HomeBrand Move !!โควิดวิกฤติชั่วคราว “เจ้าสัวธนินท์” มองบวก ประเทศไทยยังเต็มไปด้วยโอกาส

โควิดวิกฤติชั่วคราว “เจ้าสัวธนินท์” มองบวก ประเทศไทยยังเต็มไปด้วยโอกาส

แชร์ :

สถานการณ์ Covid-19 ในประเทศไทยแม้เริ่มคลายล็อกให้หลายกิจการกลับมาดำเนินธุรกิจได้แล้ว แต่ยังคงไม่ใช่ภาวะปกติจนกว่าจะมีวัคซีน การปิดเมือง (Lockdown) มา 2 เดือน ส่งผลกระทบกับทุกธุรกิจมากน้อยต่างกัน คนเริ่มตกงาน หลายธุรกิจต้องปิดกิจการไปต่อไม่ไหว ในวิกฤติที่ยังไม่เห็นแสงสว่างนี้ จึงมีคำถามว่า ประเทศไทยยังมีโอกาสฟื้นได้หรือไม่ มาฟังมุมคิดจากมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของประเทศไทย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาออนไลน์ “จุฬาฯ ธุรกิจพิชิต Covid-19” นำเสนอมุมมองผู้บริหารชั้นแนวหน้าระดับประเทศ ที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์และแนวคิดการทำธุรกิจในช่วงวิกฤติ ครั้งนี้ชวนฟังมุมคิดกับผู้บริหารระดับประเทศที่จะมาเป็นปรมาจารย์แนะแนวทาง โดยเปิดวงสนทนากับซีรีส์ชุด Dean’s Distinguished Lecture Series เวทีแรกกับ คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP ในหัวข้อ Top CEO’s Vision for Business Crisis

อะไรเปลี่ยนไปบ้างหลัง Covid-19

วิกฤติโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างใหญ่หลวงรวมทั้งในประเทศไทย คุณธนินท์ มองว่า การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น คือเรื่อง การศึกษา รูปแบบการเรียนการสอนจะปรับสู่ออนไลน์ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะเปิดโอกาสให้ อาจารย์เก่งๆ สามารถเผยแพร่ความรู้ให้นักเรียน นักศึกษา และคนทั่วไปได้แบบไม่จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียนอีกต่อไป

“เราสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ จากอาจารย์ คนเก่งๆ คนอัจฉริยะ ทั้งในและต่างประเทศ พวกเขาเหล่านี้มีโอกาสถ่ายทอดความรู้ให้คนทั่วโลกผ่านออนไลน์ รวมทั้งอาจารย์ในไทยก็สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมจากคนเก่งๆ เพื่อมาถ่ายทอดวิชาให้กับนักเรียน นักศึกษา ประชาชนก็ได้ประโยชน์ จากการหาความรู้เพิ่มเติมทางออนไลน์เพื่อนำไปพัฒนาตัวเองได้”

การทำงาน จะเปลี่ยนไป หลังจากนี้คนจะทำงานที่บ้านมากขึ้น (work from home) วิธีนี้ทำให้ได้ผลงานมากขึ้นด้วย เพราะมีตัวชี้วัดการทำงานแต่ละวัน การทำงานอยู่ออฟฟิศ 8 ชั่วโมงต่อวัน อาจไม่ได้มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอันก็ได้ เพราะเห็นกันอยู่แล้วว่ามาที่ทำงาน การทำงานที่บ้านทำให้ไม่ต้องลงทุนสร้างออฟฟิศ ทำให้ลดต้นทุนและช่วยพนักงานลดเวลาการเดินทางไปกลับวันละ 2-3 ชั่วโมง ลดมลภาวะจากระบบขนส่งได้อีกทาง

เปลี่ยนวิถีการท่องเที่ยว การทำงานที่บ้านหากสามารถสร้างผลงานที่ดีได้ และเทคโนโลยีมีความพร้อม ต่อไปก็สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ รวมทั้งระหว่างการท่องเที่ยว ก็สามารถทำงานไปพร้อมกันได้ เป็นรูปแบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและทำให้การใช้ชีวิตดีขึ้น เป็นการทำงานไป เที่ยวไป พักผ่อนไป ดังนั้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังมีโอกาสเติบโตได้มากกว่าเดิมหลายเท่า

แต่วันนี้ธุรกิจท่องเที่ยวก็ต้องเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย ต่อไป “ท่องเที่ยวต้องบวกความปลอดภัย” ต้องดูแลนักท่องเที่ยวและมีหลักประกันเรื่องความปลอดภัยจากการติดเชื้อโรค หากสามารถทำเรื่องนี้ได้  นักท่องเที่ยวทั่วโลกก็อยากมาประเทศไทย และยังสามารถดึงกลุ่มเศรษฐีและคนสูงวัย มาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทย เพราะมีความพร้อมทั้งแหล่งท่องเที่ยวและการดูแลสุขภาพ จะเห็นได้ว่าชาวต่างชาติ ที่มีเงินมารักษาตัวในโรงพยาบาลประเทศไทยเพิ่มขึ้นทุกปี

“ประเทศไทยมีหมอเก่ง การแพทย์มีความพร้อม เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวระดับโลกด้านการพักผ่อนและดูแลสุขภาพได้ วันนี้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่าท้อใจ เพราะยังมีโอกาสอีกใหญ่หลวง”

กระทบชั่วคราว หลัง Covid-19 โอกาสมหาศาล

สถานการณ์แพร่ระบาดไวรัส Covid-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ไม่ใช่ความผิดของใคร เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด ในอนาคตหลังจบ Covid-19 ก็อาจเจอไวรัสใหม่ได้อีก ผลกระทบที่เกิดขึ้นเปรียบเหมือนธุรกิจเป็น “อัมพาต” ชั่วคราว แต่ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น โรงงาน สถานที่ เครื่องมือต่างๆ ยังอยู่ครบ

ผมมองบวก เมื่อต้องเจอวิกฤติโควิดครั้งนี้ เพราะทุกคนเจอเหมือนกันหมด

สิ่งที่กระทบคือ การหยุดทำธุรกิจ ทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่อง ประชาชนไม่มีกำลังซื้อ ช่วงนี้รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยผู้ประกอบการที่เดือดร้อน ให้กู้เงินดอกเบี้ยต่ำระยะยาว 30 ปี ช่วยเหลือให้รอดพ้นจากวิกฤตินี้ไปให้ได้ และช่วยให้ประชาชนมีกำลังซื้อ

การปิดเมืองแต่ละวันต้องสูญเสียทางเศรษฐกิจวันละ 18,000 ล้านบาท เดือนละ 5.4 แสนล้านบาท หากปิดเมือง 3 เดือนก็ 1.5 ล้านล้านบาท รัฐบาลกู้มาแล้ว 1.9 ล้านล้านบาท หากไม่พอก็ต้องกู้มาเพิ่มอีก เพื่อช่วยให้ธุรกิจอยู่รอด ประชาชนยังมีเงินจับจ่าย หากฟื้นมาได้รัฐบาลยังมีรายได้จากภาษี วันนี้โควิด-19 เป็นปัญหาชั่วคราว

“รัฐบาลต้องกล้าทุ่มเงินเข้ามาช่วยผู้ประกอบการและประชาชน รับรองว่าหลังวิกฤติรัฐจะได้คืนแน่นอน ไม่เสียเปล่า ทำให้ธุรกิจเข้มแข็ง หลังโควิด-19 ธุรกิจที่ฟื้นก่อนคือ ท่องเที่ยว เพราะคนจะเดินทางจำนวนมากหลังกักตัวมานาน เราจะได้เงินท่องเที่ยวมากกว่าเดิมอีกหลายเท่า”

คุณธนินท์ มองว่าเมืองไทยยังมีโอกาสอีกเยอะ นอกจากท่องเที่ยว ก็ด้านเกษตร รัฐบาลต้องสนับสนุนเกษตรกรปลูกพืชผลที่สร้างรายได้สูง เช่น เปลี่ยนจากข้าวขาวราคาถูก มาเป็นข้าวหอมมะลิราคาแพง เปลี่ยนพื้นที่ทำนาใช้น้ำมาก เป็นพืชใช้น้ำน้อย อย่างมะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวกะทิ ทุเรียน หรือผลไม้ที่ประเทศไทยสร้างมูลค่าและส่งออกได้ ซึ่งสามารถสร้างรายได้มากกว่าการปลูกข้าว

“ปกติเกษตรกร มักขาด 3 เรื่อง คือ เงิน เทคโนโลยี และการตลาด  ซีพีช่วยเรื่องเทคโนโลยีและการตลาด แต่รัฐต้องเข้ามาช่วยเรื่องเงินทุนให้เกษตรกรด้วย”

แนวคิด “3 ประโยชน์ 4 ประสาน” ฟื้นเศรษฐกิจ

หลักคิดโมเดลธุรกิจที่ ซีพียึดมาตลอดเรื่อง “3 ประโยชน์ 4 ประสาน” ที่ว่าด้วยรูปแบบความร่วมมือ 4 ฝ่าย คือ รัฐบาล เอกชน สถาบันการเงิน และเกษตรกร เพื่อรองรับการพัฒนาเกษตรกรรมทันสมัย ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ 3 ประการ คือ ประโยชน์ต่อประเทศ ต่อประชาชน และสุดท้ายเป็นประโยชน์ต่อองค์กร เป็นสิ่งที่ทำได้จริงและประสบความสำเร็จ โดยทุกบริษัท ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ สามารถทำไปใช้ได้เหมือนกันหมด

โมเดล 3 ประโยชน์ และ 4 ประสาน เป็นการ  Integrate ทุกส่วนเข้ามาทำงานร่วมกัน แบบแบ่งงานกันทำ แบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน โดยผู้ที่มีความสามารถด้านใดก็เป็นผู้นำและช่วยเหลือส่วนอื่นๆ เมื่อทุกขั้นตอนสำเร็จ ทุกส่วนก็จะได้ประโยชน์ เช่น ซีพี มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีและการตลาด ก็ช่วยสนับสนุนเกษตรกรด้านนี้

ในยุค 4.0 ทุกส่วนต้องมาร่วมมือกันลดขั้นตอนความสูญเสียที่เกิดจากการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับสินค้า และทุกส่วนได้ประโยชน์ร่วมกัน เพื่อให้สังคมอยู่รอดไปด้วยกัน “ไม่ใช่ ซีพี ได้ประโยชน์อยู่คนเดียว เพราะหากคนอื่นไม่ได้ด้วย ซีพี ก็ไม่ได้ประโยชน์เช่นกัน”

“หากเราทำธุรกิจอะไร ต้องคิดว่าประเทศชาติต้องได้ประโยชน์ เพราะเมื่อประเทศนั้นได้ประโยชน์ ก็จะหันมาสนับสนุนธุรกิจ ทุกประเทศยินดีต้อนรับ การผลิตสินค้าก็ต้องทำให้ประชาชนได้ประโยชน์เพื่อจะได้ซื้อสินค้า จากนั้นบริษัทจะได้ประโยชน์จากประชาชนสนับสนุน”

ดึงเศรษฐี-คนเก่งลงทุนไทย

แนวทางการฟื้นเศรษฐกิจหลัง Covid-19  สามารถใช้จุดเด่นของประเทศไทย ที่อยู่ศูนย์กลางภูมิภาคเอเชีย มีประชากรกว่า 3,000 ล้านคน  มีความพร้อมด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการแพทย์ดูแลสุขภาพ หากดึงเศรษฐี 1 ล้านคน เข้ามาใช้ชีวิตที่เมืองไทยได้ คนกลุ่มนี้ 1 ล้านคน อาจใช้จ่ายเท่ากับนักท่องเที่ยวทั่วไป 10 ล้านคน

โดยอาจจะให้เศรษฐีนำเงินเข้ามาคนละ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้สิทธิซื้อบ้านตามกฎหมายในประเทศไทย ให้กรีนการ์ด หากเข้ามา 1 ล้านคน ก็จะมีเงินสะพัด 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐทันที และกลุ่มนี้มีโอกาสเข้ามาลงทุนด้านอื่นๆ เพิ่มอีก

รวมทั้งอาจแก้ไขกฎระเบียบอำนวยความสะดวกเพื่อดึง “คงเก่ง” ทั่วโลกเข้ามา 5 ล้านคน เพื่อนำความรู้ต่างๆ มาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยสร้างงานและสร้างอาชีพให้กับประเทศไทยได้อีกมาก

“เมืองไทยยังเต็มไปด้วยโอกาส แม้วันนี้มีวิกฤติทุกคนต้องคิดบวกอย่าคิดลบ ตอนมืดที่สุดก็ต้องคิดว่าเวลาสว่างแล้วจะทำยังไง ตอนที่สว่างที่สุดก็ต้องคิดว่าเมื่อเกิดวิกฤติเราพร้อมหรือยัง ผมดีใจเพียงวันเดียว กลุ้มใจก็วันเดียว เพราะกลุ้มใจนานก็ไม่มีประโยชน์ ดีใจนานพรุ่งนี้ก็มีคนเก่งกว่าเรา”

เช็กลิสต์ทักษะ “ผู้นำ” สไตล์ซีพี

รศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ กล่าวว่าแนวทางการดำเนินธุรกิจของเครือซีพี ที่ว่าด้วย 3 ประโยชน์ และ 4 ประสาน และมุมมองการบริหารธุรกิจในสถานการณ์วิกฤติ Covid-19 ของประธานอาวุโสเครือซีพี เป็นบทเรียนที่ผู้บริหารองค์กรต่างๆ สามารถนำไปเป็นแนวคิดจัดการธุรกิจในช่วงนี้ได้เป็นอย่างดี

โดยผู้บริหารองค์กร ต้องมองประโยชน์ พนักงาน ประเทศชาติมาก่อน ดูแลต้นทำถึงปลายน้ำ มองความสำเร็จของคู่ค้าเป็นความสำเร็จขององค์กร เมื่อทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ท้ายสุดองค์กรก็จะได้ประโยชน์เช่นกัน

นอกจากนี้สามารถแนวคิดต่างๆ มาใช้เป็น “เช็คลิสต์” ทักษะการทำงานของผู้นำรวมทั้งคนทำงาน เพื่อก้าวข้ามวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้ โดยมี 4 ช้อหลัก

  • นักคิด  ต้องคิดให้เยอะ คิดให้ลึก ผู้นำต้องนึกถึงประโยชน์ของคนอื่นก่อน หากเป็นผู้ผลิตสินค้า ก็ต้องดูว่า ลูกค้าได้อะไร มากกว่าที่เราจะผลิตอะไร เพราะรายได้ของธุรกิจไม่ได้เกิดจากเงินที่ลูกค้าจ่ายเท่านั้น แต่รายได้แปรตามความสุขที่ลูกค้าจะได้รับ หากทำให้ลูกค้ามีความสุขมากเท่าไหร่ก็จะทำให้รายได้เพิ่มขึ้น
  • คิดต่าง นอกจากเป็นนักคิดแล้ว ต้องคิดให้แตกต่างอย่างสร้างสรรค์
  • รู้จักเปลี่ยน คือเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ เมื่อโลกเปลี่ยน หรือเจอวิกฤติเราต้องปรับตัวตามให้ทัน
  • ลงทุนอย่างฉลาด ต้องมองรอบด้าน หาวิธีทำงานที่มีประสิทธิภาพ และวางแผนให้กว้าง ลึกและระยะยาว

ในตลาดแรงงานหรือคนทำงานเอง ก็ต้องมีทัศนคติและ Mindset ปรับปรุงตัวให้อยู่รอดในโลก 4.0 เพราะหากมีความสามารถและเพิ่มเติมทักษะอยู่ตลอดเวลา ไม่ต้องกลัวตกงาน ไม่ว่าจะเจอะกับวิกฤติใดๆ โดยทักษะที่คนทำงานต้องมีอยู่เสมอ คือ

  • Technical skill ทักษะวิชาชีพเฉพาะด้าน ต้องมองหากลุ่มที่ตลาดยังขาดแคลน เพราะจะไม่ตกงานแน่ๆ
  • Analytical skill การรู้จักคิดวิเคราะห์
  • Conceptual skill ทักษะความคิดรวบยอด เพื่อให้พร้อมกับตลาดแรงงาน
  • Adaptability skill ทักษะการปรับตัว ปรับได้อยู่รอดได้
  • Life skill ทักษะการใช้ชีวิต มองการเปลี่ยนแปลงของโลกว่าต้องการแรงงานและความสามารถแบบไหน และปรับตัวตามนั้นก็ พัฒนาตัวเองให้สอดคล้องกับตลาดแรงงานก็จะไม่ตกงาน

“แม้วันนี้ยังต้องเผชิญกับสถานการณ์วิกฤติ แต่กำลังใจเกิดได้จากการมองเห็นโอกาส เห็นในสิ่งที่คนอื่นยังมองไม่เห็น หากเราเห็นได้เร็วกว่าและทำได้เร็วกว่าก็จะไปได้ไกลกว่า เพราะโลกวันนี้ไม่ได้แย่ตลอดไป แต่ยังมีอนาคตรอคนที่เห็นโอกาสอยู่ข้างหน้า”


แชร์ :

You may also like