HomeBrand Move !!เส้นทาง 30 ปี ‘บอย ถกลเกียรติ’ จากวันที่ทุ่มเงินเก็บทั้งชีวิตปั้น ‘ช่องวัน’ สู่ ONEE บริษัทบันเทิงมหาชน

เส้นทาง 30 ปี ‘บอย ถกลเกียรติ’ จากวันที่ทุ่มเงินเก็บทั้งชีวิตปั้น ‘ช่องวัน’ สู่ ONEE บริษัทบันเทิงมหาชน

แชร์ :

boy onee 2022

จากจุดเริ่มต้น บริษัท เอ็กแซ็กท์ จำกัด บริษัทโปรดักชั่นที่ก่อตั้งร่วมกับ GMM Grammy เมื่อ 30 ปีก่อน วันนี้ คุณบอย ถกลเกียรติ วีรวรรณ ก้าวขึ้นมานำทัพ “เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์” หรือ ONEE บริษัทบันเทิงมหาชน ที่เพิ่งเข้าจดทะเบียนใน SET เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ปัจจุบันมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 25,717 ล้านบาท เป็นอันดับ 4 ในหมวดธุรกิจสื่อ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ก่อนก้าวขึ้นมาเป็นซีอีโอ ONEE และผู้ถือหุ้นอันดับ 3 ในนาม ซีเนริโอ และครอบครัววีรวรรณ ที่ถือหุ้นรวมกัน 13.49% หรือกว่า 321 ล้านหุ้น มูลค่ากว่า 3,627 ล้านบาท

ในปี 2558 คุณบอย ได้ตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิต ด้วยการเข้าร่วมทุนกับ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ถือหุ้นช่องวัน 49% เรียกว่าทุ่มทุนหมดหน้าตัก จากเงินเก็บทั้งชีวิต เป้าหมายเพื่อแจ้งเกิดช่อง ONE31 ในสนามทีวีดิจิทัลให้ได้ ด้วยความเชื่อมั่นมาตลอดว่า “ทีวี” ยังมีโอกาสไปต่อได้

Brand Buffet สัมภาษณ์ คุณบอย ถกลเกียรติ วีรวรรณ ซีอีโอ กลุ่มเดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ กับเส้นทาง 30 ปีในธุรกิจสื่อและจุดเปลี่ยนสำคัญ นำพา ONEE เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในฐานะหุ้นกลุ่มสื่อที่เสนอขายหุ้น IPO สูงสุดในตลาดทุนไทย มูลค่ารวม 4,218 ล้านบาท

BOY CEO ONEE 2

ถูกวางตัวบริหารช่องทีวี

นับจากวันที่ ONEE เข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯ วันแรก 5 พฤศจิกายน 2564 ถือเป็นจุดเริ่มต้นภารกิจใหม่ของ ONEE ในฐานะบริษัทมหาชนที่มีประชาชนมาร่วมถือหุ้นด้วย และนั่นคือ ความรับผิดชอบที่ต้องมีมากขึ้นในฐานะซีอีโอ ของคุณบอย ถกลเกียรติ

บทบาทใหม่นี้เปรียบได้กับ “ชีวิตคนเราเมื่อจบจากสิ่งหนึ่ง มักจะเป็นจุดเริ่มต้นอีกสิ่งหนึ่งเสมอ เหมือนเราเรียนจบมัธยม ก็ต้องต่อมหาวิทยาลัย ปริญญาตรี ปริญญาโท การเข้าตลาดฯ ก็เหมือนกับเริ่มต้นเรียนปริญญาเอก ความรับผิดชอบต่างๆ ก็จะมากขึ้น”

การเข้ามารับบทบาทหัวเรือใหญ่ของช่องทีวี เป็นสิ่งที่ถูกวางไว้แล้วตั้งแต่ต้น หลังจาก จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เข้าร่วมประมูลทีวีดิจิทัล 2 ช่อง คือ ช่อง ONE31 และ GMM 25 ในช่วงปลายปี 2556  และเริ่มออกอากาศปี 2557

ชัดเจนว่า คุณบอย ต้องเข้ามารับภารกิจดูแล 1 ช่อง ซึ่งก็คือช่อง ONE31 การตัดสินใจเข้ามาบริหารช่องวัน คุณบอย เองก็ต้องการมีส่วนได้ส่วนเสียกับสถานีด้วย เพราะคิดว่าหากทำได้ดี ก็ดีไปด้วยกัน แต่หากไม่ดี ก็มีส่วนที่ตัวเองต้องรับผิดชอบด้วย ไม่ใช่ไปเอาเงินคนอื่นมาผลาญ  นั่นคือความตั้งใจที่คิดไว้แล้วตั้งแต่ต้น

onee ipo 2

 

ตัดสินใจร่วมทุน “ช่องวัน”

หลังทีวีดิจิทัลเริ่มออกอากาศในปี 2557 อุตสาหกรรมสื่อต้องเจอกับการแข่งขันสูง จากจำนวนช่องฟรีทีวีเพิ่มขึ้น 4 เท่า เรตติ้งผู้ชมกระจายตัว

ปี 2558 มาถึงจุดที่คุณบอย มองว่าหากต้องการให้ช่องวันแจ้งเกิดก็ต้องลงคอนเทนต์หนักๆ อย่าง “ละคร” นั่นหมายถึงต้นทุนที่แพงสุดของคอนเทนต์ทีวี แต่ช่วงนั้น แกรมมี่มองว่าตลาดยังฝุ่นตลบอยู่

สุดท้ายบทสรุปจึงเป็นการเข้ามาร่วมถือหุ้น 49% ในช่อง ONE31 ของคุณบอย ถกลเกียรติ  กับจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ที่ถือหุ้น 51%

การตัดสินใจลงเงินคนละครึ่งกับแกรมมี่ทำช่อง ONE31 คุณบอย มองว่ามันคือ “โอกาส” เป็นเจ้าของสถานีทีวี เป็นช่องทางเผยแพร่คอนเทนต์จากคนทำงานใน เอ็กแซกท์ และ ซีเนริโอ ที่รวบรวมมืออาชีพไว้จำนวนมาก เมื่อมีคนเก่งอยู่ในมือ หากไม่มีช่องให้ปล่อยของและต้องไปรอลุ้นเช่าเวลาช่องอื่นทุกปี ผู้ผลิตเหล่านี้ก็อาจไม่อยู่กับเรา นั่นคือความตั้งใจในการเข้ามามีส่วนร่วมในฐานะเจ้าของสถานีทีวีช่องวัน

“ผมเริ่มจากเป็นผู้ผลิต จึงเข้าใจคนทำงานคอนเทนต์ ที่ต้องการความแน่นอนของสถานีทีวี เพื่อให้ผลงานได้ออกอากาศ จึงเห็นว่าเป็นเวลาเหมาะสมที่จะเข้าไปร่วมลงทุนกับแกรมมี่ ร่วมเป็นเจ้าของช่อง ONE31 เชื่อว่ามีโอกาสแจ้งเกิดได้ แต่ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน”

วันนั้นถ้าปิดโอกาสเพราะความกลัว ก็ไม่รู้ว่าจะได้แจ้งเกิดอีกเมื่อไหร่ และก็อาจตกรถไฟได้

ONEE BOY CEO

ทุ่มเงินเก็บทั้งชีวิตปั้น “ช่องวัน”

ในวันที่ตัดสินใจเข้ามาร่วมทุนเป็นผู้ถือหุ้นช่องวัน และต้องใส่เงินลงทุนไปเรื่อย ๆ ก็รู้สึกเสียวมาก เพราะลงเงินทั้งหมดที่เก็บมาทั้งชีวิต เพื่อทุ่มให้กับช่อง ONE31 แต่ตอนนั้น “ไม่มีทางเลือก”

การอยู่ในฐานะบริษัทผลิตคอนเทนต์และมีทีมงานจำนวนมาก เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในยุคทีวีแอนาล็อกมาเป็นทีวีดิจิทัล การเช่าเวลาทำได้ยากขึ้น แม้มีช่องเยอะ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะไปอยู่ช่องไหนดี

“เราจะเลือกลงเรือลำไหน จะมั่นใจในกัปตันเรือได้อย่างไร  ประสบการณ์ในอุตสาหกรรมทีวีกว่า 20 ปี รู้ว่ามีไม่กี่ช่อง ที่เราเชื่อมั่นให้เป็นกัปตันเรือได้ หรือแม้เราอยากอยู่กับทีวีดิจิทัลช่องนี้ แต่ก็คงไม่มีช่องไหนอยากให้ เอ็กแซ็กท์ เข้าไปทำคอนเทนต์ทั้งหมด เพราะแต่ละช่องก็มีบุคลากรจำนวนมากที่ต้องดูแล”

เมื่อดูแล้วว่าคงไม่สามารถขนทีมงานที่มีอยู่ไปฝากชีวิตไว้กับทีวีช่องไหนได้  หรือในอนาคตช่องที่ไปทำด้วยอาจทิ้งเราเมื่อไหร่ก็ได้  จึงเห็นว่าการมีช่องทีวีของตัวเอง ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี เพราะสามารถเป็นกัปตันเรือ วางทิศทางและเส้นทางที่จะไปได้เอง

คุณบอย เล่าว่า ณ วันนั้นมี 2 ทางเลือก

1. เราต้องเป็นกัปตันเรือเอง คือเป็นเจ้าของช่องทีวีดิจิทัลเอง เพราะในอุตสาหกรรมทีวีก็ไม่ได้มีผู้ผลิตลักษณะเดียวกับเราจำนวนมาก และเราเชื่อมั่นว่าเราเป็นกัปตันเรือได้ จากประสบการณ์ที่ทำมากว่า 20 ปี

2. ต่างคนต่างไปเลิกกิจการ (บริษัทผลิตรายการ) เพราะเป็นไปไม่ได้กับขนาดของบริษัทเอ็กซ์แซ็กท์ และ ซีเนริโอ ที่มีคนจำนวนมาก และจะเข้าไปเช่าเวลาทีวีช่องอื่นทำรายการ

นี่จึงเป็นคำตอบว่าทำไม คุณบอย ถกลเกียรติ ถึงต้องทุ่มสุดตัว กับการเป็นเจ้าของทีวีดิจิทัล ร่วมกับแกรมมี่ เพราะหากไม่ทำก็ต้องเลิก!!

BDMS ONEE

พญ.ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ

“หมอปุย” ใส่เงินก้อนใหญ่ต่อลมหายใจ

หลังจากคุณบอย เข้าไปร่วมทุนในช่อง ONE31 ก็เริ่มลงคอนเทนต์ละครไทย แต่สถานการณ์ทีวีดิจิทัลในช่วงแรกเต็มไปด้วยการแข่งขันสูงจากจำนวนช่องเพิ่มขึ้นมาก ยังเจออุปสรรคจากการเริ่มต้นขยายโครงข่ายส่งสัญญาณระบบทีวีดิจิทัลที่ล่าช้า ตัวเลขฐานผู้ชมจึงเป็นสิ่งที่เอเยนซีใช้พิจารณากำหนดราคาโฆษณา เป็นช่วงที่ลงทุนหนักมาก แต่การหารายได้กลับสวนทาง

เมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะเดินหน้าต่อและต้องแจ้งเกิดช่อง ONE31 ให้ได้  คุณบอยและแกรมมี่ จึงปรับโครงสร้างช่องวันอีกครั้งในช่วงปลายปี 2559  โดยมี บริษัท ประนันท์ภรณ์ จำกัด ของ คุณหมอปุย พญ.ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ (บุตรสาว นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เจ้าของเครือข่ายธุรกิจโรงพยาบาล บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) หรือ BDMS) มาร่วมถือหุ้นใหญ่ 50% ด้วยมูลค่าลงทุน 1,900 ล้านบาท ส่วนคุณบอยและแกรมมี่ ถือหุ้นรายละ 25%

หลังจากได้เงินลงทุนก้อนใหญ่จากการเพิ่มทุนกว่า 1,900 ล้านบาท ของหมอปุย ช่องวันเริ่มหายใจได้อีกครั้ง “จากเดิมเหมือนเราจมน้ำอยู่ พอมีคนมาช่วยก็โผล่หัวขึ้นมาหายใจได้”

สิ่งที่ทำให้ “หมอปุย” ตัดสินใจเข้ามาร่วมถือหุ้นและใส่เงินลงทุนจำนวนมากให้กับช่อง ONE31  คนใกล้ชิดหมอปุยเคยพูดให้ฟังว่า มาจากจุดเด่นในการผลิตคอนเทนต์ละคร เรื่องที่โดนใจคือละคร “พิษสวาท” ที่มองว่าเมื่อกลุ่มคนทำงานสามารถผลิตคอนเทนต์ได้ขนาดนี้ ก็มั่นใจว่าน่าจะไปต่อได้แน่ ๆ

แสดงให้เห็นว่า “คนสร้างงาน งานสร้างคน”  และมีคนที่มองเห็นคุณภาพและคุณค่าของตัวงาน เป็นสิ่งที่คุณบอย บอกว่ารู้สึกดีใจมาก ๆ และช่วยสร้างกำลังใจให้กับทีมงาน

แจ้งเกิดช่องวัน สู่ ONEE บริษัทบันเทิงมหาชน

หลังจากได้เม็ดเงินเพิ่มทุนช่อง ONE31 เดินหน้าผลิตคอนเทนต์เต็มรูปแบบ ไฮไลต์กวาดเรตติ้งติดอับดับท็อป 5 คือ ละคร ที่กลายเป็น Talk of the town ทั้งหน้าจอทีวีและแพลตฟอร์มออนไลน์ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ช่อง ONE31  ในนาม “เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์” เริ่มทำ “กำไร” ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา และในที่สุดก็สามารถนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในนาม ONEE (วันอี) เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564  โดยสร้างสถิติเสนอขายหุ้น IPO มูลค่ารวม 4,218 ล้านบาท มูลค่าสูงสุดในหมวดธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์ของตลาดทุนไทย มีมาร์เก็ตแคป 26,908 ล้านบาท เป็นอันดับ 4  ของหมวดธุรกิจสื่อ (ราคาหุ้น ณ วันที่ 7 ม.ค.2565)

วันนี้ ONEE  ไม่ได้มีแค่ทีวีดิจิทัลช่อง ONE31 แต่เป็น Content Creator ที่มีโมเดลธุรกิจครอบคลุมธุรกิจสื่อและบันเทิงตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยมี 4 ช่องทางหลักนำเสนอคอนเทนต์

1. ทีวี ช่องวัน 31 ทำการตลาดให้ช่องจีเอ็มเอ็ม 25 รับผลิตคอนเทนต์ให้ทีวีช่องอื่นๆ

2. ออนไลน์ ผ่าน OTT แพลตฟอร์มต่างๆไม่ว่าจะเป็น NETFLIX Disney Plus Hotstar IQIYI VIU WeTV โซเชียล มีเดีย (ยูทูบ เฟซบุ๊ก) รวมทั้งแอปพลิเคชั่นของตัวเอง คือ one31 จีเอ็มเอ็มทีวี และเอไทม์

3. วิทยุ เป็นกลุ่ม Voice Content ที่มี Iconic Brand ทั้ง Green Wave, EFM ฟังได้ผ่านหน้าปัดวิทยุและช่องทางออนไลน์

4. อีเวนต์ คอนเสิร์ตและ Fan Meeting รวมทั้งกลุ่มบริหารจัดการศิลปิน (Artist Management) ปัจจุบันมีศิลปินกว่า 200 คน

คุณบอย ย้ำว่าที่มาถึงวันนี้ได้ จากจุดที่ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญ ใช้เงินเก็บทั้งชีวิตเพื่อลงทุนช่องวัน ผ่านช่วงที่ต้องเจอกับภาวะขาดทุนกระทั่งนำบริษัทเข้าตลาดฯ ได้  เพราะมั่นใจในทีมงานที่ทำงานร่วมกันมากว่า 30 ปี เป็นการทำงานที่ได้เรียนรู้ไปด้วยกันและมีคนใหม่ ๆ เข้ามาร่วมทีมตลอดเวลา

ยิ่ง ONEE ใหญ่ขึ้นก็ยิ่งตอกย้ำว่าธุรกิจของเรา One Man Show ไม่ได้  แต่เป็นการทำงานแบบ “ทีมเวิร์ก” ทุกบิสซิเนส ยูนิต มีผู้บริหารมืออาชีพดูแล พร้อมสนับสนุนทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ในการสร้างสรรค์คอนเทนต์และมองหาโอกาสใหม่ ๆ เพื่อให้ทุกคนเติบโตไปด้วยกัน

“ลึก ๆ แล้ว ก็มั่นใจในสิ่งที่ทำอยู่ เพราะไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปขนาดไหน เราไม่ได้ยึดติดกับสื่อใดสื่อหนึ่ง และเชื่อมั่นว่าเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ก็คือ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ แต่จะออกมาในรูปแบบไหนเท่านั้น เมื่อไม่ยึดติดแต่เข้าใจในการทำคอนเทนต์ที่ให้ความบันเทิงและแรงบันดาลใจกับผู้ชม ผ่านแพลตฟอร์มที่เข้าถึงผู้ชมในแต่ละยุค เป็นสิ่งที่ผู้ผลิตคอนเทนต์ต้องปรับตัวเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา” 


แชร์ :

You may also like