เปิดภาพรวมการอัปเดตซอฟต์แวร์ครั้งใหญ่ของ Apple จากงาน WWDC 2025 ซึ่งจัดขึ้นในช่่วงค่ำคืนที่ผ่านมาตามเวลาในประเทศไทย โดยในปีนี้ ได้มีการเปลี่ยนแนวทางการตั้งชื่อระบบปฏิบัติการใหม่ เป็นการใช้ตัวเลขปี เช่น iOS 26, macOS 26, watchOS 26, iPadOS 26, tvOS 26 และ visionOS 26 แทนการตั้งชื่อแบบเดิม พร้อมโชว์ดีไซน์ Liquid Glass ซึ่ง Apple จะนำไปเป็นส่วนผสมสำคัญในการพัฒนาซอฟต์แวร์ของทางค่าย เช่น หน้าจอล็อกสกรีน, หน้าจอเดสก์ทอป, นาฬิกา ตลอดจนแอปต่าง ๆ
iOS 26
สำหรับผู้ใช้ iPhone รอบนี้ iOS 26 มีความสามารถที่น่าสนใจออกมามากมาย โดยสิ่งที่ Apple เน้นค่อนข้างมาก ก็คือการทำงานภายใต้ดีไซน์ใหม่ของทางค่ายที่ใช้คำว่า Beautiful ได้ค่อนข้างเปลืองพอสมควร แต่ก็แลกมากับการปรับแต่งส่วนต่าง ๆ ของหน้าจอได้อย่างยืดหยุ่น เช่น เปลี่ยนภาพหน้าจอ, ทำเป็นภาพ 3D, การยืดตัวอักษร ฯลฯ
ส่วนของแอป Camera ก็มีการปรับใหม่ให้ซับซ้อนน้อยลง ตามมาด้วยแอป Photo ที่ Apple บอกว่า เสิร์ชได้ง่ายขึ้น มีการจัดเก็บภาพต่าง ๆ แบ่งอย่างเป็นสัดเป็นส่วนมากขึ้น
หรือแอป Safari ที่จะแสดงผลเว็บเพจให้แบบเต็มจอ ส่วนปุ่มควบคุมก็จะลงมาอยู่ด้านล่าง และทำงานภายใต้ดีไซน์ใหม่ Liquid Glass เช่นเดียวกัน
ส่วนฟีเจอร์ที่น่าจะโดนใจผู้ใช้งานไม่มากก็น้อยอาจเป็นการอัปเดทแอป CarPlay ที่หากมีสายเข้าก็จะปรากฏบนหน้าจอเป็นแถบเล็ก ๆ แทน และผู้ใช้งานสามารถส่งอิโมจิกลับไปได้ อีกทั้งยังรองรับการเพิ่ม Widget เช่น สภาพอากาศ สภาพการจราจร ฯลฯ ในหน้าจอได้
สำหรับคนที่ต้องคุยกับเพื่อนต่างชาติต่างภาษาบ่อย ๆ ฟีเจอร์นี้น่าจะโดนใจไม่น้อยกับ Live Translation ซึ่งจะทำงานร่วมกับแอปข้อความ, FaceTime และแอปโทรศัพท์ (สำหรับช่วยแปลข้อความและเสียงให้แบบสด ๆ)
นอกจากนั้นก็มีแอป Games ที่รวมทุกอย่างเกี่ยวกับเกมไว้ในที่เดียว เพื่อเอาใจคอเกมเวลาต้องการกลับมาเล่นเกมเดิมก็ทำได้ง่ายขึ้น หรือการดูแลเด็ก ๆ ในการใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัลห้ปลอดภัยก็พบว่ามีเพิ่มมาด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น การจำกัดการสื่อสาร ความปลอดภัยในการสื่อสาร และการตั้งค่าให้ App Store ต้องขออนุญาตจากผู้ปกครองก่อน หากจะมีการขอข้อมูลติดต่อของเด็ก
ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการเบลอคอนเทนต์ที่ละเอียดอ่อนในสาย FaceTime ตลอดจนการขออนุญาตผู้ปกครองหากจะดาวน์โหลดแอปที่มีการจำกัดอายุร่วมด้วย ฯลฯ
นอกจากนั้น ในส่วนของสายเรียกเข้า ก็มีการเพิ่มฟีเจอร์ Call Screening (ตรวจสอบสายที่โทรเข้ามาให้ก่อนว่าเป็นสแปมหรือไม่), Hold Assist สำหรับผู้ใช้งานที่ไม่อยากฟังเพลงขณะถือสายรอคอลล์เซนเตอร์ (เมื่อพนักงานคอลล์เซนเตอร์กลับมาคุยกับเรา ระบบจะแจ้งให้ทราบอัตโนมัติ) หรือแอป Camera ก็มีการออกแบบเมนูใหม่ให้หน้าจอตอนถ่ายภาพโล่ง – ใช้งานง่ายขึ้น เป็นต้น
แผนที่ของ Apple ก็มีการปรับแต่งให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้ด้วยเช่นกัน โดยมันจะศึกษาเส้นทางของเราว่าออกจากบ้านแล้วไปที่ใดต่อ เช่น ไปส่งลูกที่โรงเรียนแล้วค่อยไปทำงาน และสามารถให้คำแนะนำที่เฉพาะเจาะจงได้มากขึ้น เช่น วันนี้ถนนที่เราใช้เดินทางมีปัญหา เป็นต้น
และหาก iOS 26 เริ่มให้บริการ เราจะสามารถสตาร์ทรถด้วย iPhone หรือ Apple Watch ได้ด้วย โดยรถที่รองรับมีหลายค่าย เช่น Audi, Volvo, Mercedes, KIA, BYD, Zeekr, Hyundai, Xpeng, BMW, Rivian, GMC, Chery, Tata ฯลฯ
Apple ยังบอกด้วยว่า บริษัทจะเริ่มให้บริการ Digital ID สำหรับการเดินทางในประเทศ โดยจะทำงานร่วมกับบอร์ดดิ้งพาสที่แสดงผลเป็น QR Code
ส่วน Wallet จะเพิ่มความสามารถให้กับ Apple Pay มากขึ้น ด้วยการเป็นจุดติดตามการสั่งซื้อสินค้า (Order Tracking) โดยความช่วยเหลือของ Apple Intelligence ที่จะติดตามสถานะให้จากผู้ส่งของรายต่าง ๆ และสรุปออกมาเป็นสถานะของสินค้าชิ้นนั้น ๆ ให้ผู้ใช้งานได้ทราบอีกทีนั่นเอง
watchOS 26
สำหรับ watchOS 26 นอกจากจะได้ใช้ดีไซน์ใหม่ Liquid Glass แล้ว ยังมีส่วนของ Apple Intelligence เข้ามาช่วยทำความเข้าใจพฤติกรรมของผู้สวมด้วย เช่น การออกกำลังกาย (มาในรูปแบบ Workout Buddy ที่จะแสดงผลลัพธ์ของการออกกำลังกายแบบเรียลไทม์)
นอกจากนั้นยังมีการควบคุม Notification แบบใหม่ ๆ การใส่แอป Note ลงมาใน watchOS, การปรับแต่ง Widget และอื่น ๆ อีกมากมาย
tvOS 26
ในส่วนของ tvOS 26 ก็พบว่าดีไซน์ใหม่ Liquid Glass ของบริษัทได้ลงไปอยู่กับอินเทอร์เฟสต่าง ๆ แล้วเช่นกัน ส่วนนอกนั้นก็เป็นการแนะนำฟีเจอร์เช่น การล็อกอินข้ามอุปกรณ์ การนำ iPhone มาใช้เพิ่มเพลงเข้าไปในลิสต์, ส่งอิโมจิ หรือใช้ร้องเพลงแทนไมค์ ฯลฯ
สำหรับนักพัฒนามีการแนะนำฟีเจอร์ใหม่ automatic sign-in ในการล็อกอินเข้ากับอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยใช้ Apple Accounts ด้วย
iPadOS 26
สำหรับผู้ใช้ iPad การอัปเดท iPadOS 26 มาพร้อมคุณสมบัติใหม่ ๆ ที่ Apple บอกว่ามันทรงพลัง และสามารถยกระดับความอเนกประสงค์ของ iPad ไปอีกขั้น โดยข้อแรกคือ ระบบจัดการหน้าต่างแบบใหม่ที่ใช้ง่าย
ส่วนใครที่ต้องทำงานกับแอป Files ก็มาพร้อมวิธีใหม่ในการจัดระเบียบไฟล์ และการปรับแต่งโฟลเดอร์ให้หางานได้ง่ายขึ้นเช่นกัน (แม้ว่าบางอินเทอร์เฟสจะทำให้คิดถึงระบบปฏิบัติการ Windows ขึ้นมาก็ตาม) และ iPadOS 26 ยังมาพร้อมความสามารถในการแสดงผล “เสียง” ที่ดีขึ้นสำหรับแอปต่าง ๆ เช่น Zoom ฯลฯ นอกจากนี้ยังสามารถ Export งานวิดีโอต่าง ๆ โดยรันเป็น Background อยู่เบื้องหลังได้
นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์ Local Capture ที่เราสามารถบันทึกงานคุณภาพสูงได้เลยจากบน iPad โดยใช้แอปการประชุมแบบวิดีโอแอปใดก็ได้ แล้วแชร์ไฟล์เสียงและวิดีโอได้ง่ายๆ หลังสิ้นสุดการประชุม โดยจะมีการตัดเสียงสะท้อนของผู้เข้าประชุมคนอื่น ๆ เพื่อให้เสียงเราดังฟังชัดมากขึ้น
ส่วนแอป Journal ก็มาอยู่บน iPad แล้วเช่นกัน โดยผู้ใช้สามารถบันทึกและเขียนรายละเอียดของช่วงเวลาหรือโอกาสพิเศษในแต่ละวัน และผู้ใช้สามารถใช้ร่วมกับ Apple Pencil และสามารถเก็บบันทึกแยกกันหลายเล่มสำหรับแต่ละแง่มุมของชีวิตได้ด้วย
สำหรับแอปเครื่องคิดเลข บน iPadOS 26 ได้เพิ่มความสามารถในการสร้างกราฟ 3D ในโน้ตคณิตศาสตร์ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเขียนสมการที่มีตัวแปร 3 ตัวและสร้างกราฟในแบบ 3 มิติได้ และสำหรับผู้ที่ตาบอด มีปัญหาในการมองเห็น หรือมีความบกพร่องอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการอ่าน ทาง Apple ได้ออกแบบระบบ Accessibility Reader ซึ่งเป็นโหมดการอ่านใหม่ที่ครอบคลุมทั่วทั้งระบบและออกแบบมาเพื่อทำให้ข้อความอ่านง่ายขึ้น รวมถึงประสบการณ์ Braille Access แบบใหม่หมด ซึ่งจะแสดงอินเทอร์เฟซที่เป็นมิตรต่อผู้ใช้ที่เชื่อมต่อเครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์ได้ด้วย
macOS Tahoe 26
ตัวอย่างของ macOS Tahoe 26 ซึ่ง Apple นำมาเผยโฉมในงาน WWDC เป็นการอัปเดตครั้งสำคัญเลยก็ว่าได้ โดยเราจะได้เจออินเทอร์เฟสที่คุ้นเคยจากอุปกรณ์อื่น ๆ ของ Apple มาปรากฏตัวอยู่บน macOS รุ่นนี้เต็มไปหมด โดยสิ่งที่ Apple อยากนำเสนอมากเป็นอันดับต้น ๆ คือ Spotlight ที่จะเป็นศูนย์กลางในการค้นหาสิ่งต่าง ๆ บน Mac แถม Spotlight ยังสามารถค้นหาเอกสารที่เก็บอยู่ในพื้นที่จัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์ของบริษัทอื่นได้อีกด้วย
และถ้าไม่อยากสลับไปมาระหว่างแอป ก็สามารถสั่งงานจาก Spotlight ได้โดยตรง เช่น ส่งอีเมล สร้างโน้ต หรือเล่นพ็อดคาสท์ (ผ่าน App Intents API) ซึ่ง Spotlight จะเรียนรู้จากสิ่งที่ผู้ใช้ทำเป็นประจำในระบบ และแสดงการสั่งงานในแบบเฉพาะบุคคล เช่น ส่งข้อความหาเพื่อนร่วมงานที่คุยด้วยเป็นประจำ ฯลฯ ได้ด้วย
ที่สำคัญ macOS Tahoe 26 ยังเปิดให้ Apple Intelligence สามารถตรวจดูอีเมล เว็บไซต์ โน้ต หรือคอนเทนต์อื่น ๆ บน Mac เพื่อค้นหารายการสิ่งที่ต้องทำที่เกี่ยวข้องมากที่สุด และผู้ใช้สามารถเลือกให้ Apple Intelligence จัดหมวดหมู่การเตือนความจำโดยแบ่งเป็นส่วน ๆ เพื่อให้จัดการได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ ความสามารถทั้งหมดที่กล่าวมา จะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการปลายปีนี้ ส่วนนักพัฒนาสามารถเข้าถึงเวอร์ชันเบต้าได้แล้วตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2025 เป็นต้นไป