HomeBrand Move !!บราเดอร์ตั้งเป้าโต 14% หลังพบตลาดเครื่องสกรีนเสื้อดิจิทัล-เครื่องเสียงขยายตัวรับ WFH

บราเดอร์ตั้งเป้าโต 14% หลังพบตลาดเครื่องสกรีนเสื้อดิจิทัล-เครื่องเสียงขยายตัวรับ WFH

แชร์ :

brother exec

ผู้บริหาร บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด

บราเดอร์ (brother) ประกาศความเป็นผู้นำในตลาดพรินเตอร์ปี 2021 โดยยังครองส่วนแบ่งสูงสุดใน 3 ตลาดหลัก จากสถานการณ์ Work & Learn From Home ที่ทำให้คนหันมาซื้อพรินเตอร์ไว้ใช้ในบ้านเพิ่มขึ้น ส่วนปีนี้ขอโตต่อ ตั้งเป้า 13% ในธุรกิจพรินเตอร์ และ 16% ในธุรกิจ Non-Print หลังพบว่าตลาดเครื่องสกรีนเสื้อดิจิทัล – เครื่องเสียงคุณภาพสูง มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่อยู่คู่สังคมไทยมานาน และในภาวะวิกฤติ Covid-19 ก็ประสบปัญหาไม่ต่างจากแบรนด์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ทั้งการขาดแคลนชิ้นส่วนในการผลิต, ปัญหาการปิดโรงงานเนื่องจากพนักงานติด Covid-19 ไปจนถึงปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ราคาแพงจนไม่สามารถขนส่งสินค้าได้ตามกำหนด โดยในปี 2021 ที่บราเดอร์ เผชิญความท้าทายดังกล่าว คุณธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า บราเดอร์ยังสามารถเป็นเบอร์หนึ่งใน 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ (อ้างอิงตัวเลขจาก GFK) นั่นคือ

  • กลุ่มเครื่องพิมพ์โมโนเลเซอร์ ครองส่วนแบ่งอยู่ที่ 37.1%
  • กลุ่มเครื่องพิมพ์โมโนเลเซอร์มัลติฟังก์ชัน ครองส่วนแบ่ง 64.3%
  • กลุ่มเครื่องพิมพ์คัลเลอร์เลเซอร์มัลติฟังก์ชัน ครองส่วนแบ่ง 47.9%

printer brother

นอกจากนั้น บราเดอร์ยังครองอันดับ 2 ในกลุ่มเครื่องพิมพ์คัลเลอร์เลเซอร์อยู่ที่ 19.5% และครองส่วนแบ่งเป็นอันดับ 3 ของตลาดเครื่องพิมพ์อิงค์แทงค์ ในสัดส่วน 20% ด้วย

“เครื่องสกรีนเสื้อดิจิทัล-เครื่องเสียง” ตลาดใหม่โอกาสโตสูง

เมื่อถามถึงกลุ่มเป้าหมายที่น่าสนใจ และมีแนวโน้มเติบโตสูงในปีที่ผ่านมา คุณธีรวุธเผยว่า เป็นกลุ่มเครื่องสกรีนเสื้อดิจิทัล (Brother GTX) ที่มีการเติบโตมากขึ้นถึง 28% โดยส่วนหนึ่งมาจากกระแสบนโลกออนไลน์ ที่อินฟลูเอนเซอร์จำนวนมากต่างพิมพ์เสื้อแบบ customized เองออกมามากมาย

“กลุ่มที่ให้ความสนใจในเครื่องสกรีนเสื้อดิจิทัลหลัก ๆ มีสองกลุ่ม คือผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำธุรกิจ และกลุ่มผู้ประกอบการเดิมที่ต้องการ Transformation ตัวเองมาสู่ธุรกิจใหม่ที่ผู้บริโภคต้องการสินค้าแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น”

นอกจากนี้ บราเดอร์ยังพบการเติบโตในกลุ่มเครื่องเสียงคุณภาพสูง (BMB) ของทางแบรนด์ที่โตขึ้น 38% เช่นกัน เนื่องจากในปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคทำงานอยู่ที่บ้านกันมากขึ้น จึงมีการปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้สามารถรองรับความบันเทิงรูปแบบต่าง ๆ ได้ด้วยนั่นเอง

brother dtx non print

อย่างไรก็ดี จากวิกฤติในปี 2021 ที่บริษัทเผชิญความท้าทายหลายรูปแบบดังที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ผลประกอบการปี 2021 บราเดอร์มียอดขายลดลง 3% เมื่อเทียบกับปี 2020 ส่วนสถานการณ์ในปี 2022 นี้ ทางบริษัทเผยว่า ปัญหา Supply Shortage มีแนวโน้มดีขึ้น และการระบาดของ Covid-19 เริ่มคลี่คลาย จึงคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตไว้ที่ 14%

 เปิดกลยุทธ์หลักบราเดอร์ “CSB 2024”

สำหรับกลยุทธ์ในการสร้างการเติบโตนั้น คุณณเอก สงศิริ รักษาการผู้จัดการทั่วไปฝ่ายขายและการตลาด บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวว่า “3 ปีต่อจากนี้ บราเดอร์จะเดินหมากธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ CSB 2024 (Challenge Strategy Brother 2024) ผ่าน 3 แนวทาง ประกอบด้วย

  • Re-energizing Business การปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจเพื่อพัฒนากลยุทธ์สู่การเติบโตจากปัจจุบันสู่อนาคต
  • Sustainability การดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่กับสังคม (local community) และสิ่งแวดล้อม (environment) โดยดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม (Good Governance)
  • Driving DX หรือการขับเคลื่อนด้าน Digital Transformation (DX) โดยการนำเทคโนโลยีและกลยุทธ์ทางดิจิทัลเข้ามาใช้ในการวางรากฐานและเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนขั้นตอนการทำงานและวัฒนธรรมขององค์กร

ทั้งนี้ กลยุทธ์ดังกล่าวจะถูกนำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจของบราเดอร์ทั้ง 15 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยคุณณเอกได้กล่าวถึงรายละเอียดในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์ว่า

“กลุ่มธุรกิจเครื่องพิมพ์เลเซอร์และสแกนเนอร์จะมุ่งเน้นการเจาะกลุ่มลูกค้าองค์กรเป็นหลัก ในขณะที่กลุ่มเครื่องพิมพ์อิงค์เจทที่ปัจจุบันได้รับการตอบรับอย่างดีมากจากช่องทางโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะทวิตเตอร์ จะเน้นไปที่กลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่เพิ่มขึ้น เพื่อตอบรับกับไลฟ์สไตล์การทำงานที่ผสมผสาระหว่างการทำงานในสำนักงานและที่บ้าน”

“นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาอย่างเครื่องสกรีนดิจิทัล GTX ก็จะยังคงมุ่งทำตลาดสู่กลุ่มผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ที่ต้องการริเริ่มและต่อยอดธุรกิจที่ตนเองมีให้เติบโตเพิ่มมากขึ้น ในส่วนของเครื่องพิมพ์ฉลาก P-Touch จะมุ่งการนำเสนอแบบโซลูชันใหม่เพื่อตอบโจทย์ภาคธุรกิจ ส่วนจักรเย็บผ้าจะเน้นกลุ่จักรปัก เพื่อรองรับการเพิ่มตัวของการเปิดสถานศึกษาและรองรับกระแสนิยมด้านงาน DIY และพร้อมรองรับการกลับมาเปิดให้บริการของสถานบันเทิงและการปรับปรุงระบบเสียงของพื้นที่ประชุมด้วยกลุ่มธุรกิจเครื่องเสียง BMB  

เปิดตัวแชทบอทใหม่ Mr.Carer

brother chatbot

คุณรัสสิญากร ตัณฑวณิชย์ รักษาการผู้จัดการทั่วไปฝ่ายบริการลูกค้า บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด ขณะบรรยายเรื่อง Mr.Carer แชทบอทตัวใหม่

ที่ผ่านมา บราเดอร์มีแชทบอทให้บริการแล้วหนึ่งตัวในชื่อ “น้องแคร์” ซึ่งจะเป็นแชทบอทสำหรับให้ข้อมูลทั่วไป เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และโปรโมชัน แต่ในปี 2022 นี้ คุณรัสสิญากร ตัณฑวณิชย์ รักษาการผู้จัดการทั่วไปฝ่ายบริการลูกค้า บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า มีการพัฒนาแชทบอทตัวที่ 2 ชื่อ Mr. Carer  โดยเน้นไปที่การซ่อมของศูนย์บริการแต่งตั้ง ไปจนถึงการสอบถามด้านเทคนิคการซ่อมต่าง ๆ ซึ่งจะเริ่มจากกลุ่มธุรกิจเครื่องพิมพ์ และวางแผนขยายสู่กลุ่มธุรกิจ non-print ภายในปีนี้

ส่วนแชทบอทน้องแคร์ ก็มีการพัฒนาให้รองรับภาษาอังกฤษร่วมด้วย โดยจะเริ่มตั้งแต่เมษายน 2022  และจะเพิ่มช่องทางการติดต่อแชทบอทน้องแคร์ผ่าน Line OA ด้วยอีกทางหนึ่ง

ด้านคุณพรภัค อุไพศิลป์สถาพร ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการเงินและบริหาร บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า  “บราเดอร์ได้พัฒนา customer data platform ขึ้นเพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อนำเสนอโซลูชันใหม่ ๆ ให้แก่ลูกค้า พร้อมเพิ่มศักยภาพการให้บริการของศูนย์บริการต่าง ๆ สามารถรองรับความต้องการได้อย่างดียิ่งขึ้น ส่วนของพนักงาน บราเดอร์ ได้ปรับรูปแบบการมอบสวัสดิการให้เหมาะสมกับความต้องการของพนักงาน และให้ความสำคัญในการพัฒนาคนเพื่อทันต่อยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป”


แชร์ :

You may also like