HomeBrand Move !!“แบงก์ชาติ” คาดเศรษฐกิจไทยฟื้นปี ’66 – “เดอะมอลล์” เสนอ Reposition ท่องเที่ยวไทย เน้นต่างชาตินักช้อป

“แบงก์ชาติ” คาดเศรษฐกิจไทยฟื้นปี ’66 – “เดอะมอลล์” เสนอ Reposition ท่องเที่ยวไทย เน้นต่างชาตินักช้อป

แชร์ :

The Mall Group

ถึงวันนี้เป็นเวลา 1 ปีครึ่งแล้วที่ COVID-19 ยังคงอยู่กับคนทั่วโลก ยิ่งสำหรับประเทศไทย การระบาดระลอก 3 รุนแรงยิ่งกว่าระลอกที่ผ่านๆ มา สร้างผลกระทบมหาศาลทั้งกับเศรษฐกิจไทย ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME และวิถีชีวิตของผู้คน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

กุญแจสำคัญจึงอยู่ที่ “วัคซีน COVID-19 ทั้งสปีดในการจัดหา และกระจายการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงอย่างรวดเร็ว ควบคู่ไปกับภาครัฐมีมาตรการเยียวยา ให้กับผู้ประกอบการสามารถประคองธุรกิจต่อไปได้ และมาตรการฟื้นฟู เพื่อเตรียมความพร้อมภาคธุรกิจในวันที่สถานการณ์คลี่คลาย และกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมา

 

แบงก์ชาติ คาดเศรษฐกิจไทยฟื้นไตรมาสแรก ปี 2566 – ยกระดับมาตรการ Soft Loan

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในงานโครงการ “ประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ” จัดโดยเดอะมอลล์ กรุ๊ปว่า การแพร่ระบาดของ COVID-19 นับเป็นวิกฤติสาธารณสุขที่ส่งผลในวงกว้างและได้ทดสอบความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะสำหรับ SMEs และรายย่อยมาตลอดระยะเวลาเกือบปีครึ่ง

เศรษฐกิจไทยในปี 2563 หดตัวเกือบจะมากที่สุดในภูมิภาค จากการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบรุนแรง อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอก 3 และการกระจายวัคซีนที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้คาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลา ซึ่งอาจต้องรอถึงไตรมาสแรกของปี 2566 กว่าจะกลับมาสู่ระดับก่อน COVID-19  

การระบาดที่เกิดขึ้นหลายระลอกและมาตรการที่ออกมาควบคุม ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสะดุดเป็นช่วง ๆ  ส่งผลต่อไปยังกำลังซื้อ และกิจกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค ธุรกิจในภาคการค้าและบริการโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ได้รับผลซ้ำเติมต่อเนื่อง

ความรุนแรงของผลกระทบและความทนทานของธุรกิจต้องวัดกันที่สายป่านเป็นสำคัญ บางธุรกิจที่สายป่านสั้น ต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว หลายธุรกิจขาดรายได้ กระทบสภาพคล่องทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ ทำให้ในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกตินี้ ธุรกิจ SMEs จึงต้องการความช่วยเหลือเยียวยาโดยเร่งด่วน”

Bank of Thailand

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐ รวมถึง ธปท. ได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบ แต่มาตรการช่วยเหลือเดิมจึงไม่เพียงพอ ภาครัฐจึงยกระดับ (step up) ความเข้มข้นของมาตรการเพื่อให้ช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ซึ่ง

ล่าสุด ธปท. ได้ร่วมกับกระทรวงการคลังออกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูสำหรับผู้ประกอบธุรกิจ โดยได้ปลดล็อกข้อจำกัดของ พ.ร.ก. soft loan เดิม ให้ลูกหนี้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น คือ

  1. ขยายขอบเขตของลูกหนี้ให้รวมผู้ที่ไม่เคยมีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินมาก่อน
  2. ขยายเวลาการให้ความช่วยเหลือให้ยาวขึ้น จากเดิม 2 ปี เป็น 5 ปี ให้สอดคล้องกับการที่ธุรกิจต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว
  3. ขยายวงเงินให้เพียงพอรองรับความต้องการของลูกหนี้ จากเดิมที่ร้อยละ 20 ของยอดคงค้างสินเชื่อที่เบิกใช้ในปัจจุบัน เป็นร้อยละ 30 ของวงเงินสินเชื่อ
  4. กำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสมและเอื้อต่อการปล่อยสินเชื่อ แต่เฉลี่ยแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี โดยดอกเบี้ยในช่วง 2 ปีแรกจะอยู่ที่ร้อยละ 2 ต่อปี และลูกหนี้จะได้รับยกเว้นค่าดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก
  5. เพิ่มกลไกค้ำประกันโดย บสย. และเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันความเสียหายของกลไกดังกล่าว จากปกติที่ร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 40 ของความเสียหายที่จะเกิดขึ้น โดยออกแบบให้กลุ่ม SMEs รายเล็ก ได้รับการค้ำประกันในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากส่วนใหญ่มีสภาพคล่องไม่มากหรือมีสายป่านสั้น และต้องใช้ระยะเวลานานในการฟื้นตัว
Thailand SME

เมืองท่องเที่ยวของไทย ในวันที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซบเซาจาก COVID-19 (Credit Photo : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand)

 

4 ภาคส่วนต้องผนึกกำลัง

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า มองไปข้างหน้า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะต้องใช้เวลา ทำให้ต้องเร่งแก้ปัญหาเรื่องสภาพคล่องของ SMEs ไม่ให้ลุกลามไปกว่านี้ ซึ่งทั้ง 4 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ สถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ และ SMEs ต้องทำงานร่วมกัน และยกระดับบทบาทของตนในการช่วยให้ SMEs ได้รับสภาพคล่องอย่างทันการณ์

– ภาครัฐและ ธปท. มีบทบาทในการช่วยลดความเสี่ยงภาพรวมของ SMEs โดยได้เตรียมความพร้อมและเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการฟื้นฟู โดยได้ขยายเงื่อนไขและเพิ่มกลไก บสย. ในการรองรับความเสี่ยงที่สูงขึ้นตามที่ได้เรียนข้างต้นแล้ว

สถาบันการเงิน มีบทบาทในการประสานงานและเชื่อมต่อข้อมูลจากผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ และปรับแนวทางการประเมินความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อ

– ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ มีบทบาทสำคัญในการประสานความช่วยเหลือระหว่างสถาบันการเงิน กับคู่ค้ารายย่อย รวมทั้งสนับสนุนข้อมูลของคู่ค้าที่เดิมยากที่จะเข้าถึงให้กับสถาบันการเงิน เพื่อประกอบการประเมินสินเชื่อและความเสี่ยงให้ได้ภาพครบถ้วนขึ้น

– ธุรกิจ SMEs ควรปรับตัวเตรียมพร้อมเพื่อให้อยู่รอดและมีโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนสภาพคล่อง โดยอาจยกระดับการจัดการธุรกิจ เช่น การจัดการเรื่องการเงินและบัญชีให้ได้มาตรฐาน รวมถึงนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยบริหารจัดการต้นทุน กำไร และ stock สินค้าได้ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับข้อมูลฐานะการเงินของ SMEs และเพิ่มความมั่นใจให้กับสถาบันการเงินในการพิจารณาความเสี่ยงด้วย

การประสานพลัง และการนำข้อมูลที่มีอยู่แล้ว มาใช้ประโยชน์ร่วมกัน เพื่อลดข้อจำกัดข้างต้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายได้มากขึ้น ทั้งธุรกิจ SMEs เอง ที่จะได้รับความช่วยเหลือ ผู้ประกอบธุรกิจ ที่จะมีคู่ค้าที่แข็งแกร่ง สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้เร็วเมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ สถาบันการเงิน ที่จะมั่นใจขึ้นในการปล่อยสินเชื่อและขยายฐานลูกค้า และสุดท้าย คือ ภาครัฐที่สามารถยื่นความช่วยเหลือไปสู่ผู้ที่ต้องการได้ดียิ่งขึ้นด้วย”

SMEs

Credit Photo : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

 

“เดอะมอลล์” ชี้วัคซีนคือความหวังคนไทย เสนอหลังโควิด “Repositioning การท่องเที่ยวไทย” โฟกัสนักท่องเที่ยวคุณภาพ เน้นใช้จ่าย

คุณศุภลักษณ์  อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ประเมินกำลังซื้อ และความเชื่อมั่นของคนไทยว่า ความเชื่อมั่นของคนไทย และอารมณ์การจับจ่ายจะกลับมา มาจาก 2 ส่วนหลักๆ ประกอบกันคือ  1. วัคซีน COVID-19 เพราะวัคซีนเป็นความหวังของคนไทยทั้งประเทศ และ 2. ธนาคารจะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจได้มากน้อยอย่างไร

ดังนั้น ถ้าเมื่อไรที่มีความชัดเจนในเรื่องวัคซีน และสถาบันการเงินสร้างความเชื่อมั่นว่าจะไม่ทอดทิ้งผู้ประกอบการ จะเพิ่มความมั่นใจให้กับคนไทย และธุรกิจ SME

Luxury Product ในช่วง COVID-19 ขายดีกว่าก่อน COVID-19 เพราะคนไทยไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศ กำลังซื้อจึงมาจากคนรวย แต่ระดับกลาง และล่าง รวมทั้ง SMEs รายย่อย กลุ่มเหล่านี้ Suffer เพราะฉะนั้นวัคซีนจึงเป็นเรื่องใหญ่ในการสร้างความเชื่อมั่น สร้างกำลังใจการค้าขายได้ จึงขึ้นอยู่กับว่าตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ถ้ากระจายวัคซีนได้มาก จะเพิ่ม Mood การจับจ่าย และความหวังการค้าขายจะกลับมา”

The Mall Group

คุณศุภลักษณ์  อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด

คุณศุภลักษณ์ มองต่อไปถึง Post COVID-19 ในการฟื้นภาคการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักในการสร้างรายได้ให้กับประเทศว่า

“หลังจากสถานการณ์ COVID-19 เราจะทำอย่างไรให้ดึงการลงทุนเข้ามาในไทย และการเกิด COVID-19 ส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยว เช่น โรงแรม และภาคบริการต่างๆ ทรุดตัวหนักมาก ดังนั้น เราต้อง Repositioning กลยุทธ์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย จากทุกวันนี้การท่องเที่ยวของไทย อยู่กับการใช้ทรัพยากรเดิม โปรดักต์เดิม เราไม่มีโปรดักต์ใหม่ ไม่มี Artificial Attraction

ดังนั้น เราต้องรู้จุดแข็งการท่องเที่ยวของไทย และทำให้คนไทย และคนต่างชาติที่เข้ามา ไม่ใช่แค่มาเที่ยว แต่มาใช้เงินด้วย อย่างการโฟกัสตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพ ซึ่งเป็นกลุ่มที่การใช้จ่าย”

Thailand Tourism

Credit Photo : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

 

4 มาตรการ “เดอะมอลล์ กรุ๊ป” จับมือภาครัฐ และธนาคาร

ภายใต้โครงการ “ประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ” เดอะมอลล์ กรุ๊ป ได้กำหนด 4 มาตรการ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการฝ่าวิกฤต COVI-19  ประกอบด้วย

1. มาตรการรณรงค์ “ฉีดวัคซีน เพื่อชาติ”

ผนึกความร่วมมือเอกชนทุกภาคส่วน  สนับสนุนภาครัฐเพื่อให้การฉีดวัคซีน COVID-19 เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและเร่งด่วน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและก้าวข้ามวิกฤตินี้

– จัดตั้งหน่วยความร่วมมือบริการฉีดวัคซีน COVID-19  ด้วยงบประมาณกว่า 200 ล้านบาท สนับสนุนพื้นที่  6 สาขา แบ่งเป็นพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้แก่ เดอะมอลล์ บางกะปิ เดอะมอลล์ บางแค ดิ เอ็มโพเรียม และสยามพารากอน พื้นที่จังหวัดนนทบุรี ได้แก่ เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ งามวงศ์วาน  และพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ เดอะมอลล์ โคราช รวมกว่า 16,800 ตร.ม.

โดยจะดำเนินการระหว่างเดือนพฤษภาคม  ถึงธันวาคม 2564  คาดว่าจะบริการฉีดวัคซีนได้วันละ 2,000 – 5,000 คน / สาขา รวมทุกสาขา 12,000 คน / วัน หรือ 400,000 คน /เดือน

– จัดหาเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร เพื่อช่วยดูแลความเรียบร้อยระหว่างดำเนินงาน  พร้อมสนับสนุนชุดอาหาร-เครื่องดื่ม สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และจัดหาอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ ตลอดการดำเนินงาน

2. มาตรการ “บริจาค ฟันฝ่าวิกฤตการณ์โควิด-19”

– ร่วมบริจาคเงิน และ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ให้กับ 5 โรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลราชวิถี และสถาบันบำราศนราดูร เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ที่สำคัญทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วย

– ร่วมบริการจัดส่งอาหารกล่อง รสชาติอร่อย สด สะอาด ปลอดภัย ส่งตรงถึงบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล รวมกว่า 30,000 ชุด

– ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจจัดทำ “ชุดกำลังใจ” ซึ่งภายในประกอบด้วยสินค้าอุปโภค – บริโภค และสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวัน มอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 10,000 ชุด  พร้อมบริจาค “ถุงน้ำใจ ช่วยชุมชน” เพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤต COVID-19  

– โครงการบริจาคโลหิตเพื่อศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เพื่อร่วมบรรเทาการขาดแคลนโลหิตสำรอง  ผ่านห้องรับบริจาคโลหิตที่เดอะมอลล์ ทุกสาขา และดิ เอ็มโพเรียม โดย เดอะมอลล์ กรุ๊ป

– ร่วมเป็นหนึ่งในภาคีโครงการ “วัคซีนเพื่อคนไทย” ของมูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผนึกกำลังพันธมิตรธุรกิจ เชิญชวนพนักงาน และลูกค้า ร่วมแรงร่วมใจสนับสนุนนักวิจัยไทย ค้นคว้า วิจัย และผลิตวัคซีนต้านไวรัส COVID-19

The Mall Group

3.มาตรการ “สนับสนุน SME และเกษตรกรไทย”

เปิดพื้นที่เดอะมอลล์ทุกสาขาตลอดทั้งปี เป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้า เพื่อช่วยระบายสินค้าภาคเกษตรกรรมภาคอุตสาหกรรมแปรรูป ภาควิสาหกิจชุมชน OTOP ตลอดจน SME

4.มาตรการ “ประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ”

ขานรับนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย ผนึกกำลังภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมกับสถาบันการเงินชั้นนำ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารออมสิน ร่วมเป็นพันธมิตรเพื่อสนับสนุนสินเชื่อฟื้นฟู Soft Loan และเพิ่มศักยภาพ ให้ผู้ประกอบการ ร้านค้า ซัพพลายเออร์ SMEs ผู้ประกอบการรายย่อย กว่า 6,000 ราย ได้เข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟูเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย และรักษาการจ้างงาน เพื่ออนาคตเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างยั่งยืน

เดอะมอลล์ กรุ๊ป จะเป็นตัวกลางประสานงานรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นของผู้ประกอบการธุรกิจ ร้านค้า ซัพพลายเออร์ SMEs ที่ต้องการเข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟูให้กับแต่ละธนาคาร และประสานการจัดประชุมในวาระต่อไป ระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจกับแต่ละธนาคาร เพื่อรับทราบมาตรการ ข้อมูลและรายละเอียด เพื่อให้ได้รับการพิจารณาวงเงินได้อย่างรวดเร็ว จากนั้นเข้าสู่กระบวนการขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อของแต่ละธนาคาร ซึ่งธนาคารจะติดต่อตรงกับผู้ประกอบการธุรกิจที่ยื่นขอวงเงินแต่ละราย เพื่อให้ผู้ประกอบการก้าวข้ามวิกฤตการณ์ COVID-19 ในสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ไปด้วยกัน

The Mall Group x BOT x Banks


แชร์ :

You may also like