HomeBrand Move !!เส้นทาง 15 ปี Asava จากขาดทุน พลิกสู่อาณาจักร 1,000 ล้าน ก้าวต่อไปบุกตลาดประเทศปั้นริจินัลแบรนด์

เส้นทาง 15 ปี Asava จากขาดทุน พลิกสู่อาณาจักร 1,000 ล้าน ก้าวต่อไปบุกตลาดประเทศปั้นริจินัลแบรนด์

แชร์ :

ครบรอบ 15 ปี ของ Asava (อาซาว่า) “แบรนด์แฟชั่นไทย” จากจุดเริ่มต้นในปี 2551 ของผู้ก่อตั้ง คุณหมู พลพัฒน์ อัศวะประภา ที่เริ่มต้นตัดเย็บเสื้อผ้าในห้องเก็บของที่บ้าน มีพนักงาน 4 คน ตัดเสื้อได้เดือนละ 20 ตัว เจอกับภาวะขาดทุน 200 ล้าน พลิกกลับมาสร้างอาณาจักร “พันล้าน” ได้ในที่สุด

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

คุณหมู พลพัฒน์ อัศวะประภา ดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้ง บริษัท อาซาว่า จำกัด เล่าถึงเส้นทาง Asava ที่เริ่มต้นเปิดร้านในวันที่ 8-8-2008 หลังจากมีประสบการณ์ทำเสื้อผ้าแฟชั่นมา 10 ปีที่นิวยอร์กและอิตาลี ทั้งแบรนด์  Marc Jacobs และ Max Mara จึงอยากมีแบรนด์ของตัวเอง

การทำแบรนด์ Asava ในช่วงเริ่มต้น คุณหมู บอกว่าขอเงินทุนจากพ่อแม่ 20 ล้านบาท (เริ่มด้วย 15 ล้านบาท) เปิดร้านแรกในปี 2551 ที่ศูนย์การค้าพารากอน เป็นการลงทุนช็อประดับเดียวกับซูเปอร์แบรนด์ วางคอนเซ็ปต์แบรนด์เป็นเสื้อผ้าแฟชั่นสำหรับผู้หญิงทำงานโก้หรูกลุ่มลักชัวรี แตกต่างจากแบรนด์แฟชั่นไทยในตลาดยุคนั้นที่เน้นสีสันวัยรุ่น

 “แบรนด์ Asava เติบโตเร็วมาก แต่หลังจากเจอสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองในช่วงนั้น คนไม่ออกมาช็อป สินค้าขายไม่ได้  ขณะที่แบรนด์มีสต็อกวัตถุดิบผ้าจำนวนมาก ทำให้ขาดทุน 200 ล้านบาท จึงต้องขอเงินพ่อแม่มาอีก 5 ล้าน เพื่อมาทำธุรกิจต่อ แต่ที่บ้านก็ยื่นคำขาดว่าให้เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว หากไปไม่ไหวให้ปิดกิจการ ในที่สุดก็ผ่านมาได้” 

จากจุดเริ่มต้นมีพนักงาน 4 คน ตัดเสื้อผ้าได้เดือนละ 20 ตัว วันนี้มีกว่า 100 คน มียอดตัดเสื้อผ้าเดือนละ 200,000 ตัว

ความสำเร็จตลอด 15 ปีที่ผ่านมาของ Asava มาจากการมีแบรนด์ DNA ที่ชัดเจน 5 คำ คือ  “Urban, Sophisticated, Realistic, Authentic, Intelligent” เป็นแนวคิดหลักในการทำงานของ Asava ซึ่งเน้นเรื่องความเป็นตัวตนของผู้หญิงทำงานในเมืองใหญ่ ความโก้หรู ที่ไม่หวือหวา สามารถสวมใส่ได้จริง ฉลาดและรู้จักใช้ชีวิต และซื่อตรงต่อสไตล์อันเด่นชัดของตัวเอง

5 แบรนด์แฟชั่น อาณาจักร Asava  

ปัจจุบัน Asava Group มีแบรนด์แฟชั่นในเครือ 5 แบรนด์

1. Asava (อาซาว่า) แบรนด์หลักแรกที่เปิดตัวในปี 2551 เป็นแบรนด์ลักชัวรี สำหรับผู้หญิงทำงาน

2. Asv (เอเอสวี) เปิดตัวในปี 2552 สำหรับผู้หญิงที่เด็กลง เสื้อผ้าใส่สบาย สนุกสนานมีสีสัน เรียกว่าเป็นแบรนด์น้องสาวของ Asava

3. Uniform by Asava เสื้อผ้าชุดยูนิฟอร์มเริ่มในปี 2553

–  เริ่มการทำชุดยูนิฟอร์มให้ สายการบิน Bangkok Airways ที่ถือเป็นการเปลี่ยนยูนิฟอร์มใหม่ในรอบ 15 ปีของสายการบิน จากการรีแบรนด์เป็น เอเชีย บูทีคแอร์ไลน์

–  จากนั้นแผนกยูนิฟอร์ม ก็ได้รับความสนใจจากบริษัทขนาดใหญ่ในไทยและบริษัทต่างชาติในกลุ่มอาเซียน ให้ทำชุดยูนิฟอร์มให้  ปัจจุบันมีลูกค้าหลากหลายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น ธนาคาร (ไทยพาณิชย์ กรุงเทพ กรุงไทย) ศูนย์ฯ สิริกิติ์ โรงพยาบาล (BDMS ศิครินทร์) กลุ่มไมเนอร์ (เดอะ พิซซ่า คอมปะนี) เป็นต้น

– ชุดยูนิฟอร์ม ถือเป็น Soft Power อีกรูปแบบที่สะท้อนภาพลักษณ์องค์กร ทั้งตัวพนักงานและลูกค้า ที่บอกถึง DNA องค์กร งานในส่วนนี้จึงเติบโตสูงที่สุด ปัจจุบันมีลูกค้ายูนิฟอร์ม 30-40 องค์กร สัญญา 5 ปี มียอดตัดชุดยูนิฟอร์มเดือนละ 100,000 ชุด

4. White Asava  คอลเลกชั่นชุดเจ้าสาว เพื่อนเจ้าสาวและพ่อแม่ และธุรกิจเสื้อผ้าสั่งตัด วัสดุพิเศษ (Custom-made)  เริ่มต้นในปี 2560

– ที่มาของการทำชุดเจ้าสาว มาจากลูกค้าประจำของแบรนด์ Asava ต้องการให้ทำชุดเจ้าสาวให้ จนเป็นที่รู้จักในวงกว้าง

– รวมทั้งธุรกิจเสื้อผ้าสั่งตัดและวัสดุพิเศษ (Custom-made) แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้นจากผลงานออกแบบชุดผ้าไหมไทยให้กับ K-pop ชื่อดัง “ลิซ่า – ลลิษา มโนบาล” แห่งวง BLACKPINK ที่ใส่ในมิวสิควิดีโอ LALISA  

5. MOO (หมู)  เสื้อผ้าผู้ชายและแอคเซสเซอรี่ เริ่มในปี 2562

– แบรนด์ MOO คอนเซ็ปต์คือทุกอย่างมาจากตัวตนของ คุณหมู พลพัฒน์  ทั้งเสื้อผ้าและแอคเซสเซอรี่ กระเป๋า หมวก รองเท้า เป็นเสื้อผ้า Workwear สไตล์นักเรียนอเมริกัน

โดยภาพรวมการเติบโตของแบรนด์แฟชั่นในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ทุกแบรนด์เติบโตได้ดี ไม่ว่าจะเป็น  Asava ที่มียอดขายเติบโต 35%, Asv 23% ที่เติบโตสูงสุดคือ Uniform by Asava อยู่ที่ 102%

ที่ผ่านมา Asava Group เติบโตมาต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 25% แม้อยู่ในช่วงโควิดก็ยังทำ “กำไร” ได้ จากการเป็นแบรนด์แรกๆ ที่จับมือกับแพลตฟอร์มออนไลน์ในการขายเสื้อผ้าแฟชั่น พร้อมชวนแบรนด์แฟชั่นอื่นๆ อีก 20 แบรนด์มาร่วมอยู่ใน Top Brand ของมาร์เก็ตเพลส และนับเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เห็นว่า ลูกค้ามีความคุ้นเคยกับช้อปปิ้งออนไลน์ กล้าซื้อแบรนด์แฟชั่นราคาชุดละ 20,000 บาท จากมาร์เก็ตเพลส

“ช่วงโควิดอาซาว่าก็ยังมีกำไร  แม้คนไม่ออกจากบ้านมาช้อปที่ร้าน แต่ก็ยังมีเงินอยู่จึงซื้อจากช่องทางออนไลน์ที่ขายดีมาก เห็นได้จากสินค้าลักชัวรีทุกเซกเมนต์ขายดีหมด หลังจากโควิดก็ยังเติบโตมาต่อเนื่อง”  

นอกจากกลุ่มแฟชั่น ยังมีธุรกิจร้านอาหาร SAVA Modern THAI Flavour ที่ได้รับความสนใจจากต่างประเทศให้ไปขยายสาขา จะเริ่มเห็นในปี 2567

LISA ช่วยสร้างแบรนด์ ปี67 บุกตลาดต่างประเทศ 

ก่อนโควิด ในปี 2560 Asava ได้เริ่มเข้าทำตลาดใหญ่อย่างจีน ด้วยการทำแฟชั่นโชว์ที่เซียงไฮ้ เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ และขายสินค้าผ่านตัวแทนจำหน่ายในร้าน Multibrand  จากนั้นได้หยุดไปในช่วงโควิด

ปี 2567 จะเป็นปีที่ Asava กลับมาทำตลาดต่างประเทศอย่างจริงจัง ทั้งในจีนและอาเซียน ที่รู้จักแบรนด์ Asava มากขึ้น  หลังจากทำผลงานออกแบบชุดผ้าไหมไทยให้กับ LISA BLACKPINK ทำให้แบรนด์ Asava มีพอร์ตโฟลิโอที่ดีและแบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงการบันเทิง โดยได้รับการติดต่อจากค่ายเพลง ศิลปินเกาหลี ให้ทำชุดให้ เช่น ศิลปิน (G)I-DEL ช่วยสร้างกระแสแฟชั่นแบรนด์ไทยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างทั้งลูกค้าและคู่ค้า

ดังนั้นในปี 2567 จะเริ่มกลับมาทำตลาดต่างประเทศ เริ่มในจีน โดยร่วมมือกับพาร์ทเนอร์แพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลสรายใหญ่ ที่เปรียบเสมือนห้างใหญ่ลูกค้าซื้อสินค้าได้ตลอดเวลา ต่างจากช่องทางขายแบบออฟไลน์แบบเดิม  “ตลาดจีนใหญ่มากหากเราทำตลาดได้สำเร็จ แบรนด์อยู่ในการรับรู้ของคนจีน ก็มีโอกาสมหาศาล”

นอกจากนี้จะเข้าไปทำตลาดอาเซียน ในกลุ่ม CLMV  ผ่านพาร์ทเนอร์ตัวแทนขายทั้งออนไลน์และออฟไลน์  เพราะหลังโควิดเห็นชัดเจนว่าตลาดอาเซียนเติบโตสูงมาก ลูกค้า VVIP ของ  Asava มาจากอาเซียนจำนวนมาก ยอดขายในร้านอาซาว่า มีลูกค้าอาเซียน 50% พบว่าลูกค้ากัมพูชา มาซื้อสินค้าต่อบิลสูงสุด 200,000-300,000 บาท

“ตลาด CLMV เป็นลูกค้าที่ติดตามเทรนด์แฟชั่นตลาดไทย คอลเลกชั่นต่างๆ เหมือนประเทศไทย ทำให้ไม่ต้องเปลี่ยนแพทเทิร์น หรือวัสดุ เสื้อผ้าจึงขายได้ทั้งปี เพราะมีฤดูกาลต่างๆ เหมือนกัน”    

หลังจากกลับมาทำตลาดต่างประเทศในปี 2567 วางเป้าหมายรายได้ต่างประเทศใน 5 ปี มีสัดส่วน 10-12% ของรายได้ Asava Group จากปัจจุบันไม่ได้ทำตลาด (ก่อนโควิดสัดส่วน 3%)

เส้นทางของ Asava Group จากนี้จะก้าวสู่การเป็น “ริจินัลแบรนด์”  ตัวเลขการเติบโตวางไว้ไม่ต่ำกว่า 50%  จากวันที่ต้องเจอกับตัวเลข “ขาดทุน”  เกือบปิดกิจการ มาถึงวันนี้ เรียกได้ว่าเป็นอาณาจักร “พันล้าน”  เป้าหมายระยะยาวจากนี้ จะส่งต่อแบรนด์ไทยให้เติบโตได้ยั่งยืนในระดับโลกต่อไป  

อ่านเพิ่มเติม


แชร์ :

You may also like