HomeBrand Move !!อะไรจะเกิดขึ้น … เมื่อคนอายุยืนมากขึ้นเรื่อย ๆ ?

อะไรจะเกิดขึ้น … เมื่อคนอายุยืนมากขึ้นเรื่อย ๆ ?

แชร์ :

แม้ทุกวันนี้จะมีปัจจัยความเสี่ยงหลายอย่างที่เป็นผลเสียต่อสุขภาพ ตั้งแต่มลภาวะจาก PM 2.5 ที่โผล่มาเป็นระลอก ไปจนถึงวิกฤตโรคระบาดใหญ่ซึ่งไม่อาจมีใครการันตีได้ว่าจะไม่เกิดการระบาดครั้งใหม่แต่ความก้าวหน้าในแวดวงสุขภาพ เทคโนโลยี รวมถึงวิวัฒนาการด้านพันธุกรรม ก็ทำให้มนุษย์สามารถเอาชนะปัจจัยเหล่านี้และมีอายุยืนเฉลี่ยมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกรุ่น (Generation) จนมีบางสำนักออกมาคาดการณ์ว่า รุ่นล่าสุดอย่าง Gen Alpha หรือคนที่เกิดในช่วงปี 2553 – 2567 อาจมีอายุขัยเฉลี่ยที่มากถึง 110 ปี!

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

อย่างไรก็ตาม ขณะที่หลายคนกำลังจริงจังกับการดูแลสุขภาพทั้งของตนเองและคนที่คุณรักเพื่อเฟ้นหาคำตอบว่า ทำอย่างไรให้อายุยืนนั้น เราอาจควรคิดไว้ด้วยว่า ถ้าอายุยืนแล้ว จะวางแผนใช้ชีวิตในช่วงเวลาที่เหลืออยู่อย่างไร?

รุ่นเราจะอายุยืนกว่ารุ่นพ่อแม่ และรุ่นลูกจะอายุยืนกว่าเรา

นายแพทย์ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ รองประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG เล่าถึงภาพรวมการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aging Society) ของทั่วโลกว่า คนส่วนใหญ่จะประเมินอายุขัยตนเองต่ำกว่าความเป็นจริง (Underestimate) ซึ่งจากสถิติในช่วงกว่าศตวรรษที่ผ่านมานั้นคนจะมีอายุขัยโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นทุก Generation โดยรุ่นลูกจะมีอายุยืนกว่าพ่อแม่ประมาณ 5-7 ปี

“เมื่อ 100 ปีที่แล้วหรือประมาณช่วงรัชกาลที่ 5 คนไทยมีอายุขัยเฉลี่ย 37 ปี ส่วนในอเมริกาเหนืออายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 60 ปี โดยในช่วงอายุ 40-50 คนส่วนใหญ่ก็ยังสามารถทำงานได้ปกติ ซึ่งมีเรื่องเล่าว่าตอนนั้นโรงงานผลิตรถยนต์ชื่อดังแห่งหนึ่งก็เริ่มคิดว่าควรจะเลิกจ้างคนตอนอายุเท่าไหร่ แล้วก็มีคนบอกว่างั้นเป็น 60 ปีแล้วกันเพราะเป็นอายุขัยเฉลี่ย จึงเป็นที่มาที่กำหนดว่าทำไมเราถึงเกษียณตอนอายุ 60 ปี และเราก็ใช้ตัวเลขนี้กันทั่วโลกตลอด 100 ปีที่ผ่านมา แต่ปัญหาก็คืออายุของคนเรายาวขึ้นเรื่อย ๆ”

นอกจากแนวโน้มอายุเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นแล้ว นายแพทย์ธนาธิปให้มุมมองว่าแต่ละอาชีพมีช่วงเวลาก้าวหน้า (Peak Performance) ที่ไม่เท่ากัน เช่น อาชีพในสายงานเทคโนโลยีช่วงพีกจะอายุประมาณ 35 ปี หรือถ้าเป็นค้าขายอาจจะต้องผ่านประสบการณ์มาบ้างเป็นช่วง 40-50 ปี แต่อาชีพแพทย์เป็นแบบม้าตีนปลาย Peak Performance อยู่ที่อายุประมาณ 60-70 ปี ดังนั้น การเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี เหมือน 100 ปีที่ผ่านมาจึงอาจไม่เหมาะกับปัจจุบันที่คนส่วนใหญ่มีอายุยืนมากขึ้น

“ผมสังเกตว่าหลายคนพอเกษียณแล้วอยู่บ้านบางทีมันห่อเหี่ยวเร็ว ใครที่ยังพอทำได้ก็อาจจะต้องทำไป เป็นแนวต่ออายุ แต่ลดขอบเขตการทำงานลง สำหรับในบางอาชีพผมคิดว่าการยืดเวลาเกษียณก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ดี อย่างในญี่ปุ่นมีพนักงานต้อนรับหน้าตึกออฟฟิศอายุ 80 ปี และคุณป้าให้ข้อมูลได้เป็นอย่างดีเพราะอยู่บริษัทนี้มาแล้ว 50 ปี รู้จักทุกคน หรือพนักงานโบกรถก็อายุ 70 กว่า หูตาก็ยังดี เป็นพนักงานที่กระตือรือร้น คนกลุ่มนี้ควรจะได้ไปต่อ (Go On) คนสูงวัยสามารถที่จะสร้างคุณค่า (Value) ให้กับตัวเองและสังคมได้ด้วย”

ปัจจุบันอายุขัยเฉลี่ยของคนไทยผู้ชายอยู่ที่ 73 ปี ผู้หญิง 77 ปี และยังมีแนวโน้มที่จะอายุยืนมากขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะคนรุ่นล่าสุดอย่าง Gen Alpha จากปัจจัยต่าง ๆ ที่สนับสนุน ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับสุขภาพโดยตรง และปัจจัยทางอ้อมในการดำรงชีวิต

“มันก็เป็นเพราะหลายองค์ประกอบ สมัยก่อนใครเป็นหูน้ำหนวกหรือแม้แต่ฟันผุ ถ้าหนองเยอะก็อาจจะเสียชีวิตได้ แต่ตอนนี้ยาหรือวัคซีนทั้งหลายก็พัฒนามาเรื่อย ๆ รวมถึงความรู้ด้านสุขภาพ (Health literacy) ของคนในปัจจุบันที่มากกว่าเมื่อก่อน อันนี้เป็นปัจจัยทางตรงที่ทำให้อายุยืน อีกส่วนหนึ่งอาจจะไม่เกี่ยวกับการแพทย์เท่าไหร่แต่เป็นปัจจัยแวดล้อม (Ambient) อย่างเช่นการมีมุ้งลวด จริง ๆ ไม่เกี่ยวกับการแพทย์ แต่มันทำให้ยุงกัดน้อยลง เราก็นอนหลับสบาย ได้พักผ่อนเพียงพอ และไม่เป็นโรคที่เกิดจากยุง หรือแม้แต่การมีตู้เย็นใช้ก็มีส่วนทำให้คนอายุยืน เพราะสมัยก่อนสมมติเราหุงข้าวตอนเช้า พอตอนเย็นข้าวบูดแต่เสียดาย ไม่อยากทิ้ง เราก็ยอมกินข้าวนั้น ซึ่งก็มีโอกาสที่อาจจะท้องเสียหรือป่วยได้”

เตรียมตัวอย่างไร สู่วัย 100+

เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยประมาณ 80 ปี หลายคนจะเข้าสู่ภาวะกึ่งพึ่งพาผู้อื่น (Semi-Dependence) กล่าวคือ ร่างกายจะเริ่มเจ็บป่วยจนกิจกรรมบางอย่างที่เคยทำได้ด้วยตนเองต้องมีผู้ดูแลเข้ามาช่วย ซึ่งจากสถิติพบว่าผู้ชายจะอยู่ในภาวะนี้ประมาณ 9 ปีสุดท้ายของชีวิต ขณะที่ผู้หญิงจะอยู่ที่ประมาณ 15 ปี

“ชีวิตคนเป็นกราฟรูประฆัง (Bell Shape) มีฝั่งหัวกับฝั่งหาง 3 เดือนแรกที่เกิดมา เด็กก็ต้องนอนบนเตียง รอพ่อแม่ป้อนนม แล้วก็จะเข้าสู่วัยกระเตาะกระแตะในช่วงอนุบาลหรือประมาณก่อน 7 ขวบ เวลาเดินไปซื้อของพ่อแม่ก็จะยังไม่กล้าปล่อยให้ไปคนเดียว เป็น Semi- Dependence ซึ่งเหมือนกับช่วง 7 ปีสุดท้ายที่จะไปไหนมาไหน ถึงแม้เป็นระยะใกล้ ๆ แค่ 200-300 เมตร ก็อาจจะต้องมีลูกหลานไปด้วย จากนั้น จะเข้าสู่ช่วง 3 เดือนท้ายกราฟ โดยจากสถิติที่ผ่านมาไม่ว่าจะด้วยโรคชราหรือโรคมะเร็งจะนอนอยู่ประมาณ 3 เดือนก่อนติดเชื้อและเสียชีวิต”

รองประธานกรรมการ THG ให้เคล็ดลับการเตรียมตัวสำหรับช่วงบั้นปลายชีวิตว่า เมื่ออยู่ในวัย 30-40 ปี ควรเริ่มคำนวณโดยใช้ข้อมูลทางสถิติประกอบกับพันธุกรรมของคนในครอบครัวว่า ตนเองน่าจะมีอายุเฉลี่ยประมาณเท่าไหร่ แล้วปัจจุบันมีระยะเวลาที่ยังสามารถทำงานสร้างรายได้อีกกี่ปีก่อนเกษียณ เพื่อคำนวณหาปริมาณเงินเก็บ (Saving) ที่ควรจัดสรรในแต่ละเดือนที่จะสามารถใช้ได้อย่างเพียงพอในช่วงเวลาที่เหลืออยู่

“เราอาจจะลองคิดจากอายุของปู่ย่าตายาย เช่น ปู่ย่าตายายเสียชีวิตตอนอายุ 75 ปี คุณก็อาจจะบวกไปอีกประมาณ 9-10 ปี หรือถ้ามีพันธุกรรมที่อายุยืนหมดเลย 85-90 ปี คำนวณได้เลยว่าคุณมีโอกาสอายุยืนถึง 105 ปี ซึ่งพอพูดแบบนี้ก็อาจจะต้องคิดไว้ว่า แล้วจะใช้เงินเท่าไหร่ บ้านที่อยู่อาศัยควรมีหน้าตาเป็นยังไง และจะมีลูกหลานหรือจ้างผู้ดูแล (Caregiver) แล้วอย่างที่บอกว่าเราจะมีช่วง Semi-Dependence ที่ต้องการตัวช่วยในช่วง 10 ปีสุดท้าย แล้วช่วงใช้ชีวิตอยู่บนเตียงอีกประมาณ 3 เดือน … ผมเลยคิดว่าวินัยทางการเงินเป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่งั้นคุณอาจจะไปไม่รอดในตอนท้าย ๆ ”

เทคโนโลยี vs วงการแพทย์

‘Health Tech’ หรือการนำความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในการดูแลรักษาสุขภาพเป็นอีกหนึ่งคำที่เริ่มพบเห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยนายแพทย์ธนาธิปให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า เนื่องจากการดูแลรักษาสุขภาพ (Healthcare) เป็นระบบกึ่งปิด กว่าจะได้รับการยอมรับต้องผ่านขั้นตอนการพิสูจน์หลายครั้ง อีกทั้งมีการคัดกรองด้วยกฎเกณฑ์ข้อบังคับต่าง ๆ ดังนั้น การพัฒนานวัตกรรมด้าน Health Tech จึงอาจต้องอาศัยระยะเวลามากกว่านวัตกรรมในอุตสาหกรรมอื่น ๆ

“Healthcare เป็นระบบกึ่งปิด เสมือนไม้ยืนต้น หมอกว่าจะเก่งได้ก็ตอนอายุ 70 ปี การผ่าตัดหลายอย่างก็ทำมาเป็นสิบ ๆ ปี ทำแบบเดิมจนกระทั่งมีอันใหม่ที่พิสูจน์ได้ว่าแบบนี้มันดีกว่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันไม่มีทางลัด (Shortcuts) บางอย่างอาจต้องใช้เวลา 10-20 ปีในการบอกว่าดีกว่าอันเก่า ซึ่งระหว่างนี้บางโครงการก็อาจจะตกไป เรียกว่าวงการแพทย์เราต้องการนวัตกรรมที่มีความลึกค่อนข้างมาก ไม่ต้องกว้างก็ได้ แต่ขอให้ลึก ให้ละเอียด ซึ่งผมมองว่าในการพัฒนา Health Tech นั้น เหมาะสำหรับคนที่ค่อนข้างใจเย็นและมีความผ่อนปรน เราต้องมานั่งถก (Debate) แล้วค่อยโตไปด้วยกัน”

ประเทศไทยและเส้นทางการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub)

สำหรับการพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็น Medical Hub ของภูมิภาคซึ่งเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่รัฐบาลกำลังผลักดันนั้น นายแพทย์ธนาธิปมองว่า จากการที่ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับ (Ranking) ในสาขาด้านสาธารณสุขและการให้บริการในระดับค่อนข้างดีตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา จึงเชื่อว่าหากมีการเสริมสร้างขีดความสามารถ (Capacity Building) อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ระดับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย การศึกษาต่อในสาขาเฉพาะทาง  และการเปิดกว้างเรื่องเทคโนโลยีใหม่ ๆ จากต่างประเทศ รวมถึงส่งเสริมบุคลากรในสายงานที่เกี่ยวข้อง เช่น พยาบาล ก็จะช่วยขับเคลื่อนความก้าวหน้าและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางการแพทย์ให้แก่ประเทศมากขึ้น

ปัจจุบัน บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ ๆ เข้ามาให้บริการ เพื่อยกระดับโรงพยาบาลในเครือสู่การเป็น Smart Hospital และเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมให้ประเทศพัฒนาสู่เป็น Medical Hub ของภูมิภาค โดยบริษัทฯ เตรียมความพร้อมนำบริการ Virtual Health หรือการปรึกษาแพทย์ผ่านทางออนไลน์มาใช้สำหรับคนไข้ที่ต้องติดตามการรักษาในบางกรณี ต่อยอดจาก Teleconference ที่แพทย์ใช้เพื่อปรึกษาระหว่างโรงพยาบาลในเครือ THG นอกจากนี้ ในปี 2563 ที่ผ่านมา THG ได้สานต่อวิสัยทัศน์ โดยลงนามความร่วมมือ (MOU) กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดตั้ง ‘ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม Medical Services’ ที่โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง เพื่อสนับสนุนการวิจัยพัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ ร่วมพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม Health Tech ในอนาคต

“ผมเชื่อว่าจริง ๆ ประเทศไทยไม่ได้แพ้ชาติใดในโลก โดยเฉพาะเรื่อง Health Tech ถ้าเราใจเย็นและมีความตั้งใจจริง เราสามารถที่จะทำอะไรดี ๆ ให้กับโลกใบนี้ได้ … ส่วนในอนาคตคิดว่าเทคโนโลยีกับการแพทย์ก็คงเป็นกราฟเส้นตรงที่เดินหน้าต่อไปเรื่อย ๆ ไม่น่าจะมีอะไรที่เป็นหน้าผาให้ต้องก้าวข้าม ก็เหมือนกับกราฟอายุขัยเฉลี่ยที่ตอนนี้มีบางสำนักลากไปถึง 120-140 ปีแล้ว” นายแพทย์ธนาธิปกล่าวทิ้งท้าย …

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.thg.co.th

แหล่งข้อมูล

https://th.hrnote.asia/tips/190805-generation-alpha/

https://www.posttoday.com/life/healthy/380252

 


แชร์ :

You may also like