HomeDigitalผู้บริโภคเตรียมพร้อม! KBTG ส่ง 6 ทางเลือกใหม่ สร้างไลฟ์สไตล์ “ใช้จ่ายแบบไร้สัมผัส”

ผู้บริโภคเตรียมพร้อม! KBTG ส่ง 6 ทางเลือกใหม่ สร้างไลฟ์สไตล์ “ใช้จ่ายแบบไร้สัมผัส”

แชร์ :

เรียกว่าเป็นอีกก้าวของสถาบันการเงินไทยในการนำเทคโนโลยีไปผสานเข้ากับวิถีการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคยุคหลัง Covid-19 ได้อย่างน่าสนใจ เมื่อล่าสุด กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG บริษัทในเครือธนาคารกสิกรไทยผู้ดูแลงานด้านเทคโนโลยีได้เปิดตัว 6 ผลิตภัณฑ์ที่นำเทคโนโลยีไร้สัมผัส (Contactless Technology) เข้ามาประยุกต์ใช้อย่างเต็มตัว

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โดยเทคโนโลยีที่ KBTG เปิดตัวในวันนี้ ประกอบด้วย

  • Face Check-in เทคโนโลยีการสแกนใบหน้าที่สามารถระบุตัวตนได้แม้สวมหน้ากากอนามัยอยู่
  • KLox บริการตู้ล็อกเกอร์ที่ให้ผู้ใช้สามารถเปิด/ปิดล็อกเกอร์ได้โดยการสแกนใบหน้า
  • Eat by Black Canyon ตู้คีออสที่ให้ลูกค้าสั่งอาหารได้โดยอาศัยการเคลื่อนไหวของมือในการสั่งอาหาร (ไม่ต้องสัมผัสหน้าจอ) ที่ KBTG จับมือกับ Black Canyon พัฒนาร่วมกัน
  • Contactless Menu ระบบสั่งอาหารผ่านหน้าจอแทบเล็ตที่สามารถตรวจจับความเคลื่อนไหวของมือให้ลูกค้าทำรายการได้โดยไม่ต้องสัมผัสหน้าจอ
  • Face Pay การจ่ายเงินค่าสินค้าและบริการผ่านการสแกนใบหน้า
  • ReKeep ใบเสร็จรับเงินในรูปแบบดิจิทัล ที่ตั้งเป้าลดการใช้กระดาษเพื่อช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และการตัดไม้ทำลายป่า

Contactless Technology รูปแบบต่าง ๆ ที่ KBTG นำมาใช้

สำหรับที่มาของการเปิดตัว Contactless Technology ดังกล่าวมาจากการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงที่ไวรัส Covid-19 ระบาด โดยคุณกระทิง – เรืองโรจน์ พูนผล ประธานบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG มองว่าช่วงเวลาดังกล่าวคือการปรับโครงสร้าง (Restructure) ของ Value-Chain ทั้งหมด สะท้อนได้จากการใช้งานแอปพลิเคชัน K Plus ที่มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นเป็น 13 ล้านคน อีกทั้งยังมียอดการทำธุรกรรมทางการเงินโตขึ้น 68% จากที่เคยมีจำนวน 165 ล้านครั้ง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2019 มาสู่ 277 ล้านครั้งในเดือนพฤษภาคม 2020

การทำธุรกรรมที่เพิ่มขึ้น 68% ในเดือนพฤษภาคม 2020

การใช้จ่ายหมวด e-Commerce โต 128%

โดยหมวดการจับจ่ายใช้สอยที่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญคือ หมวดอีคอมเมิร์ซ ที่ในอดีตมักเป็นการใช้จ่ายตามช่วงเวลา แต่สำหรับปี 2020 พบว่า แม้ในเดือนที่โดยปกติแล้ว จะมียอดการใช้จ่ายต่ำนั้น การใช้จ่ายบนอีคอมเมิร์ซก็ยังเติบโต (เห็นได้จาก Chart ด้านล่าง) แถมเพิ่มขึ้นถึง 128% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2019 หรือคิดเป็นจำนวนทรานแซคชั่น 4.6 ล้านครั้ง

“พฤติกรรมทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นภายในเวลาเพียงสองเดือน (มีนาคม – เมษายน 2020) จากเดิมที่เราเคยประเมินกันเอาไว้ว่ากว่าจะเปลี่ยนพฤติกรรมคนได้คงต้องใช้เวลาเป็นปี ๆ” คุณเรืองโรจน์กล่าว

การทำธุรกรรมในหมวด e-Commerce ที่ KBTG พบว่าเดือนเมษายนของปี 2020 มีการเติบโตต่อเนื่อง ต่างจากเดือนเมษายนในปีก่อน ๆ ที่มักมีการใช้จ่ายลดลง

อีกสิ่งหนึ่งที่พบคือการเปิดบัญชีโดยใช้การยืนยันตัวตนบน K Plus หรือ e-KYC ที่โตขึ้น 16 เท่า (เดือนกุมภาพันธ์มีคนเปิดบัญชีด้วยวิธีนี้ 6,000 แอคเคาน์ ส่วนเมษายนโตขึ้นเป็น 100,000 แอคเคาน์)

ด้วยความพร้อมของผู้บริโภคที่เกิดขึ้น จึงเป็นเวลาที่ KBTG มองว่าเป็นโอกาสเหมาะที่จะสร้างความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคในโลกยุคหลัง Covid-19 ผ่าน Contactless Technology โดยทาง KBTG เผยด้วยว่า เทคโนโลยีทั้งหมดที่นำมาเปิดตัวนี้คือเทคโนโลยีที่ได้รับการทดสอบมาแล้วจากภายในองค์กรว่าใช้งานได้จริง

ปรับเทคโนโลยีให้เข้ากับไลฟ์สไตล์คนไทย

ทีมพัฒนาจาก KBTG ยังได้แชร์ปัญหาในระหว่างการพัฒนา และการปรับจูนให้ตรงกับไลฟ์สไตล์คนไทยให้ฟังกันด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยี Face Recognition ที่ใช้กับตู้ล็อกเกอร์ KLox ว่าการพัฒนาในห้องแล็ปกับการใช้งานจริงนั้นต่างกัน เพราะตู้ล็อกเกอร์เมื่อมาตั้งในพื้นที่โล่งแจ้งก็อาจมีแสงเงาเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งนำไปสู่การปรับจูนระบบกล้องโดยให้คำนึงถึงปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมเข้ามาด้วย

หรือการใช้ใบหน้าในการเช็คอิน ที่ระบบอาจต้องการภาพใบหน้าตรงเพื่อความชัดเจนในการตรวจสอบ ส่วนคนที่สแกนหน้าเอียง ๆ อาจทำให้ระบบทำงานผิดพลาดได้ ในจุดนี้ทำให้ทางทีมมีการออกแบบ User Interface เพื่อให้ผู้ใช้งานถ่ายภาพได้อย่างถูกต้องตามที่ระบบต้องการ

คุณเรืองโรจน์ พูนผล (ที่ 3 จากขวา) ประธาน บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป พร้อมผู้บริหาร และคุณประวิทย์ จิตนราพงศ์ (กลาง) กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมเปิดตัว 6 เทคโนโลยีโฉมใหม่แบบไร้สัมผัส (KBTG Contactless Technology)

เช่นเดียวกับโปรเจ็ค ReKeep ที่ทางทีมงานต้องหาทางออกแบบ User Experience ให้ลูกค้าสมัครใจที่จะรับใบเสร็จในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งทางทีมงานได้ทดลองหลายโซลูชันก่อนจะมาจบลงที่ QR Code เนื่องจากสะดวก และเป็นสิ่งที่คนไทยคุ้นเคยมายาวนาน เพียงแค่หยิบโทรศัพท์มือถือมาสแกน ใบเสร็จดิจิทัลก็จะถูกส่งไปอยู่ในโทรศัพท์มือถือแล้ว เป็นต้น

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของสถาบันการเงินไทยอย่างแท้จริง เห็นได้จากการปรากฏตัวของคู่แข่งหลายสัญชาติที่มีความพร้อมทั้งเงินทุน และเทคโนโลยี รอเวลาที่จะบุกเข้ามาในตลาดไทยอยู่เต็มไปหมด ซึ่งการจะยืนหยัดสู้กับคู่แข่งเหล่านั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่สถาบันการเงินไทยจำเป็นต้องมีเทคโนโลยี “เป็นของตัวเอง” และ 6 ผลิตภัณฑ์ใหม่ของ KBTG ก็อาจเป็นคำตอบของการอยู่รอดในอนาคตก็เป็นได้


แชร์ :

You may also like