เดินทางมาถึงปีที่ 18 แล้วสำหรับการ “ประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ” ของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เพื่อเชิดชูเกียรติแก่นวัตกรและองค์กรไทยที่สร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรรมที่มีความโดดเด่น ซึ่งหากเปรียบเป็นคน ก็เป็นคนที่กำลังเข้าสู่วัยหนุ่ม แต่หากเป็นการประกวดรางวัลนวัตกรรม ต้องถือว่าเป็นเวทีที่บ่มเพาะไอเดียดีๆ ออกมาสู่ตลาดมากมาย ยืนยันได้จากจำนวนนวัตกรไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังเกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเป็นอาวุธให้ธุรกิจสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันมากยิ่งขึ้นด้วย
สำหรับในปีนี้ แม้ธุรกิจต้องเจอกับสถานการณ์โควิด-19 และความท้าทายรอบด้าน แต่การประกวดรางวัลนวัตกรรม มีคนสนใจส่งผลงานเข้าร่วมประกวดถึง 821 ผลงาน และมีผลงานที่ได้รับรางวัลรวมทั้งสิ้น 44 ผลงาน โดยผลงานที่ได้รับรางวัลนั้น มีความโดดเด่นในหลายมิติและสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง เพื่อให้เห็นภาพของนวัตกรรมเหล่านี้ชัดขึ้น Brand Buffet พามาเจาะลึกเรื่องราวการปั้นนวัตกรรมตลอด 18 ปีที่ผ่านมาของ NIA พร้อมกับตัวอย่างนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จในปี 2565 ที่สามารถสร้างการดิสรัปชั่นให้กับตลาดในวงการต่างๆ
“นวัตกรรม” อาวุธสร้างความอยู่รอดธุรกิจในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว
คำว่า “นวัตกรรม” หรือ “Innovation” เป็นสิ่งที่มีมานานแล้วในประเทศไทย เพียงแต่ในอดีตนวัตกรรมส่วนใหญ่ยังเป็นลักษณะงานวิจัย ไม่ได้นำออกมาใช้จริงมากนัก กระทั่ง 10 ปีที่ผ่านมาเริ่มมีการนำงานวิจัยมาต่อยอดใช้จริงในธุรกิจ จนเกิดสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ขึ้นมากมาย และหลายนวัตกรรมช่วยให้ชีวิตมนุษย์สะดวกสบายมากขึ้น แถมยังสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจได้ จึงทำให้เริ่มมีการพูดถึงนวัตกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ยิ่งทำให้นวัตกรรมกลายเป็นอาวุธสำคัญสำหรับธุรกิจมากขึ้น
“โลกทุกวันนี้กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็ว และรุนแรง ส่งผลให้แนวทางการดำเนินธุรกิจแบบเดิมๆ เริ่มใช้ไม่ได้ผล โดยหนึ่งในกุญแจที่จะช่วยให้ธุรกิจรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ทันท่วงที และสามารถแข่งขันได้ในตลาดก็คือ นวัตกรรม”
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) บอกถึงความสำคัญของนวัตกรรม และเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดงาน “วันนวัตกรรมแห่งชาติ” และ “การประกวดรางวัลนวัตกรรม” มาอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระอัจฉริยภาพด้านนวัตกรรมจากโครงการแกล้งดิน ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร (ในหลวง รัชกาลที่ 9) ในฐานะพระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย รวมทั้งเป็นแรงบันดาลใหักับบุคคลและองค์กรต่างๆ ได้คิดสร้างสรรค์และขับเคลื่อนธุรกิจด้วยนวัตกรรมไปด้วยกัน
เช่นเดียวกับ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า นวัตกรรมไม่ได้มีไว้เพื่อแค่สร้างรายได้ แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ทุกคนอยู่รอด โดยเฉพาะในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและทรัพยากรน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งหากองค์กรคิดค้นนวัตกรรมได้ก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง เท่ากับองค์กรนั้นมีอาวุธต่อสู้ในสงคราม โอกาสชนะมีสูง แต่ถ้าองค์กรคิดค้นนวัตกรรมระหว่างที่เกิดสถานการณ์ต่างๆ จะแค่เสมอตัว ส่วนองค์กรที่ไม่สามารถสร้างนวัตกรรมให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง จะส่งผลให้ธุรกิจเกิด Disruption ขึ้น
“เมื่อพูดถึงนวัตกรรม หลายคนจะนึกถึงการค้นคว้า การทดลอง ไปจนถึงการประดิษฐ์สิ่งใหม่ขึ้นมาขาย และสร้างรายได้ ซึ่งเงินอย่างเดียวคงไม่พอที่จะช่วยให้ทุกคนอยู่รอดท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของโลกยุคปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงทรงรับสั่งเสมอว่า ทุกครั้งที่คิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นมา ให้นึกถึงประโยชน์ของสังคมและประเทศชาติว่าจะได้รับประโยชน์อะไรไปพร้อมกัน เพราะจะช่วยให้นวัตกรรมเหล่านั้นเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนแท้จริง” ดร.สุเมธ ย้ำถึงศาสตร์พระราชากับการพัฒนานวัตกรรม
มากกว่ารางวัล คือ ผลงานนวัตกรรมที่หลากหลายและใช้ได้จริง
สำหรับการจัดการประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติตลอด 18 ปีที่ผ่านมา ดร.พันธุ์อาจ กล่าวว่า นวัตกรรมคนไทยมีการพัฒนาไปไกลกว่าที่คิด สะท้อนได้จากผลงานนวัตกรรมที่ส่งเข้าประกวดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้มีเฉพาะนวัตกรรมที่สอดรับกับสถานการณ์วิกฤตเท่านั้น แต่ละนวัตกรรมยังมีความโดดเด่นและน่าสนใจในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น นวัตกรรมเพื่อสุขภาพ เพื่อโลก และสิ่งแวดล้อม ซึ่งช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้คนไทยได้รับรู้ ทั้งยังกระตุ้นให้เกิดการคิดค้น พัฒนา และต่อยอดนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาธุรกิจให้เติบโต พร้อมทั้งขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวสู่ประเทศแห่งนวัตกรรมได้อย่างแท้จริง
แม้ว่าผลงานนวัตกรรมที่เข้ามาประกวดตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จะเป็นตัวสะท้อนถึงความสำเร็จ แต่ ดร.พันธุ์อาจ ก็คาดหวังจะเห็นนวัตกรรมที่เข้ามาประกวดเป็นนวัตกรรมของไทยที่สามารถออกไปโลดแล่นในเวทีระดับโลกได้มากขึ้น เพราะนวัตกรรมส่วนใหญ่ในปัจจุบันนั้นยังเป็นการทำสินค้าและบริการออกมาตอบโจทย์คนในประเทศเท่านั้น
ส่งผลให้การจัดประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติในแต่ละปีมีความปรับรูปแบบแตกต่างไปจากเดิม เพื่อให้สอดรับกับยุคสมัยและโลกที่เปลี่ยนแปลงไป จากช่วงแรกที่เน้นกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ต่อมาก็เริ่มขยายด้านการประกวดให้ครอบคลุมทุกมิตินวัตกรรมมากขึ้น
ในขณะที่เกณฑ์การตัดสินนั้น มีกระบวนการพิจารณาที่เข้มข้นขึ้นจากคณะทำงานหลายภาคส่วน ซึ่งจากการเฟ้นหาผลงานนวัตกรรมกันอย่างเข้มข้นตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา ในที่สุดก็ได้สุดยอดนวัตกรรมประจำปี 2565 ประกอบด้วย 2 รางวัลได้แก่ รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ จัดโดย NIA และรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย จัดโดย NIA ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
1) รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านเศรษฐกิจ
- รางวัลชนะเลิศประเภทวิสาหกิจขนาดกลาง ได้แก่ ผลงาน บริการคลังสินค้าออนไลน์เพื่อพ่อค้าแม่ค้า โดย บริษัท อี-เอ็มพาวเวอร์เมนท์ จำกัด
- รางวัลชนะเลิศประเภทวิสาหกิจขนาดย่อมและวิสาหกิจรายย่อย ได้แก่ ผลงาน ทรายแมวมันสำปะหลัง โดย บริษัท เวลตี้ ม็อกกี้ อินโนเวชั่น จำกัด
2) รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
- รางวัลชนะเลิศประเภทหน่วยงานภาคเอกชน ได้แก่ ผลงาน ถุงมือพาร์กินสัน โดย บริษัท ฮิวแมนมูฟเมนท์ จํากัด
- รางวัลชนะเลิศประเภทหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ ผลงาน เทคโนโลยีการผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อโรค โดย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- รางวัลชนะเลิศประเภทองค์กรเพื่อสังคมและชุมชน ได้แก่ ผลงาน นอนนอน โดย บริษัท เซอร์คิวลาร์ริตี จำกัด
3) รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ
- รางวัลชนะเลิศประเภทการออกแบบผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ผลงาน เต่าบินโรโบติกบาริสต้า โดย บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
- รางวัลชนะเลิศประเภทการออกแบบบริการ ได้แก่ ผลงาน ระบบโทรเวชกรรมวชิรพยาบาล โดยแอพพลิเคชั่นวชิระแอทโฮม โดย มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
4) รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านสื่อและการสื่อสาร
- รางวัลชนะเลิศประเภทผลงานนวัตกรรมสื่อและการสื่อสาร ได้แก่ ผลงาน โครงการพัฒนาอาสาสมัครเฝ้าระวังภัยไซเบอร์ โดย สมาคมเครือข่ายเพื่อการเรียนรู้เท่าทันดิจิทัลเทคโนโลยี
- รางวัลประเภทผู้สื่อสารนวัตกรรม ระดับบุคคลธรรมดา ได้แก่ คุณฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์
- รางวัลประเภทผู้สื่อสารนวัตกรรม ระดับนิติบุคคล ได้แก่ บริษัท คลาวด์แอนด์กราวนด์ จำกัด และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
5) รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านองค์กรนวัตกรรมดีเด่น
- รางวัลดีเด่นประเภทองค์กรภาคเอกชนขนาดใหญ่ ได้แก่ บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
- รางวัลดีเด่นประเภทองค์กรภาคเอกชนขนาดกลาง ได้แก่ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด
6) รางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย
- รางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษา และ ปวช. ได้แก่ ผลงาน O-RA ผู้ช่วยป้องกันและฟื้นฟูข้อเสื่อม โดย โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย
ดันไทยสู่ประเทศนวัตกรรม พร้อมสร้างนวัตกรรมไทยสู่สายตาชาวโลก
ดร.พันธุ์อาจ ยอมรับว่า ถึงวันนี้องค์กรไทยจะเริ่มตื่นตัวและพัฒนานวัตกรรมกันอย่างเข้มข้น ทั้ง Social Enterprise สตาร์ทอัพ ไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ จนเกิดการขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่ๆ ออกสู่ตลาดมากมาย ทั้งยังส่งผลให้ดัชนีนวัตกรรมของไทยดีขึ้น โดยปัจจุบันประเทศไทยอยู่อันดับที่ 43 จาก 132 ประเทศทั่วโลก ซึ่งขยับขึ้นจาก 5 ปีที่แล้ว ที่ไทยอยู่อันดับที่ 51 แต่ NIA ยังไม่หยุดนิ่ง โดยตั้งเป้าจะนำประเทศไทยก้าวสู่ Top 30 ของดัชนีนวัตกรรมโลก ภายในปี 2573 หรืออีก 8 ปีข้างหน้า
“การจะก้าวไปถึงเป้าหมายดังกล่าว จำเป็นต้องเสริมสร้างศักยภาพ และเพิ่มจำนวนธุรกิจฐานนวัตกรรมเพื่อปรับโครงสร้างทางธุรกิจของประเทศไปสู่ประเทศที่แข่งขันด้วยเทคโนโลยี และองค์ความรู้ รวมถึงเร่งส่งเสริมและสนับสนุนพลังของความคิดสร้างสรรค์ และทุนทางวัฒนธรรม หรือ Soft Power ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทรัพยากรที่นำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมที่หลากหลาย เพื่อผลักดันการสร้างอัตลักษณ์และแบรนด์นวัตกรรมไทยไปสู่สากล”
ดร.พันธุ์อาจ ย้ำแนวทางที่จะต้องขับเคลื่อนนับจากนี้ และบอกว่า ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว “เงินทุน” ไม่ใช่ปัญหาของการพัฒนานวัตกรรรม แต่ความท้าทายของนวัตกรและองค์กรไทยในยุคนี้ อยู่ที่การต่อยอดไอเดียไปสู่ Prototype ให้นักลงทุนได้เห็นนวัตกรรมจริง และจำเป็นต้องมี Business Model ที่ดีไปพร้อมกันด้วย เพราะโมเดลธุรกิจที่ดีจะช่วยให้นวัตกรรมเกิดการต่อยอดทางธุรกิจได้อย่างยั่งยืน
“แน่นอนการพัฒนานวัตกรรมมีความเสี่ยง 99% มักล้มเหลว และ 1% สำเร็จ แต่อย่ากลัวความล้มเหลว เพราะเป็นเส้นทางที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของนวัตกร”
เช่นเดียวกับ รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ประธานกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ มองว่า การพัฒนานวัตกรรมบางอย่างไม่จำต้องใช้เงิน แต่ใช้ไอเดีย และความคิด ดังจะเห็นได้จากกรณี Google ที่เริ่มธุรกิจจากนักศึกษา 2 คน จากการทำโปรเจควิจัย จนธุรกิจโด่งดังไปทั่วโลก นอกจากนี้ องค์กรไทยยังไม่ควรยึดติดกับการพัฒนานวัตกรรมด้านใดด้านหนึ่ง เพราะทุกอุตสาหกรรมสามารถคิดค้นและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ได้หมด นวัตกรรมจึงต้องแทรกซึมอยู่ในความคิดและการทำงาน และที่สำคัญ ต้องไม่หยุดคิดในการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา เพราะนวัตกรรมไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อไหร่ที่หยุดคิด คนอื่นย่อมแซงหน้าได้ทันที
“นอนนอน” แพลตฟอร์มให้เช่าที่นอนฝีมือคนไทย
“นอนนอน” เป็นหนึ่งในผลงานที่เป็นต้นแบบนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จในการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ จนสามารถตอบโจทย์ทั้งการลดปริมาณขยะ และเข้าถึงความต้องการของธุรกิจที่พักที่ต้องการที่นอนคุณภาพสูง สามารถใช้งานได้ยาวนาน โดยไม่ต้องลงทุนเป็นเงินก้อนใหญ่
โดยผลงานชิ้นนี้จัดทำขึ้นโดย บริษัท เซอร์คิวลาร์ริตี จำกัด ซึ่งจุดเริ่มต้นมาจากการที่คุณนพดล เตชะพันธุ์งาม เห็นปัญหาของลูกค้าและสิ่งแวดล้อม โดยลูกค้าซึ่งเป็นธุรกิจให้บริการที่พัก ส่วนใหญ่จะมีงบประมาณจำกัด ทำให้ต้องซื้อที่นอนคุณภาพด้อยลงมา ทำให้นอนไม่สบายและใช้งานได้ไม่ยาวนาน ขณะเดียวกัน ลูกค้าส่วนใหญ่มักจะนำที่นอนที่ไม่ใช้งานแล้ว มาฝากให้บริษัทช่วยจัดการ ซึ่งการจัดการที่นอนเหล่านี้มีค่าใช้สูงมาก จึงทำให้เขาพยายามคิดหาวิธี จนเกิดเป็นแพลตฟอร์ม “นอนนอน”
โดยเป็นแพลตฟอร์มให้ “เช่า” ที่นอนใหม่คุณภาพดีจากหลายแบรนด์ด้วยค่าเช่าที่ธุรกิจให้บริการที่พักสามาถเข้าถึงได้จริง แถมยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะนอนนอนจะรับที่นอนเก่ากลับมาแยกชิ้นส่วนและนำกลับไปรีไซเคิลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
จากมันสำปะหลังสู่ทรายแมว นวัตกรรมเพื่อคนรักแมว และสร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรไทย
ผลงานทรายแมวมันสำปะหลัง เป็นอีกหนึ่งผลงานต้นแบบนวัตกรรมไทยที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะสามารถนำเอาพืชผลทางการเกษตรของไทยมาพัฒนาและสร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรผู้ปลูกได้ โดยจุดเริ่มต้นของแนวคิดนี้เกิดมาจาก ดร.ลัญจกร อมรกิจบำรุง เป็นคนชอบเลี้ยงแมวและใช้ทรายแมวมานาน กระทั่งวันหนึ่งสังเกตว่าทรายแมวในท้องตลาดส่วนใหญ่จะนำเข้าจากต่างประเทศเกือบ 100% จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดความคิดพัฒนาทรายแมวขึ้น
จากนั้นจึงเริ่มศึกษาและมองหาวัตถุดิบที่เป็นผลิตผลทางการเกษตรของไทยว่ามีอะไรสามารถนำมาทำเป็นทรายแมวได้ จนมาลงตัวที่มันสำปะหลัง และพัฒนามาเป็นแบรนด์ “ไฮด์แดนด์ซีค” เนื่องจากมันสำปะหลังให้ความเหนียวเมื่อโดนน้ำ ทำให้ดูดซับของเหลวและกลิ่นได้ดี ทั้งยังจับตัวเป็นก้อนง่ายเมื่อแมวใช้งานเสร็จ และที่สำคัญสามารถกำจัดได้สะดวกโดยทิ้งลงชักโครกได้เลยเพราะมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบธรรมชาติและสามารถละลายในน้ำได้เร็ว
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของนวัตกรรมตัวอย่างที่ได้รับรางวัลนวัตกรรมในปีนี้ ที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้องค์กรหันมาขับเคลื่อนธุรกิจด้วยนวัตกรรมไปด้วยกัน