HomeBrand Move !!Zense แจงยังคุยไม่จบ! หลังสมาคมฟุตบอล “ยกเลิก” สัญญาลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด “ไทยลีก” 1.2 หมื่นล้าน

Zense แจงยังคุยไม่จบ! หลังสมาคมฟุตบอล “ยกเลิก” สัญญาลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด “ไทยลีก” 1.2 หมื่นล้าน

แชร์ :

Zense Entertainment เซ้นส์

การประกาศคว้าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลไทย จากสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย เป็นเวลา 8 ปี ตั้งแต่ฤดูกาล 2021-2028 ด้วยมูลค่า 12,000 ล้านบาท ของ เซ้นส์ เอนเตอร์เทนเมนท์ (Zense Entertainment) ผู้ผลิตรายการทีวีที่มี คุณเอ-วราวุธ เจนธนากุล เป็นเจ้าของ เรียกความสนใจจากแวดวงกีฬาอย่างมาก

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ทั้งจากตัวเลขเม็ดเงิน 12,000 ล้านบาท ที่ประมูลชนะคู่แข่ง 14 ราย และความเป็น “หน้าใหม่” ไม่มีประสบการณ์ในการทำคอนเทนท์กีฬามาก่อน

ตามสัญญานี้ Zense ได้รับสิทธิ์ในการเป็นผู้ดูแลและบริหารลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดผ่านสื่อต่างๆ ของฟุตบอลไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ  ลีกที่ได้สิทธิ์ คือ ฟุตบอลทีมชาติไทย ทุกชุด ทุกรุ่น ทั้งชายและหญิง และ FUTSAL ทีมชาติ ทั้ง ชาย – หญิง , TOYOTA THAI LEAGUE,  CHANG FA CUP,  LEAGUE CUP,  M-150 แชมเปี้ยนชิพ,  ออมสิน League Regional Championship ,  ฟุตบอล League หญิง ,  ฟุตซอล League ชาย-หญิง , ESPORTS , FANTASY LEAGUE

สมาคมฯ ยกเลิกสัญญา Zense ไม่วางแบงก์การันตีตามนัด

ความเคลื่อนไหวเรื่องลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยลีก ที่จะเริ่มฤดูกาล 2021/22 ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 สำหรับ “โตโยต้าไทยลีก” กับ “M-150 แชมเปี้ยนชิพ” และวันที่ 4 กันยายน 2564 สำหรับ “ไทยลีก 3”

พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และบริษัท ไทยลีก จำกัด ได้ประชุมร่วมกันวันนี้ (4 มิถุนายน) และได้ข้อสรุปว่าผู้ถือลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดไทยลีก หรือ Zense ได้ทำสัญญากันเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ซึ่งตามสัญญา Zense ต้องวางหลักประกันเป็นหนังสือค้ำประกันของธนาคารให้ไทยลีก ในวันที่ 31 มกราคม 2564

แต่ Zense ไม่ได้ส่งมอบให้ตามเงื่อนไขและเวลา ตามที่ระบุไว้ในสัญญา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญกับไทยลีกเนื่องจากไทยลีกมีหน้าที่หลักต้องหารายได้เพื่อใช้จ่ายในการจัดแข่งขัน และสนับสนุนสมาคมฯ กับสโมสรสมาชิก

ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงในกรณีคู่สัญญาประพฤติผิดสัญญา จึงได้กำหนดเงื่อนไข เงื่อนเวลา ให้คู่สัญญาต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน (แบงก์ การันตี) ก่อนที่จะมีการปฏิบัติตามเนื้อหาของสัญญากันต่อไป เพราะสัญญานี้ มีมูลค่าสูงถึง 12,000 ล้านบาท มีระยะเวลายาวนานถึง 8 ปี

แต่ Zense  ซึ่งเป็นคู่สัญญาไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญา โดยไม่วางหลักประกันตามเงื่อนไขและตามเวลาที่กำหนด จึงมีการทวงถามให้คู่สัญญาดำเนินการหลายครั้ง แต่เมื่อไม่ดำเนินการ ประกอบกับมีการขอเจรจา ปรับค่าลิขสิทธิ์ ลดลงหลายร้อยล้านบาท  เนื่องจากอยู่ในสถานการณ์โควิด-19  จึงได้รับผลกระทบจากการหาสปอนเซอร์  ซึ่งทางสมาคมฯและไทยลีกได้พิจารณาและให้โอกาส Zense ในการขอลดค่าลิขสิทธิ์ปีที่ 1 และ 2

กำหนดวันเซ็นสัญญาใหม่และชำระเงินค่าลิขสิทธิ์งวดแรก ในวันที่ 1 มิถุนายน 2564 เมื่อถึงกำหนด Zense ก็ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญาได้อีก ที่ผ่านมาสมาคมกับไทยลีก พยายามประนีประนอมและผ่อนปรนเรื่อยมา แต่ Zense ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้  จึงได้แจ้ง “ยกเลิก”สัญญากับ Zense แล้ว

ปี 64 สมาคมฯ บริหารลิขสิทธิ์เอง เตรียมหาคู่สัญญาใหม่

สำหรับการแข่งขันไทยลีก ในฤดูกาล 2021/22  ซึ่งเหลือเวลาอีกไม่มากก่อนจะเริ่มแข่งขันในเดือนกรกฎาคมนี้ สมาคมฯ และไทยลีก จะเป็นผู้บริหารลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดเองก่อน  โดยการแข่งขัน ไทยลีก T1 หรือ “โตโยต้าไทยลีก” จะมีการถ่ายทอดสดทาง “ทีวีดิจิทัล” บางคู่ และถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์ OTT ครบทุกคู่ ส่วนไทยลีก T2 และ T3  ถ่ายทอดสดทางออนไลน์  สำหรับช่องทางการถ่ายทอดสดจะแจ้งรายละเอียดอีกครั้งก่อนการแข่งขันเริ่ม

หลังจากนี้สมาคมฯ และไทยลีก จะมีเจรจากับผู้สนใจซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลไทยลีก ฤดูกาลต่อไป อีกครั้ง

Zense ออกแถลงการณ์ยังคุยไม่จบยึดสัญญาเดิม 

หลังจากช่วงเช้าวันนี้ (4 มิถุนายน) สมาคมฟุตบอลไทย และไทยลีก ได้แถลงข่าวยกเลิกสัญญาลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกับ Zense แล้ว ต่อมาฝั่ง Zense ได้ออกแถลงการณ์เผยแพร่ทางเฟซบุ๊กเพจ Zense Football ดังนี้

ตามที่สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สมาคมฟุตบอลฯ) และ บริษัท ไทยลีก จำกัด (ไทยลีก) ได้แถลงข่าวเรื่องการยกเลิกสัญญาให้สิทธิและการแพร่เสียงแพร่ภาพกับทางบริษัท เซ้นส์ เอนเตอร์เทนเมนท์ (เซ้นส์) นั้น

เซ้นส์ ขอชี้แจงให้ทุกฝ่ายทราบว่า เซ้นส์ ยังยึดมั่นในสัญญาเดิมที่มีต่อสมาคมฟุตบอลฯ และ ไทยลีก ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนากีฬาฟุตบอลไทย โดยจะเห็นได้จากการที่ เซ้นส์ เข้ามารับผิดชอบดำเนินการและสำรองค่าใช้จ่ายล่วงหน้าในการถ่ายทอดสดฤดูกาลที่ผ่านมา (2020) เพื่อช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าให้กับสมาคมฟุตบอลฯ และไทยลีกในขณะนั้น เป็นต้น

ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทางเซ้นส์และสมาคมฟุตบอลฯ และไทยลีก ได้เจรจาร่วมกันเพื่อแก้ไขเงื่อนไขบางประการในสัญญาเดิมที่คู่สัญญาทุกฝ่ายเห็นควรว่าต้องมีการปรับแก้เพื่อให้เหมาะสมกับเงื่อนไขในการปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินการตามสัญญาฉบับเดิมด้วยกันทุกฝ่าย ตลอดจนถึงสโมสรต่างๆ และฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

โดยถึงปัจจุบันยังมีเงื่อนไขบางประการที่ยังไม่ได้ข้อสรุปเป็นลายลักษณ์อักษรจากทางสมาคมฟุตบอลฯ และไทยลีก ทางเซ้นส์ ยังคงรอคำตอบและความคืบหน้าจากการแก้ไขสัญญาฉบับเดิมอยู่ ทำให้เซ้นส์ไม่สามารถวางหนังสือค้ำประกันได้ตามที่ได้เจรจาตกลงกัน

ทั้งนี้ เซ้นส์มีความพร้อมที่จะวางเงินประกันได้หากแนวทางการแก้ไขสามารถสรุปได้ เซ้นส์ไม่คาดคิดว่าทางสมาคมฟุตบอลฯ และไทยลีกจะมีการแถลงข่าวยกเลิกสัญญาในวันนี้

ทาง เซ้นส์ ได้ลงทุนและเสียค่าใช้จ่ายไปแล้วเป็นจำนวนมาก รวมทั้งได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมในการถ่ายทอดสดไว้ทุกด้านแล้วและยังหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการปฎิบัติตามสัญญาที่ยังคงมีอยู่ต่อไปและพร้อมที่จะหาทางออกที่ดีให้กับทุกฝ่ายเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่วงการฟุตบอลไทยและผ่านวิกฤตโควิดไปด้วยกัน

zense football

ย้อนดูเหตุผลทำไม Zense กล้าประมูลลิขสิทธิ์ 1.2 หมื่นล้าน

ในวันที่ Zense ประกาศตัวเป็นผู้ชนะประมูลชิงลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยลีกปีก่อน คุณเอ-วราวุธ ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง  Zense  มองโอกาสจากการสร้าง บิสซิเนส โมเดล ใหม่ในกลุ่ม Sport Content ที่มีฐานแฟนประจำ

จุดแข็งของ “กีฬา” เป็นคอนเทนท์ที่ต้องดูสด และกีฬาที่มีคนติดตามดูมากที่สุดคือ ฟุตบอล จึงทำให้ Zense ตัดสินใจเข้าร่วมประมูลลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยลีก ร่วมกับพาร์ทเนอร์ Eleven Sports ซึ่งเป็นบริษัท Global Sports Media Service ด้านแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชั่นกีฬาระดับโลกจากประเทศอังกฤษ

เป้าหมายการถือลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลไทย 8 ปี  Zense จะทำให้คนดูฟุตบอลไทยลีกมากขึ้น พร้อมทั้ง สร้างคอมมูนิตี้ผ่านแอป FCBALLTHAI ที่จะมีคอนเทนท์ฟุตบอลไทยลีกทุกมุม ทั้ง คลิปภาพการแข่งขัน สถิติข้อมูล ภาพไฮไลต์

เขามองว่าการบริหารลิขสิทธิ์ฟุตบอลให้มีมูลค่าสูงขึ้น คือการสร้างคอมมูนิตี้คนรักฟุตบอลให้เพิ่มขึ้น และประเมินว่าฐานผู้ชมที่ติดตามสโมสรต่างๆ ทั่วประเทศมีกว่า 10 ล้านคน นี่คือกลุ่มที่สามารถต่อยอดสู่การขายสินค้าสำหรับแฟนบอลได้

ด้วยเม็ดเงินลงทุนมหาศาล 12,000 ล้านบาท กับลิขสิทธิ์ฟุตบอลไทยลีก เฉลี่ยต้นทุนในคอนเทนท์กีฬาราว 1,500 ล้านบาทต่อปี  ยอมรับว่าการหารายได้ในช่วง 2 ปีแรก คงต้องอยู่ในภาวะขาดทุน แต่ปีที่ 3 หลังจากสร้างฐานคนดู OTT ได้แล้ว ธุรกิจกีฬาน่าจะสร้างรายได้ปีละ 800-1,000 ล้านบาท มาจาก OTT 60-70% และโฆษณา 30% ยังไม่รวมรายได้จากการขายสินค้า

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ Zense  กล้าใส่ตัวเลขประมูลลิขสิทธิ์ฟุตบอลไทยลีกระยะเวลา 8 ปี มูลค่า 12,000 ล้านบาท

อ่านเพิ่มเติม


แชร์ :

You may also like