HomeBrand Move !!10 เรื่องรู้จัก SCGP หุ้น IPO น้องใหม่เครือปูนซิเมนต์ไทย ชู 4 เมกะเทรนด์ผู้นำแพคเกจจิ้งอาเซียน

10 เรื่องรู้จัก SCGP หุ้น IPO น้องใหม่เครือปูนซิเมนต์ไทย ชู 4 เมกะเทรนด์ผู้นำแพคเกจจิ้งอาเซียน

แชร์ :

ธุรกิจของ “ปูนซีเมนต์ไทย” หรือ SCG ปี 2562 ทำรายได้ 437,980 ล้านบาท กำไรสุทธิ 32,014 ล้านบาท มาจาก 3 ธุรกิจหลัก คือ ซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง, เคมิคอลส์ และแพคเกจจิ้ง  ในสถานการณ์โควิด-19 กระทบทุกอุตสาหกรรม รวมทั้ง 2 ธุรกิจหลักของ SCG ที่โชว์ตัวเลขลดลง  ยกเว้นเพียง กลุ่มแพคเกจจิ้ง ยังมีรายได้และกำไรครึ่งปีแรกเป็นบวก

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

มาทำความรู้จัก 10 เรื่องของ เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) หุ้นน้องใหม่ในเครือปูนซีเมนต์ไทย ที่กำลังเตรียมเสนอขายหุ้น IPO ในเดือนตุลาคมนี้ กับมูลค่าระดมทุน 45,000 ล้านบาท

1. เส้นทางธุรกิจแพคเกจจิ้งอายุกว่า 40 ปี

– เอสซีจี เริ่มต้นธุรกิจเยื่อและกระดาษในปี 2518 ภายใต้บริษัท The Siam Pulp and Paper ช่วง 30 ปีแรก (2518-2548) ทำกระดาษบรรจุภัณฑ์ เยื่อกระดาษ บรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูก กระดาษพิมพ์เขียน และขยายธุรกิจกระดาษบรรจุภัณฑ์ในฟิลิปปินส์

– ปี 2549-2557 ขยายธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน ในประเทศเวียดนามและอินโดนีเซีย ช่วงปลายปี 2557 ลงทุนบรรจุภัณฑ์วัตถุดิบ Polymer  รีแบรนด์เป็น SCG Paper

– ปี 2558-ปัจจุบัน  จุดเปลี่ยนสำคัญ รีแบรนด์จาก SCG Paper เป็น SCG Packaging ทำให้มุมมองการทำธุรกิจกว้างขึ้นและเห็นโอกาสเติบโตจากทั้งบรรจุภัณฑ์และโซลูชั่น  ปัจจุบันมีแพคเกจจิ้งทุกรูปแบบ ทั้ง แบบอ่อนตัว คงรูป บรรจุภัณฑ์อาหาร กล่องพิมพ์สีเพื่อการแสดงสินค้า กล่องลูกฟูก กระดาษบรรจุภัณฑ์

2. เสนอขายหุ้น IPO 1,127.6 ล้านหุ้น

– ปัจจุบัน SCGP มีทุนจดทะเบียน 4,500 ล้านบาท ชำระแล้ว 3,126 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 3,126 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท

– หุ้นน้องใหม่เตรียมเสนอขาย IPO จำนวน 1,127.6 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 26.5% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้ว อาจจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Over Allotment) จำนวน 169.1 ล้านหุ้น รวมไม่เกิน 29.3% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้ว

3. ราคาหุ้น IPO ที่ 33.50 – 35 บาท

– SCGP กำหนดช่วงราคาเสนอขาย IPO ที่ 33.50 – 35 บาทต่อหุ้น เปิดให้จองซื้อในวันที่ 28 กันยายน – 7 ตุลาคมนี้ โดยให้จองซื้อที่ราคา 35 บาทต่อหุ้น หากราคาเสนอขายสุดท้ายที่ประกาศออกมาในวันที่ 8 ตุลาคมนี้ ต่ำกว่าราคาจองซื้อหุ้นละ 35 บาท จะคืนเงินค่าส่วนต่างให้แก่ผู้จองซื้อทุกรายหลังสิ้นสุดการเสนอขาย

– มีกลุ่มนักลงทุนหลักแบบเฉพาะเจาะจง (Cornerstone Investors) หรือนักลงทุนสถาบันทั้งไทยและต่างประเทศ 18 ราย ได้ลงนามในสัญญา Cornerstone Placing Agreement จองซื้อหุ้นแล้ว 676.53 ล้านหุ้นหรือประมาณ 60% ของจำนวนหุ้น IPO ที่เสนอขายครั้งนี้ (ไม่รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน)

4. ระดมทุน 45,000 ล้านบาท

– จากราคา IPO 33.50-35 บาทต่อหุ้น คาดระดมทุนได้ 45,000 ล้านบาท  โดย SCGP จะนำเงินไปขยายกำลังการผลิต ซื้อกิจการและคืนหนี้เงินกู้สถาบันการเงิน

– หลังเข้าตลาดฯ  SCGP มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) อยู่ที่ 140,000 ล้านบาท เมื่อเริ่มเทรดจะมีคุณสมบัติได้รับการเข้าคำนวณใน SET 50

5. ฐานผลิต 5 ประเทศ ผู้นำแพคเกจจิ้งครบวงจรอาเซียน

– มาดูธุรกิจของ SCGP ปัจจุบันเป็นผู้นำบรรจุภัณฑ์ครบวงจรในอาเซียน มีส่วนแบ่งตามมูลค่าการขายในอาเซียน 36% มี 40 โรงงานใน 5 ประเทศ คือ ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ทุกประเทศจะใช้บิสซิเนสโมเดลจากไทยเป็นต้นแบบ

– มีผลิตภัณฑ์หลากหลาย ทั้งบรรจุภัณฑ์จากเยื่อกระดาษ กระดาษบรรจุภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์จากวัสดุสมรรถนะสูงและ Polymer ทั้งแบบอ่อนตัวและแบบคงรูป บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร เยื่อกระดาษและกระดาษพิมพ์เขียน

– โมเดลธุรกิจของ SCGP จากอุตสาหกรรมการผลิตสู่การเป็น Packaging Solutions Provider รูปแบบ  B2B B2B2C และ B2C  โซลูชั่นที่ให้บริการ เช่น ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)  กิจกรรมการตลาดออกแบบครบวงจร ตั้งแต่ออกแบบ ผลิต ติดตั้ง รีไซเคิล  บริการธุรกิจออนไลน์

– กลยุทธ์กระจายความเสี่ยงด้วยสินค้าบรรจุภัณฑ์หลากหลายกว่า 1 แสนประเภท จำหน่ายสินค้าหลักล้านชิ้นต่อวัน มีลูกค้าในทุกอุตสาหกรรม ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม อุปโภคบริโภค (FMCG) เครื่องใช้ไฟฟ้า และอีคอมเมิร์ซ

6. กางแผนลงทุนอาเซียน ขยายโรงงานผลิต-ซื้อกิจการ

– สำหรับแผนลงทุนขยายกำลังการผลิตโรงงานในภูมิภาคอาเซียนของ SCGP ปี 2563-2564 รวม 8,200 ล้านบาท แบ่งเป็น เวียดนาม 543 ล้านบาท, อินโดนีเซีย 1,735 ล้านบาท, ฟิลิปปินส์ 5,388 ล้านบาท และไทย 600 ล้านบาท

– แผนการควบรวมและเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ (Merger & Partnership) ในปี 2563 ได้ลงนามสัญญาซื้อหุ้นกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ Bien Hoa Packaging Joint Stock Company (SOVI) ผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกรายใหญ่ในเวียดนาม ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์

7. เกาะ 4 เมกะเทรนด์หนุนธุรกิจแพคเกจจิ้ง

– โอกาสการเติบโตของธุรกิจแพคเกจจิ้งในอาเซียน ที่มีประชากร 600 ล้านคน มาจาก 4 เมกะเทรนด์

  1. การเติบโตของก้าวกระโดดของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่คาดว่าปี 2562-2567 เติบโต 30%
  2. การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ที่ส่งผลต่อการใช้แพคเกจจิ้งเพิ่มขึ้น ประเมินการเติบโตธุรกิจแพคเกจจิ้งอาเซียนปี 2562-2567 เฉลี่ยเติบโตปีละ 5.8%  มูลค่าจาก 5,380 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2562  เพิ่มเป็น 71,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
  3. เทรนด์การใช้จ่ายของผู้บริโภคในอาเซียนเติบโตต่อเนื่อง จากแนวโน้มจีดีพีขยายตัว โดยประชากรของอาเซียนมีขนาด 5-6 เท่าของประเทศไทย
  4. การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและการบริโภคที่มีส่วนร่วมสร้างสังคมยั่งยืน ทำให้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิลตอบโจทย์นี้

8.  พัฒนานวัตกรรมแพคเกจจิ้ง มีสิทธิบัตร 66 รายการ

– SCGP มีหน่วยงาน Inspired Studio ออกแบบบรรจุภัณฑ์ โดยมีนักออกแบบ 36 คน  มีนักวิจัยและพัฒนา 90 คน  นักค้นคว้าและวิจัย 12 คน  พนักงานขายและบริการลูกค้า 500 คน

– ปัจจุบันได้จดทะเบียนสิทธิบัตรกับกระทรวงพาณิชย์ 66 รายการ

– พัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน เช่น บรรจุภัณฑ์รักษาความสดของผักและผลไม้ ยืดอายุผลิตภัณฑ์ได้นานขึ้น

9. รายได้ 4 ปี โตเฉลี่ย 6% กำไรสุทธิโต 15%

มาดูผลประกอบการ SCGP ก่อนเข้าตลาดฯ ตั้งแต่ปี 2559-2562 รายได้จากการขายเติบโตต่อเนื่อง เฉลี่ย 6.1%  กำไรสุทธิเฉลี่ยโต 15.2%

  • ปี 2559 รายได้ 74,542 ล้านบาท กำไร 3,851 ล้านบาท
  • ปี 2560 รายได้ 81,455 ล้านบาท กำไร 5,374 ล้านบาท
  • ปี 2561 รายได้ 87,255 ล้านบาท กำไร 6,826 ล้านบาท
  • ปี 2562 รายได้ 89,070 ล้านบาท กำไร 5,891 ล้านบาท

10. โควิดทำอะไรไม่ได้ ครึ่งปีแรก กำไรโต 45.6%

– การระบาดของโรคโควิดเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้ธุรกิจแพคเกจจิ้งเติบโต จากบรรจุภัณฑ์สำหรับอีคอมเมิร์ซ ฟู้ดเดลิเวอรี่ อาหารส่งออก สินค้าอุปโภคบริโภคที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน และกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพและสุขอนามัย

– รายได้ครึ่งปีแรก 2563 SCGP ทำได้ 45,903 ล้านบาท  เติบโต 10.5%  กำไรสุทธิ 4,198 ล้านบาท เติบโต 45.6%  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า

–  รายได้แบ่งเป็นในประเทศ 52%  กลุ่มอาเซียน 28%  และประเทศอื่นๆ 20%  จากสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภค (Consumer Goods) 69%  (แบ่งเป็น อาหารและเครื่องดื่ม 42% , สินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) 14%  อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 13%  และธุรกิจอื่นๆ 31%)  รายได้จากสินค้าอุตสาหกรรม 31%

– ปกติ SCGP มีนโยบายจ่ายปันผลในอัตราไม่ต่ำกว่า 20% ของกำไรสุทธิ  ช่วงย้อนหลัง 5 ปีที่ผ่านมาจ่ายปันผลเฉลี่ย 25% ของกำไรสุทธิมาตลอด

คงต้องจับตาดูหุ้นน้องใหม่จากปูนซีเมนต์ไทย ที่จะเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ เดือนตุลาคมนี้ ว่าจะร้อนแรงแค่ไหน!


แชร์ :

You may also like