นายวิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ตัวแทนกลุ่มองค์กรผู้ก่อตั้ง “โรงพยาบาลสนามแสงแห่งใจ” กล่าวว่า ตั้งแต่ มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ในรอบที่ 3 นี้ มีผู้ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ประชาชนเองก็มีการติดเชื้อในระดับหลายหมื่นคนต่อวัน ภาคเอกชนจึงได้ร่วมกันจัดตั้งโรงพยาบาลสนามขนาด 450 เตียง ขึ้นมาพร้อมรับผู้ป่วยระดับสีเขียวและสีเหลือง โดยใช้ชื่อว่า “โรงพยาบาลแสงแห่งใจ” เกิดจากแนวคิดที่ว่า พวกเราทุกคน ต้องช่วยกัน จุดแสงสว่าง คนละเล็กคนละน้อย เพื่อจุดประกายความหวังให้ประเทศไทย เดินก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้ เราจึงตั้งชื่อ โรงพยาบาลแห่งนี้ว่า “แสงแห่งใจ” เพื่อสะท้อนถึงความตั้งใจ ของผู้ก่อตั้งทั้ง 7 องค์กร ที่อยากเสริมสร้างวัฒนธรรมดีๆ ให้คนไทยทุกภาคส่วน ร่วมกันแก้ไขปัญหา ซึ่งสื่อถึงแสงสว่างที่ออกมาจากใจของผู้ให้ และ แสงสว่างที่เป็นเสมือนความหวังในใจของผู้ที่ทุกข์ใจ
นอกจากนี้ เมื่อ 1 เดือนที่แล้ว ทางเรายังได้จัดตั้งโครงการ “ศูนย์รวมปันสุข” ขึ้นเพื่อช่วยเหลือร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากการที่ไม่สามารถเปิดร้านได้ตามปกติ รวมถึงชุมชนที่ขาดแคลนอาหาร ซึ่งเมื่อถึงจุดที่ มีโรงพยาบาลสนาม จึงได้รวมศูนย์ปันสุขเข้ามาอยู่ภายใต้โครงการโรงพยาบาลสนาม ซึ่งจะยังคงเดินหน้า ช่วยเหลือต่อไปตามเจตนารมย์และเพิ่มการจัดอาหารให้ผู้ป่วยทุกมื้อตลอดระยะเวลา 4 เดือน
ซึ่งจากผู้เริ่มก่อตั้ง 7 องค์กร ได้แก่ โรงพยาบาลในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์, MQDC, อีอีซี เอ็นจิเนียริ่ง เน็ทเวิร์ค, ทีแอนด์บี มีเดีย โกลบอล และมูลนิธิธนินท์ เทวี เจียรวนนท์, มูลนิธิอริยวรารมย์, มูลนิธิพุทธรักษา ได้ขยายมามีพันธมิตรและผู้สนับสนุนกว่า 30 องค์กร อาทิเช่น มูลนิธิเอสซีจี (SCG) ได้ให้การสนับสนุนเตียงกระดาษจำนวน 600 เตียง และยังมีอุปกรณ์ก่อสร้างอื่นๆ
ทาง CP และ MK ให้การสนับสนุนด้านอาหารผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์ตลอดระยะเวลา 4 เดือน รวมถึงทาง TRUE ที่ได้จัด WIFI เพื่อให้ผู้ป่วยได้ใช้ในระหว่างการรักษาพยาบาล และอีกหลายๆ องค์กร เสมือนแสงที่มาช่วยให้ความสว่างออกมาจากใจ
นพ. อธิวัฒน์ น้อยประสิทธิ์ Chief Performance Coach, Risk and Quality Officer บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามแสงแห่งใจ กล่าวว่า แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยยังมีระดับผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ทีมแพทย์ก็รู้สึกมีกำลังใจในการบริหารงาน เพราะได้รับมอบน้ำใจจากเพื่อนๆ ในวงการธุรกิจที่ช่วยกันสนับสนุนการดำเนินงานหาสถานที่เพื่อให้โรงพยาบาลได้มีโอกาสที่จะรักษาผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้น ผมทราบดีว่า ในท่ามกลางที่เราหลายคนอาจรู้สึกหมดหวังไม่เห็นหนทางที่จะออกจากปัญหาโรคระบาดเช่นนี้ การเปิดโรงพยาบาลสนามแสงแห่งใจนี้ นับว่าเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะเป็นทั้งที่รักษาตัว และเป็นจุดที่ได้สื่อสารไปยังผู้ป่วยและครอบครัว ให้รู้สึกมีความหวังเพราะการอยู่ด้วยความหวัง และ กำลังใจนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลดีต่อการรักษาผู้ป่วย รวมถึงสภาพจิตใจของคนในครอบครัวผู้ป่วยที่ต่างก็รอความหวังว่าญาติมิตรของเขามีโอกาสที่จะหายป่วย เมื่อรักษาตัวในโรงพยาบาลสนามแห่งนี้
การให้บริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาลสนามแสงแห่งใจ จะมีทีมแพทย์เฉพาะทางและพยาบาลจากกลุ่มโรงพยาบาลพิษณุเวชได้แก่ รพ.พิษณุเวช พิษณุโลก รพ.พิษณุเวช พิจิตร และ รพ.พิษณุเวช อุตรดิตถ์ ซึ่งอยู่ในในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ ให้การดูแล ซึ่งในทางการแพทย์ที่รพ.สนาม เราใช้บุคลากรทางการแพทย์ที่คอยดูแล ทั้งหมดกว่า 50 ชีวิต มีห้องฉุกเฉิน รวมทั้ง Oxygen High flow Pipeline จำนวนมากถึง 76 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีแนวโน้มจะเป็นสีเหลือง-แดง ที่พร้อมในการดูแลผู้ป่วยวิกฤติในโรงพยาบาลสนาม และมีเตียงผู้ป่วยวิกฤตที่โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ห่างเพียง 5 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางไม่ถึง 10 นาที
ขอแจ้งว่า “โรงพยาบาลสนามแสงแห่งใจ พร้อมเปิดรับผู้ป่วยที่ลงทะเบียนผ่าน Website หรือ Call Center เท่านั้น” โดยทางโรงพยาบาลได้ทำ Work Flow ให้มีความสะดวก รวดเร็ว ในการที่จะติดต่อประสานกับผู้ป่วย โดยกระบวนการคือ การลงทะเบียนจะเปิดรับลงทะเบียนในวันที่ 7 สิงหาคม เป็นต้นไป เมื่อลงทะเบียนแล้ว ข้อมูลผู้ป่วยจะถูกส่งเข้าไปที่ Assessment Center เพื่อประเมินอาการ โดยหากเข้าข่าย Home Isolation ทางโรงพยาบาลจะรับเข้าเป็นผู้อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาล ตามกระบวนการของ Home Isolation หากเข้าข่ายที่จะรับเข้าโรงพยาบาลสนามได้ จะมีทีมงานประสานในการรับการส่งตัวผู้ป่วย เพื่อเช็คอินเข้าโรงพยาบาลสนาม หรือส่งต่อฮอสปิเทล แต่หากมีอาการที่ค่อนข้างหนัก จะพิจารณารับเข้าก็รับการรักษาที่โรงพยาบาลหรือส่งต่อโรงพยาบาลเครือข่าย
หลักการพิจารณาการจะใช้เรียงตามลำดับผู้ที่ลงทะเบียนเข้ามาตามระบบ โดยจะต้องแนบผลการตรวจมาด้วย โดยเมื่อเปิดแล้วโรงพยาบาลคาดว่า รับผู้ป่วยได้เต็มภายใน 4- 5 วันแรก และจากนั้นจะมีการหมุนเวียนตามจำนวนผู้ป่วยที่ได้กลับบ้าน นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลสนามนี้ได้นำหุ่นยนต์ปิ่นโต มาช่วยในการบริการและใช้ Application ไข่ต้ม แคร์ (Kaitomm Care) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วย และเพิ่มความปลอดภัยของบุคคลากรทางการแพทย์อีกด้วย
ในวันที่ 8 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เป็นประธานในการตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสนามแสงแห่งใจ และชมการสาธิตการรักษาพยาบาลด้วยระบบ telemedicine tablet “ไข่ต้ม ฮอสพิทอล” (Kaitomm Hospital) และหุ่นยนต์ “ปิ่นโต” ในการสื่อสารกับผู้ป่วย โดยมีนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ นายแพทย์นนท์ จินดาเวช รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ นายณัฐพงศ์ แตงสุวรรณ นายกเทศมนตรีเมืองบางแก้ว ร่วมเยี่ยมชมเป็นคณะที่ 1เพื่อขอบคุณภาคเอกชนและให้คำแนะนำ ให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ในการทำงานช่วยแบ่งเบาภาระของภาครัฐ โดยมีคณะผู้บริหารโรงพยาบาลแสงแห่งใจนำโดย ดร.สาธิต วิทยากร กรรมการผู้จัดการบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัดในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ PRINC และ นายวิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) นพ.อธิวัฒน์ น้อยประสิทธิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล พร้อมคณะ พาเยี่ยมชม ณ ที่ตั้งโรงพยาบาลสนามแสงแห่งใจ ซอยวัดคลองปลัดเปรียง ถนนบางนาตราด กม.5
และในวันเดียวกัน ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในการตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสนามแสงแห่งใจ มี นายแพทย์พรณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ และนายณัฐพงศ์ แตงสุวรรณ นายกเทศมนตรีเมืองบางแก้ว ร่วมเยี่ยมชม และดูการสาธิตการรักษาพยาบาลด้วยระบบ telemedicine tablet “ไข่ต้ม ฮอสพิทอล” (KaitommHospital) และหุ่นยนต์ “ปิ่นโต” ในการสื่อสารกับผู้ป่วย เป็นคณะที่ 2 เพื่อขอบคุณภาคเอกชนและให้คำแนะนำ ให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ในการทำงานช่วยแบ่งเบาภาระของภาครัฐ โดยโรงพยาบาลสนามแสงแห่งใจมีกำหนดเปิดรับผู้ป่วยที่ลงทะเบียนผ่านระบบ และได้รับการคัดกรองแล้ว เข้ามารักษาตัวเป็นวันแรกที่โรงพยาบาลในวันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2564
บริการที่จัดให้บริการในโรงพยาบาลสนาม
- การบริการทางการแพทย์ เทียบเท่ากับการเข้ารักษาที่ โรงพยาบาล
– มีพยาบาล คอยดูแล 24 ชั่วโมง โดยใช้ระบบ telemedicine tablet “ไข่ต้ม ฮอสพิทอล” (KaitommHospital) ที่พัฒนาโดยบริษัท โอโบดรอยด์ คอร์ปอเรชั่น ในการสื่อสารกับผู้ป่วย
– ได้นำเทคโนโลยี ในด้านเครื่องปรับอากาศ all fresh air ไม่มีการหมุนเวียนอากาศซ้ำ
– ใช้ “หุ่นยนต์ปิ่นโต” ที่ร่วมพัฒนาโดยบริษัท โอโบดรอยด์ คอร์ปอเรชั่น ส่งอาหาร เครื่องดื่ม และยา มาช่วยเหลือในงานแพทย์และพยาบาล เพื่อลดความเสี่ยงในการทำงานของเจ้าหน้าที่
– มีอุปกรณ์ยังชีพ มอบให้กับผู้ป่วยทุกท่าน เพื่ออำนวยความสะดวก ให้กับผู้ป่วยเมื่อเวลาผู้ป่วยเข้ามาเช็คอินและตลอดเวลาที่อยู่ที่โรงพยาบาลสนาม
- ศูนย์รวมปันสุข จัดอาหาร3 มื้อให้กับผู้ป่วย
– มีการจัดอาหาร 3 มื้อให้กับผู้ป่วย และแพทย์พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยมี MK และ CP เป็นพันธมิตรหลักด้านอาหาร
– นอกจากนี้ ยังมีอาหาร และของว่างระหว่างวัน ให้กับผู้ป่วย
- การดูแลรักษาความปลอดภัย
– ใช้ระบบ CCTV และระบบ Security คอยดูแลความปลอดภัยภายในโรงพยาบาลสนาม ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
– นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนในด้านการดูแลความปลอดภัยจากหน่วยงานราชการในพื้นที่
- อื่น ๆ
– Internet และ Wifi สนับสนุนจาก True ทำให้ผู้ป่วยได้ใช้ได้ฟรี เพื่อที่ให้ผู้ป่วยได้ลดความเครียดลง
– มีพื้นที่สันทนาการ ที่จะมีโทรทัศน์โดยได้รับ Content Support มาจาก True Vision รวมไปถึง Code พิเศษ เพื่อให้ผู้ป่วย สามารถดาวน์โหลด Application และดูจากมือถือของตัวเองได้
ผู้ร่วมก่อตั้งโรงพยาบาลสนาม ได้แก่ โรงพยาบาลในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์, MQDC, ทีแอนด์บี มีเดีย โกลบอล, อีอีซี เอ็นจิเนียริ่ง เน็ทเวิร์ค และมูลนิธิธนินท์ เทวี เจียรวนนท์,มูลนิธิอริยวรารมย์, มูลนิธิพุทธรักษา
การลงทะเบียนผู้ป่วยเพื่อรับการประเมินเข้าโรงพยาบาลสนาม สามารถทำได้ 2 ช่องทาง คือ Website : www.โรงพยาบาลสนามแสงแห่งใจ.com และ โทร 02-116-7888 ทางโรงพยาบาลตั้งมั่นที่จะช่วยแบ่งเบาภาระภาครัฐในการที่จะรับผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด