ตามแผน 5 ปี ของ OR วางงบลงทุนไว้ 75,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้สัดส่วน 70% อยู่ในธุรกิจ Non-Oil รวมทั้งการสร้าง New S-Curve ใหม่ในกลุ่มนวัตกรรม ด้าน Mobility และ Lifestyle รวมทั้ง ธุรกิจสตาร์ทอัพ กลุ่มที่มีโอกาสเติบโตสูงและเป็นสิ่งที่บริษัทขนาดใหญ่สนใจในศักยภาพ ความรวดเร็วด้านเทคโนโลยีทันกับการเปลี่ยนแปลง และมีความเป็นเจ้าของ (Ownership และ Entrepreneurship) แต่สิ่งที่สตาร์ทอัพขาด คือ เงินทุน โอกาส บุคลากร
ช่วงที่ผ่านมา OR ได้เริ่มลงทุน Non-Oil หลายธุรกิจ ทั้งเอสเอ็มอี ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟ Pacamara ร้านอาหารโอ้กะจู๋ ตั้งบริษัทร่วมทุนกับ Bluebik ทำเรื่องดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม ร่วมลงทุนใน Flash Group สตาร์ทอัพด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ที่ได้ชื่อว่าเป็น ยูนิคอร์น (ธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ตัวแรกของไทย หลังจากนี้เห็นโอกาสลงทุนในสตาร์ทอัพมากขึ้น
ที่มาตั้งกองทุน ORZON ลงทุนสตาร์ทอัพ
คุณจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวว่าวิชั่นของ OR ที่ต้องการเติบโตไปด้วยกัน (Inclusive Growth) กับธุรกิจไทยในกลุ่มเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ จึงร่วมมือกับ กองทุน 500 Startups หรือ 500 TukTuks จัดตั้งกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) ‘ออร์ซอน เวนเจอร์ส’ (ORZON Ventures) ด้วยมูลค่าการลงทุนเริ่มแรก 25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และสามารถเพิ่มเป็นไม่เกิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
– กองทุน ORZON บริหารโดยทีมผู้บริหาร 500 TukTuks เพื่อคัดเลือกสตาร์ทอัพใหม่ ๆ ในระดับซีรีส์ A-B ที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเข้าไปลงทุนเริ่มต้นรายละ 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 50 ล้านบาท) สามารถเพิ่มได้อีก
– สาเหตุที่ OR ตั้งเป็น Private Fund ลงทุนสตาร์ทอัพ เพื่อลดขั้นตอนการขออนุมัติบอร์ดบริษัทในตลาดฯ มีความคล่องตัวสูง และสามารถช่วย ‘คนตัวเล็ก’ สตาร์ทอัพที่เพิ่งเริ่มลงทุนหรือมีไอเดียทำธุรกิจ ซึ่งเป็นเรื่องลำบากที่จะเข้าไปลงทุนในนาม OR ที่อาจต้องมีตัวเลขรายได้ให้เห็นก่อน โดยมีมืออาชีพ 500 TukTuks มาช่วยคัดเลือกสตาร์ทอัพให้
ทำไม OR สนใจลงทุนสตาร์ทอัพ
คุณกระทิง เรืองโรจน์ พูนผล ผู้บริหารกองทุน 500 TukTuks ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันต้องเรียกว่าเป็น “ยุคทอง” สตาร์ทอัพอาเซียน เห็นได้จากกองทุน 500 TukTuks ซึ่งเป็นกองทุนระดับโลกลงทุนในสตาร์ทอัพทั่วโลก มีทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้การลงทุน 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ มียูนิคอร์น 33 ตัว มีมูลค่ารวม 140 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ณ ไตรมาส 2/2021) เฉพาะในอาเซียนมียูนิคอร์น 5 ตัว มูลค่า 47 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
– กองทุน 500 TukTuks ลงทุนตั้งแต่ปี 2015 ถึงปัจจุบันเติบโต 6 เท่า ทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้การลงทุนจาก 450 ล้านบาท เพิ่มเป็น 3,000 ล้านบาท มีบริษัทในพอร์ตลงทุน 80 บริษัท ใน 10 ประเทศ
– ในประเทศไทยได้เข้าไปลงทุนกับผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพไทย 150 คน ที่สร้างรายได้ระดับหมื่นล้านบาท มีผู้ใช้งานสตาร์ทอัพเหล่านี้ 12 ล้านคน เกิดการจ้างงาน 30,000 ตำแหน่ง สร้างการเรียนรู้ให้นักเรียนนักศึกษา 7 ล้านคน
– จากการสำรวจคาดว่าอีก 10 ปีจากนี้ สตาร์ทอัพในภูมิภาคอาเซียนจะมีมูลค่ากว่า 4 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ มียูนิคอร์นเพิ่มขึ้นอีกกว่า 40 ตัว เหมือนประเทศจีนเมื่อ 10 ปีก่อน หลังจากนี้ไปจึงถือเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นสำหรับสตาร์ทอัพไทยและอาเซียน
– นี่จึงถือเป็นจังหวะที่ดีของ OR ในการเข้ามาลงทุนสตาร์ทอัพ ตั้งแต่ Early Stage โดยมีเป้าหมายพาสตาร์ทอัพไทยและอาเซียน ไปให้ไกลเกินเส้นขอบฟ้า (Beyond Any Horizons) ทั้งการขยายไปต่างประเทศ การขยายข้ามขอบเขตธุรกิจ และเร่งการเติบโตอย่างรวด เพราะ OR จะเป็นแพลตฟอร์มช่วยสนับสนุนมากกว่าการเป็นพันธมิตร (Beyond Partnership)
สตาร์ทอัพแบบไหนเข้าตา ORZON
– กองทุน ORZON จัดตั้งขึ้นเพื่อตอบโจทย์วิชั่นการลงทุน New S-Curve ใหม่ของ OR ด้าน Mobility และ Lifestyle ดังนั้นต้องมีสตอรี่ Synergy ธุรกิจกับ OR ได้
-“โออาร์ มองว่าทุกความเคลื่อนไหวของคน OR ขอเป็นส่วนหลักๆ ที่อยู่ในชีวิตผู้คน เช่นเดียวกับไลฟ์สไตล์ ก็เป็นอีกทิศทางที่ OR เน้นลงทุน ทั้งด้าน Health, Wellness, การท่องเที่ยว ที่สอดคล้องกับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหลักของประเทศที่สร้างรายได้จากกลุ่มนี้เป็นหลัก”
– สตาร์ทอัพที่กองทุน ORZON มองหาเป็นกลุ่มแรก จะมีทั้งที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับ OR และธุรกิจใหม่ๆ ด้าน Mobility & Lifestyle หรือธุรกิจที่ตอบโจทย์คนเดินทางในอนาคต (Mobility) และการใช้ชีวิตทุกไลฟ์สไตล์ อาทิ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) ค้าปลีก (Retail) การท่องเที่ยว (Travel) สุขภาพ (Health and Wellness) รวมไปถึง Digital Lifestyle
– คาดว่ากองทุน ORZON จะเริ่มลงทุนได้ในเดือนพฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป การลงทุนต่อรายเฉลี่ย 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 50 ล้านบาทต่อราย เน้นการลงทุนซีรีส์ A และอาจจะขยับไปซีรีส์ B เนื่องจากเป็นการลงทุนในซีรีส์ A หลักเกณฑ์เลือกสตาร์ทอัพ คงต้องมีโปรดักท์ วางตลาด มีลูกค้าและรายได้อยู่ก่อนแล้ว (ราว 10-20 ล้านบาท เพื่อรับเงินลงทุนใหม่ระดับ 50 ล้านบาทไปขยายธุรกิจ)
– ในปี 2564 น่าจะลงทุนได้ 2 ราย ระยะเวลากองทุน 10 ปี คาดว่าจะลงทุนได้ 20-30 บริษัท ในพอร์ตโฟลิโอการลงทุนของ 500 TukTuks เอง ก็มีสตาร์ทอัพที่มีโอกาสจะได้รับเงินสนับสนุนจาก ORZON รวมทั้งสตาร์ทอัพใหม่ๆ ที่ตรงกับธีมลงทุนของ OR
สตาร์ทอัพได้อะไรจาก OR
– สตาร์ทอัพจะได้เงินทุนจาก ORZON ที่สำคัญสามารถเติบโตได้ดีบน OR Ecosystem ซึ่งมีแพลตฟอร์มพร้อมรองรับอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น สถานีบริการน้ำมัน PTT Station กว่า 2,000 แห่ง ร้านกาแฟ Cafe Amazon กว่า 3,500 สาขา ร้านสะดวกซื้อในปั๊มน้ำมันพีทีที เครือข่ายธุรกิจที่ OR เข้าไปลงทุนในอาเซียนและจีนแล้ว 10 ประเทศ ทั้งหมดคือแพลตฟอร์มที่สตาร์ทอัพสามารถเข้ามาปลั๊กอินได้ทันที และเป็นโอกาสรับเงินทุนขยายธุรกิจและเติบโตแบบก้าวกระโดด
– ส่วนสตาร์ทอัพใหม่ สามารถใช้แพลตฟอร์ม OR เป็นเวทีเริ่มทดลองไอเดียหรือคอนเซ็ปต์ธุรกิจใหม่ก่อนลงทุนจริงได้ รวมทั้งโอกาสขยายการลงทุนในต่างประเทศ ผ่านเครือข่ายของ OR ในอาเซียนเพื่อเข้าถึงประชากร 600 ล้านคน
– “โออาร์เปรียบเหมือนเป็นยักษ์ใหญ่ สตาร์ทอัพที่เข้าไปลงทุน จะได้ยืนอยู่บนไหล่ของของพี่ใหญ่และเติบโตได้ก้าวกระโดด จากอีโคซิสเต็มทั้งในไทยและต่างประเทศของโออาร์ เชื่อว่า The Next Chapter สตาร์ทอัพไทยเริ่มขึ้นแล้ว”
โอกาสของ OR ในสตาร์ทอัพ
– ส่วน OR จะได้อะไรจากการลงทุนในสตาร์ทอัพ หากดูแนวโน้มการเติบโตของสตาร์ทอัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอีก 10 ปีข้างหน้า ที่คาดว่าจะมีมูลค่า 4 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ นั่นคือโอกาสของ OR
– “เปรียบโออาร์เป็นยักษ์ใหญ่ ให้สตาร์ทอัพคนตัวเล็ก ที่มีสายตากว้างไกล มาเกาะอยู่บนไหล่ พวกเขาก็จะเห็นโอกาสใหม่ๆ และนำโอกาสนั้นเข้ามาให้โออาร์ด้วย สตาร์ทอัพเองก็ขยายธุรกิจได้ด้วย เป็นความร่วมมือแบบ win win ทุกฝ่าย เราหวังว่าทั้งโออาร์ และ ORZON จะเป็นลมใต้ปีก ให้สตาร์ทอัพไทย บินได้ไกลและสูงขึ้น สิ่งที่จะเห็นตามมาคือ ประเทศไทย มีองค์กรช่วยให้สตาร์ทอัพขยายธุรกิจได้ ก็จะกลับมาช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโต”
– เบื้องต้นการลงทุนในสตาร์ทอัพของ ORZON ไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อราย แต่หากสตาร์อัพเติบโต OR พร้อมจะเข้ามาลงทุน (JV) ด้วย และสเต็ปต่อไปคือพาสตาร์ทอัพไทย IPO
“การร่วมลงทุนของ ORZON จะเป็นรันเวย์ สนับสนุนสตาร์ทอัพไทยไปไกลถึงระดับ IPO เชื่อว่า 3-5 ปีจากนี้จะเห็นยูนิคอร์น ในพอร์ตที่ ORZON ลงทุน”
– ประเมินกันว่าใน 10 ปีข้างหน้า อาเซียนจะมียูนิคอร์น 20-30 ตัว เป้าหมายของ ORZON คือต้องการมีส่วนแบ่งในมาร์เก็ตแชร์ยูนิคอร์นกลุ่มนี้ให้มากกว่าตัวเลข GDP ประเทศไทย
“นอกจากสร้างยูนิคอร์นแล้ว อยากเห็นธุรกิจไทยเติบโตไปได้ยั่งยืน เมื่อเรามียักษ์ใหญ่อย่าง OR ได้แล้ว ก็ต้องการมียักษ์เล็กอีกหลายบริษัทและสร้างให้เป็นบริษัทเหมือน OR เป็น The next OR ที่ Invested by OR และ Supported by OR นั่นคือความฝันของผมในการทำ ORZON” คุณกระทิง สรุปเป้าหมายของกองทุน
สุดท้ายสิ่งที่ ORZON ลงทุนได้เข้ามาช่วยเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมประเทศไทย ให้เป็น Next Generation Business ของประเทศ โดยใช้ OR เป็นแพลตฟอร์ม จากนี้ในอีก 10 ปีข้างหน้าคงต้องมาดูกันว่าจะสามารถเปลี่ยนทศวรรษหน้า (Next Decade) ของสตาร์ทอัพไทยได้หรือไม่