HomeDigitalเปิดยุค Industry 4.0 ของจริง “ทรู – เอไอเอส” จับมือพาร์ทเนอร์ดัน “Smart Factory” ยกระดับอุตสาหกรรมไทย

เปิดยุค Industry 4.0 ของจริง “ทรู – เอไอเอส” จับมือพาร์ทเนอร์ดัน “Smart Factory” ยกระดับอุตสาหกรรมไทย

แชร์ :

shutterstock_smart factory

ท่ามกลางการระบาดอย่างหนักของ Covid-19 ในประเทศไทยขณะนี้ เชื่อว่าภาพหนึ่งที่เกิดขึ้นคือการชะงักงันของภาคการผลิตจำนวนมาก เนื่องจากขาดแคลนกำลังคน ซึ่งในอีกด้านหนึ่งก็มีความพยายามของผู้ให้บริการ 5G ของไทยอย่าง ทรู คอร์ปอเรชั่น และเอไอเอส กับการนำเครือข่าย 5G มาสร้างโซลูชัน Smart Factory หรือโรงงานอัจฉริยะ ทั้งเพื่อตอบโจทย์นโยบาย Industry 4.0 ของรัฐบาล และช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมก้าวข้ามความท้าทายครั้งนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นกัน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สำหรับความพยายามที่เกิดขึ้น ในฝั่งของ ทรู คอร์ปอเรชั่น คือการจับมือกับ Mitsubishi Electric เจ้าของแพลตฟอร์ม e-F@ctory และบริษัทเลิศวิลัยแอนด์ซันส์ มาร่วมพัฒนาเป็นโซลูชันสำหรับสายการผลิตอัจฉริยะเพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมไทย

ดึงจุดแข็ง e-F@ctory มาใช้ในไทย

จุดเด่นของระบบ e-F@ctory นั้น คุณวิเชียร งามสุขเกษมศรี กรรมการบริหาร บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า มาจากแพลตฟอร์มชื่อ iQ platform ที่สามารถเชื่อมการทำงานของเครื่องจักรเข้ากับระบบ IT ได้โดยตรง จึงสามารถรายงานผลได้แบบเรียลไทม์จากหน้างาน ที่สำคัญ ระบบดังกล่าวมีการพัฒนาและใช้งานจริงมาแล้วกว่า 10 ปีในประเทศญี่ปุ่น และมีการปรับใช้แล้วกับโรงงานทั่วโลกกว่า 10,000 แห่ง 

คุณวิเชียร งามสุขเกษมศรี กรรมกาผู้จัดการบริษัทมิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น ประเทศไทย จำกัด

คุณวิเชียร งามสุขเกษมศรี กรรมกาผู้จัดการบริษัทมิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น ประเทศไทย จำกัด

คุณวิเชียรยังได้ยกตัวอย่างโรงงานที่ติดตั้งระบบ e-F@ctory ในจังหวัดนาโงย่า ประเทศญี่ปุ่นว่า สามารถสร้างได้แม้ในพื้นที่ขนาดเล็กมาก เนื่องจากเป็นโรงงานแบบ Automation ไม่มีมนุษย์ในโรงงาน จึงสามารถวางสายการผลิตได้ติด ๆ กัน โดยไม่ต้องเว้นทางเดินสำหรับพนักงานมนุษย์อีกต่อไป

“ส่วนในประเทศไทย ทางมิตซูบิชิได้สร้างโรงงานต้นแบบของ e-F@ctory ไว้ใน EEC โดยมีการร่วมมือกับทรู คอร์ปอเรชั่น ด้วยการนำเทคโนโลยี 5G มาเพิ่มประสิทธิภาพให้กับโรงงานในการวางแผนการผลิต การปรับปรุงคุณภาพ การลดต้นทุนการผลิต การควบคุมค่าใช้จ่าย และการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลด้วย” 

mitsubishi factory automation

หุ่นยนต์สำหรับการผลิตอัตโนมัติของมิตซูบิชิ (ภาพของ Brandbuffet ห้ามนำไปใช้ก่อนได้รับอนุญาต)

สร้างบุคลากรเพิ่มปีละ 6,000 คน

ส่วนในด้านบุคลากรที่จะมาควบคุมโรงงานอัจฉริยะนั้น ทาง Mitsubishi Electric มองว่าประเทศไทยยังมีความขาดแคลน ที่ผ่านมา จึงได้จัดทำหลักสูตรด้าน Automation & Robotic เพื่อฝึกอบรมนักศึกษาไทยในสถาบันต่าง ๆ ให้มีความเชี่ยวชาญ จะได้เข้ามาดูแลภาคอุตสาหกรรมไทยในอนาคตได้ด้วย โดยทางบริษัทเผยว่า สามารถฝึกอบรมบุคลากรได้ถึงปีละ 6,000 คนเลยทีเดียว

ด้าน ดร.ประพิณ อภินรเศรษฐ์ กรรมการบริหาร บริษัท เลิศวิลัยแอนด์ซันส์ จำกัด หนึ่งในพันธมิตรของ Mitsubishi Electric ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Automation และ Industrial Robot ได้กล่าวเสริมถึงเทคโนโลยีของบริษัทที่สามารถนำมาช่วยสร้าง Industry 4.0 ให้ประเทศไทย นั่นคือหุ่นยนต์ AMR (Autonomous Mobile Robot) ซึ่งหาก 5G พร้อม และ AMR พร้อม การสร้าง Smart Factory ก็สามารถเกิดขึ้นได้จริงอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ เมื่อถามถึงกลุ่มเป้าหมายที่ทางมิตซูบิชิ – ทรู – เลิศวิลัย มองเห็น พบว่ามีทั้งกลุ่มธุรกิจจากต่างประเทศที่กำลังจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และกลุ่มโรงงาน SME ที่ถึงเวลาปรับปรุงเป็นโรงงานอัตโนมัติ โดยประเทศไทยมีโรงงานในลักษณะดังกล่าวประมาณ 300,000 แห่ง และคาดว่าในแต่ละปีจะมีโรงงานที่พร้อมลงทุนประมาณ 10,000 – 20,000 แห่ง คิดเป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท

เอไอเอส x Omron สร้างโรงงานที่ผลิตได้แบบยืดหยุ่น

omron smart factory1

ขณะที่ AIS Business 5G ก็มีการจับมือกับค่าย Omron ยักษ์ใหญ่ด้าน Smart Factory จากประเทศญี่ปุ่น พัฒนาโซลูชันออกมาตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมไทยเช่นกัน โดยจุดที่  AIS Business 5G และ Omron มองว่าเป็นความท้าทายก็คือ ประเทศไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางเทคโนโลยี โรงงานต่าง ๆ กำลังเผชิญกับการผลิตที่ต้องการความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งหากโรงงานไม่สามารถปรับเปลี่ยนการผลิตได้อย่างยืดหยุ่น (เช่น เปลี่ยนจาก Product A เป็น Product B ได้อย่างรวดเร็ว) จะกลายเป็นต้นทุนสำคัญของโรงงานในอนาคตได้

นอกจากนั้น สิ่งที่เป็นความท้าทายของโรงงานยังมีเรื่องของค่าแรงที่เพิ่มขึ้น และการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะด้วย

ความท้าทายอีกประการหนึ่งที่โรงงานต้องแบกรับคือ โรงงานที่แม้จะเป็นการผลิตแบบ Local แต่ก็ต้องผลิตให้มีมาตรฐานสูงมากพอที่จะตอบโจทย์ตลาดโลกได้ด้วย ทั้งหมดนี้ AIS และ Omron จึงมองว่าการปรับตัวสู่ Smart Factory อาจเป็นทางออกสำหรับผู้ประกอบการในอนาคต

สำหรับเทคโนโลยีของ Omron นอกจากจะมีระบบอัจฉริยะชื่อ ILOS+S แล้ว บริษัทยังมีอุปกรณ์สำหรับโรงงานอัตโนมัติกว่า 200,000 รายการที่สามารถช่วยสร้างสายการผลิตที่มีความยืดหยุ่นได้มากขึ้น รวมถึงการตรวจจับด้วย Sensors หรือกล้องความละเอียดสูง เพื่อเก็บข้อมูลที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต และนำไปประมวลผลด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อใช้คาดการณ์ความผิดปกติ และนำไปสู่การแก้ไขก่อนเกิดปัญหาต่าง ๆ ได้ 

ais omron smart factoryคุณศิริวรรณ คูอัมพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออมรอน อีเลคทรอนิคส์ จำกัด เผยว่า ที่ผ่านมา พบการลงทุนในหุ่นยนต์ เทคโนโลยีดิจิทัล และ AI ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เฉพาะหุ่นยนต์พบการลงทุนมากกว่า 2,000 ล้านบาท แม้อยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 และทาง Omron คาดการณ์ว่าในปีนี้ก็จะเติบโต 20 – 30% ด้วยเช่นกัน 

ส่วนกลุ่มเป้าหมายที่ทาง AIS Business 5G และ Omron มองเห็นว่าจะขยับตัวมาสู่โรงงานอัจฉริยะนั้น หลัก ๆ คือ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ กลุ่มผู้ผลิตอุปกรณ์ดิจิทัล กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดัคเตอร์ ตลอดจน อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องอุปโภค และยา 

ด้านคุณธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหาร กลุ่มลูกค้าองค์กร  AIS Business กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือ (MOU) ครั้งนี้ระหว่าง AIS และ Omron จะเปิดขีดความสามารถใหม่ให้กับภาคอุตสาหกรรม บนโครงสร้างพื้นฐาน 5G และดิจิทัลเทคโนโลยีที่ช่วยปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต อาทิ 

  • ความสามารถในการผลิตสินค้าที่มีความหลากหลายและยืดหยุ่นต่อข้อกำหนด (Flexible Manufacturing) 
  • การลดต้นทุนการผลิตสินค้าจำนวนน้อย (Small Lot Size Production) 
  • การสอบย้อนกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรม (Traceability)
  • ระบบซ่อมบำรุงเชิงรุก (Predictive Maintenance) 

“ด้วยโซลูชันบนโครงสร้างพื้นฐาน 5G Private Network ที่มีความปลอดภัย สามารถควบคุมต้นทุนได้ รวมถึงการนำเทคโนโลยีควบคุมระยะไกลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้เพิ่มความแม่นยำ ลดเวลาสิ้นเปลืองการใช้แรงงานทำให้บุคลากรสามารถใช้เวลากับการทำงานด้านอื่นได้มากขึ้น ซึ่งทั้งหมดคือภาพของการผลิตแบบอัจฉริยะ หรือ Smart Manufacturing นั่นเอง” 

ผู้บริหารเอไอเอสยังคาดการณ์ด้วยว่า จะมีการลงทุนสร้าง 5G Smart Factory ในประเทศไทย คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐในอีกไม่เกิน 5 ปีข้างหน้าเลยทีเดียว


แชร์ :

You may also like