HomeInsightเทรนด์รักษ์โลกมาแรง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ ลูกค้ายอมจ่ายสินค้า-บริการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ในราคาไม่เกิน 20% จากปกติ

เทรนด์รักษ์โลกมาแรง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ ลูกค้ายอมจ่ายสินค้า-บริการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ในราคาไม่เกิน 20% จากปกติ

แชร์ :

จากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่นับวันทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฝุ่น PM 2.5 สภาพอากาศแปรปรวน ตลอดจนภาวะภัยแล้ง และน้ำท่วม ส่งผลให้ผู้บริโภคยุคใหม่เริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาใช้สินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นโจทย์ท้าทายให้แบรนด์ต้องเร่งปรับกลยุทธ์เพื่อให้สินค้าและบริการตอบโจทย์ความต้องการรักษ์โลกของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจพฤติกรรมและมุมมองผู้บริโภคต่อปัญหาและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อค้นหาทัศนคติของผู้บริโภคต่อเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมถึงพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้ารักษ์โลก เพื่อให้แบรนด์ต่างๆ ได้เข้าใจ และเตรียมแผนรับมือสร้างธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมให้กับโลกใบนี้อย่างยั่งยืน

พฤติกรรมผู้บริโภค “รักษ์โลก” เพิ่มขึ้น

จากผลการสำรวจ พบว่า กว่าร้อยละ 50 ของผู้ที่ตอบแบบสำรวจ มองว่า ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมาก โดยปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคมากที่สุด ได้แก่ ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ของเสียและขยะ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพและทำให้มีค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น รองลงมา คือ สภาพอากาศที่ร้อนขึ้นและอากาศแปรปรวน รวมถึงภัยธรรมชาติต่างๆ เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม เป็นต้น

สอดคล้องกับประมาณการของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่เคยประเมินไว้ในปี 2563 ในกรอบระยะเวลา 1 เดือน ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ทำให้คนกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ (ค่ารักษาพยาบาล ค่าหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์เจลล้างมือ และเครื่องฟอกอากาศ) ราว 2,000-3,000 ล้านบาท หรือมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 200- 300 บาทต่อคนต่อเดือน (ไม่รวมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับโควิด) สัญญาณดังกล่าวส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาตระหนัก และตื่นตัวกับประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น

จากการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคมีการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่อาจช่วยลดการสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นการงดหรือลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วทิ้ง เช่น ขวดน้ำพลาสติก ถุงพลาสติก และหันมาเลือกใช้บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ง่าย เช่น กล่องข้าวที่ทำจากชานอ้อย ถุงพลาสติกที่ทำจากมัน สำปะหลัง หรือหลอดดูดที่ทำจากกระดาษ หรือแม้แต่การเดินทางโดยรถสาธารณะแทนรถส่วนตัว เป็นต้น ขณะที่ร้านค้าปลีกต่างๆ โดยเฉพาะค้าปลีก Modern trade ก็มีการงดการใช้ถุงพลาสติก และรณรงค์ ให้ผู้บริโภคใช้ถุงผ้าแทนเวลาออกไปจับจ่ายใช้สอยเป็นต้น

ลูกค้ายอมจ่ายสินค้า-บริการรักษ์โลกในราคาไม่เกิน 20% จากปกติ

แม้เทรนด์รักษ์โลกจะมีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภคมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ แต่ผลสำรวจพบว่า ผู้บริโภคร้อยละ 65 ของผู้ที่ตอบแบบสำรวจ มีความเห็นว่า สินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม น่าจะเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยและควรสนับสนุน ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนยังไม่ตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการดังกล่าว เนื่องจากกังวลในเรื่องราคาที่มองว่าอาจจะสูงกว่าสินค้าปกติทั่วไป และไม่มั่นใจว่าสินค้าและบริการดังกล่าว สามารถลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้จริง จึงทำให้การตอบรับในสินค้าและบริการกลุ่มนี้ยังไม่กว้างขวางมากนักและกระจุกตัวอยู่ในสินค้าบางกลุ่มที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น อาหารและเครื่องดื่มบางประเภท รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า

ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นในตัวผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดหรือแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้จริง เช่น การให้ข้อมูลที่ช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์แก่ผู้บริโภคผ่านการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ หรือการแสดงฉลากที่บ่งบอกถึง การรักษ์สิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการจะต้องจำหน่ายสินค้าและบริการในราคาไม่สูงมากนัก โดยราคาจะต้องจำหน่ายอยู่ในกรอบระหว่าง 1%-20% (ขึ้นอยู่กับประเภทสินค้า) เนื่องจากผลการสำรวจ พบว่า ผู้บริโภคกว่าร้อยละ 55 ของผู้ที่ตอบแบบสำรวจเต็มใจที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในราคาที่แพงกว่าสินค้าปกติทั่วไปไม่เกิน 20% ขึ้นอยู่กับชนิดของสินค้า รองลงมา คือ ผู้บริโภคเต็มใจที่จะจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในราคาเท่าเดิมหรือไม่แตกต่างจากสินค้าปกติทั่วไปร้อยละ 25 ของผู้ที่ตอบแบบสำรวจ

หากธุรกิจสามารถผลิตสินค้าและบริการในราคาไม่แตกต่างเมื่อเทียบกับราคาสินค้าปกติทั่วไป ก็จะจูงใจให้ผู้บ้ริโภคหันมาซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกบัสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และถึงแม้ว่าราคาของสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะมีราคาสูงกว่าสินค้าทั่วไปตามท้องตลาดอยู่บ้าง แต่เมื่อผู้ประกอบการให้ข้อมูลด้านอื่นๆ เพื่อประกอบกับการตัดสินใจ จะทำให้ผู้บริโภครู้สึกถึงความคุ้มค่าคุ้มราคามากกว่า และอนาคตหากผู้บริโภคหันมาช่วยกันเลือกสนับสนุนสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จะทำให้ราคาจำหน่ายถูกลง หรือไม่ควรแตกต่างไปจากราคาสินค้าปกติทั่วไป

สินค้า FMCG รักษ์โลก มีโอกาสทำยอดขายเพิ่มขึ้น

ผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีโอกาสที่จะทำยอดขายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคมีการซื้อสินค้ามากเป็นอันดับแรก นอกจากสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (ประหยัดไฟเบอร์ 5) ที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้บริโภคมาสักระยะแล้ว

โดยจากการสำรวจ พบว่า ผู้บริโภคกว่าร้อยละ 82 ของผู้ตอบแบบสำรวจ สนใจที่จะหันมาเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในกลุ่มสินค้าอุปโภคและของใช้ส่วนตัวกันมากขึ้น รองลงมาได้แก่ สินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 55 ซึ่งสินค้าทั้ง 2 กลุ่มนี้ จัดเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคใช้เป็นประจำในชีวิตประจำวัน และเนื่องจากสินค้าดังกล่าวมีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกค่อนข้างมาก ซึ่งอาจก่อให้เกิดขยะที่เหลือทิ้งในปริมาณที่สูง บวกกับการใส่ใจเรื่องสุขภาพ ทำให้ผู้บริโภคเริ่มตระหนักและให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับสุขภาพด้วย ทั้งยังทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นกลุ่มที่ผู้บริโภคจะหันมาให้ความสำคัญและเลือกซื้อมากขึ้นในระยะข้างหน้าอีกด้วย

ปัจจุบัน ผู้บริโภคมีการช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากการซื้อสินค้ากลุ่มนี้อยู่บ้างแล้ว เช่น การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นแบบเติม (Refill) ซึ่งผู้บริโภคมองว่า นอกจากจะเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังถือเป็นการช่วยลดขยะที่เป็นพลาสติก ซึ่งน่าจะช่วยแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ผู้บริโภคบางส่วนยังหันมาเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ง่ายตามธรรมชาติ เช่น บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากสินค้าเกษตร (มันสำปะหลัง ชานอ้อย ฟางข้าวสาลีกาบหมาก ฯลฯ) รวมถึงเริ่มสนใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติหรือของที่นำมากลับมาใช้ใหม่ ซึ่งหากผู้ประกอบการหันมารุกทำตลาดกลุ่มสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ก็น่าจะช่วยจูงใจให้ผู้บริโภคสนใจที่จะเลือกซื้อสินค้าและบริการดังกล่าวมากขึ้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การจะแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นนั้นอาจจะต้องใช้เวลา รวมถึงความต่อเนื่อง และความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน โดยภาครัฐควรมีการผลักดันและสนับสนุนนโยบายต่างๆ ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมาตรการจูงใจให้ผู้ผลิตหันมาผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การลดหย่อนภาษี วงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การช่วยเหลือเรื่องเงินทุนและเครื่องจักร รวมถึงช่วยทำการตลาดให้กับผู้ประกอบการเพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าและบริการ เช่น สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ ขณะเดียวกันหากผู้ผลิต (โดยการสนับสนุนของรัฐ) จะช่วยปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต หรือการบรรจุภัณฑ์ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก็น่าจะดีกว่าการผลักภาระไปให้ผู้บริโภคตัดสินใจว่าจะยอมจ่ายแพงขึ้นหรือไม่

ขณะเดียวกัน ยังมองด้วยว่า การปรับตัวและความร่วมมือดังกล่าวของทุกฝ่าย ไม่เพียงแต่จะรองรับกับตลาดในประเทศที่หันมาให้ความสำคัญและรักษ์สิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น แต่ยังหมายถึงโอกาสในการขยายตลาดไปยังตลาดส่งออกหรือตลาดโลกที่ทุกคนต่างหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องของความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) กันค่อนข้างมากและจะมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหากสินค้าและบริการของไทยยังไม่ปรับตัว ไปสู่การเป็นสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก็อาจจะนำมาซึ่งความ “ท้าทาย” และความ “ยากลำบาก” ในการแข่งขันกับคู่แข่งในอนาคต

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand


แชร์ :

You may also like