HomeInsightเปิดข้อมูล LINE Insights เจาะลึกสาววาย ผู้นำเทรนด์ “Boys Love” สู่เมนคัลเจอร์

เปิดข้อมูล LINE Insights เจาะลึกสาววาย ผู้นำเทรนด์ “Boys Love” สู่เมนคัลเจอร์

แชร์ :

จากจุดเริ่มต้นอย่างการค้นเจอลูกอมในกระเป๋า สู่การรับงานพรีเซนเตอร์ หรือการไลฟ์สดบนเถาเป่าที่สามารถสร้างยอดขายหลักสิบล้านให้แบรนด์เครื่องสำอางในตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า เทรนด์เหล่านี้กำลังเกิดขึ้นผ่านกระแส Boys Love ที่ประเทศไทยเป็นผู้นำ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โดยต้องบอกว่า การออกมาประกาศของ LINE TV เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าจะเริ่มส่งซีรีส์วายชุดใหม่กว่า 10 เรื่องลงจอในครึ่งปีหลังไม่ใช่เรื่องธรรมดา อีกทั้งในงาน LINE Thailand Business 2020 ผู้บริหาร LINE ประเทศไทยได้ออกมาเผยอินไซต์ของกลุ่ม Boys Love ว่าไม่เพียงสร้างกระแสบนแพลตฟอร์ม LINE แต่พวกเขากำลังจะทำให้เทรนด์ดังกล่าวกลายเป็นเทรนด์ระดับโลกได้อย่างงดงาม

คุณนรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ LINE ประเทศไทย

คุณนรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ LINE ประเทศไทย เปิดเผยว่า กลุ่ม Boys Love บนแพลตฟอร์ม LINE TV เป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ประมาณ 18.9 ล้านคน และส่วนมากเป็นผู้หญิง ซึ่งถือเป็นเซกเมนต์ที่มีความแข็งแกร่ง มีความสำคัญในแง่กำลังซื้อ และอิทธิพลบนโซเชียลมีเดียสูงมาก แถมความน่าสนใจขั้นกว่าก็คือการที่ LINE บอกว่าคนกลุ่มนี้อยู่บน LINE TV ถึง 80%

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลการศึกษาเบื้องต้นจาก LINE Insight ในหัวข้อ Y-economic study ที่บอกว่า สามารถแบ่งพฤติกรรมของกลุ่ม Boys Love ออกได้เป็น 3 ลำดับขั้น นั่นคือ

  • New Adopters เป็นกลุ่มที่เพิ่งเข้ามาดูแค่เรื่องแรกเรื่องเดียว
  • Core watchers คือกลุ่มที่มีการอัปเกรดตัวเอง จากเรื่องแรกก็ไปดูต่ออีกหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งคนกลุ่มนี้มีปริมาณมากพอสมควร
  • Fandom เป็นกลุ่มที่อัปเกรดจาก Core Watchers คือดูแล้วชอบมาก และพร้อมจะติดตามศิลปิน พร้อมจ่ายซื้อสินค้าและบริการ แถมคนกลุ่มนี้ยังมีอิทธิพลมากบนโซเชียลมีเดียด้วย

“เราพบว่าเวลากลุ่ม Fandom ดูซีรีย์วาย จะเปิดทั้งบนทีวี บนมือถือ แล้วก็บนแท็บเล็ต โดยที่ Fandom เองนั้นจะดูบนมือถือ เพราะเป็นอุปกรณ์ที่คุ้นเคยที่สุด แต่ที่เปิดสามจอนั้น เพราะอยากให้ Impression สูง รายการได้เรทติ้งดี ๆ นักแสดงที่เขาชอบจะได้มีชื่อเสียง มีงานเข้ามามากขึ้น ที่สำคัญ เราพบว่า เขาเป็นคนที่คอยติดตามวายแอคเตอร์ในชีวิตจริง มีสินค้าสปอนเซอร์ เขาจะซื้อ มีอีเวนท์ เขาจะตามไปให้กำลังใจ นี่คือกลุ่มฮาร์ดคอร์” คุณนรสิทธิ์กล่าว

ไม่เพียงเท่านั้น LINE ยังพบว่า Fandom จะเป็นกำลังสำคัญในการโปรโมตข่าวสารของวายแอคเตอร์บนสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งคนที่รับสารส่วนใหญ่ก็คือ Core Watchers และ New Adopters นั่นเอง

ไบร์ท-วิน อีกหนึ่งคู่จิ้นของกลุ่ม Boys Love ขอบคุณภาพจาก LINE TV และ GMM แกรมมี่

นอกจากการติดตามผลงานของวายแอคเตอร์ในทุกช่องทางตามที่ LINE Insight เปิดเผยแล้ว เรายังได้รับการยืนยันจาก Fandom ตัวยงอย่าง คุณศันสนีย์ (ขอสงวนนามสกุล) ว่า สำหรับพวกเธอแล้ว หากวายแอคเตอร์ที่ชื่นชอบมีงาน ไม่ว่าจะอีเวนท์เดี่ยวหรืออีเวนท์คู่ Fandom ก็จะคอยช่วยปั่นเทรนด์ให้บน Twitter ทั้งในประเทศไทยและระดับโลกให้ เหตุที่ทำให้เช่นนั้นเพราะถ้าสามารถปั่นเทรนด์ได้ แบรนด์ก็จะกลับมาใช้ซ้ำ ซึ่งสำหรับพวกเธอแล้ว มันคือการแสดงความรัก และการสนับสนุนวายแอคเตอร์นั่นเอง

“ไม่เฉพาะในไทย Fandom ในจีน หรือที่เราเรียกว่า แม่จีน เป็นกลุ่มที่มีอิทธิพล และมีกำลังซื้อสูงมาก ยกตัวอย่างเช่น คู่มิว-กลัฟ ที่แม้ละครจะจบไปเกือบปีแล้ว แต่กระแสในจีนก็ยังไม่ตกเลย และเร็ว ๆ นี้ แม่จีนก็มีการวางแผนซื้อป้ายโฆษณาหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ (ป้ายยาว) รวมถึงแร็พรถไฟฟ้า BTS เพื่อฉลองวันเกิดและงานรับปริญญาให้กับกลัฟด้วย” คุณศันสนีย์กล่าว

ต้องการภาพลักษณ์ Trendy ต้องมา Boys Love?

ขอบคุณภาพจาก @WITHGULF

ในแง่ของสินค้า และแบรนด์ที่อยากเข้ามาสนับสนุนนั้น ผลการศึกษาจาก LINE Insight พบว่า ภาพลักษณ์ที่แบรนด์จะได้รับจากการสนับสนุนคอนเทนต์กลุ่ม Boys Love มีทั้งแง่บวกอย่าง trendy, cheerful, new lifestyle, popular ซึ่งคุณนรสิทธิ์บอกว่า ซีรีย์วายมีพาวเวอร์ในการไดรฟ์ให้เกิดการซื้อสินค้าสูงมาก ยกตัวอย่างเช่น สินค้าที่มีคุณภาพเหมือนกัน ถ้าสินค้าหนึ่งมีวายแอคเตอร์เป็นพรีเซนเตอร์ กลุ่ม Boys Love จะตัดสินใจซื้อโดยทันที

“หรือถ้าใช้อีกแบรนด์หนึ่งอยู่ ก็จะเกิดการสวิทช์แบรนด์ ทุกคนตอบเหมือนกันหมด คือ ใช่ – ซื้อ ไม่มีการคิด มีพาวเวอร์ระดับนั้นเลย” คุณนรสิทธิ์กล่าว

ส่วนความรู้สึก Fake ต่อแบรนด์ที่ลงโฆษณาในซีรีย์วายก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดต่อเมื่อ แบรนด์มีการให้วายแอคเตอร์ขายของมากเกินไป ทำให้ Fandom เกิดความรู้สึกไม่ดีกับแบรนด์ คุณนรสิทธิ์กล่าวด้วยว่า ถ้าแบรนด์ก้าวมาถึงจุดนี้ให้ระวังให้ดี เพราะ Fandom เป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลบนโซเชียลมีเดียสูงมากนั่นเอง

ภาพลักษณ์ของแบรนด์จากการใช้ Y-Actors ในฐานะพรีเซนเตอร์

โดยที่ผ่านมา การไทร์อินสินค้าลงในซีรีย์ Boys Love นั้นมีหลากหลาย ซึ่งการสำรวจของ LINE Insight พบว่า การไทร์อินที่ประสบความสำเร็จ หรือก็คือ ทำให้ Y-Watchers จำได้แม่นยำนั้น ต้องมีการจับ ดื่ม กิน หรือไม่ก็ทำเป็นสเปเชียลซีนขึ้นมาเป็นพิเศษ ส่วนการไทร์อินโดยการวางสินค้าไว้ในจอเฉย ๆ นั้น Y-Watchers บอกว่า จำไม่ได้จริง ๆ

“เท่าที่สำรวจมา ส่วนของการทำสเปเชียลซีนยังไม่มีภาพลักษณ์ด้านลบกับแบรนด์ เพราะมันคือสิ่งที่ Y-Watchers อยากดู แต่ไม่มีในเนื้อเรื่องหลัก เช่น เขาอยากเห็นฉากที่ให้ตัวละครกุ๊กกิ๊กกัน อันนี้ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดี เพราะแบรนด์ endorse ให้ Y-Watchers ได้ดูในสิ่งที่ไม่มีให้ดู” คุณนรสิทธิ์กล่าว

อย่างไรก็ดี กำลังซื้อเหล่านี้ ก็มาพร้อมกับการตั้งคำถามของหลายคนด้วยเช่นกันว่า เทรนด์ดังกล่าวจะอยู่ยั้งยืนยงแค่ไหน โดยเฉพาะในวันที่กระแสเริ่มลดลง และวายแอคเตอร์แต่ละคนต้องแยกย้ายไปทำงานกับคนอื่น หรืออาจไม่ได้รับงานคู่กันแบบที่แฟนคลับคุ้นเคย ซึ่งในจุดนี้ คุณศันสนีย์ในฐานะ Fandom ให้ความเห็นว่า

“เท่าที่เห็นก็มีแฟนคลับบางคนรับไม่ได้ ไม่เข้าใจ แต่สำหรับคนที่มีวุฒิภาวะแล้ว ส่วนมากจะไม่มีปัญหาอะไรเวลาที่คู่ (วายแอคเตอร์) ในตำนานต้องแยกกันไปทำงาน”

“คือแต่ละคู่ไม่มีใครรู้หรอกว่าคิดจริงจังกันไหม มันก็ต้องมีเซอร์วิสบ้าง จริงบ้าง ให้แฟนคลับไปคิดเอาเอง แต่ขอแค่ให้มีงานคู่กันบ้าง เพราะมันเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้แฟนคลับยังเห็นเขาอยู่ด้วยกัน”


แชร์ :

You may also like