HomeSeminar & EventsMBA จุฬาฯ สรุป 6 แนวทางภาคธุรกิจรับมือการเปลี่ยนแปลงในยุค Thailand 4.0

MBA จุฬาฯ สรุป 6 แนวทางภาคธุรกิจรับมือการเปลี่ยนแปลงในยุค Thailand 4.0

แชร์ :

02-MBA-จุฬาฯ

เอ็มบีเอ จุฬาฯ กระตุ้นภาคธุรกิจตื่นตัวรับมือสังคมดิจิทัล จัดสัมมนาในหัวข้อ “Digital Tranformation for Thailand 4.0” เสนอแนวทางรับมือการเปลี่ยนแปลงหลังรัฐบาลเดินหน้าเปลี่ยนประเทศไทยให้เข้าสู่ยุค Thailand 4.0 เพื่อนำประเทศก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบในอนาคต โดยอาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมพูดคุยให้แง่คิดในสามมุมมอง ทั้งด้านการตลาด การเงิน และด้านกลยุทธ์ หวังภาคธุรกิจรู้เท่าทันและเตรียมพร้อมอย่างรอบด้านเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่ง อันเป็นหนทางสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจไทย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

งานสัมมนา Digital Transformation for Thailand 4.0 จัดขึ้นที่โรงแรมคราวน์พลาซ่า กรุงเทพ ลุมพินี ปาร์ค  โดย ดร.เอกก์ ภทรธนกุล อาจารย์ประจำ ภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าประเทศไทยติดกับดักรายได้ปานกลางมานาน แม้รัฐบาลพยายามแก้ไขแต่ก็ไม่สามารถหลุดออกจากกับดักนี้ได้ จึงเป็นที่มาของการสร้างโมเดล Thailand 4.0  ซึ่งจะให้ความสำคัญใน 3 เรื่อง คือ Smart Industry, Smart City และ Smart people โดยมุ่งเน้นในการพัฒนา  10 อุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ คือ อุตสาหกรรมยานยนต์, อิเล็กทรอนิกส์, ท่องเที่ยว, การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, แปรรูปอาหาร, หุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม, การบินและโลจิสติกส์, เชื้อเพลงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, ดิจิทัล และการแพทย์ ซึ่งมีการปรับรูปแบบใหม่ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและความต้องการของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล

ทั้งนี้ ดร.เอกก์กล่าวว่าโมเดล Thailand 4.0 จะทำให้การตลาดของไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปตามไลฟ์สไตล์ของคน กล่าวคือในโลกดิจิทัลเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ รอบตัวเรามีความเป็นอัจฉริยะมากขึ้น ถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันผ่านอินเตอร์เน็ตทำให้มีการส่งถ่ายข้อมูลถึงกัน โดยข้อมูลนี้จะถูกนำมาใช้ในการพัฒนาปรับปรุงสินค้าและบริการที่มีความเฉพาะตัวมากขึ้น เกิดการเชื่อมโยงกันระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงกับโลกเสมือน ผู้คนแยกตัวออกจากสังคมในโลกแห่งความเป็นจริง และเข้าไปอยู่ในสังคมโลกออนไลน์มากขึ้น   เกิดบุคคลที่มีชื่อเสียงบนโลกออนไลน์ซึ่งมีอิทธิพลชี้นำคนในโลกแห่งความเป็นจริง และคนใช้อารมณ์ในการตัดสินใจซื้อมากกว่าฟังก์ชั่นการทำงานของสินค้า ขณะเดียวกันเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์จะถูกกระจายออกไปในวงกว้างอย่างรวดเร็ว และท้ายที่สุดคนในสังคมจะมองหาสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจมากขึ้น

ทางด้าน ดร.คณิสร์ แสงโชติ  อาจารย์ประจำภาควิชาการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าปริมาณข้อมูลที่มีมากขึ้นตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อภาคการเงินใน 3 ด้าน คือ หนึ่ง-ทำให้เกิดช่องทางการจ่ายชำระในรูปใหม่ๆ                         

ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องมีตัวเงินจริงๆ หรือแม้แต่บัตรเครดิต หรือบัตรเดบิตอยู่ในกระเป๋าสตางค์ เช่น โมบายเพย์เมนท์, อินทิเกรเตท บิลลิ่ง, สตรีมมิ่ง เพย์เมนท์ เป็นต้น ความเปลี่ยนแปลงนี้นำมาซึ่งข้อดีและข้อเสีย กล่าวคือ ช่วยลดต้นทุน และทำให้เกิดสภาพคล่องที่ช่วยเสริมการค้าการลงทุน ขณะเดียวกันการโจรกรรมสามารถทำได้ง่ายแค่รู้ข้อมูลของเจ้าของบัญชีเพียงไม่กี่อย่าง สอง-ด้านการลงทุนจะเกิดหุ่นยนต์ที่สามารถบริหารจัดการเงินทุนแทนคนได้ เนื่องจากมีความแม่นยำกว่าในการรวบรวมและประเมินผลข้อมูลต่างๆ และเกิดช่องทางให้ผู้ที่มีความสามารถทางการเงินการลงทุน สามารถหารายได้ด้วยตัวเองผ่านทางออนไลน์ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นพนักงานขององค์กรให้บริการทางการเงินอย่างในปัจจุบัน และสาม-บริษัทประกันมีข้อมูลมากพอในการบริหารจัดการความเสี่ยงขององค์กร และสามารถออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะตัวบุคคลได้มากขึ้น

ทางด้าน รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าโลกดิจิทัลจะเปิดช่องทางให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาแทนที่ธุรกิจเดิมที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงให้ทันสถานการณ์ ดังจะเห็นได้จากการล่มสลายของ โนเกีย และโกดัก ที่ครั้งหนึ่งเคยรุ่งโรจน์มาก่อน ขณะเดียวกันการเร่งพัฒนาขององค์กรต่างๆ ก็ทำให้เกิดการควบรวมระหว่างอุตสาหกรรมมากขึ้น เช่น ไมโครซอฟ เป็นอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ แต่เมื่อซื้อกิจการของ linkedin เข้าไปก็จะเข้าไปอยู่อุตสาหกรรมการบริการบนโลกออนไลน์ด้วยเช่นกัน ดังนั้นการจัดวางตำแหน่งองค์กรจึงมีความสำคัญต่อการกำหนดบทบาท และทิศทางการพัฒนาเพื่อการเติบโตในอนาคต

อย่างไรก็ตามการเร่งพัฒนาสินค้าและบริการของธุรกิจในปัจจุบันของหลายๆ องค์กร ติดกับดักกับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการจนมีราคาแพง เหมาะสำหรับกลุ่มผู้บริโภคระดับบน จึงกลายเป็นหลงลืมกลุ่มผู้บริโภคระดับกลาง และล่าง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีฐานขนาดใหญ่ ทำให้องค์กรที่มองเห็นโอกาสนี้เข้ามาผลิตสินค้าที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าสองกลุ่มนี้ได้ และสามารถเติบโตมาแทนที่องค์กรเดิมที่เคยเป็นเจ้าตลาดอยู่

ดร.พสุกล่าวในตอนท้ายว่าการเตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นมี 6 แนวทาง คือ การปิดกั้นไม่ให้องค์กรใหม่ๆ เข้ามาแทนที่ธุรกิจเดิมได้, การรีบเก็บเกี่ยวในช่วงขณะที่องค์กรยังสามารถหากำไร ได้จากธุรกิจที่ทำ, การลงทุนดำเนินกิจการตามโมเดลใหม่ ที่เข้ากับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน, การออกแคมเปญใหม่ๆ ออกมาสู้กับธุรกิจใหม่ที่จะเข้ามาแทนที่, การหลบเลี่ยงไปตลาดอื่น และการปิดกิจการไปเลย ซึ่งทางเลือกที่ดีที่สุด คือการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนกิจการตามโมเดลใหม่ ให้เข้ากับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้ธุรกิจอยู่รอดและเติบโตต่อไปได้


แชร์ :

You may also like