HomeInsightปี 2565 ตลาด “โปรตีนทางเลือก” เจอกับแรงกดดันรอบด้าน ท่ามกลางอัตราเติบโตแบบชะลอตัว

ปี 2565 ตลาด “โปรตีนทางเลือก” เจอกับแรงกดดันรอบด้าน ท่ามกลางอัตราเติบโตแบบชะลอตัว

แชร์ :

แม้ว่าธุรกิจอาหารโดยรวมในปีที่ผ่านมาจะเติบโตไม่มาก เพราะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้หลายร้านต้องปิดกิจการจากมาตรการล็อกดาวน์ แต่ธุรกิจที่น่าจับตามอง ปฏิเสธไม่ได้ว่า หนึ่งในนั้นคือ อาหารในกลุ่มโปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมอาหารใหม่ โดยปีที่ผ่านมาเติบโตอย่างโดดเด่น เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคหันมาตื่นตัวกับการบริโภคอาหารจากพืชมากขึ้น ส่งผลให้มีแบรนด์ต่างๆ ทั้งเจ้าใหญ่และเจ้าเล็ก ทยอยเข้าสู่สนามนี้กันอย่างคึกคัก

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

มาในปี 2565 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เชื่อว่า ตลาดโปรตีนทางเลือกยังเติบโตได้ต่อเนื่อง แต่จะเป็นการโตแบบ “ชะลอตัว” ลง โดยคาดว่า ตลาดโปรตีนทางเลือกในไทยจะมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 4,100 ล้านบาท หรือขยายตัว 5.1% จากที่คาดจะโตได้ราว 7.0% ไปหาคำตอบกันว่า เพราะเหตุใดตลาดโปรตีนทางเลือกจึงขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง แล้วผู้ประกอบการในตลาดต้องรับมือกันอย่างไร?

ผู้บริโภครักสุขภาพมากขึ้น แต่ทำไมโปรตีนทางเลือกถึงโตแบบ “ชะลอ” ตัว

ต้องบอกว่า กระแสรักสุขภาพ รวมถึงการตื่นตัวในเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนทางธรรมชาติ เป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ผู้บริโภคกินเนื้อสัตว์น้อยลง และหันมาบริโภคมังสวิรัติและวีแกนกันมากขึ้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาตลาดโปรตีนทางเลือกจึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปี 2564 โดยมีมูลค่า 3,900 ล้านบาท แต่ในภาวะเศรษฐกิจซบเซา และค่าครองชีพสูงขึ้น กอปรกับราคาสินค้าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับสินค้าอาหารกลุ่มโปรตีนทั่วไป จึงมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ และกลายเป็นโจทย์สำคัญที่ผู้ประกอบการต้องเจอในปีนี้

ผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ภาพรวมการบริโภคโปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมอาหารใหม่ปีนี้อาจเติบโตแบบชะลอตัว โดยคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 4,100 ล้านบาท ขยายตัว 5.1% จากปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็นสัดส่วน 11.2% ของตลาดโปรตีนทางเลือกทั้งหมดในไทย (Alternative Proteins) ที่มีมูลค่า 36,500 ล้านบาท เพราะผู้บริโภคคุมค่าใช้จ่ายรัดกุมมากขึ้น โดยเลือกซื้ออาหารทั่วไปที่ราคาถูกกว่าและหาซื้อได้ง่ายกว่า

แต่ในทางกลับกัน หากไม่มีผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพ ในปี 2565 ตลาดโปรตีนทางเลือกอาจเติบโตได้ราว 7.0% จากปีก่อนโดยปัจจุบันโปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมอาหารใหม่ในไทย 90% ของมูลค่าตลาดรวมจะอยู่ในกลุ่มอาหาร และอีก 10% จะอยู่ในกลุ่มเครื่องดื่ม

นอกจากประเด็นเรื่องกำลังซื้อแล้ว ตลาดโปรตีนทางเลือกยังมีโจทย์ท้าทายรอบด้านรออยู่เช่นกัน ซึ่งน่าจะสร้างแรงกดดันอย่างมากให้กับผู้ประกอบการในปัจจุบัน โดยแรงกดดันที่ผู้ประกอบการต้องเจอคือ

1.การแข่งขันที่เริ่มรุนแรงจากจำนวนผู้เล่นที่เพิ่มขึ้น จากตัวเลขการเติบโตอย่างโดดเด่นของตลาดโปรตีนทางเลือกในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จึงทำให้มีผู้เล่นเข้ามาทำตลาดกันอย่างจริงจังมากขึ้น และทำให้การแข่งขันรุนแรง ซึ่งอาจจะกระทบต่อผู้ประกอบการรายเล็กมากกว่ารายใหญ่ เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหญ่จะมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจได้ค่อนข้างดี โดยเฉพาะระบบการผลิตที่ครบวงจร การผลิตที่ประหยัดต่อขนาด และมีช่องทางจัดจำหน่ายของตนเองครอบคลุมทั่วประเทศ จึงทำราคาสินค้าได้ดี แข่งขันได้ ในขณะที่ผู้ประกอบการรายเล็กมักเผชิญกับข้อจำกัดดังกล่าว ทำให้มีต้นทุนการผลิตและค่าการตลาด อาทิ ค่า GP หรือค่าส่วนแบ่งการขาย เป็นต้น ที่สูงกว่าและเข้าถึงผู้บริโภคได้ยากกว่า

ดังนั้น จึงคาดว่าในระยะต่อไป การขับเคลื่อนของธุรกิจจะมาจากผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นหลัก ขณะที่การปรับตัวสำหรับผู้ประกอบการรายเล็ก อาจอยู่ที่การรวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง หรือการพิจารณาร่วมพัฒนาธุรกิจกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจและผลักดันการเติบโตของตลาดนี้

2.ต้นทุนการผลิตที่สูงข้ึน ส่งผลให้เกิดแรงกดดันต่อกำไรของธุรกิจ

ต้นทุนของธุรกิจที่สูงขึ้นมาจากวัตถุดิบหลักในการผลิตโปรตีนทางเลือกของไทย ซึ่งส่วนใหญ่ยังมาจากถั่วเหลือง และไทยยังพึ่งพาการนำเข้าถั่วเหลืองในสัดส่วนที่สูง ดังนั้น ภายใต้สถานการณ์ราคาธัญพืชโลก ราคาพลังงานและค่าขนส่งที่ยังมีแนวโน้มขยับขึ้นได้อีกในช่วงที่เหลือของปี 2565 จึงอาจทำให้ธุรกิจมีภาระต้นทุนที่ขยับสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม การจะปรับขึ้นราคาสินค้าอาจเป็นเรื่องที่ทำได้ยากในภาวะเศรษฐกิจช่วงนี้ ส่งผลให้ในระยะข้างหน้า การพัฒนาวัตถุดิบทางเลือกน่าจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เช่น ถั่วเขียว เห็ดแครง ขนุนอ่อน และจิ้งหรีด เป็นต้น ซึ่งมีโปรตีนสูงใกล้เคียงกัน โดยสิ่งสำคัญในการเลือกใช้วัตถุดิบใดๆ ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึง “ต้นน้ำ” หรือ “ระบบการผลิต” ที่ต้องมีความมั่นคงเพียงพอ รวมถึงคำนึงถึง “วัตถุดิบท้องถิ่น” ที่เป็นอัตลักษณ์เพื่อสร้างความแตกต่างควบคู่กันไปด้วย

แนะ 2 ทางออกรับมือตลาด

เมื่อต้องเจอโจทย์ท้าทายรอบด้าน ทั้งกำลังซื้อที่ลดลงแล้ว และการแข่งขันที่สูงจากผู้ประกอบการที่เข้ามาในตลาด รวมถึงต้นทุนที่สูงขึ้น ผู้ประกอบการจึงต้องรับมือให้พร้อมกับสภาพตลาดที่เปลี่ยนไป โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้แนะแนวทางการปรับตัวได้อย่างน่าสนใจ ด้วยการมองหาตลาด “ส่งออก” เพื่อขยายตลาดโปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมอาหารใหม่

เพราะการตอบรับในตัวสินค้าของผู้บริโภคในต่างประเทศมีค่อนข้างสูงกว่าตลาดในประเทศ สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มโปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมอาหารใหม่ที่สามารถเติบโตได้ดีในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 ทั้งในส่วนของโปรตีนทางเลือกจากพืช โดยมีมูลค่าการส่งออกราว 628.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 13.5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยตลาดสำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และอาเซียน เป็นต้น และโปรตีนจากแมลง มีมูลค่าการส่งออกราว 129.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 25.0% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ตลาดส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป อาทิ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี เบลเยียม เป็นต้น

นอกจากการขยายไปยังตลาดต่างประเทศแล้ว ผู้ประกอบการยังต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้แตกต่าง เพื่อเอาชนะคู่แข่งในต่างประเทศ โดยอาจจะชูจุดแข็งความเป็นไทย เช่น เมนูอาหารไทย อาหารทะเลจากพืช เป็นต้น ตลอดจนกระบวนการผลิตที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และการสร้างเรื่องราวที่จูงใจผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาพรวมตลาดโปรตีนทางเลือกในไทยปีนี้อาจจะเติบโตแบบชะลอตัว แต่เมื่อดูมูลค่าตลาดของอาหารกลุ่มนี้ที่ยังมีสัดส่วนน้อยเพียง 0.6% เมื่อเทียบกับตลาดอาหารในกลุ่มโปรตีนทั้งหมดในไทยที่คาดว่าในปี 2565 จะมีมูลค่ากว่า 7.16 แสนล้านบาท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยก็เชื่อว่า ช่องว่างทางการตลาดจึงยังมีอีกมากสำหรับการเติบโต เกมนี้อยู่ที่ว่าแบรนด์ไหนจะสามารถพัฒนารสชาติและราคาได้โดนใจผู้บริโภคได้มากกว่ากัน

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand


แชร์ :

You may also like