หลังจากเกิดเหตุภัยพิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์แผ่นดินไหว สิ่งที่หลายคนถามหามากเป็นอันดับต้น ๆ หนีไม่พ้นเรื่องของการเตือนภัย และวงการที่หลายคนพุ่งเป้าว่าสามารถช่วยให้ความปรารถนานั้นเป็นจริงได้ก็หนีไม่พ้นวงการเทคโนโลยี เราจึงอยากพาย้อนไปยังเหตุการณ์ในอดีต ที่เทคโนโลยีการแจ้งเตือนแผ่นดินไหวเกิดขึ้นได้จริง และส่วนหนึ่งที่ทำให้การแจ้งเตือนนั้นเกิดขึ้นได้ ก็มาจากข้อมูลชิ้นเล็กชิ้นน้อยของผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนที่ร่วมแบ่งปันกันนั่นเอง
เหตุการณ์การแจ้งเตือนแผ่นดินไหวล่วงหน้าเกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2022 กับสถานการณ์แผ่นดินไหวขนาด 5.1 ริกเตอร์ ที่บริเวณอ่าวซานฟรานซิสโกของแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา และมีการแจ้งเตือนล่วงหน้าส่งไปยังคนในพื้นที่ก่อนเหตุการณ์จะเกิด 2 – 3 วินาที
การแจ้งเตือนดังกล่าวเกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันของ Google และ USGS (United States Geological Survey) ตลอดจนนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งในแคลิฟอร์เนีย ที่ได้พัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้าเอาไว้ ทำให้ผู้คนจำนวนมากในพื้นที่ได้รับการแจ้งเตือนจากโทรศัพท์ก่อนที่แผ่นดินไหวจะเริ่มขึ้น
ซึ่งการแจ้งเตือนนี้ แม้จะส่งออกมาในช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนที่เหตุการณ์จะเกิด แต่ก็เพียงพอที่จะให้ผู้คนลงไปหลบภัยใต้โต๊ะ และเร็วเพียงพอที่จะชะลอความเร็วของรถไฟ หยุดไม่ให้เครื่องบินขึ้นหรือลง และแม้แต่ป้องกันไม่ให้รถยนต์เข้าไปในสะพานหรืออุโมงค์ได้
เบื้องหลังการแจ้งเตือน
สำหรับที่มาของคำเตือนที่แม่นยำนี้มาจากข้อมูล 2 แหล่ง นั่นคือ ข้อมูลจากเครื่องวัดแผ่นดินไหวจำนวน 700 เครื่องที่ติดตั้งทั่วรัฐของ USGS ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และข้อมูลของ Google เองที่วัดได้ผ่านอุปกรณ์ชิ้นเล็ก ๆ อย่าง accelerometers ในสมาร์ทโฟน (ซึ่งปกติแล้ว อุปกรณ์ดังกล่าวจะทำหน้าที่จับการเคลื่อนไหวของตัวเครื่องเป็นหลัก เพื่อเปลี่ยนอินเทอร์เฟสของหน้าจอให้เป็นแนวตั้ง-นอน) โดย Google พบว่า เซนเซอร์เหล่านี้มีความ Sensitive สูง และสามารถทำหน้าที่เหมือนเครื่องวัดแผ่นดินไหวขนาดเล็กได้ด้วยนั่นเอง
อย่างไรก็ดี ระบบที่ USGS พัฒนาขึ้นในตอนแรกนั้น ไม่สามารถส่งแจ้งเตือนได้ด้วยตัวเอง (แม้ว่าจะพัฒนาเสร็จแล้ว) จนกระทั่งมีการจับมือกับภาคเอกชน พัฒนาเป็นแอปพลิเคชันชื่อ ShakeAlert ขึ้นมา (เปิดตัวช่วงปลายปี 2018 และในช่วงแรกสามารถแจ้งเตือนได้เฉพาะพื้นที่ลอสแองเจลลิส)
ขณะที่ในส่วนของ Google การจะส่งข้อมูลแจ้งเตือนไปยังประชาชน ต้องมีความชัดเจนว่า แผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นจริง ซึ่งต้องมาจากการรวบรวมข้อมูลจำนวนมาก และนั่นทำให้ Google ได้มีการเปิดฟังก์ชันให้ผู้ใช้ตั้งค่าให้โทรศัพท์ให้ส่งข้อมูลไปยังระบบแจ้งเตือนแผ่นดินไหวของระบบ Android โดยอัตโนมัติ (ในกรณีที่พบการสั่นสะเทือนที่เป็นลักษณะเฉพาะของคลื่นปฐมภูมิ หรือ Primary Wave) โดยระบบจะทำการรวบรวมข้อมูลจากโทรศัพท์จำนวนมาก และนำมาประเมินร่วมกัน เพื่อให้เกิดข้อมูลที่แม่นยำเพียงพอที่จะส่งแจ้งเตือนไปยังเจ้าของโทรศัพท์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีแนวโน้มว่าแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นได้นั่นเอง
เปิดตัวระบบ Android Earthquake Alerts ทั่วสหรัฐฯ
จากจุดเริ่มต้นดังกล่าว ทำให้ในเวลาต่อมา Google ได้มีการเปิดตัวระบบ Android Earthquake Alerts สำหรับแจ้งเตือนเหตุแผ่นดินไหวในอุปกรณ์สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ โดยรองรับพื้นที่ทั่วสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 กันยายน 2024
นอกจากนี้ ยังมีรายงานด้วยว่า มีอีกหลายประเทศที่นำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้งาน โดย 2 ประเทศแรกก็คือ กรีซ – นิวซีแลนด์ และได้มีการขยายไปยังตุรกี, ฟิลิปปินส์, คาซัคสถาน, ทาจิกิสถาน, อุซเบกิสถาน ฯลฯ ร่วมด้วย (ปัจจุบันมีมากกว่า 90 ประเทศแล้ว)
ข้อดีของเทคโนโลยีแจ้งเตือนนี้ก็คือ การใช้ข้อมูลอ้างอิงจากสมาร์ทโฟนที่มี accelerometers ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับแผ่นดินไหวราคาแพงได้ (ปัจจุบัน มีสมาร์ทโฟนมากกว่า 3 พันล้านเครื่องที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์) แต่ในอีกด้าน ก็จะพบว่า หากเป็นพื้นที่ที่มีคนอาศัยไม่มากนัก ก็จะไม่มีข้อมูลจากสมาร์ทโฟนที่มากพอจะใช้ในการประมวลผล และไม่สามารถนำไปสู่การแจ้งเตือนได้นั่นเอง
จากเหตุการณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีการแจ้งเตือนแผ่นดินไหวล่วงหน้า จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมาจากการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน (รวมถึงการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ได้จากอุปกรณ์ในชีวิตประจำวันอย่างสมาร์ทโฟน)
แม้ว่าระบบนี้จะมีข้อจำกัดในเรื่องของความครอบคลุมในพื้นที่ที่มีประชากรเบาบาง แต่ก็ถือเป็นก้าวสำคัญในการลดความสูญเสียจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ และเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีสามารถมีบทบาทสำคัญในการปกป้องชีวิตผู้คนได้อย่างไรด้วยนั่นเอง
Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand
เป็นเพื่อนกับเราได้ที่ LINE