HomeBrand Move !!ย้อนภารกิจ 1 ปี “อริยะ พนมยงค์” ในช่อง 3 กับโจทย์ยาก…อย่างที่คิด

ย้อนภารกิจ 1 ปี “อริยะ พนมยงค์” ในช่อง 3 กับโจทย์ยาก…อย่างที่คิด

แชร์ :

นับตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง President บีอีซี เวิลด์ หรือ ช่อง 3 เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2562 ของ “บี๋ อริยะ พนมยงค์” มืออาชีพจาก Tech Company พร้อมประสบการณ์ทำงานจาก ทรู กูเกิล ไลน์ ประเทศไทย แต่ในเส้นทาง สื่อเก่า “ทีวีดิจิทัล” ความซับซ้อนขององค์กร 50 ปี  นับเป็นโจทย์ยากและ “ท้าทาย” ตลอด 1 ปี  ตั้งแต่วันแรกถึงวันที่ตัดสินใจโบกมือลา!

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แม้ต้องใช้เวลาตัดสินใจอยู่พักใหญ่ แต่ในที่สุด คุณอริยะ พนมยงค์ ก็เลือกที่จะลาตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ ไลน์ ประเทศไทย จาก Tech Company ก้าวสู่ความท้าทายใหม่ในตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการ (President) BEC World  กับโจทย์ใหญ่ ที่ต้องบอกว่าไม่ง่าย ในการนำพาธุรกิจทีวีอายุ 50 ปี ที่กำลังเจอทั้ง Business Disruption และ Technology Disruption ถาโถม ให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง บนความคาดหวังของตระกูลมาลีนนท์ เจ้าของอาณาจักร ช่อง 3

แต่อีกมุมก็เป็นความตั้งใจของคุณอริยะ ที่ต้องการนำประสบการณ์จากฝั่งเทคโนโลยี มาช่วยบริษัทไทย แม้ไม่มีตัวอย่างในโลกของการทรานส์ฟอร์มสื่อทีวี ที่ถูกดิสรัปต์อย่างรุนแรงให้ศึกษา แต่หาก “ช่อง 3” ทำสำเร็จถือเป็น case study ให้ช่องทีวีทั้งในไทยและทั่วโลกที่กำลังเผชิญปัญหาอยู่ได้เดินตาม นั่นคือเหตุผลที่เลือกมาทำงานให้ช่อง 3 มาย้อนดู 1 ปีการทำงานของคุณอริยะ ที่ช่อง 3 ก่อนประกาศลาออกมีผลวันที่ 20 มิถุนายน 2563 (อ่านต่อ : “อริยะ พนมยงค์” ลาออก “ช่อง 3” จุดเปลี่ยน “มาลีนนท์” คนไหนขึ้นมานำทัพ BEC)

โจทย์แรกเจอ คืน 2 ช่องทีวีดิจิทัล – ปลดคน

หลังเข้ามานั่งเป็น กรรมการผู้อำนวยการ BEC เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2562  คุณอริยะ เจองานแรกต้องเรียกว่ารับน้องกับโจทย์ยาก! การตัดสินใจครั้งสำคัญ คืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 2 ช่อง  คือ ช่อง 3 Family และ ช่อง 3 SD  การปรากฏตัวต่อสื่อมวลชนครั้งแรก จึงเป็นการร่วมประชุมกับ กสทช. เพื่อฟังการชี้แจงหลักเกณฑ์การ “คืนช่อง” ทีวีดิจิทัล ของสำนักงาน กสทช. เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562  จากนั้นมีเวลาตัดสินใจแค่ 2 วัน  คือต้องแจ้ง กสทช. ว่าจะคืนช่องหรือไม่ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 เท่านั้น

ภารกิจแรก! คุณอริยะ พนมยงค์ ประชุมกับ กสทช. คืนช่องทีวีดิจิทัล

เมื่อช่อง 3 ตัดสินใจ “คืน 2 ช่องทีวีดิจิทัล” สิ่งที่ตามมาคือการปรับโครงสร้าง  “เลิกจ้าง” พนักงาน เพื่อให้องค์กรคล่องตัว ก่อนก้าวไปสู่ Next Step ทรานส์ฟอร์มธุรกิจ ด้วยเป้าหมาย “คอนเทนต์ แฟลตฟอร์ม” Beyond TV

การคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 2 ช่อง ทำให้ต้องปลดคนเก่า ส่วนใหญ่เป็นฝ่ายข่าวกว่า 100 คน เพื่อให้เหมาะกับขนาดองค์กรใหม่ ขณะเดียวกันเป้าหมายการเป็น คอนเทนต์ แฟลตฟอร์ม ก็ต้องอาศัยทักษะการทำงานใหม่ในยุคดิจิทัล การเข้ามานั่งเป็นผู้นำองค์กรของคุณอริยะ จึงดึงทีมบริหาร ทั้งจาก ไลน์ ประเทศไทย, ทรู, จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เข้ามาร่วมทีม และรับบุคลากรระดับปฏิบัติการเข้ามาเพิ่มอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อขับเคลื่อนช่อง 3 ให้ได้ตามเป้าหมาย แต่การปลดคนเก่าและรับคนใหม่เข้ามาเพิ่ม นับเป็นรอยร้าวที่เกิดขึ้นในช่อง 3

แม้อยู่ในตำแหน่ง President มีอำนาจสูงสุด แต่พี่น้องตระกูลมาลีนนท์ ยังนั่งเป็น “กรรมการบริหาร” อยู่หลายคน การเป็นองค์กรอายุ 50 ปี ที่อำนาจอยู่ในมือ Business Family มาตลอด กลุ่มผู้ผลิตรายการ ผู้จัดละคร ที่อยู่กับช่อง 3 มานานจึงรู้จักและเข้าถึงคนในตระกูลมาลีนนท์ได้เป็นอย่างดี  การปรับเปลี่ยนคอนเทนต์ใหม่จึงทำไม่ได้ง่ายนัก โดยเฉพาะ ละคร ที่วันนี้แตกออกเป็นหลายแนว หลายเซ็กเมนต์ เห็นได้จากละครช่องวัน อมรินทร์ทีวี จีเอ็มเอ็ม25 ที่แข่งโกยเรตติ้งเบียดเบอร์สองช่อง 3 มาตลอด การเปลี่ยนแปลงคอนเทนต์ที่ยังทำได้ช้า อาจมาจากปัญหาในองค์กรเอง ต่อให้เป็นตำแหน่งซีอีโอใหญ่สุด ก็ไม่ได้เบ็ดเสร็จสั่งการได้หรือปรับเปลี่ยนได้ทั้งหมด!

เรื่องยากทรานส์ฟอร์มธุรกิจ Traditional

การทรานส์ฟอร์มธุรกิจสื่อดั้งเดิม อีก “ความยาก” ที่ไม่ใช่เรื่องของ เทคโนโลยี ดิสรัปชั่น อย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของธุรกิจ Traditional ที่มีอายุมากว่า 40-50 ปีขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็น ช่อง 3 และอีกหลายบริษัท โดยพื้นฐานแล้วแต่ละบริษัทก็ต้องปรับเปลี่ยน หรือ Transform ตัวเอง แต่หลายธุรกิจก็ยัง “หาทาง” ของตัวเองอยู่

การทรานส์ฟอร์มของบริษัทด้านเทคโนโลยี คือเปรียบได้กับการสร้างบ้านขึ้นมาใหม่ทั้งหมดให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค แต่ในฝั่งธุรกิจ Traditional ที่อยู่มานาน คือ มีหมู่บ้านอยู่ก่อนแล้ว การทรานส์ฟอร์มอาจต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด เพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค การเปลี่ยนตรงจุดนี้จึงมีความยากกว่า เพราะคงไม่สามารถรื้อบ้านและสร้างใหม่ได้ จึงต้องค่อยๆ เปลี่ยน บางเรื่องจึงทำได้ช้า

“ธุรกิจ องค์กร และคน ที่อยู่กันมานาน และวันหนึ่ง บอกว่าต้องเปลี่ยนแปลง จึงเป็นความยาก เพราะหากเปลี่ยนได้เร็ว ทุกองค์กรก็คงเปลี่ยนไปนานแล้ว แต่เราอยู่ในช่วงรอยต่อ ที่ต้องทำอย่างไรให้ทั้งองค์กร พร้อมที่จะเปลี่ยนไปด้วยกัน และเข้าใจด้วยว่าเราต้องเปลี่ยนไปในทิศทางไหน ต้องทิ้งสูตรเดิมๆ ที่เคยทำสำเร็จ กล้าทำในสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ใหม่ๆ” คุณอริยะ ได้ให้มุมมองเรื่องการเปลี่ยนแปลงองค์กรหลังเข้ามาทำงานที่ ช่อง 3 ได้ 5 เดือน

“ทีวี”ร่วงทั้งอุตสาหกรรม ‘ช่อง3’คาดหวังสูงฟื้นกำไร

โจทย์ยากต่อมา คือ อุตสาหกรรม “ทีวี” กลายเป็นสื่อขาลง เมื่อต้องเจอกระแส Disruption ทั้ง Business Disruption จากจำนวนช่องทีวีดิจิทัลเพิ่มขึ้น 24 ช่อง และเหลือ 15 ช่องในปัจจุบัน แต่เม็ดเงินโฆษณาไม่ได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย และ Technology Disruption จากการเปลี่ยนแปลงของวงการเทคโนโลยี การเติบโตของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ปี 2558 ที่ขึ้นไปแตะ 40 ล้านคน  ปัจจุบันยุค 4G มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 55 ล้านคน นั่นคือเหตุผลที่อุตสาหกรรมสื่อดั้งเดิม (Traditional Media) ทุกสื่อและทีวีได้รับผลกระทบมาถึงทุกวันนี้

ความมั่งคั่งของช่อง 3 ในวัย 50 ปี ผ่านยุครุ่งเรืองก่อนเริ่มต้นทีวีดิจิทัล ปี 2556 BEC ทำรายได้สูงสุดที่ 15,127 ล้านบาท กำไร 5,589 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) แตะระดับ 101,000 ล้านบาท  ขณะที่มูลค่าล่าสุด (20 เมษายน 2563) อยู่ที่ 7,160 ล้านบาท จากราคาหุ้นที่ตกลง และภาวะ “ขาดทุน” ต่อเนื่อง 2 ปี  ในปี 2561 ขาดทุนกว่า 330 ล้านบาท และปี 2562 ขาดทุนกว่า 397 ล้านบาท ตระกูลมาลีนนท์จึงมีความคาดหวังสูงกับการเข้ามาบริหารของคุณอริยะ ที่ต้องการเห็นกำไรกลับมาโดยเร็ว

ในมุมมองของมีเดียเอเยนซี คุณภวัต เรืองเดชวรชัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มีเดีย อินไซต์ จำกัด กล่าวว่าธุรกิจทีวี เป็นสื่อขาลงมาตั้งแต่เริ่มต้นยุคทีวีดิจิทัล จากจำนวนช่องที่มากเกินไป แต่เม็ดเงินโฆษณาไม่ได้เพิ่มขึ้น ธุรกิจทีวีวันนี้เรียกว่า “ร่วงทุกช่อง” แม้ช่องผู้นำเรตติ้งรายได้ก็ยังลดลง เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคหันไปเปลี่ยนเสพคอนเทนต์ผ่านดิจิทัล แพลตฟอร์มที่มีหลากหลายให้เลือก วันนี้ทีวี ไม่ได้แข่งเฉพาะทีวีด้วยกัน แต่ต้องแข่งแย่งผู้ชม จากทุกแพลตฟอร์ม ทั้ง ยูทูบ เฟซบุ๊ก ไลน์ทีวี เน็ตฟลิกซ์ ที่สำคัญยังต้องแข่งขันกับความถดถอยของสื่อดั้งเดิมเองที่มีแนวโน้มยังลดลงเรื่อยๆ

ขณะที่ความพยายามสร้าง ดิจิทัล แพลตฟอร์ม ของทีวี ยังคงมีสัดส่วนรายได้ “ไม่มาก” และเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา ช่อง 3 เองยังพึ่งพารายได้จากโฆษณาหน้าจอทีวีถึง 80%  ช่วงเวลาทำเงินหลักยังมาจากละคร จึงทำให้ผู้จัดละคร มีอิทธิพลสูงในช่อง 3

“การบริหารสื่อทีวีวันนี้ ไม่ว่าเป็นใคร ก็ทำให้ฟื้นตัวกลับมาได้ยากในเวลาอันรวดเร็ว เพราะเจอทั้งเทคโนโลยี ดิสรัปชั่น พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน สื่อออนไลน์โต ปีนี้ยังมีปัจจัยลบสถานการณ์โควิด-19 เข้ามาเพิ่ม ทีวีจึงยังอยู่ในภาวะลำบาก”

ที่ผ่านมาคุณอริยะ รู้อยู่แล้วว่าการฟื้นธุรกิจทีวี เป็นเรื่องยากและตัวเขาถูกคาดหวังสูงจากองค์กร แต่เป็นสิ่งที่ต้องพยายามทำให้ได้ตามแผนต่างๆ ที่วางไว้ เพื่อให้ช่อง 3 กลับมามีกำไรอีกครั้ง แผนเดิมคือ ตั้งเป้าหมายกำไรไว้ในปีนี้!

กลยุทธ์ 6 เสาหลัก หวังพลิกช่อง 3

ภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ BEC ที่คุณอริยะ วางไว้และจะขับเคลื่อนในปี 2563 คือการเป็น “ผู้นำด้านคอนเทนต์และธุรกิจบันเทิงของประเทศไทย”  สร้าง BEC World ให้เป็นองค์กรที่มีความคล่องตัว (Lean Organization) ใช้ประโยชน์จาก DNA ความคิดสร้างสรรค์ของช่อง 3 ใช้เทคโนโลยีนำเสนอนวัตกรรมและสื่อทุกหน้าจอ ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย ด้วยกลยุทธ์ 6 เสาหลัก

1. New Media : Direct to Consumer (D2C) กลยุทธ์ที่ช่วยให้แบรนด์แบรนด์สินค้าต่างๆ สามารถปรับเปลี่ยนผู้ชมไม่ว่าจะเป็นทางทีวี หรือออนไลน์ ผ่าน Call Center หรือ สแกน QR ผ่านแอป  เพื่อเปลี่ยนผู้ชมเป็นผู้ซื้อในอนาคตได้ โดยใช้สื่อของ BEC ช่อง 3 ช่วยผลักดันยอดขาย สร้างทราฟฟิก ตามวัตถุประสงค์ของแต่ละแบรนด์

2. Global Distribution ขยายการขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ในตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เน้นประเทศจีนและอินโดจีน มีเป้าหมายสร้างรายได้ปี 2563 เพิ่มเป็นสองเท่าจากปี 2562

3. Digital การปรับปรุงและเปลี่ยนโฉมแพลตฟอร์มออนไลน์ของช่อง 3 ให้เป็น 3 Plus (3+) โดยรวมคอนเทนต์ทั้งหมดของช่อง 3 มาไว้ที่แอปเดียว ทั้ง ละคร ข่าว วาไรตี้ ภาพยนตร์ และออริจินัลคอนเทนต์  รับชมสดและดูย้อนหลัง นอกจากนี้แอป 3 Plus จะเป็นช่องทางสแกน QR สำหรับ D2C ผ่านหน้าจอทีวีและออนไลน์ รวมทั้งระบบสะสมคะแนนเพื่อแลกรางวัลสำหรับผู้ชมทีวีและออนไลน์ ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลของ BEC

4. Content ปรับผังรายการช่วงไพรม์ไทม์ใหม่ เริ่มตั้งแต่เวลา 18.00-22.30 น. มี 3 ช่วงหลัก คือ เวลา 18.00-19.00 น. กับรายการวาไรตี้ใหม่แทนละครรีรัน เวลา 19.00-20.00 น. ละครใหม่ทั้งหมด เจาะตลาดแมส ในเมืองและต่างจังหวัด และเวลา 20.10-22.30 น. ละครซูเปอร์ไพรม์ไทม์ เจาะกลุ่มหัวเมือง เนื้อหาหลากหลาย ทั้งดราม่า แฟนตาซี แอคชั่น

5. Artists  ปัจจุบันช่อง 3 มีดารา นักแสดงกว่า 200 คน ที่มีความสามารถมากกว่าการแสดงละคร ปีนี้จะพัฒนา Talent  ของนักแสดง เพื่อเพิ่มพื้นที่การทำงานด้านอื่นๆ มากขึ้น นอกจากผลงานละครหน้าจอ และเปิดพื้นที่ให้ดารานักแสดงทำงานในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน ที่ชื่นชอบและรู้จักดาราช่อง 3 อยู่แล้ว

6. Data นำข้อมูลผู้ชมช่อง 3 ที่สินค้าและแบรนด์ต่างๆ ต้องการเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มนี้ มาต่อยอดเป็นแคมเปญ เชื่อมต่อทั้งหน้าจอทีวีและออนไลน์

ทั้ง 6 กลยุทธ์ที่เตรียมขับเคลื่อนในปี 2563 ที่เดินหน้าไปแล้ว คือการเปิดตัวแอปพลิเคชั่นใหม่ 3 Plus  การขยายตลาดขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ในต่างประเทศ แต่อีกหลายเรื่องที่วางไว้ตั้งแต่ต้นปี ก็ต้องสะดุดจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องชะลอโปรเจกต์ออกไปทั้งรายการวาไรตี้ใหม่ แคมเปญ D2C ที่จะเปิดตัวในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

หลังจากนี้กลยุทธ์ต่างๆ ที่คุณอริยะ วางไว้จะเดินหน้าต่อหรือไม่ คงต้องอยู่กับ “กรรมการบริหาร” ในฝั่ง “นายหญิง” ตระกูลมาลีนนท์ที่ขึ้นมาดูแลแทน  (อ่านต่อ : ถึงยุคนายหญิง “มาลีนนท์” ขึ้นนำทัพช่อง 3)

สารจาก “บี๋ อริยะ” ในวันลาออก

การประกาศลาออกจาก BEC ด้วยเหตุผลส่วนตัว ซึ่งจะมีผลในวันที่ 20 มิถุนายน 2563  คุณอริยะ ได้ส่งสารถึงเพื่อนพนักงาน BEC และ ช่อง 3 ชี้แจ้งการตัดสินใจก้าวลงจากตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการ โดยขอบคุณเพื่อนพนักงานทุกคนที่ให้ความไว้วางใจ และขอบคุณสำหรับความทุ่มเทในการทำงานเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้วยกันมาตลอด

“ที่ผ่านมาหลายคนต้องปรับเปลี่ยนการทำงานเพื่อเข้ากับสถานการณ์และการแข่งขันในธุรกิจที่รุนแรงมากขึ้น รับรู้ได้ถึงพลังบวกจากเพื่อนพนักงานทุกคนที่ตั้งใจจะนำพาบริษัทให้ก้าวเดินไปข้างหน้า ต่อจากนี้อยากให้เพื่อนพนักงานยังคงยึดมั่นในสปิริตของการทำงานเพื่อบริษัท และมีความกล้าที่จะเสนอแนวคิดใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์กรต่อไป”

ตั้งแต่วันแรกถึงวันประกาศลาออกจากช่อง 3 ของคุณอริยะ ย้ำสิ่งที่พูดไว้ตั้งแต่ต้นว่า… “ตอนตัดสินใจมารับตำแหน่ง President บีอีซี คิดไว้แล้วว่าไม่ง่าย การทำงานตลอดช่วงที่ผ่านมา คอนเฟิร์มความคิดก่อนมาว่า ยากอย่างที่คิดไว้จริงๆ”


แชร์ :

You may also like