HomeBrand Move !!ขายเครื่องบิน ทรัพย์สิน มาถึงแฟรนไชส์ Puff & Pie กับเป้าหมาย ‘การบินไทย’ เร่งหารายได้ฟื้นฟูกิจการ

ขายเครื่องบิน ทรัพย์สิน มาถึงแฟรนไชส์ Puff & Pie กับเป้าหมาย ‘การบินไทย’ เร่งหารายได้ฟื้นฟูกิจการ

แชร์ :

puff & pie

Photo Credit : facebook THAI Catering

เส้นทางฟื้นฟูกิจการ การบินไทย เริ่มขึ้นหลังจากวันที่ 15 มิถุนายน 2564 เมื่อศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่ง เห็นชอบ แผนฟื้นฟูให้ดำเนินการในระยะเวลา 5 ปี (ขยายได้ครั้งละ 1 ปี 2 ครั้ง รวมไม่เกิน 7 ปี) เพื่อทำให้ การบินไทยกลับมาเป็นสายการบินแห่งชาติที่แข็งแกร่งอีกครั้ง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

การปรับโครงสร้างการบินไทยทำมาต่อเนื่องในช่วงโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ทั้งการลดขนาดองค์กรและลดต้นทุน ภายใต้แผนฟื้นฟูสิ่งที่การบินไทยจะเปลี่ยนไปหลังจากนี้ คือ วิชั่นใหม่ก้าวสู่สายการบิน Private High Quality Full Service ที่ยังให้บริการคุณภาพเต็มรูปแบบ ด้วยราคาที่ผู้โดยสารจับต้องได้ จากเดิมวางตำแหน่งเป็น “พรีเมี่ยม แอร์ไลน์” เน้นบริการระดับ 5-6 ดาว เป็นสิ่งที่ทำให้ต้นทุนสูง บางครั้งไม่ตอบสนองสิ่งที่ลูกค้าต้องการ เพราะโลกหลังโควิดเข้าสู่ New Normal การเดินทางและพฤติกรรมผู้โดยสารจะเปลี่ยนไป

แผนธุรกิจของการบินไทย ที่ได้แจกแจงไว้ในงาน Opportunity Day บริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุนล่าสุด ได้เริ่มเดินหน้าตามแผนฟื้นฟู โดยช่วง 2 ปีนี้ (2564-2565) การบินไทยต้องการเงินทุนใหม่ 50,000 ล้านบาท จากสินเชื่อใหม่สถาบันการเงิน บุคคลทั่วไปก็ได้ และการสนับสนุนจากภาครัฐ รูปแบบเงินกู้ หรือค้ำประกัน

ส่วนแผนธุรกิจที่วางไว้จะมีทั้ง “ลดค่าใช้จ่าย” และ “หารายได้” จากการดำเนินการกว่า 600 โครงการ

thai airway 2021

แผนลดค่าใช้จ่าย

– ปี 2565 การบินไทยวางเป้าหมายลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายให้มาอยู่ที่ระดับ 53,000 ล้านบาท ปัจจุบันทำได้แล้ว 44,200 ล้านบาท (หากย้อนดูค่าใช้จ่ายการบินไทยก่อนโควิด คือในปี 2562 อยู่ที่ 196,470 ล้านบาท)

– ลดจำนวนบุคลากรทุกระดับตั้งแต่ผู้บริหารไปถึงพนักงาน เปิดโครงการสมัครใจลาออก ในปี 2562 การบินไทยมีพนักงาน 29,500 คน ปี 2563 ลดลงเหลือ 21,300 คน ลดลง 28% ปี 2564 เหลือ 15,300 คน ลดลง 48% (จากปี 2562) เป็นการลดขนาดองค์กร เพื่อทำให้คล่องตัวและแข่งขันได้ในอนาคต

– ลดค่าใช้จ่ายบุคลากรในช่วงที่ธุรกิจการบินยังไม่กลับมาเป็นปกติ ตั้งแต่ปี 2563 ได้เปิดให้พนักงานลาหยุดไม่รับเงินเดือนและลดเงินเดือน

– ลดจำนวนเครื่องบินจากเกือบ 100 ลำ เหลือ 58 ลำ ลดแบบเครื่องบินจาก 12 แบบเหลือ 5 แบบ เป็นแบบเครื่องบินที่มีต้นทุนที่ดีและเหมาะสมกับเส้นทางบิน รวมทั้งต้นทุนในการดูแลซ่อมบำรุง

– เจรจากับผู้ให้เช่าเครื่องบินใหม่ จ่ายตามชั่วโมงบิน จากเดิมเป็น Fixed cost ปรับเป็น Available cost แทน เพราะสถานการณ์หลังโควิดความต้องการเดินทางยังไม่กลับมาเหมือนเดิม

Thai airways การบินไทย

แผนหารายได้

– ขายทรัพย์สินบางส่วนที่ไม่ได้ใช้งาน เพื่อนำเงินมาใช้ประคองธุรกิจ

– เดือนเมษายน 2564 ขายที่ดินและอาคารสำนักงานศูนย์อบรมหลักสี่ ซึ่งมีเนื้อที่ 19 ไร่ 3 งาน 26 ตารางวา ให้บริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด (EnCo) ในเครือ ปตท. ที่เสนอราคาสูงสุด 1,810 ล้านบาท

– ขายหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัทเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS มูลค่า 2,712 ล้านบาท

– ขายหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัท นกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK มูลค่า 278 ล้านบาท

– ขายเครื่องยนต์ที่ไม่ใช้งานแล้ว ประเภท CFM56-3C1 ติดตั้งกับเครื่องบิน B737-400 รวม 5 เครื่องยนต์ (อยู่ระหว่างหาผู้สนใจซื้อ)

– ประกาศขายเครื่องบินที่ไม่ใช้งาน 42 ลำ

– ให้บริการคาร์โก้และชาร์เตอร์ไฟลท์ ในช่วงที่เส้นทางบินปกติ ยังได้รับผลกระทบจากโควิด

– ธุรกิจหลักขายตั๋วโดยสาร เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ในเส้นทางยุโรป (อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี) ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น รวมทั้งเอเชีย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประเทศที่ประชาชนได้รับวัคซีน 70% รวมทั้งจีน คาดว่าจะเปิดบินในปี 2565

puff & pie

Photo Credit : facebook THAI Catering

เปิดประมูลสิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์ Puff & Pie 5 ปี

– ตั้งแต่โควิดธุรกิจการบินหยุดชะงัก ครัวการบินไทย ก็เข้ามามีบทบาทสำคัญเป็นอีกช่องทางหารายได้ ตั้งแต่ ปาท่องโก๋ สุดฮิต ไปถึงครัวซองต์ เปิดพื้นที่สำนักงานใหญ่ทำครัวการบินไทย “อร่อยล้นฟ้า” บริการอาหารนานาชาติ

– ล่าสุดครัวการบินไทย เปิดประมูลหาผู้รับสิทธิ์ “มาสเตอร์แฟรนไชส์ Puff & Pie” ระยะเวลา 5 ปี เพื่อเป็นพันธมิตรร่วมดำเนินธุรกิจและสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ร้าน Puff & Pie กลุ่มธุรกิจเบเกอรี่ของการบินไทย
โดยจะชี้แจงรายละเอียดวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ยื่นซองเสนอผลประโยชน์พร้อมหลักประกันซอง วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 นำเสนอแผนงาน วันที่ 15-16 พฤศจิกายน 2564 และวันเปิดซองประมูล วันที่ 18 พฤศจิกายน 2564

คุณสมบัติผู้เข้าร่วมประมูล
1. เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งตามกฎหมายไทยก่อนวันยื่นซองไม่ต่ำกว่า 1 ปี
2. มีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท มาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 1 ปี โดยมีสำนักงานอยู่ในประเทศไทย ทั้งนี้ต้องมีวัตถุประสงค์ประกอบการตรงกับความต้องการของบริษัทในการเข้าเสนอผลประโยชน์
3. ต้องไม่เคยมีประวัติทิ้งงานหรือไม่เคยถูกบริษัทแจ้งบอกเลิกสัญญาเนื่องจากปฏิบัติผิดสัญญากับบริษัท
4. ต้องไม่เป็นผู้เสนอราคาที่มีผลประโยชน์ร่วมกันกับผู้เสนอราคารายอื่น ณ วันประกาศเชิญชวนเข้าร่วมเสนอผลประโยชน์ คำว่า “ผู้เสนอผลประโยชน์มีผลประโยชน์ร่วมกัน” มีความหมายตามนิยามที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
5. ต้องไม่เป็นนิติบุคคลที่อยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีล้มละลาย เว้นแต่ในคดีล้มละลายนั้นศาลมีคำสั่งเห็นชอบตามคำขอประนอมหนี้ หรือเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ
6. คุณสมบัติเฉพาะของผู้เสนอผลประโยชน์ต้องมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการกิจการแฟรนไชส์ด้านธุรกิจอาหารหรือเครื่องดื่มจนประสบความสำเร็จโดยมีเอกสารแสดงสัญญาประสบการณ์ผลงานที่ผ่านมา มูลค่างานที่ผ่านมา เป็นต้น
7. ต้องไม่เป็นผู้ที่เคยได้รับการพิจารณาคัดเลือกจากบริษัท แล้วไม่มารับใบสั่งจ้าง หรือไม่เข้าทำสัญญาหรือข้อตกลงกับบริษัท
8. กรณีที่ยื่นเสนอบริการในนามกิจการร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ (หมายถึง กิจการร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์) จะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขที่ได้กำหนดไว้ในเอกสารฉบับนี้ โดยสามารถนำผลงานของผู้ร่วมค้ารายหนึ่งรายใดมาใช้เป็นผลงานของกิจการร่วมค้าได้ ทั้งนี้จะต้องมีบริษัทที่มีคุณสมบัติตามข้อ 2 ร่วมด้วยอย่างน้อย 1 ราย
9. สำหรับกิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ นิติบุคคลแต่ละนิติบุคคลที่เข้าร่วมค้าทุกรายต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขที่ได้กำหนดไว้ในเอกสารฉบับนี้ เว้นแต่ในกรณีที่กิจการร่วมค้าได้มีข้อตกลงระหว่างผู้ร่วมค้าเป็นลายลักษณ์อักษรกำหนดให้ผู้ร่วมค้ารายใดรายหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการเข้าเสนอผลประโยชน์ รวมทั้งสามารถใช้ผลงานของผู้ร่วมค้าหลักรายเดียวเป็นผลงานของกิจการร่วมที่ยื่นข้อเสนอได้ ทั้งนี้ให้แสดงหลักฐานข้อตกลงระหว่างผู้ร่วมค้าดังกล่าวมาพร้อมการยื่นเสนอบริการ

ผู้สนใจติดต่อขอซื้อเอกสารและแบบสำหรับการเสนอผลประโยชน์ ในราคาชุดละ 2,000 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยชำระเงินค่าเอกสารและแบบได้ที่ กลุ่มงานบัญชีการเงินและงบประมาณ ชั้น 3 ฝ่ายครัวการบิน ดอนเมือง และให้นำใบเสร็จรับเงินไปแสดงเพื่อรับเอกสารและแบบได้ที่ กลุ่มงานบริหารธุรกิจแฟรนไชส์ ชั้น 3 ฝ่ายครัวการบิน ดอนเมือง ระหว่างวันที่ 7-14 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 เวลา 9.00–16.00 น.

นับจากนี้คงต้องรอดูว่า “การบินไทย” จะสามารถเคลียร์หนี้ที่มีอยู่กว่า 4 แสนล้านบาท เดินตามเป้าหมายฟื้นฟูกิจการ ลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้ เพื่อกลับมาเป็นสายการบินแห่งชาติที่แข็งแกร่งอีกครั้ง

Photo Credit : facebook THAI Catering


แชร์ :

You may also like