สาย Comfort Zone ทั้งหลาย ทำงานที่เดิมกันมานานเท่าไหร่แล้ว…หากทำมาเกิน 7 ปี ลองเข้ามาอัปเดตสถานการณ์กันหน่อย ข้อไหนตรง ข้อไหนใช่ มาสำรวจกันดูว่าทำงานที่เดิมเกิน 7 ปี นั้นดีจริงหรือไม่ ?!?
1. ดัชนีความสุขในการทำงาน
การได้ทำงานที่ใช่ มีใจรักในงานที่ทำ ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน บรรยากาศการทำงานในองค์กร ฯลฯ ปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบของชีวิตการทำงานในแต่ละวันของเรา ล้วนแล้วแต่เป็นดัชนีชี้วัดความสุขในการทำงานได้ทั้งสิ้น แน่นอนว่าไม่มีใครได้ทุกอย่างตามใจปรารถนาทุกประการ แต่ต้องลองบวกลบคูณหารดูว่า โดยรวมแล้วเราพึงพอใจกับงานที่ทำอยู่มากน้อยเพียงใด ตอบโจทย์ความต้องการของเราได้แค่ไหน และหากมีอุปสรรคปัญหามีสิ่งใดชดเชยตอบแทน หรือทำให้รู้สึกคุ้มค่ากับแรงกายแรงใจที่ทุ่มเทไปกับการทำงานหรือไม่ ทั้งนี้ ต้องคอยหมั่นถามตัวเองเป็นระยะว่าสถานการณ์ต่าง ๆ ในการทำงานยังอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจหรือไม่ เพราะอะไร ๆ ก็ไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงไปได้อยู่เสมอ ไม่เช่นนั้น…กว่าจะรู้ตัวว่าไม่แฮปปี้กับงานที่ทำ ก็อาจสายเกินไป
2. ความมั่นคงทางการเงิน
ทำงานที่เดิมมานาน สถานการณ์ด้านการเงินเป็นอย่างไร ฐานเงินเดือน สวัสดิการต่าง ๆ ที่ได้รับ กองทุนเพื่อการออม เงินเก็บในบัญชี และการลงทุนต่อยอดให้งอกเงย ลอง list รายการ ทำรายงานการเงินส่วนตัวออกมาให้เห็นชัด ๆ ตัวเลขที่ได้ อาจพอทำให้มองเห็นภาพในอนาคตว่า การทำงานที่เดิมน่าจะมีความมั่นคงต่อไปภายหน้า หรือควรมองหาเส้นทางใหม่ที่จะทำให้ชีวิตมีความมั่งคั่ง มีอิสรภาพทางการเงิน และเกษียณได้อย่างมั่นใจต่อไป
3. ความก้าวหน้าเติบโตในสายงาน
เรากำลังอยู่ตรงไหนของกราฟความก้าวหน้าในสายงาน จากวันที่ก้าวเข้ามาเป็นน้องใหม่ถึงปัจจุบัน เราก้าวหน้าไปมากน้อยแค่ไหน ได้รับการโปรโมทเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งบ้างหรือไม่ หรือได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานสำคัญและโปรเจคที่ท้าทายกี่ครั้ง และสามารถทำความสำเร็จให้เห็นประจักษ์ได้ดีเพียงใด และสุดท้ายเรายังมีโอกาสเติบโตในสายงานได้อีกหรือไม่ ต้องถามตัวเองว่าจุดไหน สถานะใดที่เราต้องการ และรู้สึกมีความสุขกับการทำงานได้มากที่สุด
4. สมดุลชีวิตกับงาน
นอกจากได้ทำงานตามใจรัก และพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นคนทำงานที่มีคุณภาพได้แล้ว การใช้ชีวิตด้านอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากงานก็ต้องมีความสมดุลตามไปด้วย เราทำงานหนักจนไม่มีเวลาทำอย่างอื่นหรือไม่ มีเวลาดูแลครอบครัวหรือคนข้าง ๆ ตัวหรือไม่ ถึงแม้งานจะสำคัญ แต่ก็ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิต ดังนั้นงานที่ดีต้องเอื้อให้เรามีชีวิตที่สมดุลด้วยเช่นกัน
5. สุขภาพกาย-ใจ
ข้อนี้ต่อเนื่องมาจากความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน บางครั้งที่เราทำงานหนักเกินไป ร่างกายก็จะเริ่มประท้วงด้วยโรคภัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคเครียด โรคกระเพาะอาหาร ออฟฟิศซินโดรมหลากหลายอาการ งานดี สุขภาพก็ต้องดีด้วย ต้องมีเวลาเหลือพอที่จะดูแลตัวเอง จะได้มีแรงไปทำงานกันต่อ และมีกำลังใจที่เข้มแข็งเพื่อต่อสู้รับมือกับทุกอุปสรรคได้
6. โอกาสต่อยอดความรู้
งานที่ดีนอกจากจะเลี้ยงชีพได้แล้ว ยังต้องสามารถต่อยอดพัฒนาความรู้และทักษะได้อย่างไม่สิ้นสุด ที่ทำงานของเราให้ความสำคัญกับการจัดการความรู้มากน้อยเพียงใด รวมถึงส่งเสริมให้บุคลากรได้พัฒนาตัวเองด้วยหรือไม่ เพื่อให้การทำงานเป็นเวลานาน ๆ ไม่ใช่การเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ หรือกลายเป็นความซ้ำซากจำเจที่บั่นทอนคุณภาพการทำงานในที่สุด ความรู้ ความชำนาญ และทักษะจากงานนี้เองที่จะกลายเป็นประสบการณ์อันมีค่า และอาจเป็นประโยชน์ต่อตัวเราในวันข้างหน้าได้ต่อไป
เพราะสถานการณ์และบริบทในชีวิตของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวว่าแบบไหนถึงจะดีที่สุด หากตัวเราแฮปปี้ และพอใจกับดัชนีชี้วัดความสุขของงานในปัจจุบันอยู่แล้ว ก็ไม่มีปัญหา ทำงานต่อไปได้อย่างราบรื่น
แต่ถ้าลองพิจารณาตามประเด็นข้างต้นแล้ว รู้สึกว่างานที่เราทำอยู่มีข้อเสียมากกว่าข้อดี แถมไม่ตอบโจทย์เป้าหมายชีวิต ตอกย้ำด้วยตำแหน่งที่ย่ำอยู่กับที่ หาวี่แววอนาคตเติบโตในสายงานไม่เจอแล้วละก็ อาจถึงเวลาที่สาย Comfort Zone ต้องก้าวออกมาเจอกับการเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ ๆ ในชีวิตการทำงานกันบ้าง
Credit Photo (ภาพเปิด) : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand