YouTube โชว์สถิติ “วิดีโอคอมเมิร์ซ” พร้อมเปิดตัวเลขครีเอเตอร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบช่องที่มีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านคนโตทะลุ 7,600 ช่องแล้ว (ตัวเลขจากประเทศอินโดนีเซีย ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์) ขณะที่ YouTube Shopping ช่วยเพิ่มรายได้ให้ครีเอเตอร์เวียดนาม Mai Trinh Hồ เพิ่มเกือบ 5 เท่า (ตัวเลขระหว่างเดือนกรกฎาคม – ตุลาคม 2024)
เศรษฐกิจครีเอเตอร์บนแพลตฟอร์ม YouTube ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังพุ่งทะยาน โดยมีการเปิดเผยจาก Sapna Chadha รองประธาน Southeast Asia and South Asia Frontier ของ Google ว่า อุตสาหกรรมวิดีโอคอมเมิร์ซ (Video Commerce) กำลังเติบโต และมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยปัจจุบันวิดีโอคอมเมิร์ซมีสัดส่วนมูลค่าสินค้ารวม (Gross Merchandise Value หรือ GMV) คิดเป็น 20% ของภาคอีคอมเมิร์ซทั้งหมดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่าเมื่อเทียบกับช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
Sapna Chadha รองประธาน Southeast Asia and South Asia Frontier ของ Google
Sapna ยังกล่าวอีกด้วยว่า ในแต่ละเดือนมีผู้ชม YouTube มากกว่า 3.5 พันล้านคนทั่วโลก โดย YouTube เข้าถึงผู้ชมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ 290 ล้านคนในปี 2024 ซึ่งคิดเป็น 85% ของประชากรออนไลน์ในภูมิภาคนี้ และคอนเทนต์ที่อัปโหลดจากเวียดนามและอินโดนีเซียในปี 2024 ยังเพิ่มขึ้นถึง 85% เมื่อเทียบกับปี 2023
ทั้งนี้ ผู้บริหาร Google มองว่า เศรษฐกิจครีเอเตอร์ที่มีขนาดใหญ่และเติบโตอย่างต่อเนื่องนี้เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ YouTube กลายเป็นแพลตฟอร์มหลักของวิดีโอคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมระบุว่า หนึ่งในจุดแข็งสำคัญของ YouTube คือความน่าเชื่อถือ และครีเอเตอร์คือหัวใจสำคัญ โดยมีการอ้างอิงผลการสำรวจของ Kantar พบว่า 85% ของผู้ชมในไทยและ 67% ของผู้ชมในอินโดนีเซียมองว่าคอนเทนต์ของครีเอเตอร์ YouTube มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งความน่าเชื่อถือนี้ยังรวมไปถึงแบรนด์ต่าง ๆ ด้วย โดย 60% ของ Gen Z ในอินโดนีเซียกล่าวว่าตนเชื่อถือแบรนด์ที่ครีเอเตอร์ YouTube แนะนำ เมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ซึ่งอยู่ที่ 46%
Gen Z สนใจสิ่งใดบน YouTube
อีกหนึ่งความน่าสนใจที่ Sapna Chadha นำเสนอก็คือพฤติกรรมการใช้งานของ Gen Z ที่พบว่า ให้ความสนใจกับแพลตฟอร์ม YouTube เนื่องจากมีฟอร์แมตหลากหลายทั้งคลิปวิดีโอแบบยาว และแบบสั้น (รวมถึง YouTube Shorts) โดยผู้บริหาร Google ยังระบุด้วยว่า ผู้ใช้งาน Shorts มากถึง 48% ในประเทศอินโดนีเซียไม่ใช้ Reels เลย ขณะที่ประเทศไทย ก็พบว่าผู้ใช้งาน Shorts มากถึง 66% ไม่ใช้ Reels เลยเช่นกัน (อ้างอิงข้อมูลจาก GWI)
ความไว้วางใจที่มีมาอย่างยาวนานนี้ยังส่งผลต่อพฤติกรรมการซื้อสินค้าด้วย โดยข้อมูลของ Ipsos แสดงให้เห็นว่าในหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ พบว่าผู้คนให้ความไว้วางใจ Google และ YouTube ในทุกขั้นตอนของเส้นทางการซื้อสินค้า (Purchase Journey) มากกว่าแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่น ๆ
เปิดสถิติการเติบโต YouTube Shopping – รุกธุรกิจทีวี
สำหรับการเปิดตัว YouTube Shopping ในไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ (ร่วมมือกับ Shopee) และทำให้ครีเอเตอร์สามารถติดแท็กผลิตภัณฑ์ในวิดีโอหลายล้านรายการได้นั้น มีการเปิดเผยจาก Sapna ด้วยว่า ครีเอเตอร์ในอินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ มีรายได้เพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น ในเดือนธันวาคม 2024 มีช่อง YouTube ในเวียดนามที่สร้างรายได้ 9 หลักหรือมากกว่า (ในสกุลเงินเวียดนาม) เพิ่มขึ้นถึง 35% เมื่อเทียบกับปี 2023
หรือการนำเสนอโฆษณาในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านหน้าจอทีวีที่มีการอัปเดตเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถช้อปปิ้งได้ เช่น กรณีของ McDonald’s ในฟิลิปปินส์ที่มีการใช้แคมเปญ CTV (Connected TV) ผ่าน YouTube ช่วยให้ยอดขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นกว่า 46% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนทำแคมเปญ หรือ Pepsi ในเวียดนามสามารถเพิ่มการเข้าถึงในกลุ่มผู้ชมอายุ 18 – 44 ปีได้ถึง 27% จากการทำแคมเปญในรูปแบบเดียวกัน
ผลการศึกษาของ Nielsen พบว่า YouTube สามารถสร้างผลตอบแทนจากค่าโฆษณา (Return on Ad Spend หรือ ROAS) ในระยะยาวสูงกว่าการโฆษณาที่มีค่าใช้จ่ายบนโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ถึง 2.3 เท่า
ตัวอย่างการสร้างแคมเปญ CTV (Connected TV) บน YouTube ของ Pepsi และ McDonald’s (ขอบคุณภาพจาก YouTube)
จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ผนวกกับเทคโนโลยีที่สนับสนุนการซื้อขายผ่านวิดีโอได้สะดวกขึ้นนี้ ทำให้ “วิดีโอคอมเมิร์ซ” บน YouTube กลายเป็นเทรนด์ที่น่าจับตามองอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยไม่เพียงแค่ช่วยเพิ่มรายได้ให้ครีเอเตอร์ แต่ยังเปิดโอกาสใหม่ให้แบรนด์เข้าถึงผู้บริโภคในรูปแบบที่ทั้งจริงใจและทรงพลังมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า เราอาจได้เห็นบทบาทของ YouTube ในโลกอีคอมเมิร์ซที่ขยายตัวได้อีกมากในอนาคตอันใกล้ก็เป็นได้