HomeInsightCisco เปิดผลวิจัย พบ “ไซเบอร์ซีเคียวริตี้” โจทย์ใหญ่เอสเอ็มอี’2021

Cisco เปิดผลวิจัย พบ “ไซเบอร์ซีเคียวริตี้” โจทย์ใหญ่เอสเอ็มอี’2021

แชร์ :

shutterstock_economic sme covid business

ธุรกิจเอสเอ็มอีถือเป็นธุรกิจที่ได้รับความสนใจมาตลอดในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นหนึ่งในแกนหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจและเศรษฐกิจที่มีศักยภาพ แต่เอสเอ็มอีก็ได้รับผลกระทบอย่างมากจาก Digital Disruption และ Covid-19 เช่นกัน ซึ่งในวันนี้ พวกเขาเจออะไรมาบ้าง และกำลังรับมือกับเปลี่ยนแปลงผ่านการลงทุนเทคโนโลยีในรูปแบบใดกันอยู่ มีผลการศึกษาจาก Cisco ที่จัดทำโดย Analysys Mason ออกมาบอกเล่าให้ฟังกันแล้ว

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

รายงานดังกล่าวเป็นการอ้างอิงผลการสำรวจที่จัดทำโดย Analysys Mason และได้มีการสอบถามความคิดเห็นจากผู้บริหารระดับสูงในสายงานธุรกิจ และไอทีของเอสเอ็มอี 1,600 ราย ซึ่งมีพนักงาน 50 ถึง 150 คน ใน 8 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และประเทศไทย ระบุว่า 41% ของเอสเอ็มอีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) มองว่าการเตรียมระบบเพื่อรองรับการทำงานจากที่บ้านของพนักงาน ถือเป็นกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยีที่สำคัญที่สุด ที่จะช่วยให้เอสเอ็มอีบรรลุเป้าหมายในการดำเนินงานและการขยายกิจการในปี 2021

สำหรับสาเหตุของการลงทุน รายงานดังกล่าวระบุว่า มาจากสภาพแวดล้อมในการทำงานได้เปลี่ยนไปสู่การทำงานแบบไฮบริดแล้วเรียบร้อย ดังนั้นเอสเอ็มอีในภูมิภาคนี้จึงมีแผนที่จะลงทุนในโซลูชั่นเทคโนโลยีเพื่อรองรับแนวโน้มดังกล่าว

cisco sme investment

ข้อมูลคาดการณ์ของ Analysys Mason ระบุว่ายอดใช้จ่ายสะสมในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ของเอสเอ็มอี ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะสูงเกิน 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐในช่วงระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2020 – 2024 โดยจีน ญี่ปุ่น และอินเดีย ครองสัดส่วน 3 ใน 4 ของยอดใช้จ่ายดังกล่าว

เมื่อพิจารณาแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการผลิตจะครองสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของยอดใช้จ่ายด้านไอซีที เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมภาคเอกชนทั้งหมดในภูมิภาคนี้

นอกจากนั้น รายงานดังกล่าวยังพบว่า 21% ของเอสเอ็มอีมองว่า “การใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย” คือเป้าหมายทางธุรกิจที่สำคัญที่สุดในปีนี้ (ภายใน 12 เดือนข้างหน้า) ส่วนเป้าหมายรองลงมาคือ ใช้เทคโนโลยีในการขยายธุรกิจไปสู่ตลาดใหม่ ๆ (16%)

ในมุมของเอสเอ็มอีไทย ความท้าทายที่สำคัญที่สุดคือ การมองหาช่องทางอื่น ๆ ในการขายและจัดส่งสินค้า (59%) ตามมาด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพของพนักงาน (50%)

อย่างไรก็ดี จากชาร์ตด้านล่างจะพบว่ามีความแตกต่างกันพอสมควรระหว่าง Emerging Markets กับ Mature Markets โดย Mature Markets จะให้ความสำคัญกับการหาช่องทางการขายใหม่ ๆ น้อยกว่ามาก

cisco02

ในจุดนี้ คุณทวีวัฒน์ จันทรเสโน รักษาการกรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน บริษัท ซิสโก้ อธิบายว่า แบรนด์ที่อยู่ใน Mature Markets นั้น มีการใช้เทคโนโลยีและช่องทางการขายใหม่ ๆ พร้อมแล้ว พวกเขาจึงหันไปให้ความสำคัญกับการสร้างรายได้ในช่วง Pandemic เป็นสำคัญ ขณะที่ตลาด Emerging Market การใช้ช่องทางใหม่ ๆ ยังมีน้อยกว่า แบรนด์จึงพยายามหาช่องทางการขายใหม่ ๆ เพิ่มเติมนั่นเอง

ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ความท้าทายของ SME

ในรายงานดังกล่าวยังเผยด้วยว่า ปัญหาไซเบอร์ซีเคียวริตี้คือความท้าทายที่สุดของธุรกิจเอสเอ็มอี (ธุรกิจขนาดเล็ก 64% ธุรกิจขนาดกลาง 64%) เนื่องจากผู้ใช้ต้องเชื่อมต่อกับระบบขององค์กรในแบบระยะไกล

รองลงมาคือ ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (ธุรกิจขนาดเล็ก 57% ธุรกิจขนาดกลาง 59%) และการป้องกันมัลแวร์ (ธุรกิจขนาดเล็ก 51% ธุรกิจขนาดกลาง 54%) โดยในระยะแรกของการแพร่ระบาด ธุรกิจเอสเอ็มอี กว่าครึ่งหนึ่งระบุว่าตนเองค่อนข้างพร้อมที่จะรองรับการทำงานจากที่บ้าน (ธุรกิจขนาดเล็ก 57% ธุรกิจขนาดกลาง 54%) ขณะที่ธุรกิจขนาดเล็ก 8% และธุรกิจขนาดกลาง 6% ไม่มีความพร้อม  

นอกจากนี้ เอสเอ็มอียังพบภัยคุกคามทางไซเบอร์หรือการแจ้งเตือนเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาด โดยธุรกิจขนาดเล็ก 62% และธุรกิจขนาดกลาง 75% พบภัยคุกคามทางไซเบอร์หรือการแจ้งเตือนที่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 25% โดยค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 61%

“ล็อกดาวน์” ดึง SME รุกออนไลน์

เนื่องจากมาตรการล็อคดาวน์และข้อจำกัดด้านความปลอดภัย ส่งผลให้ร้านค้าปลีกและสำนักงานต้องปิดตัวลงเป็นการชั่วคราว การมองหาช่องทางอื่น ๆ ในการขายและจัดส่งสินค้าจึงถือเป็นความท้าทายข้อหนึ่งที่รายงานชิ้นนี้บอกว่า เอสเอ็มอี 50% ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

รองลงมาคือปัญหาเรื่องการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน (44%) และการเพิ่มรายได้ (40%) เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้มีการปรับเปลี่ยนช่องทางดิจิทัลในการติดต่อกับลูกค้าเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังกระตุ้นให้เอสเอ็มอีจำนวนมากเปลี่ยนไปใช้ช่องทางการขายออนไลน์ เพื่อให้ธุรกิจมีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยกว่า 3 ใน 4 มองว่าการพัฒนาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างมากสำหรับกลยุทธ์ด้านไอทีของบริษัทในปีนี้

Online

ผลการศึกษายังพบด้วยว่า 59% มองว่า ประสบการณ์ลูกค้า เป็นภารกิจสำคัญสูงสุดสำหรับเอสเอ็มอีในภูมิภาคในการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล โดยเฉพาะเรื่องของประสบการณ์แบบ Contactless ที่บริษัทต้องคิดหารูปแบบใหม่ ๆ ให้เกิดการสื่อสารได้อย่างไร้รอยต่อ และสามารถสร้างความโดดเด่นเหนือคู่แข่งได้พร้อม ๆ กัน

คุณทวีวัฒน์ จันทรเสโน กล่าวเพิ่มเติมว่า “การแพร่ระบาดส่งผลให้วิธีการทำงานเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และองค์กรธุรกิจทุกขนาดทั่วโลกต้องปรับเปลี่ยนไปสู่สภาพแวดล้อมการทำงานจากที่บ้าน ด้วยเหตุนี้ ท่ามกลางสถานการณ์ไม่แน่นอนในปี 2021 ธุรกิจเอสเอ็มอีในไทยควรพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ด้วยการเร่งดำเนินการปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี รวมถึงโซลูชั่นคลาวด์ เพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายซึ่งจะช่วยให้เอสเอ็มอีปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และเสริมสร้างขีดความสามารถได้อย่างเต็มศักยภาพ”

ด้านคุณอัญชลี ธูปเกิด ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายธุรกิจคอมเมอเชียล และเอสเอ็มอีของซิสโก้ ประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน กล่าวว่า “ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ปีนี้ธุรกิจเอสเอ็มอีในประเทศไทยให้ความสำคัญไปกับการจัดเตรียมระบบเพื่อรองรับการทำงานจากที่บ้าน รวมถึงการปรับใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ และการอัพเกรดโซลูชั่นไอทีที่ใช้งานอยู่ เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีเร่งการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซิสโก้จึงได้พัฒนาโซลูชั่นเพื่อการนี้โดยเฉพาะภายใต้ชื่อ Cisco Designed โดยมุ่งเน้นองค์ประกอบ 4 ด้าน คือ การเชื่อมต่อ การทำงานร่วมกัน การประมวลผล และการรักษาความปลอดภัย ซึ่งจะช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถเชื่อมต่อเครือข่ายดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย และทำงานร่วมกันได้อย่างไร้รอยต่อ การเร่งปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในลักษณะเช่นนี้จะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมต่างๆ ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว และทำให้พลิกโฉมอุตสาหกรรมหลักๆ เช่น อุตสาหกรรมการผลิต และภาคธุรกิจอื่นๆ ซึ่งเดิมต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก โดยจะปรับเปลี่ยนไปสู่รูปแบบธุรกิจที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และระบบคลาวด์เป็นหลัก”


แชร์ :

You may also like