HomeInsightไม่อยาก R.I.P. ต้องฟัง วิธีรักษาให้หายไข้​ เมื่อ​ ‘ธุรกิจ- ประเทศ ติดไวรัสโควิด-19’

ไม่อยาก R.I.P. ต้องฟัง วิธีรักษาให้หายไข้​ เมื่อ​ ‘ธุรกิจ- ประเทศ ติดไวรัสโควิด-19’

แชร์ :

สร้างความแตกตื่นไปทั่วโลก สำหรับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังการถูกยกสถานะอย่างเป็นทางการจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้โควิด-19 กลายเป็นโรคระบาดใหม่ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อกระจายไปทั่วโลก และมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

คนอาจจะไม่ติด​ แต่ธุรกิจติดถ้วนหน้า 

แม้ขณะนี้ ประชากรทั่วโลกจะอยู่ในช่วงเฝ้าระวัง บางประเทศ​มีจำนวนผู้ติดเชื้อมาก บางประเทศอยู่ในช่วงเริ่มระบาด แต่ในแง่เศรษฐกิจทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างถ้วนหน้าแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งอาจจะไม่ผิดหากจะกล่าวว่า ขณะนี้ธุรกิจทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทยต่างติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้กันแล้วอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะหลังจากมีการประกาศใช้มาตราการต่างๆ เพื่อป้องกันและหยุดการแพร่ระบาดลง ทำให้เกิดการ​ห้ามเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก หรือบางแห่งที่สถานการณ์เปราะบางหรือแพร่ระบาดหนัก อาจถึงขั้นปิดประเทศเลยก็มี

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

รศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายเป็นผลกระทบที่ทำให้ทุกธุรกิจต่างติดเชื้อไวรัสอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความกังวลใจในขณะนี้​ทำเอาเศรษฐกิจย่ำแย่ไปตามๆ กัน ทั้งในประเทศและทั่วโลก หลายธุรกิจย่ำแย่ถึงขั้นปิดกิจการ ขณะที่ประชาชนทั่วโลกตกอยู่ในสภาวะหวาดกลัว ความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ทำให้ท้ังโลกกลายเป็น World of Fear ที่ทุกคนตกอยู่ในความตื่นตระหนกตกใจ หวาดกลัว เป็นอีกหนึ่งการเผชิญกับภาวะวิกฤติในทางเศรษฐกิจที่ต้องรีบบริหารจัดการทั้ง Crisis และ Panic เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจอย่างรวดเร็ว

รศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยสิ่งที่องค์กรธุรกิจหรือแม้แต่รัฐบาลต้องรีบทำในช่วงเวลาวิกฤติเช่นนี้ คือรีบฟื้นความชื่อมั่น ความมั่นใจต่างๆ และหาทางลดผลระทบต่อความกังวลใจของผู้คนในสังคม รวมท้ังสถานการณ์ต่างๆ ในประเทศให้กลับมาเป็นปกติได้โดยเร็วที่สุด ภายใต้แนวคิด PTTRIP ซึ่งประกอบไปด้วย

Prompt Action : การทำทันที องค์กรหรือรัฐบาลมีหน้าที่ Take Action ในขณะที่เกิดสถานการณ์ขึ้นอย่างเร็วที่สุด ต้องรีบประกาศ หรือออกแถลงการณ์ว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร ต้องทำอย่างไร และต้องทำทันที เพราะปัจจุบันทุกคนมีสื่อโซเชียลอยู่ในมือ การจัดการในยุคดิจิทัลไม่สามารถรีรอได้ ยิ่งหากมีข่าวลือว่าบุคลากรติดเชื้อ ต้องรีบเช็ค ถ้าจริงต้องรีบบอก พร้อมกับแนวทางในการปฏิบัติ หรือหากไม่จริงต้องรีบออกมาปฏิเสธ​เพื่อหยุดข่าวลือที่นำมาซึ่งความเสียหาย ดังนั้น ต้อง Prompt Action ไปพร้อมๆ กับ Prompt Communication ด้วย

Truth : การนำเสนอความจริง ชี้แจงตามข้อเท็จจริงถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะในโลกปัจจุบันไม่สามารถปกปิดความจริงได้ รวมทั้งสิ่งที่ธุรกิจ​ หรือรัฐบาลสั่งการไปแล้วทั้งในแนวทางของการป้องกันและแก้ไข หรืออธิบายถึงสาเหตุต้นตอที่มาที่ไป ความเข้าใจผิดต่างๆ ที่เกิดขึ้น หากกรณีมีข่าวลือที่ไม่เป็นความจริงเกิดขึ้น

Trust : การสร้างความเชื่อมั่น ไว้ใจ​ ​ผ่านการวางมาตรการต่างๆ หรือให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติ เปลี่ยน Mindset เพื่อทำให้คนคลายกังวลลงได้​ เช่น การให้ข้อมูลของผู้ที่รักษาแล้วหาย เพื่อให้คนมีกำลังใจและมีความเชื่อมั่นในกระบวนการรักษา และกลับมาดูแลตัวเอง ลดความหวาดกลัวลง เพราะแม้จะได้รับเชื้อก็สามารถรักษาหายได้เช่นกัน​​ ​

Responsibility : การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม เราไม่สามารถเพิกเฉยได้ ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อคนรอบตัว มองเรื่องของการช่วยเหลือ รับผิดชอบ และเยียวยามากกว่าเรื่องของกำไร​ เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถผ่านพ้นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี่ไปได้ร่วมกัน

Integrated : การทำงานรวมกันแบบบูรณาการ มีศูนย์กลางไม่กระจัดกระจาย หรือต่างคนต่างทำ มีศูนย์กลางของข้อมูลที่จุดเดียวกัน เพื่อให้มีข้อมูลที่ตรงกัน สามารถตรวจเช็คเพื่อความ​ถูกต้อง เพื่อป้องกันความสับสนในช่วงที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ

People : การตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่าเป็นเรื่องส่วนรวมไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องของทุกคน ขององค์กร ของประเทศชาติ เพื่อเกิดความตระหนักและสำนึกร่วมกัน เช่น ปัญหาการขาดแคลนหน้ากาก ต้องไม่เห็นแก่ตัว หรือมีการกักตุน เพราะหากคิดถึงแต่ตัวเองแต่สุดท้ายหากคนอื่นๆ ในสังคมเป็นโอกาสที่เราจะเป็นด้วยก็มีสูง จึงต้องช่วยเหลือดูแลให้ทั้งสังคมปลอดภัยไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัวเท่านั้น

ถึงเวลา Reform ธุรกิจ ในช่วงวิกฤติ 

นอกจากการจัดการที่ต้องทำในช่วงวิกฤติตามแนวคิด PTTRIP แต่ในมิติของธุรกิจ ผลกระทบไม่ได้หยุดแค่การสร้างความเชื่อมั่น เพราะเมื่อสถานการณ์รอบตัวเปลี่ยนแปลงไป ธุรกิจตั้งอยู่บนวิกฤติ บนสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ทำให้ไม่สามารถทำสิ่งต่างๆ ในแบบทที่เคยทำ เคยเป็นตามปกติวิสัยได้ จำเป็นที่ต้องมีการปรับเปลี่ยน พลิกแพลง การทำธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หรือจำเป็นต้องมีการ Reform ธุรกิจ เพื่อให้สามารถทำธุรกิจได้ตามปกติในช่วงที่เกิดความไม่ปกติขึ้นในสังคม 

รศ.ดร.วิเลิศ แนะนำธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้อง Reform หรือพลิกธุรกิจ เพื่อหาทางรอดในช่วงสถานการณ์วิกฤตนี้ไปให้ได้ จากความชะงักงันที่ธุรกิจต่างๆ เผชิญอยู่ ทั้งยอดขายที่ตกลง ​หรือบางแห่งอาจรุนแรงถึงขั้นไปต่อไม่ได้ ต้องหยุดกิจการชั่วคราวหรืออาจปิดตัวลงไปเลยก็มี การพลิกโมเดลธุรกิจใหม่​จึงมีความจำเป็น โดยเฉพาะการทำ CBS Reform Business Model ตามกลยุทธ์ 5’Res ซึ่งประกอบด้วย

1. Re-tool การพลิกเครื่องมือ เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ไม่ว่าสถานการณ์ในอนาคตอาจจะยกระดับความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเพียงไร โดยเครื่องมือไม่ใช่เพียแค่การเสริมส่วนใดส่วนหนึ่งเข้ามาเท่านั้น แต่เป็นการเตรียมความพร้อมให้มีความ Well​ Equip ทำงานได้ลื่นไหลทั้งระบบ ซึ่งจะเห็นการที่หลายๆ หน่วยงานเริ่มเตรียมความพร้อม เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงาน หรือการใช้ระบบใหม่ๆ เพื่อให้ธุรกิจยังดำเนินต่อไปได้ตามปกติ ภายใต้ความไม่ปกติที่เกิดขึ้น ​และเป็นการลดความเสี่ยงหากในอนาคตเครื่องมือเดิมๆ ที่เคยใช้ไม่มีประสิทธิภาพอีกต่อไป ซึ่งองค์กรส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักจะทำได้แค่ระดับ Retool เท่านั้น

2. Re-target การพลิกลูกค้า หรือการหาลูกค้าเป้าหมายกลุ่มใหม่ๆ เพราะหากผลกระทบที่เกิดขึ้น ทำให้ลูกค้ากลุ่มเดิมไม่สามารถเข้ามาใช้บริการได้ แม้จะ Retool แล้ว ใช้เครื่องมือใหม่แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถดึงกลุ่มเป้าหมายเดิมเข้ามาได้ การเปลี่ยนมาหากลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ โดยใช้สิ่งที่ธุรกิจมีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์ น่าจะเป็นทางออก เช่น ธุรกิจโรงแรม ที่เคยโฟกัสกลุ่มนักท่องเที่ยวก็อาจจะหันมาเน้นคนไทยที่อยู่ในละแวกนั้นจังหวัดนั้น หรือเปลี่ยนจากชาวต่างชาติหรือนักท่องเที่ยวมาเป็นคนไทยที่ต้องการ Service apartment หอพักนักศึกษา หรือแบ่งให้เช่ารายชั่วโมงแทน เสมือนกับการร้องไห้ฟูมฟายหากคนรักจากไปซึ่งไม่มีประโยชน์อันใดเลย สิ่งที่ดีที่สุดที่ทำได้คือการหากลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่เพื่อทดแทนคนเดิมที่จากไปแล้วมากกว่า

3. Re-business การพลิกธุรกิจ นอกจากการหากลุ่มเป้าหมายใหม่แล้ว การปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายใหม่เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ธุรกิจควรทำ เพื่อฟื้นฟูหรือทำให้ธุรกิจมีรายได้ทางใหม่ๆ เพิ่มขึ้น​​ โดยพิจารณาว่าธุรกิจของเราคืออะไรบ้าง แล้วปรับหารายได้จากธุรกิจอื่นๆ แทน เช่น ธุรกิจโรงแรมที่ไม่มีรายได้จากการเข้าพัก ควรหารายได้จากการเปิดธุรกิจ ซัก อบ รีด แทน เพื่อค่าใช้จ่ายแม่บ้านจะได้ไม่สูญเปล่า หรือ. ร้านอาหารในโรงแรมควรปรับเปลี่ยนสร้างรายได้จาก Food delivery แทน ธุรกิจสายการบินเองก็ไม่สามารถทำให้คนเดินทางได้ แต่มีภาระเรื่องต้นทุนอาหารก็นำอาหารจากสายการบินมาเป็น Food delivery แทน หรืออาจมุ่งไปที่การขนส่งสินค้าโลจิสติกส์แทนการขนผู้โดยสาร การ Re-business เช่นนี้จะทำให้ธุรกิจมีรายได้จากทรัพยากรที่มีอยู่แล้วและทำให้รายได้ดีขึ้นมาบ้าง

4. Re-process การพลิกกระบวนท่าในการทำธุรกิจ เพราะนอกจากการปรับและเปลี่ยนจากตัวธุรกิจแล้ว. ยังต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการในการทำธุรกิจด้วย เช่น ปรับเปลี่ยนขั้นตอนในการเข้าถึงลูกค้า บางธุรกิจที่ลูกค้ามาหาเราไม่ได้ หรือไม่กล้ามาก็ต้องเป็นฝ่ายไปหาลูกค้าแทน หรือเปลี่ยนรูปแบบให้บริการแบบถึงบ้าน เน้นการทำงานมาเป็นแบบ Proactive มากกว่าแค่ Reactive หรือการทำงานแบบตั้งรับอย่างเดียว​

5. Re-unite การพลิกความคิด ในช่วงที่อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ทุกคนต้องคิดใหม่ทำใหม่ คิดถึงส่วนรวมให้มากกว่าตัวเอง เห็นอกเห็นใจกัน ลดทอนเป้าหมายของตัวเองที่วางไว้เพื่อช่วยเหลือหรือแบ่งเบาคนอื่นๆ ในสังคม เพื่อช่วยกันประคองให้ทุกคนรอดพ้นช่วงวิกฤตินี้ไปด้วยกัน ลดความเห็นแก่ตัวเองลง และไม่ใช่เวลาที่จะคิดถึงกำไรเป็นที่ตั้ง แต่ต้องช่วยกันประคับประคองให้พ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน เช่น ในช่วงที่ลูกค้าเดินทางไม่ได้ สายการบินก็ยอมให้คืนตั๋ว โรงแรมยอมเลื่อนการเข้าพัก ทุกคนยอมกักตัวเองเพื่อดูอาการ​ และให้ข้อมูลตามจริง ยกเลิกการจัดอีเวนต์ใหญ่ หรือการชุมนุมที่มีคนรวมกันจำนวนมาก เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค เป็นเวลที่ทุกคนต้องสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจกัน

ในช่วงเวลาวิกฤติเช่นนี้ การ Reform และ Rethink เป็นสิ่งจำเป็น เพราะหากไม่ปรับเปลี่ยนทัศนคติ มุมมอง และทุกคนยังเห็นแก่ตัว ไม่มีความเป็นกลุ่มเป็นก้อน ก็จะไม่สามารถสร้างโมเดลใหม่ๆ ในการอยู่รอดได้ ไม่ว่าจะเป็นในภาคของธุรกิจและการขับเคลื่อนประเทศก็ตาม

หากทุกคนยังนึกถึงแต่ตัวเอง สิ่งเดียวที่จะเกิดขึ้น ก็คงจะเป็นแค่ Reborn หรือรอการไปเกิดใหม่ในภพหน้าเท่านั้น!!


แชร์ :

You may also like