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน และเติบโตไปสู่ความสำเร็จพร้อมกับองค์กร เราต้องการปลุกจิตวิญญาณพนักงานขึ้นมาใหม่ บางคนเป็นคนรุ่นเก่าที่อยู่กับเรามานาน แต่มีประสบการณ์ อย่างตัวผมต้องไปฝึกเรื่องเทคโนโลยี ต้องไปดูงานที่นั่นที่นี่มากมาย ต้องเรียนรู้ สิ่งเหล่านี้เราเกิดมาเป็นมนุษย์ต้องเรียนรู้ตลอด แต่ถ้าไม่อยากปรับเปลี่ยน ไม่อยากพัฒนาตัวเอง อันนี้ไม่เอา อันนั้นไม่เอา จะอยู่แบบเดิม ย่อมไม่มีองค์กรไหนในโลกอยากนำพนักงานอย่างนี้ก้าวไปด้วยกัน” คุณอุทัย เล่าถึงการปรับตัวด้านการทำงานในยุคดิจิทัล
ฉีกโมเดลพัฒนาที่ดินแบบเดิมๆ รุกครบพอร์ต “บ้านหรู-แมส – Co-working Space – Home Sharing”
ที่ผ่านมาบริษัทพัฒนาที่ดินเพื่ออยู่อาศัย จะซื้อที่ดินในทำเลต่างๆ เพื่อนำมาสร้างโครงการที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นแนวราบ หรือแนวสูง แล้วเปิดให้จอง และขายให้กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายโครงการนั้นๆ ทว่าวันนี้ทิศทางของการพัฒนาที่ดินได้เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ได้เป็นเพียงการปั้นโครงการ เพื่อขายเท่านั้น แต่ต้องสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ให้กับที่ดินและโครงการในรูปแบบต่างๆ
จากแผนยุทธศาสตร์ของ “แสนสิริ” ปี 2018 สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าเวลานี้ Major Player ในวงการพัฒนาที่ดินรายนี้ ได้ Beyond ไปมากกว่าการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยแบบเดิมๆ ที่เห็นกันในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ให้กับแบรนด์ ที่ดินและโครงการ
หนึ่งในยุทธวิธี คือ กลยุทธ์ Collaboration กับพันธมิตรทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการการร่วมทุนกับกลุ่มบีทีเอส และโตคิวกรุ๊ป ร่วมกันพัฒนาโครงการใหม่ และเมื่อปีที่แล้ว ได้เข้าไปลงทุนในบริษัทด้านเทคโนโลยี และไลฟ์สไตล์ชั้นนำระดับโลก 6 บริษัทเมื่อปีที่แล้ว ได้แก่ The Standard, One Night, JustCo, Hostmaker, Monocle และ Farmshelf
ในปีนี้ ได้สานต่อกลยุทธ์ Collaboration โดยจะมีโครงการใหม่จากการลงทุนร่วมกับบีทีเอส และโตคิวกรุ๊ป อีก 4 – 6 โครงการ มูลค่ารวม 12,000 – 19,000 ล้านบาท
นอกจากนี้จากการลงทุนใน 6 บริษัทต่างประเทศ จะเริ่มเห็นโปรเจคที่เป็นรูปธรรมนับตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป โดยภายในปี จะเข้าสู่ธุรกิจใหม่ ด้วยการจับมือกับ “JustCo” ผู้ให้บริการ Co-working Space รายใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกันเปิด Co-working Space 4 สาขาในไทย
โดย 2 สาขาแรกจะเปิดที่อาคาร AIA Sathorn ในเดือนพฤษภาคม และ อาคาร All Season Place ในเดือนสิงหาคม พร้อมทั้งใช้ธุรกิจใหม่นี้ มาเป็นสิทธิพิเศษให้กับลูกค้าแสนสิริ เช่น ให้เข้าใช้ฟรี ในระยะเวลาที่กำหนด หรือทำสมาชิกในราคาพิเศษ
ขณะเดียวกันเตรียมให้บริการ Home-sharing หรือการแบ่งที่พักอาศัยให้เช่า ผ่านการผนึกกำลังกับ “Hostmaker” ผู้ให้บริการเช่าที่พักอาศัย และจองที่พักในรูปแบบ Home-sharing เพื่อช่วยบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ลูกค้าแสนสิริ
รวมทั้งปีนี้ ได้มองหาทำเลทอง เพื่อพัฒนา Branded Residence ภายใต้โครงการ “The Standard Residence” และ “Monocle Residence” โดยทั้งสองโครงการเจาะกลุ่มบน
“ทั้ง The Standard Residence และ Monocle Residence เรายังไม่แน่ใจว่าจะเปิดได้ทันภายในปีนี้หรือเปล่า เพราะการทำ Branded Residence ต้องพิถีพิถันในการเลือกโลเคชั่น ทำดีไซน์ สำหรับ The Standard Residence เปรียบได้กับ The Ritz Carlton Residence ที่มีทั้งโรงแรม และที่อยู่อาศัย แต่ “แสนสิริ” จะไม่ทำธุรกิจโรงแรม เพราะฉะนั้นข้อจำกัดข้อหนึ่งของการทำ The Standard Residence คือ ต้องหาคนที่มีเงินทุนทำโรงแรม และมีที่เหลืออยู่ข้างๆ โรงแรมที่เราสามารถทำ The Standard Residence ได้
ขณะที่ “Monocle Residence” ไม่ต้องพึ่งพาการเปิดโรงแรม แต่ต้องใช้เวลาในการพัฒนาคอนเซ็ปต์ให้ถูกเป้าหมาย ต้องทำออกมาแล้วมีกลิ่นอายความเป็น Monocle เพราะฉะนั้นอาจต้องเลือกโลเคชั่นที่มีทั้งความสะดวกสบาย และเป็นย่านฮิป” คุณอุทัย ขยายความเพิ่มเติม
การลงทุนในบริษัทเทคโนโลยี และไลฟ์สไตล์ระดับโลก เป็นวิธี Short cut ให้ชื่อ “แสนสิริ” เป็นที่รู้จักในตลาดต่างประเทศเร็วขึ้น อีกทั้งยังสะท้อนกลับมายังตลาดในประเทศด้วยเช่นกัน ที่ทำให้ “แสนสิริ” ได้สินค้าและบริการใหม่, ได้แลกเปลี่ยนมุมมองธุรกิจ รวมไปถึงได้เปิดธุรกิจใหม่ เช่น ทำ Co-working Space, Home-Sharing และมีผลต่อการเพิ่มความน่าเชื่อถือ ความมั่นคง และการเติบโตด้านผลประกอบการทั้งในสายตานักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และลูกค้าต่างชาติ ทั้งกลุ่มที่สนใจจะเข้ามาซื้อที่อยู่อาศัย หรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในไทย
เมื่อปีที่แล้ว เป็นปีที่ “แสนสิริ” รุกการทำตลาดต่างประเทศอย่างจริงจัง โดยทำยอดขายตลาดต่างชาติได้ 9,300 ล้านบาท เกินจากเป้ายอดขายที่วางไว้ 7,500 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 72% เมื่อเทียบจากปี 2559 โดยปัจจุบัน “แสนสิริ” เปิดออฟฟิศ 5 แห่ง คือ ปักกิ่ง เซียงไฮ้ เซินเจิ้น กวางโจว และสิงคโปร์ ซึ่งที่สิงคโปร์ได้เป็นพาร์ทเนอร์กับ JustCo บริษัทพัฒนา Co-working Space รายใหญ่ โดยลูกค้าต่างชาติรายใหญ่ คือ ประเทศจีน และฮ่องกง คิดเป็นสัดส่วน 70% ของยอดขายลูกค้าต่างชาติ
ส่วนปีนี้ตลาดลูกค้าต่างชาติ ตั้งเป้ายอดขาย 13,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 40% จากปี 2560 และล่าสุดได้เปิดออฟฟิศในต่างประเทศเพิ่มขึ้นแห่งที่ 6 ที่ฮ่องกง รวมทั้งกำลังมองความเป็นไปได้ที่จะขยายสู่ตลาดอื่นๆ เช่น เกาหลี ไต้หวัน และสร้างฐานที่แข็งแกร่งมากขึ้นในญี่ปุ่น
นอกจากการทำ Branded Residence และรุกตลาดลูกค้าต่างชาติแล้ว ปีนี้ “แสนสิริ” มีแผนเปิดตัวโครงการใหม่ 31 โครงการ ทั้งกรุงเทพฯ – ปริมณฑล และต่างจังหวัด 6 แห่ง คือ เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น หาดใหญ่ พัทยา หัวหิน ครอบคลุมทั้งแนวราบ – แนวสูง ทั้งในตลาด Luxury ไปจนถึงตลาดแมส รวมมูลค่า 63,200 ล้านบาท มากกว่าปีที่แล้วที่เปิด 14 โครงการ รวมมูลค่า 37,200 ล้านบาท
แบ่งเป็นโครงการคอนโดมิเนียม 12 โครงการ รวมมูลค่า 33,500 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 53%, บ้านเดี่ยว 8 โครงการ มูลค่ารวม 20,100 ล้านบาท คิดเป็น 32% และ ทาวน์เฮ้าส์ รวม 11 โครงการ รวมมูลค่า 9,600 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 15%
ประกอบกับการเปิดตัว SIRI VENTURES บริษัทร่วมทุนกับธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อผลักดัน Property Technology เต็มรูปแบบ และทำ “Siri LifeTech” มอบประสบการณ์การอยู่อาศัยที่สะดวกสบาย ทั้งพัฒนา Sansiri Home Service Application, AI Box, SAN : DEE Delivery Robot, Smart Move, Farmshelf และ Samitivej@Home
เทคโนโลยีเพื่อที่อยู่อาศัยเหล่านี้ ช่วยสร้าง “Value Added” ให้กับแบรนด์โครงการที่อยู่อาศัยต่างๆ ในเครือแสนสิริ ในการดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค โดยเฉพาะคนกลุ่ม Millennials ที่มองหา solution เทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ความรวดเร็ว สะดวกสบายในชีวิตประจำวัน
จากการลงทุนทั้งในประเทศ และบริษัทต่างประเทศ ทำให้ “แสนสิริ” มั่นใจว่าปี 2561 จะทำยอดพรีเซลล์ ได้ที่ 45,000 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้ว ซึ่งทำได้ 38,600 ล้านบาท ปีนี้นับเป็นปีแห่งความท้าทายสำหรับ “แสนสิริ” ในการรุกตลาดเต็มสปีด