HomeBig Featuredโชห่วยไม่มีวันตาย แม็คโคร ส่งตรง “บัดดี้มาร์ท” ชิงพื้นที่ภาคกลาง-อีสาน ชู Know How ดึงคนรุ่นใหม่สืบทอดกิจการ

โชห่วยไม่มีวันตาย แม็คโคร ส่งตรง “บัดดี้มาร์ท” ชิงพื้นที่ภาคกลาง-อีสาน ชู Know How ดึงคนรุ่นใหม่สืบทอดกิจการ

แชร์ :

 

buddy mart

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

 

“บัดดี้มาร์ท” โมเดลโชห่วยน้องใหม่จากยักษ์ใหญ่ค้าส่ง “แม็คโคร” เปิดตัวมาเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการโชห่วยที่เป็นฐานลูกค้าหลักของแม็คโครมากว่า 33 ปี ด้วยการนำองค์ความรู้ Solution ต่างๆ เข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพร้านค้าชุมชนให้สามารถปรับตัวรองรับการเปลี่ยนสู่รูปแบบการค้ายุคใหม่ ตอบโจทย์พื้นชุมชนห่างไกลได้มากยิ่งขึ้น

ข้อมูลจากสมาคมค้าปลีก ระบุว่า ปัจจุบันร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม หรือร้านโชห่วยมีสัดส่วนถึง 45-47% ของธุรกิจค้าปลีก ทำให้ร้านปลีกดั้งเดิม-ร้านโชห่วย กลายมาเป็นฐานสำคัญของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจชุมชนให้เติบโต 

ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนความเชื่อของ “แม็คโคร” ที่ว่าสถานการณ์โชห่วยในเมืองไทย “ไม่มีวันล้มหายตายจาก” อย่างที่หลายคนมีความเชื่อ เพราะด้วยรูปแบบชุมชน สังคมในต่างจังหวัดที่มีอยู่  เพียงแต่ปัจจุบันพบว่าร้านโชห่วยยังมีอุปสรรคด้านการเติบโตอยู่มาก ทั้ง “การปรับตัวช้า ปรับตัวยาก”  โดยเฉพาะการ “ไม่มีทายาทคนรุ่นใหม่” สนใจเข้ามาสืบทอดกิจการ ดังนั้นการทำให้ทันสมัย ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ และเป็นศูนย์กลางของชุมชนจึงเป็นคีย์หลัก แม็คโครเข้ามาเติมส่วนที่ขาด และรับมือกับพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไปซื้อร้านสะดวกซื้อสมัยใหม่มากขึ้น

ทำให้เกิดแนวคิดการพัฒนาโชห่วยขึ้น ในชื่อ “บัดดี้มาร์ท” โมเดลใหม่ที่แม็คโครใช้นำร่องการในการพัฒนาโชห่วยไทยที่ต่อยอดมาจาก “โครงการมิตรแท้โชห่วย” เพื่อสร้างร้านค้าสู่โชห่วยสมัยใหม่ให้เติบโตแบบยั่งยืน ไปพร้อมๆ กับช่วยเหลือฐานลูกค้าหลักของแม็คโครในปัจจุบันที่มีสมาชิกเป็นร้านค้าโชห่วยกว่า 5 แสนราย หรือคิดเป็นสัดส่วนรายได้กว่า 30% ของแม็คโคร 

ท่ามกลางการแข่งขันของร้านค้าปลีกดั้งเดิมหรือร้านโชห่วย ที่ดูจะรุนแรงขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลังผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ ต่างเดินหน้ายื่นข้อเสนอเป็นพันธมิตรช่วยสอนวิธีการบริหารจัดการ  ให้เงินลงทุน สนับสนุนเทคโนโลยี แลกกับการเป็นเครือข่ายและจำหน่ายสินค้าให้ ไม่ว่าจะเป็น “คาราบาว กรุ๊ป” กับร้านถูกดีมีมาตรฐาน “บิ๊กซี” กับร้านนี้โดนใจ หรือแม้กระทั่ง “โลตัส” กับร้านนี้ขายดี (ซึ่งเป็นร้านในเครือซีพีเช่นเดียวกับบัดดี้มาร์ท)

คุณเอกพล คูสุวรรณ ผู้จัดการโครงการบัดดี้มาร์ท กล่าวว่า การเปิดตัวโมเดล“บัดดี้มาร์ท” ของทางแม็คโคร ไม่ใช่การเปิดศึกแย่งโชห่วยที่กำลังได้รับความสนใจในขณะนี้แต่อย่างใด หากแต่เป็นการสนับสนุน ร้านโชห่วยจะเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น ขณะที่สภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดีทำให้หลายคนเริ่มมองหาอาชีพที่สอง หรือสาม อย่างการเปิดร้านค้าชุมชนที่บ้านเป็นอาชีพเสริม โดยมีเป้าหมายพัฒนาร้านค้าชุมชนให้แข็งแกร่งด้วยการสนับสนุนเทคโนโลยี องค์ความรู้ และการค้าขาย

 

คุณเอกพล คูสุวรรณ

คุณเอกพล คูสุวรรณ ผู้จัดการโครงการบัดดี้มาร์ท

สู่โชห่วยยุคใหม่ คงอัตลักษณ์ชุมชน หนุนศักยภาพร้านค้า

“บัดดี้มาร์ท” วางคอนเซ็ปต์เป็นโมเดลธุรกิจร้านค้าปลีกที่พัฒนาให้เป็นสูตรสำเร็จ ภายใต้แนวคิด “ครบ คุ้ม เพื่อนคู่ใจชุมชน” ที่แม็คโครใช้ความเชี่ยวชาญที่คลุกคลีกับโชห่วยมากกว่า 33 ปีต่อยอดจาก “โครงการมิตรแท้โชห่วย” ด้วยการเข้าไปเข้าเหลือตั้งแต่การตกแต่งร้านค้า ลงสินค้าให้เต็มร้านในครั้งแรก อุปกรณ์ พร้อมเครื่องคิดเงินอัตโนมัติ (POS) และกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ ให้ร้านค้าโชห่วยสามารถปรับพร้อมช่วยกลบจุดเด่น และเสริมให้เจนเนอเรชั่นถัดไป เข้ามาสืบทอดกิจการ และมองเห็นศักยภาพการเติบโตของร้านค้าชุมชน

ทั้งหมดเกิดจากการศึกษาหลายโมเดล เพื่อแก้ Pain Point ของสินค้าที่ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งการขนส่ง การจัดวาง และการหมุนเวียนสินค้า โดยชูความเป็นเจ้าของร้านเองของผู้ประกอบการเข้ามาช่วยสร้างความน่าสนใจ เชื่อมโยงร้านค้ากับชุมชน

สำหรับการลงทุนเริ่มต้นที่ 4 แสนบาท แบ่งเป็นค่าปรับปรุงร้านค้า 2 แสนบาท ค่าประกัน 2 แสนบาท โดยบัดดี้มาร์ทจะลงทุนครั้งแรกให้มูลค่าสูงสุด 1.5 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับขนาดร้านค้า ประกอบไปด้วย 3 ขนาด ได้แก่ 1. ไซซ์ S พื้นที่น้อยกว่า 50 ตร.ม. 2.ไซซ์ M พื้นที่ 51-100 ตร.ม. และ 3. ไซซ์ L พื้นที่มากกว่า 100 ตร.ม. ภายใต้สัญญา 3 ปี 

สิ่งสำคัญที่บัดดี้มาร์ทให้ความสำคัญคือการจัดวางสินค้าดั้งเดิมของชุมชนให้มีอยู่ เพื่อคงอัตลักษณ์ของร้านค้าชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการจัดวางสินค้าเกษตร  ถ่าน ไม้กวาด หรืออื่นๆที่คนในชุมชนคุ้นเคยจะยังสามารถวางจำหน่ายได้

นอกจากสินค้าแบรนด์อุปโภค-บริโภคที่จำเป็นแล้ว บัดดี้มาร์ทยังมีสินค้าพืชผัก อาหารแช่แข็ง  Frozen ไว้ให้แก่ร้าน ทั้งผักแช่แข็ง ผลไม้แช่แช็ง เป็นต้น ราว 200-300 รายการ จากสินค้าที่มีให้เลือกกว่า 2,000-3,000 รายการ เพื่อตอบสนองความต้องการ และเสริมความเป็นศูนย์กลางชุมโดยวางเป้าหมายร้านค้าบัดดี้มาร์ท 1 ร้านตั้งอยู่ทุกๆ 1 ตำบล ซึ่งมองว่าเป็นระยะห่างที่เหมาะสม

อีกจุดเด่นที่สำคัญ คือ บัดดี้มาร์ท ได้วางกลยุทธ์ดึงดูดลูกค้าเข้าร้านเพิ่มขึ้น ให้สมกับที่เป็น “ร้านค้าคู่ใจชุมชน”ทั้ง การเสริมบริการพิเศษอื่นๆ อาทิ ตู้เติมเงิน ตู้กาแฟอัตโนมัติ ตู้ซักผ้าอัตโนมัติ  และในอนาคตยังวางแผนเพิ่มสินค้าชุมชนภายในร้าน เพื่อช่วยขับเคลื่อนธุรกิจภายในชุมชนสร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจการค้าของประเทศ โดยหลังจากปรับปรุงแล้วบัดดี้มาร์ทแต่ละไซซ์ขายได้หมื่นบาทขึ้นต่อเดือน

 

ยึดทำเลหลัก ภาคกลาง-อีสาน พื้นที่กระจายตัวร้านค้าชุมชน

ทั้งนี้ปัจจุบัน (ตุลาคม 2565) มีการขยายสาขาร้านบัดดี้มาร์ทไปแล้วทั้งสิ้น 25 สาขา (ตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา) ทำเลหลักคือการขยายในเขตพื้นที่ภาคกลาง และภาคอีสาน โดยเฉพาะในภาคอีสานที่ “บัดดี้มาร์ท” จะให้ความสำคัญในการขยายเข้าไปเป็นหลัก เพราะจากฐานข้อมูลสมาชิกโชห่วยของแม็คโคร ปัจจุบันที่มีอยู่กว่า 5 แสนราย พบว่า กว่า 1 แสนรายเป็นสมาชิกในเขตภาคอีสาน  ขณะเดียวกันด้วยลักษณะชุนชนในพื้นที่ของภาคอีสาน ที่มีขนาดกว้าง มีเขตชนบทอยู่จำนวนมาก มีร้านโชห่วยมากที่สุด อีกทั้งยังมีศักยภาพทางการเติบโตสูงสุด 

Buddy Mart

 

โดยวางเป้าขยายเพื่ม 300 สาขาในปี 2565 นี้ และขณะนี้อยู่ระหว่างเซ็นสัญญากว่า 200 ราย โดยเป็นร้านโชห่วยเดิมทั้งหมด และตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างปรับปรุง รวมถึงเซ็นสัญญาประมาณ 200 ร้านค้า และที่ติดต่อเข้ามาอยู่ระหว่างการพิจารณาอีกกว่า 1,000 ร้านค้า ก่อนจะเพิ่มเป็น 2,000 สาขาในสิ้นปี 2566  ซึ่งหลังจากปรับแล้วยอดขายขึ้นมา 40% โดยคาดการณ์ว่าในระยะยาว 5 ปี นับจากนี้ จะสามารถขยายร้านบัดดี้มาร์ท ได้ 20,000 ร้านค้า

 

“ช่วง 1-2 ปีแรกเราอาจจะใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานในการขยายสาขา เพราะต้องปูพื้นฐาน สร้างความเข้าใจและเน็ตเวิร์กให้แข็งแกร่ง แต่หลังจากนั้น เราจะสามารถเพิ่มสปีดในการขยายสาขาได้เร็วขึ้น โดยประเมินว่าจะขยายได้ครบ 20,000 แห่งเพื่อให้ครอบคลุมทั่วไทย  ซึ่งเชื่อว่าในช่วง 5 ปีนับจากนี้จะสามารถทำได้” คุณเอกพล คูสุวรรณ กล่าวถึงเป้าหมายการปูพรมสาขาบัดดี้มาร์ท

 

เพิ่มเบเนฟิต ร้านค้าเรียนรู้ Know How “ขายดีแต่ต้องไม่ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง” แก้กำไรหาย

อย่างไรก็ตามอีกหนึ่ง Pain Point สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อระบบร้านโชห่วยชุมชน ให้สภาพคล่องทางการเงินสะดุดอีกส่วนหนึ่งคือ “การเชื่อสินค้า” หรือ “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง”  

โดยจากการศึกษาอินไซต์ของเจ้าของร้าน พบว่า ทางร้านไม่อยากให้ลูกค้าเชื่อสินค้าไว้ก่อน แต่ไม่สามารถปฏิเสธได้ เพราะทุกคนล้วนเป็นคนใกล้ชิดในชุมชน “บัดดี้มาร์ท” นับเป็นอีกหนึ่งอุปสรรค ที่ทำให้ร้านค้าต่อยอดสภาพคล่องได้ยาก จุดนี้ทำให้ต้องแก้ Pain Point โดยการ มีทีมงานเข้าไปช่วยในการบริหารจัดการและช่วยจัดระบบการขายมากขึ้น โดยมีเครื่องคิดเงินอัตโนมัติ ​(POS) เข้ามาให้ร้านค้าเห็นรายได้ กำไร บัญชีชัดเจน ขณะเดียวยังทำให้ลูกค้าลดการ “เชื่อสินค้า” เนื่องจากระบบร้านที่ค่อนข้างชัดเจน ทำให้ลูกค้าเกิดความเกรงใจมากขึ้น

 

Buddy Mart in Store

 

นอกจากนี้เพื่อเป็นการสร้างสภาพคล่องภายในร้าน ร้านไม่ต้องสต็อกสินค้า แก้ Pain Point เดิม โดยออกแบบให้เจ้าของร้านสั่งสินค้าได้บ่อยๆ และมีความถี่ในการส่งสินค้าเข้าร้าน 4 ครั้งต่ออาทิตย์ เน้นให้สินค้ามีร้านค้าครบ ผ่านการจัดส่งจากคลังสินค้าทั้ง 4 แห่ง เพื่อเป็นการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเก็บสต๊อกสินค้าจำนวนมาก นอกจากนี้เจ้าของร้านยังสามารถปรับเปลี่ยนออเดอร์ให้เหมาะกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้ ส่งผลให้ผู้ที่เปิดร้านกับบัดดี้มาร์ทมียอดขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้น  40%

ขณะเดียวกันเมื่อพูดถึงร้านค้าโชห่วยชุมชน อีกหนึ่งประเด็นหลักที่น่าสนใจคือการเติมสินค้าภายร้านให้มีความแตกต่าง และตอบโจทย์อินไซต์ลูกค้าในชุมชน เลือกสินค้าให้เหมาะกับลูกค้าแต่ละท้องถิ่นโดยรอบที่แตกต่างกันไป โดยเรื่องของแบรนด์สินค้าถือว่ามีความสำคัญในการดึงดูด  จึงจับมือกับพันธมิตรยักษ์ใหญ่ ทั้ง ไทยน้ำทิพย์ ยูนิลีเวอร์พีแอนด์จี เนสท์เล่ เข้ามาหมุนเวียนสินค้ากว่า 20,000 รายการ รองรับความต้องการของลูกค้า

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งพันธมิตรอย่างธนาคารกรุงเทพ ปล่อยสินเชื่อโดยสามารถกู้ได้สูงสุด 100% ของมูลค่าการลงทุน มีระยะเวลาการผ่อนชำระสูงสุดนาน 5 ปี พร้อมสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษสำหรับผู้ประกอบการ

ทั้งหมดเพื่อแก้ Pain point หลักคือโชห่วยไทยมีปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน นโยบายของธนาคารให้ความใส่ใจในส่วนของเอสเอ็มอีขนาดเล็กที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ เข้ามาช่วยให้โชห่วยหรือคู่ค้าสามารถเริ่มต้นธุรกิจได้ทันที ให้เปิดร้านได้ทันที

 

อ่านเพิ่มเติม

รู้จัก “บัดดี้มาร์ท” โมเดลโชห่วยน้องใหม่ ที่ Makro ใช้สยายปีกเจาะชุมชน งบลงทุนเริ่มต้น 4 แสนบาท


แชร์ :

You may also like