HomeCreativityVT THAI สตาร์ทอัพดาวรุ่ง เพิ่มคุณค่า ‘จักสานไทย’ ดังไกลทั่วโลกด้วย Story และ Online

VT THAI สตาร์ทอัพดาวรุ่ง เพิ่มคุณค่า ‘จักสานไทย’ ดังไกลทั่วโลกด้วย Story และ Online

แชร์ :

เพราะวางเป้าหมายใหญ่สู่การเป็น Destination สำหรับคนทั่วโลกที่เมื่อคิดถึงงานจักสานของไทย ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราว ผ่านการออกแบบด้วยดีไซน์ที่สวยงามและทันสมัย รวมทั้งเหมาะกับไลฟ์ไสตล์ของคนรุ่นใหม่  VT THAI  หรือ วิถีไทย จะต้องเป็นชื่อแรกที่คนเหล่านี้นึกถึง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ประกอบกับมองเห็นศักยภาพของตลาดที่รองรับกลุ่มงานจักสานประเภท Handmade ที่เติบโตสูงมากในตลาดโลก ทำให้ คุณวัธ –จิรโรจน์  พจนาวราพันธุ์  กรรมการผู้จัดการ บริษัท วีทีไทย กรุ๊ป จำกัด  ริเริ่มทำศูนย์กลางงานจักสานแบบ E-Commerce บนแนวคิด Thai Handicraft Marketplace ผ่านเว็บไซต์  www.vtthai.com

ยอดฝีมือไทยแฝงกายอยู่ทั่ว
จุดเริ่มต้นของเว็บวิถีไทย มาจากการที่คุณวัธ ต้องไปติดต่อธุรกิจในต่างจังหวัดอยู่บ่อยครั้ง และในหลายพื้นที่เกือบทั่วทั้งประเทศ ก็มักจะเห็นสินค้าประเภทงานจักสานวางขายเรียงรายข้างทาง โดยงานแต่ละชิ้นถือเป็นงานฝีมือที่ต้องใช้ทักษะในการทำแทบทั้งสิ้น แต่คนขายที่เป็นกลุ่มชาวบ้านในท้องถิ่นส่วนใหญ่กลับเลือกที่จะขายแบบตัดราคากัน ขณะที่ในต่างประเทศสินค้ากลุ่มนี้สามารถขายได้ในราคาที่ดี  เพราะคนส่วนใหญ่ชื่นชอบในความสวยงามแบบคลาสสิก ทำให้สามารถขายในราคาที่สูงโดยที่ลูกค้าแทบจะไม่ต่อราคาเลยด้วยซ้ำ

“การเติบโตของเว็บ Etsy  ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของอเมริกาที่รวบรวมงานแฮนด์คราฟจากทั่วโลกเป็นตัวอย่างที่ดี รวมทั้งการที่อีคอมเมิร์ซรายใหญ่อย่างอเมซอนยังเปิดพื้นที่สำหรับสินค้าในกลุ่มนี้โดยเฉพาะในชื่อ Handmade at Amazon สะท้อนถึงตลาดที่เปิดกว้างที่พร้อมจะรองรับสินค้าในกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี  ซึ่งเมื่อมามองดูสินค้าจักสานของชุมชนในประเทศไทย พบว่ายังขาดองค์ประกอบหลักสำคัญอยู่  2 เรื่อง คือ เรื่องของการตลาดและดีไซน์  ถ้าเราสามารถเติมเต็มในเรื่องเหล่านี้ได้ ก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้าจักสานของไทยได้มากยิ่งขึ้น  ทำให้กลายเป็นอีกหนึ่งในลิสต์ของสินค้าที่นักท่องเที่ยวจะต้องถามหาเมื่อมาประเทศไทย”

คุณวัธ จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ พรีเซ็นต์โอกาสของวิถีไทย ในโครงการ AIS STARTUP

นอกจากเข้ามาเป็นช่องทางขายให้กับสินค้าเหล่านี้แล้ว  อีกหนึ่งในเรื่องของการตลาดที่คุณวัธ นำมาใช้เพิ่มมูลค่าให้กับงานจักสานของชาวบ้าน คือ การสร้าง Story ที่น่าสนใจให้กับสินค้าแต่ละชิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของวัตถุดิบจากแต่ละแห่งที่จะมีไม่เหมือนกัน เช่น  ผักตบชวา ไม้ไผ่ กระจูด เถาวัลย์ ป่านศรนารายน์ หวาย หญ้าลิเภา กก ปอ ใบลาน ใยตาล หญ้าแฝก และพืชท้องถิ่นอื่นๆ โดยพืชแต่ละชนิดจะขึ้นได้ในพื้นที่จำกัดต่างกันไป  หรือบางครั้งแม้จะเป็นพืชแบบเดียวกัน แต่ขึ้นในสภาพแวดล้อมต่างกัน ผ่านกระบวนการผลิตที่ไม่เหมือนกัน ก็อาจให้สีสันหรือลวดลายที่แตกต่างได้ รวมทั้งความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น ที่มีรูปแบบในการสานหรือความเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ล้วนสามารถนำมาสร้างเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจให้กับผลิตภัณฑ์ได้ในทุกมิติเลยทีเดียว

ขณะที่การเสริมความโดดเด่นในเรื่องของดีไซน์  ได้ร่วมมือกับกลุ่มไทยดีไซน์เนอร์เพื่อร่วมกันออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัย และเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน  โดยได้เริ่มทำ MOU กับทางภาควิชาเกี่ยวกับงานด้านการออกแบบของทางมหาวิทยาลัยต่างๆ เริ่มต้นจาก 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาราชภัฏสวนสุนันทา สถาบันพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  โดยมีแผนขยายความร่วมมือไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ  เพิ่มมากขึ้นในอนาคต

การรักษาวิถีชีวิตแบบไทยๆ กับการส่งต่อสู่รุ่น
นอกจาก การสร้าง Thai Handicraft Marketplace ให้ทั่วโลกรู้จักและยอมรับแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่วิถีไทยมองว่าเป็นภารกิจสำคัญ และต้องเร่งมือทำเพื่อให้สำเร็จได้เร็วที่สุดก็คือ การเป็นส่วนหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยรักษาและสืบสานวิถีชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบไทยๆ เอาไว้ ก่อนที่ทุกคนจะมองข้ามและหันหลังให้กับสิ่งที่คนทั่วโลกมองเห็นคุณค่าและความสวยงาม แต่ในสายตาของคนไทยด้วยกันเองกลับมองว่าเป็นสิ่งธรรมดาที่พบเห็นได้ทั่วไปจนบางครั้งลืมที่จะให้ความสำคัญ

“งานจักสานเหล่านี้คนในต่างประเทศชื่นชมและมองเห็นว่ามีความคลาสสิก ขณะที่คนไทยหลายหมื่นหมู่บ้านทั่วประเทศ สามารถทำกันเองเพื่อเก็บไว้ใช้ในครัวเรือน ซึ่งสามารถนำมาต่อยอดเมื่อเพิ่มดีไซน์ เพิ่มการตลาด และสร้างเป็นรายได้ให้กับครอบครัว สามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้น จากการทำสินค้าทั่วๆ ไปที่ไม่แตกต่าง และนำมาขายตัดราคา รายได้ที่เข้ามาอาจจะไม่กี่พันบาทต่อเดือน  แต่เมื่อสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่มได้สำเร็จ ก็สามารถขายของ 1 ชิ้น ในราคาเท่ากับที่เคยใช้เวลาขายทั้งเดือน”

เป้าหมายของวิถีไทยคือ การเป็นหนึ่งในโมเดลที่จะเข้ามาช่วยสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อที่คนหนุ่มสาว หรือคนรุ่นใหม่ที่เคยต้องออกไปทำงานที่กรุงเทพฯ หรือต่างถิ่น สามารถทำงานที่บ้านได้ มีรายได้มากพอที่จะดูแลครอบครัวอย่างต่อเนื่อง เป็นการรักษาวิถีชีวิตแบไทยๆ และรักษาความสัมพันธ์ ความใกล้ชิดของครอบครัวคนในชุมชนต่างจังหวัด คนสูงอายุ ปู่ย่า พ่อแม่ ก็มีลูกหลานคอยดูแล ซึ่งภาพเหล่านี้ เริ่มหาดูได้ยากมากแล้วในปัจจุบัน

สิ่งที่วิถีไทยต้องทำ คือ ทำให้ภาพที่คิดไว้เกิดขึ้น และเป็นจริงให้เร็วที่สุด เพราะตอนนี้ คนที่เข้ามาทำงานจักสานส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่มีงานทำ ส่วนคนรุ่นใหม่ก็ยังคงเลือกที่จะไปทำงานนอกบ้านที่สร้างรายได้เร็วกว่า  จึงจำเป็นต้องเร่งสร้างตลาด เพื่อให้มีออเดอร์เข้ามาต่อเนื่อง และมีปริมาณมากพอ ที่จะช่วยสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน  และมากพอที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ๆ  สนใจที่จะเข้ามาสานต่อในจุดนี้เพิ่มมากขึ้น เพราะถ้าสามารถพิสูจน์ได้ว่างานนี้สร้างรายได้ใกล้เคียงกับงานอื่นๆ แต่ได้อยู่ที่บ้าน ได้อยู่กับครอบครัว มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ค่าครองชีพถูกกว่า เชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะเลือกกลับมาอยู่กับครอบครัวและช่วยงานตรงนี้มากขึ้น

“ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา เราลงพื้นที่มากกว่า 100 ชุมชน เพื่อพูดคุยสร้างความเข้าใจและเตรียมความพร้อมภายในชุมชนมาโดยตลอด โดยในปีแรกจะเริ่มนำร่องอย่างจริงจัง 20 ชุมชน เพื่อสร้างให้เห็นต้นแบบความสำเร็จ  ซึ่งเชื่อว่าถ้าสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเหล่านี้ได้ ก็จะทำให้มีชุมชนอื่นๆ เข้ามาอยู่ในเครือข่ายมากขึ้นจนสามารถขยายความช่วยเหลือให้กระจายออกไปเป็นวงกว้างได้ เพราะโอกาสยังมีอีกมากจากหลายหมื่นชุมชนที่กระจายไปทั่วประเทศ และมากกว่า 70% ของชุมชนเหล่านี้ที่มีความสามารถในการทำงานจักสานได้”

สำหรับ 20 ชุมชนต้นแบบนำร่อง อาทิ ชุมชนจักสานไม้ไผ่ย่านคลองสาน,กลุ่มทอเสื่อกกบ้านแม่นนท์ อุดรธานี, กลุ่มหัตถกรรมผักตบชวาบ้านอ้อย ชัยนาท, ชุมชนจักสานหวาย ราชบุรี, ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนจักสานบ้านตลาดใหม่ อ่างทอง ซึ่งจะมีทั้งกลุ่มที่ทำสินค้าตามออเดอร์ที่มีเข้ามาตั้งแต่ต้นจนจบ กับอีกหนึ่งกลุ่มที่เน้นการสานเพื่อป้อนเป็นวัตถุดิบให้กับทางวิถีไทย เพื่อนำมาออกแบบ เพิ่มดีไซน์ และผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และเหมาะกับไลฟสไตล์การใช้งานของคนทั่วไปมากขึ้น  เพื่อช่วยขยายตลาดให้กว้างมากกว่าเดิม อาทิ กระเป๋าต่างๆ รองเท้า เคสโทรศัพท์มือถือ ซึ่งในอนาคตยังสามารถต่อยอดไปในธุรกิจอื่น เช่น เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ  ก็จะยิ่งช่วยขยายให้ตลาดเปิดกว้างได้มากขึ้นไปอีก

อีกหนึ่งจุดแตกต่างที่จะทำให้วิถีไทยแตกต่างจากเว็บไซต์อื่นๆ คือ การเข้าถึงชุมชน  ช่วยเหลือ และทำงานร่วมกับชุมชนแต่ละแห่งอย่างแท้จริง  สินค้าที่ผลิตขึ้นมาจึงถือว่าเป็นของท้องถิ่นนั้นๆ  ตั้งแต่การใช้หวาย ไม่ไผ่ กระจูด ผักตบชวา ที่ล้วนหาได้ในชุมชน กระบวนการผลิตที่ทำโดยคนในแต่ละชุมชนจริงๆ และทำแบบงานฝีมือ ทำให้เมื่อลูกค้าซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์วิถีไทย ก็เหมือนกับได้สั่งซื้อสินค้าจาก Local  หรือเป็นการซื้อจากแต่ละชุมชนโดยตรง รายได้ที่เกิดขึ้นก็จะกลับสู่คนในชุมชนนั้นๆ ซึ่งเป็นจุดที่แตกต่างจากที่อื่นๆ อย่างชัดเจน เพราะปัจจุบันเม็ดเงินส่วนใหญ่มักจะตกอยู่กับโรงงานผู้ผลิตเป็นหลัก ขณะที่บางรายก็เลือกที่จะเข้าไปต่อยอดจากชุมชนที่มีความเข้มแข็งและช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว มากกว่าเลือกที่จะขยายความช่วยเหลือให้ขยายวงกว้างออกไป

โฟกัสตลาดสำคัญ EU USA จีน และญี่ปุ่น

กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของวิถีไทย จะเน้นที่กลุ่มคนต่างชาติและนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นหลัก  โดยเฉพาะใน  4 ตลาดสำคัญ คือ ยุโรป อเมริกา จีน และญี่ปุ่น โดยขณะนี้ได้เริ่มต้นทำตลาดในประเทศญี่ปุ่นแล้ว  ทั้งการทำเพจเฟสบุ๊ก บล็อกเกอร์ และกูเกิลแอดเป็นภาษาญี่ปุ่น  รวมทั้งจะขยายไปสู่ตลาดประเทศจีนในช่วงปลายปี  ด้วยการโปรโมทเป็นภาษาจีนผ่าน Weibo, Wechat  และ youku ซึ่งเทียบเท่า Facebook, Line และ YouTube ของประเทศไทยนั่นเอง

ขณะที่ในยุโรปและอเมริกา ได้ทดลองทำก่อนหน้านี้ ทั้งการฝากขายผ่านเว็บไซต์ต่างๆ รวมทั้งใช้ Facebook, IG โปรโมทควบคู่กัน และการทำ Co-promotion ร่วมกับบล็อกเกอร์  Influencer ที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก ด้วยการให้โค้ดส่วนลดลูกค้า 10% และแชร์ส่วนแบ่งกำไร 15%  ให้กับทางบล็อกเกอร์หรือเพจต่างๆ ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกันกับการเจาะตลาดนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทย ผ่านการทำโปรโมชั่นร่วมกับโรงแรม รีสอร์ท หรือสปา ที่มีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการจำนวนมาก หรือการขยายโปรโมชั่นร่วมกับกลุ่มเครือข่ายโทรศัพท์เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการช่วยประชาสัมพันธ์แบรนด์ให้นักท่องเที่ยวรู้จักมากยิ่งขึ้น

“วิถีไทยเปิดกว้างสำหรับสินค้าจักสานของชุมชน ทั้งกลุ่มสินค้าที่มีแบรนด์อยู่แล้วก็สามารถมาฝากขายได้ โดยจะนำมาถ่ายรูป เขียน Story สินค้า แปลเป็น 3 ภาษา และบริหารจัดการเรื่องของการตลาดและส่งสินค้าให้  โดยคิดค่า Oparation 20% ขณะที่บางชุมชนยังไม่มีแบรนด์ ไม่มีดีไซน์  ก็จะเข้าไปดูแลทั้งกระบวนการ ซึ่งช่วงนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น  อยู่ระหว่างการทดลองหาโมเดลที่เหมาะสมสำหรับทุกฝ่าย รวมทั้งการศึกษาตลาดเพื่อดูศักยภาพของสินค้าในแต่ละกลุ่ม และประสิทธิภาพของแต่ละตลาดที่รองรับ เพื่อนำมาพัฒนาธุรกิจที่สอดคล้องและเหมาะสมต่อไป”

คืนกำไรสู่ชุมชน เพื่อความยั่งยืน

ทางวิถีไทยยังมีแนวคิดในการแบ่งกำไรจากการทำธุรกิจบางส่วนคืนกลับไปช่วยเหลือชุมชนต่างๆ  เช่น การจัดหาอุปกรณ์ที่ขาดแคลนในการประกอบอาชีพ หรือสิ่งที่จำเป็นสำหรับชุมชน เช่น จัดซื้อเครื่องอบไล่ความชื้น  การติดตั้งเครื่องกรองน้ำให้กับชุมชน หรือให้ความช่วยเหลือในสิ่งที่ชุมชนภายในเครือข่ายมีความต้องการหรือขาดแคลน  ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในสิ้นปีนี้

นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของพลังคนรุ่นใหม่ ที่มองเห็นและพยายามต่อยอดคุณค่าความเป็นไทย และวิถีแบบไทยๆ เพื่อให้ได้รับการยอมรับในตลาดโลก ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายแม้ว่าจะมองเห็นประตูโอกาสเปิดรออยู่ก็ตาม โดยเฉพาะความท้าทายสำคัญ ที่คนในชุมชนส่วนใหญ่อาจจะยังคุ้นชินกับวิถีเดิมๆ ไม่เร่งรีบ ไม่แข่งขัน  ทำให้ต้องพยายามทำความเข้าใจ ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนวิธีคิดและทัศนคติ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยความเข้าใจ และมีความพร้อมสำหรับการเติบโตอย่างเข้มแข็ง  โดยที่ยังคงสามารถรักษาคุณค่าของวิถีชีวิตแบบไทยๆ เช่นนี้ไว้ให้ได้มากที่สุด

 


แชร์ :

You may also like