แพลตฟอร์มด้านแฟชั่น “โพเมโล” (Pomelo) ประกาศแผนกลยุทธ์ปี 2022 ตั้งเป้าเป็น Super App ด้านแฟชั่น เล็งขยายธุรกิจ omnichannel ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งการเพิ่มร้านสาขาเท่าตัว จาก 27 แห่งเป็น 54 แห่ง ภายใน 2 ปีข้างหน้า รวมถึงขยายบริการด้านการตลาดดิจิทัลให้กับคู่ค้าบนแพลตฟอร์ม และการลงทุนด้านคอนเทนต์ – มาร์เก็ตติ้งสูงถึง 1,000 ล้านบาท ส่วนแผนการเข้าตลาด (IPO) นั้น ทางผู้บริหารบอกว่า เป็นหนึ่งในออปชันที่พิจารณาอยู่ แต่ยังไม่สามารถให้ความเห็นได้ในขณะนี้
เรียกว่าเป็นแพลตฟอร์มที่ขอสร้างการเติบโตในปี 2022 อย่างเต็มตัว สำหรับ Pomelo โดยส่วนหนึ่งของการบุกตลาดครั้งนี้ได้อ้างอิงจากรายงานของ e-Conomy ของกูเกิล เทมาเส็ก และ บริษัท เบน แอนด์ คอมพานี เกี่ยวกับมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่คาดว่าจะแตะ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2030 โดยหมวดเสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องประดับมีศักยภาพในการเติบโตสูงสุดที่ 3.1 เท่า เมื่อผนวกกับจำนวนผู้ซื้อในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สูงถึง 350 ล้านคน การเร่งเครื่องของแพลตฟอร์มจึงเกิดขึ้น
Pomelo เปิดตัวในไทยตั้งแต่ 2013
สำหรับแพลตฟอร์ม Pomelo เลือกเปิดตัวในประเทศไทยเป็นแห่งแรกเมื่อปี 2013 โดยในยุคนั้น Pomelo วางตัวเองในฐานะผู้ให้บริการแบบ Direct to consumers (DTC) หรือก็คือผู้ให้บริการขายปลีกสินค้าผ่านช่องทางของตนเอง และได้ขยายบริการออกสู่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่าง มาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย ฯลฯ ในเวลาต่อมา
จากนั้นในปี 2018 บริษัทได้เปิดร้านสาขาแห่งแรกเพื่อสร้างช่องทางออฟไลน์ โดยมองว่าจะทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ในการเลือกซื้อเสื้อผ้าที่ดีขึ้น (สามารถลองสวมใส่ได้) และได้สินค้าที่ถูกใจมากขึ้น และในปี 2019 Pomelo ได้เพิ่มแบรนด์อื่น ๆ เข้ามาในแพลตฟอร์มเป็นครั้งแรก ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ มีแบรนด์ที่ขายของบน Pomelo มากกว่า 500 แบรนด์แล้ว
ตั้งเป้าเป็นแอป No.1 ด้านแฟชั่นใน SEA
สำหรับเป้าหมายของ Pomelo ในปี 2022 นั้น ทางคุณเดวิด โจว ประธานกรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Pomelo แฟชั่น กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าจะ
- เพิ่มแบรนด์ที่จำหน่ายสินค้าบนแพลตฟอร์มของ Pomelo จาก 500 แบรนด์เป็น 2,000 แบรนด์
- เพิ่มร้านสาขาจาก 27 แห่ง เป็น 54 แห่งทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- เพิ่มตัวเลขมูลค่าธุรกรรมรวมในตลาด (GMV) ให้เติบโตขึ้น 260%
- ลงทุนด้านคอนเทนต์และการตลาด 1,000 ล้านบาท
- เปิดตัว Prism โซลูชันสำหรับช่วยคู่ค้าในการขยายธุรกิจบนแพลตฟอร์ม โดยจะมีบริการต่าง ๆ เช่น บริการถ่ายภาพสินค้า, บริการด้านซัพพลายเชน
- ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน (Sustainablility) โดยปัจจุบันมีสินค้า 30% ของ Pomelo ที่ผลิตโดยอิงจากแนวคิดดังกล่าวแล้ว
- การนำ AI เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการซัพพลายเชน, การนำเสนอสินค้าใหม่ ๆ ให้ลูกค้าให้ตรงกับความต้องการ, การคาดการณ์เรื่องการผลิตว่าสินค้าชนิดใดจะได้รับความนิยม เป็นต้น
Pomelo ท่ามกลาง Covid-19
ขณะที่สถิติในการใช้งานแอปในปี 2021 ซึ่งเป็นช่วงที่ Covid-19 ยังระบาดอยู่นั้น คุณฌอง โธมัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด Pomelo แฟชั่น เปิดเผยว่า
- มีผู้เข้าใช้งานแล้วกว่า 50 ล้านคน
- มีการเติบโตของแบรนด์บนแพลตฟอร์ม 250% (YoY)
- มีสินค้าบนแพลตฟอร์มมากกว่า 50,000 รายการ
คุณฌองเผยต่อไปด้วยว่า การให้บริการแบบ Omnichannel นั่นคือมีทั้งบริการในส่วนออนไลน์และออฟไลน์ ทำให้ Pomelo ผ่านช่วง Covid-19 มาได้ค่อนข้างดี โดยสัดส่วนยอดขายที่มาจากช่องทางออนไลน์นั้นสูงถึง 40% ขณะที่ช่องทางที่ทางแบรนด์คิดขึ้นอย่าง Tap.Try.Buy นั้นมีสัดส่วนถึง 24% ของยอดขายทั้งหมด และเป็นยอดขายที่มาจากร้านค้าปลีกอีก 26%
สำหรับบริการ Tap.Try.Buy นั้นเป็นบริการที่ทางแบรนด์คิดขึ้น เพื่อให้ลูกค้าได้มีโอกาสทดลองสวมเสื้อผ้าได้ก่อนตัดสินใจซื้อ และหากไม่ชอบใจก็สามารถส่งคืนให้ทางแพลตฟอร์มได้เลย ซึ่งในจุดนี้ สามารถดึงดูดผู้บริโภคให้กลับเข้ามายังแพลตฟอร์มได้มากถึง 33% และทำให้มีการกลับมาซื้อซ้ำสูงถึง 18% ด้วย
ด้านคุณเดวิดได้เสริมด้วยว่า จากตัวเลขของแพลตฟอร์ม Pomelo เห็นการเติบโตของคำสั่งซื้อที่สูงมากในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2021 หรือที่เรียกว่าการช้อปแบบล้างแค้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคมีความอึดอัดกับการล็อกดาวน์ในช่วงที่ผ่านมา และอยากจับจ่ายใช้สอยแล้ว ก่อนที่ตัวเลขดังกล่าวจะเริ่มกลับสู่สภาพปกติในปี 2022
ปรับสู่ Hybrid Workplace เจาะใจคนรุ่นใหม่
นอกจากแผนรุกตลาดในปีนี้ที่บุกทั้งออนไลน์และออฟไลน์แล้ว ในด้านสภาพแวดล้อมของการทำงาน Pomelo ก็มีการปรับปรุงแนวคิดใหม่ทั้งหมดด้วย โดยคุณปิยะนุช ลิมาภรณ์วณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารทรัพยากรบุคคล Pomelo แฟชั่น เล่าถึงแนวคิด Hybrid Workplace ว่า เป็นรูปแบบการทำงานที่ให้อิสระพนักงานในการบริหารจัดการตารางงานได้เอง
นอกจากนี้ ทาง Pomelo ยังมีการระบุรูปแบบการทำงานในแต่ละวันเอาไว้ค่อนข้างชัดเจนด้วย ยกตัวอย่างเช่น วันจันทร์ – อังคาร จะเน้นการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ หรือในวันพฤหัสบดี ก็จะเป็นวันรวมไอเดีย วันที่ทุกคนมาเวิร์กชอป – รวมตัวกัน เป็นต้น
คุณปิยะนุชยังกล่าวด้วยว่า พนักงานสามารถเลือกปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของตัวเองได้อย่างสะดวก เช่น อาจต้องการ Leave without pay, ต้องการปรับจากพนักงานฟูลไทม์เป็นพนักงานพาร์ทไทม์ ฯลฯ ก็สามารถทำได้
ข้อมูลของ Pomelo ระบุว่า ปัจจุบันบริษัทมีพนักงานมากกว่า 600 คน โดยมีสำนักงานในไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และจีน