HomeCOVID-19เมื่อโควิด-19 มา ผลสำรวจชี้ “หนุ่มสาวอาเซียน” พร้อมปรับตัว “สู้-รับมือ” วิกฤติ

เมื่อโควิด-19 มา ผลสำรวจชี้ “หนุ่มสาวอาเซียน” พร้อมปรับตัว “สู้-รับมือ” วิกฤติ

แชร์ :

 

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เชื่อว่าคงไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะมีอานุภาพรุนแรงถึงขั้นเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมและวิถีการดำเนินชีวิตของคนทั้งโลกสู่วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ได้อย่างรวดเร็ว เพราะแม้แต่ผู้ที่เคยมีประสบการณ์และผ่านวิกฤติมาหลายครั้ง ก็ยังเตรียมตัวรับมือไม่ทัน เพราะโควิด-19 นับเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน แล้วคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเจอสถานการณ์วิกฤตินี้เป็นครั้งแรก จะสามารถปรับตัวรับมือกับวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ได้อย่างทันท่วงทีอย่างไร

Sea (Group) จะพามาร่วมค้นหาคำตอบผ่านการสำรวจ ASEAN Youth 2020 COVID-19: The True Test of Resilience and Adaptability” ซึ่งจัดทำร่วมกับสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) โดยเป็นการสำรวจคนรุ่นใหม่ราว 70,000 คน จาก 6 ประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจอาเซียน ประกอบไปด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม เพื่อประเมินผลกระทบจากวิกฤติ โควิด-19 และความพร้อมในการปรับตัวรับมือของคนรุ่นใหม่อายุระหว่าง 16 – 35 ปี ตลอดจนวิเคราะห์แนวทางการร่วมมือระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อลดผลกระทบที่กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้รับจากภัยโรคระบาด ตลอดจนติดอาวุธคลื่นลูกใหม่ในอาเซียนให้มีความเข้มแข็งและศักยภาพการแข่งขันในโลกดิจิทัล ไม่ว่าจะในปัจจุบันหรือภายหลังวิกฤติโควิด-19 จบลง

คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่กว่า 40% พร้อมปรับตัวรับมือกับสถานการณ์วิกฤติ

แม้การแพร่ระบาดของ COVID-19 จะทำให้เกิดความท้าทายที่ไม่คาดคิด ทว่าจากรายงาน ASEAN Youth 2020 COVID-19: The True Test of Resilience and Adaptability” บ่งชี้ว่า คนรุ่นใหม่ในกลุ่มเศรษฐกิจอาเซียนยังแสดงสัญญาณที่ดี โดย 72% แสดงให้เห็นการเติบโตด้าน “Adaptability & Resilience” หรือความกระตือรือร้นและความยืดหยุ่นในการปรับตัวเพื่อสู้กับสถานการณ์ในช่วงที่มีการแพร่ระบาด โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ 48% ระบุว่ามีความพร้อมในการรับมือสถานการณ์โรคระบาด ขณะที่ 41% บอกว่ามีการพัฒนาทักษะใหม่ๆ ส่วน 38% ระบุว่าเรียนรู้การคิดวิเคราะห์อย่างสร้างสรรค์ และ 31% สามารถสร้างรายได้จากช่องทางใหม่ๆ ได้สำเร็จ

โดยการพัฒนา “Adaptability & Resilience” ในด้านต่างๆ มีความสอดคล้องกับช่วงวัย อาชีพ และบทบาทหน้าที่ โดยกลุ่มเด็กนักเรียนมีความโดดเด่นมากที่สุดในด้านการพัฒนาทักษะใหม่ๆ กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ระบุว่าเป็นผู้ประกอบการมุ่งพัฒนาตนเองด้านการสร้างแบบจำลองธุรกิจ (Business Model) ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มช่องทางหารายได้ ส่วนกลุ่มวัยทำงานให้ความสำคัญกับการเตรียมตัวรับมือสถานการณ์โรคระบาดมากที่สุด

“วิกฤตที่เกิดจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 นับเป็นบทเรียนฉบับเร่งรัดที่ส่งผลให้คนรุ่นใหม่ต้องปรับตัวให้ฉับไวและทันต่อสถานการณ์ ซึ่งการสำรวจบ่งชี้ว่าคนรุ่นใหม่ในอาเซียนมี Mindsets ที่ดี แสดงให้เห็นว่าบุคลากรรุ่นใหม่ซึ่งเป็นอนาคตของภูมิภาคเหล่านี้จะสามารถฟื้นตัว ปรับตัว และตอบสนองต่อสภาวะวิกฤติได้ ทั้งจากวิกฤต COVID-19 ที่ยังไม่จบลง และวิกฤติอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตและในโลกแห่งการทำงาน” ดร. สันติธาร เสถียรไทย ประธานทีมเศรษฐกิจและกรรมการผู้จัดการใหญ่ Sea (Group) กล่าวถึงการปรับตัวรับมือกับสถานการณ์วิกฤติของคนรุ่นใหม่ในอาเซียน

ดร. สันติธาร เสถียรไทย ประธานทีมเศรษฐกิจและกรรมการผู้จัดการใหญ่ Sea (Group)

นอกจากนี้ ผลวิจัยยังพบว่า ผู้หญิงในกลุ่มอาเซียนมีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาชุดทักษะใหม่ๆ มากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะด้านทักษะทางการเงิน โดยจำนวนบุคคลที่ระบุว่าสามารถบริหารจัดการเงินได้ดีขึ้น จำแนกเป็นกลุ่มผู้หญิงและผู้ชายอยู่ที่ 63% และ 53% ตามลำดับ ส่วนจำนวนบุคคลที่ให้ความสำคัญกับเงินออมสำรองฉุกเฉินจำแนกเป็นกลุ่มผู้หญิงและผู้ชายอยู่ที่ 63% และ 47% ตามลำดับ

โควิด ดันคนไทยรุ่นใหม่ใช้อีเพย์เม้นต์พุ่ง

เมื่อจำเป็นต้องขานรับวิถีชีวิตใหม่ คนหนุ่มสาวในอาเซียนยังแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวเข้าสู่การใช้ชีวิตแบบดิจิทัลอย่างถาวร โดย 87% บอกว่าใช้เครื่องมือดิจิทัล (Digital Tool) อย่างน้อย 1 อย่างในช่วงที่มีการแพร่ระบาด 42% ระบุว่าได้ทดลองใช้เครื่องมือดิจิทัลใหม่ที่ไม่เคยใช้งานมาก่อน โดยประเทศอินโดนีเซียและสิงคโปร์มีการขยายตัวของการรับเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ (Digital Adoption) ที่โดดเด่นเป็นพิเศษ โดยกว่าครึ่งของคนรุ่นใหม่ในทั้ง 2 ประเทศ ระบุว่าเลือกซื้อสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซถี่ขึ้นกว่าในอดีต

ส่วนประเทศไทยมีความโดดเด่นด้านการทำธุรกรรมออนไลน์ผ่านอีเพย์เมนต์และอีแบงก์กิ้งกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลการชำระเงินในเดือนมีนาคม 2563 จากธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ชี้ว่าจำนวนการใช้ดิจิทัลเพย์เมนต์เพิ่มมากขึ้นกว่า 40% โดยอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งและโมบายแบงก์กิ้งเติบโตมากที่สุดราว 70% ซึ่งสะท้อนแนวโน้มการเติบโตของสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) อย่างชัดเจน

ฝั่งผู้ประกอบการมีการปรับกลยุทธ์ช่องทางกระจายสินค้าและหันมากระตุ้นยอดขายด้วยช่องทางออนไลน์ โดย 33% ของผู้ขายที่ใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ มีกิจกรรมการขายที่แอคทีฟขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงวิกฤติโควิด-19 และ 1 ใน 4 ของกลุ่มผู้ขายบนอีคอมเมิร์ซยังระบุว่าเป็นครั้งแรกที่ลองใช้อีคอมเมิร์ซในการทำธุรกิจ

นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังยืนยันว่า การเพิ่มขึ้นของการใช้ชีวิตแบบดิจิทัล ไม่ได้เป็นแค่เทรนด์ฉาบฉวย เนื่องจากคนส่วนใหญ่ระบุว่าตนจะยังคงใช้เครื่องมือดิจิทัลต่างๆ ต่อไป แม้ว่าสถานการณ์โรคระบาดจะกลับมาเป็นปกติแล้วก็ตาม โดย 60% ระบุว่าจะเพิ่มปริมาณการใช้โซเชียลมีเดีย อีคอมเมิร์ซ ช่องทางการศึกษาออนไลน์ การทำธุรกรรมออนไลน์ และบริการสั่งอาหารออนไลน์อย่างถาวร

“เมื่อกิจกรรมในชีวิตประจำวันถูกเคลื่อนย้ายไปอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างแพร่หลาย กระบวนการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบดิจิทัล (Digitalization) จึงถูกเร่งให้เร็วยิ่งขึ้น ส่งผลให้เครื่องมือดิจิทัล (Digital Tools) และทักษะดิจิทัล (Digital Skills) ยิ่งเป็นที่ตระหนักถึงและทวีความจำเป็นมากขึ้น” ดร. สันติธาร กล่าว

การเรียนและทำงานทางไกล ยังเป็นอุปสรรคใหญ่

แม้คนหนุ่มสาวในอาเซียนจะสามารถปรับตัวรับมือกับวิกฤติได้เป็นอย่างดี แต่เนื่องจากโควิด-19 เป็นวิกฤติใหญ่ครั้งแรกของคนหนุ่มสาวช่วงอายุ 16 – 35 ปี จึงพบอุปสรรคในการปรับตัวใช้ชีวิตกับโรคระบาดใหญ่ครั้งนี้ โดย 69% พบว่าการเรียนหรือทำงานทางไกล (Remote studying and working) เป็นเรื่องยากลำบาก และ 7% ไม่สามารถเรียนหรือทำงานทางไกลผ่านช่องทางออนไลน์ได้เลย

ขณะเดียวกัน ยังพบว่ากลุ่มที่มีความเปราะบางและมีปัญหาในการปรับตัวให้สอดรับกับวิถีการเรียนและการทำงานทางรูปแบบใหม่มักเป็นกลุ่มคนที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี โดยอุปสรรคที่เป็นข้อจำกัดมากที่สุด

84% คือการขาดแคลนด้านทักษะดิจิทัลที่จำเป็นต่อการเรียนและการทำงานทางไกล 79% การขาดความสามารถในการเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพในราคาที่จับต้องได้ 19% ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการใช้ชีวิต การเรียน และการทำงาน โดยใน 19% นี้ กลุ่มคนที่เผชิญปัญหาทางการเงินรุนแรงที่สุด คือกลุ่มแรงงานอิสระ (Gig economy workers) และผู้ประกอบการ มีจำนวน 24% และ 23% ตามลำดับ

นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังชี้ชัดอีกด้วยว่า ภาครัฐและภาคเอกชนจำเป็นต้องทำงานร่วมกัน เพื่อปลดล็อกศักยภาพให้แก่กลุ่มคนที่จะเติบโตขึ้นมาผู้นำและผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมรุ่นใหม่ของภูมิภาคในอนาคต โดยจำเป็นต้องยกระดับความสามารถที่จำเป็นในยุคดิจิทัล พร้อมกำจัดอุปสรรคด้านการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และให้การสนับสนุนเพื่อเพิ่มสภาพคล่องและเสถียรภาพทางการเงิน

 


แชร์ :

You may also like