HomeBrand Move !!เจ้าสัว CP ชี้วิกฤติ‘โควิด’ไม่ใช่ความผิดใคร ‘อย่าปลดพนักงาน’ หนุนรัฐบาลกู้เงินแจกประชาชน เศรษฐกิจไทยไปต่อได้

เจ้าสัว CP ชี้วิกฤติ‘โควิด’ไม่ใช่ความผิดใคร ‘อย่าปลดพนักงาน’ หนุนรัฐบาลกู้เงินแจกประชาชน เศรษฐกิจไทยไปต่อได้

แชร์ :

วิกฤติ Covid-19 เขย่าเศรษฐกิจทั่วโลก ฉุดจีดีพีปีนี้ร่วงกันทุกประเทศ บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลก Mckinsey ประเมินทุกธุรกิจได้รับผลกระทบอยู่ที่ว่า “มากหรือน้อย” แต่ในวิกฤติยังมีโอกาสและแสงสว่างรออยู่ การอยู่รอดให้ได้ไปถึงสถานการณ์วิกฤติคลี่คลาย สิ่งสำคัญที่ต้องรักษาไว้ก่อนคือ “คน”

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

หลังจบภารกิจ 5 สัปดาห์ สร้างโรงงานหน้ากากอนามัยแจกฟรีให้กับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนที่ขาดแคลน โดยเริ่มเดินเครื่องผลิตล็อตแรกและส่งมอบหน้ากากล็อตแรกให้โรงพยาบาลจุฬาฯ ไปแล้วเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563  (อ่านต่อ :โรงงานหน้ากากอนามัยซีพีแจกฟรีล็อตแรกถึงมือหมอ)

จบงานบริจาคไปแล้วมาฟัง เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ให้มุมมองการแก้ปัญหาวิกฤติครั้งใหญ่ของโลกกันต่อ

“วิกฤติโควิด-19 ไม่ใช่ความผิดของใคร เป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดและไม่มีใครอยากให้เกิด แต่ก็ไม่มีใครห้ามได้ จึงไม่ใช่ความผิดของรัฐบาลหรือธุรกิจ เพราะไม่มีใครอยากล้มละลาย เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก แม้วันนี้หนทางยังมืด แต่ก็จะสว่าง ไม่มีวันที่จะมืดไปตลอดกาล หลังวิกฤตแล้วมีโอกาสแน่นอน และเป็นโอกาสที่สำคัญของประเทศไทย”

แม้วันนี้ยังพัฒนาวัคซีนไม่ได้ แต่เป็นสิ่งที่คนทั่วโลกมาระดมศึกษาและทดลองร่วมกันหลายประเทศทั่วโลก เชื่อว่าเทคโนโลยีและคนเก่งๆ จากทุกประเทศ จะคิดค้นวัคซีนได้เร็วกว่าทุกครั้ง ที่ปกติใช้เวลาเป็นปี แต่วัคซีนโควิด-19 จะทำได้เร็วกว่านั้น เพราะวิกฤติที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่คนทั่วโลกต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา เชื่อว่าวิกฤติโควิด-19 จะกินเวลาไม่นาน  เพราะโควิด-19 หากยืดเยื้อมากขึ้น 1วัน มีความหมายต่อเศรษฐกิจมหาศาล ทุกประเทศจึงร่วมมือกันแก้ปัญหานี้อย่างเต็มกำลัง

“เมื่อโควิด-19 เป็นปัญหาของโลก มนุษย์ย่อมเก่งกว่าโรค เพราะไม่เช่นนั้นคนคงตายหมดแล้ว หลังโควิด-19  เราอาจต้องเผชิญกับโรคแพร่ระบาดที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกบ่อยขึ้น  แต่มนุษย์จะเก่งขึ้นเช่นกัน เทคโนโลยีและอุปกรณ์ต่างๆ ก็พัฒนาขึ้น วันนี้เป็นเรื่องที่เราต้องผนึกกำลังกันทั้งโลกเพื่อก้าวผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้ ก่อนจะมีวัคซีนก็ต้องมาช่วยกันคิดก่อนว่า มียาอื่นที่สามารถรักษาก่อนได้หรือไม่ เพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบา”

เตรียมพร้อม “หลังวิกฤติ” โอกาสโตดับเบิ้ล

เมื่อวิกฤติโควิด-19 ไม่ใช่ความผิดของใคร  ที่ผ่านมาทุกครั้งเมื่อมีวิกฤติก็จะตามมาด้วยโอกาสเสมอเป็นของคู่กัน การเจอวิกฤติและสามารถอยู่รอดจนสถานการณ์คลี่คลาย นั่นเท่ากับ “โอกาส” และการกลับมาหลังวิกฤติจะไม่ใช่การเติบโตแบบธรรมดา แต่เป็น “ดับเบิ้ล”

ดังนั้นสิ่งที่ทุกคนต้องทำ คือ “อยู่รอด” ให้ได้ในช่วงวิกฤติ ในช่วงที่ยังอยู่ในสถานการณ์วิกฤติก็ไม่ควรมองแค่สถานการณ์ขณะนั้น แต่ต้องมองยาวไปถึง “หลังวิกฤติ” ว่าจะทำอะไร เพื่อสร้างโอกาสให้กับตัวเองและวิ่งให้เร็วกับการช่วงชิงโอกาส ในช่วงเวลานี้ที่ยังอยู่ในวิกฤติ ต้องมองเรื่องการฝึกฝนทักษะ การเพิ่มเติมความรู้ เพื่อให้พร้อมหลังกฤติ ซีพีเองก็ต้องแข็งแรง หลังโควิด-19 คลี่คลาย ก็พร้อมวิ่งอีกครั้งและไปข้างหน้าได้เร็วกว่าคนอื่น

“การทำธุรกิจขณะที่ยังไม่มีวิกฤติ ก็ต้องเตรียมตัวไว้ด้วยว่าหากเกิดวิกฤติต้องทำอย่างไร  เมื่อวิกฤติเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องเตรียมพร้อมว่าหลังวิกฤติจะทำอะไร ไม่ใช่ไปทำหลังวิกฤติ เพราะนั่นเท่ากับช้ากว่าคนอื่นและสายเกินไป”

“หยุดเลิกจ้าง” รักษาพนักงาน รอไปต่อหลังวิกฤติ

แต่การอยู่รอดไปถึงหลังวิกฤติเพื่อไปรอโอกาสนั้น สิ่งสำคัญคือ ต้องมีขุมกำลัง “คน” พร้อมทำงาน ทุกวิกฤติที่ผ่านมา ซีพี จึงไม่เคย “เลิกจ้าง” พนักงาน  เช่นเดียวกับสถานการณ์วิกฤติโควิด-19  ยังยืนยัน “ไม่เลิกจ้าง” พนักงานทั่วโลกที่มีกว่า 350,000 คน  ในจำนวนนี้อยู่ในประเทศไทยถึง 250,000 คน   หรือแม้แต่ในประเทศจีน ที่เกิดวิกฤติโควิด-19  ก่อนไทย ซีพีมีพนักงาน 90,000 คน ก็ไม่มีการเลิกจ้าง

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ “คนเก่งหายาก” และความสำเร็จของซีพี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาคือ “คน”  เจ้าสัวธนินท์ บอกว่าต่อให้ย้ำเป็นหมื่นครั้งก็ยืนยันว่า “คน” สำคัญที่สุด  ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากคน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีต่างๆ หรือ “หุ่นยนต์” ที่ล้ำหน้าแค่ไหน ก็ไม่ได้เก่งไปกว่า “คน”  เพราะคนก็ยังเป็นคนสร้างหุ่นยนต์อยู่ดี “มนุษย์”เป็นคนนำเทคโนโลยีไปใช้ให้เกิดประโยชน์   สถาบันผู้นำซีพี เขาใหญ่ จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร อย่างมาก

“แม้ในสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ บริษัทต่างๆ ต้องดูแลสมบัติอันล้ำค่าอย่างทรัพยากรคน ไว้ให้ดี เพื่อพร้อมกลับมาหลังวิกฤติ เพราะหากไม่มีคนแล้ว เมื่อทุกอย่างคลี่คลายก็จะไม่มีคนทำงาน”

สิ่งที่ทั้งภาคเอกชน และที่สำคัญรัฐบาล ต้องเข้ามาดูแลก่อน  คือ การหยุดเลิกจ้างพนักงาน ร่วมกัน ประคับประคองให้ไปต่อ เพราะการเลิกจ้าง เมื่อประชาชนไม่มีรายได้ จะส่งผลให้อีกหลายธุรกิจล้มตามกันไป  ซีพี เองนอกจากไม่เลิกจ้างแล้ว  ซีพีออลล์ ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ยังจ้างงานเพิ่มอีก 20,000 คน เพื่อรองรับการส่งสินค้าเดลิเวอรี่ ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นในช่วงนี้  เช่นเดียวกับ CP Fresh Mart ที่จ้างแรงงานส่งสินค้าเพิ่มเช่นกัน

หนุนรัฐบาลกู้เงินแจกประชาชน

วิกฤติโควิด-19  ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ เจ้าสัวธนินท์ ย้ำว่าวิธีการแก้ไขปัญหานี้ ก็ต้องเป็นวิธีปฏิบัติพิเศษ มองข้าม “ขั้นตอน” เดิมๆ  และเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างรวดเร็ว  โดยต้องดูวิธีการจากทั่วโลกว่ามีการช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจอย่างไร

ปัจจุบันมีธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เช่น ท่องเที่ยว โรงแรม สายการบิน ที่ต้องปิดกิจการชั่วคราว พ่อค้า แม่ค้า หลายอาชีพขาดรายได้ ในต่างประเทศธุรกิจที่ต้องปิดชั่วคราว รัฐบาลช่วยจ่ายเงินให้พนักงานแทน เพื่อให้คนยังมีรายได้  เช่น อังกฤษ รัฐบาลจ่ายให้ 80% ของรายได้พนักงานที่ธุรกิจปิดชั่วคราว  เพื่อให้เจ้าของกิจการไม่เลิกจ้างและยังดูแลพนักงานต่อไป  หลังจบวิกฤติธุรกิจจะได้มีโอกาสฟื้นตัว

การช่วยให้พนักงานไม่ถูกเลิกจ้าง และยังมีรายได้ โดยรัฐบาลเข้ามาช่วยจ่ายเงิน หรือ คนที่ถูกเลิกจ้างไม่มีรายได้ รัฐบาลแจกเงินเยียวยา เพื่อให้นำไปซื้อสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน จะช่วยให้หลายธุรกิจไม่ต้อง “ล้ม” ตามกันไป หากธุรกิจปิดกิจการจำนวนมาก  ก็จะกลายเป็น “หนี้เสีย”  กระทบต่อไปยัง ธนาคาร และธุรกิจอื่นๆ ตามมา

หากรัฐบาลแจกเงินให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้งเลิกจ้างและปิดกิจการชั่วคราว รวมทั้งอาชีพอิสระที่ขาดรายได้ คนเหล่านี้ก็จะมีเงินมาจับจ่าย รัฐยังได้เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่สำคัญเงินจะหมุนเวียนหลายรอบ  ทำให้ธุรกิจต่างๆ ยังพอประคับประคองไปได้ในช่วงที่ยังเป็นวิกฤติ

ปัจจุบันรัฐบาลไทยมีหนี้สาธารณะต่อจีดีพี 41% ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศและบางประเทศเกิน 100%  จึงยังมีความสามารถกู้เงินมาใช้จ่าย เพื่อพยุงเศรษฐกิจให้ฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้ วันนี้หากมีความจำเป็นต้องกู้เงินมาช่วยประชาชนก็ต้องทำอย่างเต็มที่ เพราะเป็นการสร้างประโยชน์ส่วนรวม แม้จะเป็นหนี้เพิ่มอีก 10% หรือมากกว่าก็ต้องทำ  เชื่อว่ามีความสามารถจ่ายหนี้ได้ระยะยาว 10-20 ปี หลังวิกฤติผ่านพ้นไปแล้ว  หากทำเช่นนี้ประเทศก็จะไม่ “ล้มละลาย”  และมีโอกาสได้เงินคืนจากภาษี เมื่อธุรกิจต่างๆ กลับมาฟื้นตัวได้

วันนี้หากจำเป็นต้องกู้เท่าไหร่ รัฐบาลต้องกู้มาเพื่อช่วยประชาชนและธุรกิจให้ไปต่อได้ ช่วยเหลือทุกกลุ่ม หากสามารถจ่ายเงินแทนได้ทั้ง 100% ของรายได้พนักงานที่ธุรกิจปิดชั่วคราวก็ควรทำ เพราะวิกฤติครั้งนี้ไม่ใช่ธุรกิจทำไม่ดี แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งโลก

เชื่อว่าเงินที่รัฐบาลนำมาเยียวยาประชาชนจะไม่เสียเปล่า เพราะเงินที่นำมาช่วย จะหมุนเวียนอยู่ในประเทศและพอที่จะอยู่รอดได้  หากแจกเงิน 1 ล้านล้านบาท เงินหมุนเวียน 10 รอบก็เป็นมูลค่ากว่า 10 ล้านล้านบาท ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้  เมื่อภาคธุรกิจฟื้น เศรษฐกิจเข้มแข็ง รัฐจะได้ภาษีคืนมาจ่ายหนี้หลังวิกฤติโควิด-19 แน่นอน

ส่วนธุรกิจที่ให้รัฐช่วยจ่ายเงินเดือนพนักงานแทน ในช่วงที่ต้องปิดกิจการชั่วคราว อย่าง โรงแรม หรือธุรกิจต่างๆ  ต้องใช้เวลาช่วงนี้ฝึกอบรมพนักงาน เสริมทักษะ พัฒนาบริการให้ดีเยี่ยม สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ใช้บริการโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวว่าจะปลอดภัยจากการติดเชื้อในประเทศไทย เป็นการเตรียมพร้อมกลับมาทำธุรกิจอีกครั้งเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายแล้ว พัฒนาบริการ  เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวกลับมาท่องเที่ยวอีกครั้ง

“วิกฤติครั้งนี้ หากประเทศไทยอยู่ไม่ได้ ซีพีก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน  ซีพีเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย  ผลประโยชน์ของซีพีอยู่ในเมืองไทยมากที่สุด หากประเทศไทยไปต่อไม่ได้ ซีพีเสียหายมากที่สุด ผมก็รักเมืองไทย คิดทุกอย่างเพื่อประเทศชาติและต้องตอบแทน เพราะหากประเทศไทยเจริญรุ่งเรือง ประชาชนมีกำลังซื้อ  สินค้าซีพีก็ขายได้”  

ธุรกิจโรงแรมท่องเที่ยวจะฟื้นก่อน

แม้วันนี้ที่วิกฤติโควิด-19 ยังไม่จบ และยังไม่มีวัคซีน แต่หากสถานการณ์ดีขึ้น คนติดเชื้อลดลง ภาครัฐก็ควรพิจารณาปลดล็อกการทำธุรกิจบางส่วนที่เห็นว่าปลอดภัย  ตัวอย่างประเทศจีน ช่วงที่เกิดวิกฤติโรคระบาดก็ไม่ได้ปิดประเทศทั้งหมด โดยมีมาตรการดูแลเข้มงวดในพื้นที่ที่เปิดปกติ

ประเทศไทยมีศักยภาพในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว มีโอกาสที่จะดึงนักท่องเที่ยวกลับมาได้เร็ว หากสร้างความเชื่อมั่นได้ว่ามาเที่ยวปลอดภัยไม่ติดเชื้อ  เชื่อว่าท่องเที่ยวจะฟื้นก่อน

รัฐบาลและเอกชนอาจจะร่วมกันโปรโมทบางพื้นที่ท่องเที่ยวที่เห็นแล้วว่าปลอดภัย เพื่อดึงกลุ่มที่มีกำลังจับจ่ายสูงมาท่องเที่ยว โดยดูแลสุขภาพไปพร้อมกัน ที่ผ่านมาระบบสาธารณสุขและการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของบุคลากรทางการแพทย์ไทยทำได้ดี เห็นได้ว่ามีอัตราการเสียชีวิตต่ำ จึงช่วยสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวที่ต้องการหนีความเสี่ยงจากไวรัสมาอยู่ที่ไทยได้

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวสร้างรายได้จากต่างประเทศปีละ 3-4 แสนล้านบาท เชื่อว่ากลุ่มนี้จะฟื้นตัวจากวิกฤติเป็นกลุ่มแรก เพราะพื้นฐานท่องเที่ยวไทยพร้อม ทั้งแหล่งท่องเที่ยว โรงแรมและภาคบริการ การรักษาธุรกิจท่องเที่ยวให้อยู่รอด หลังวิกฤติใครฉวยโอกาสนี้ได้ก่อนก็จะฟื้นได้เร็วและเป็นผู้ชนะ

“ซีพี” เดินหน้าลงทุนรถไฟความเร็วสูง

สำหรับ ซีพี เองในสถานการณ์นี้ ยังเดินหน้าลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงต่อเนื่อง  เพราะต้องใช้เวลาก่อสร้างอีก 4 ปี ถือเป็นโอกาสของ ซีพี ในการพัฒนาโปรเจกต์โครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย เชื่อว่าเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จเป็นจังหวะที่เศรษฐกิจทั่วโลกกลับมาเติบโตอีกครั้ง  เพราะทุกครั้งที่เกิดวิกฤติเมื่อจบลง เศรษฐกิจจะกลับมาเติบโตอย่างก้าวกระโดด และเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี

หลังวิกฤติเศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ด้วยศักยภาพประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก  เพราะวันนี้ไทยก็เป็นศูนย์กลางของเอเชีย ซึ่งเป็นประเทศที่เศรษฐกิจกำลังเติบโต ทั้ง จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ไทย ภูมิภาคนี้มีประชากรกว่า 3,000 ล้านคน เท่ากับครึ่งโลก เป็นภูมิภาคที่มีประชากรมากสุดและเศรษฐกิจกำลังเติบโต  สิ่งสำคัญที่จะก้าวไปให้ถึงจุดนั้น “รัฐบาลต้องกล้าตั้งเป้าหมายว่าเราเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลกได้”

วันนี้เจอวิกฤติโควิด-19 เป็นปัญหาชั่วคราว หลังจบเศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าต่อ ด้วยวัฒนธรรมที่โดดเด่น เป็นจุดศูนย์กลางของเอเชีย ประเทศไทยจึงยังเติบโตได้แน่นอน


แชร์ :

You may also like