HomeBrand Move !!เจาะเบื้องหลัง CPAC กับการเนรมิต “ฐานราก” บิ๊กโปรเจกต์ One Bangkok เสร็จได้เพียงข้ามคืน

เจาะเบื้องหลัง CPAC กับการเนรมิต “ฐานราก” บิ๊กโปรเจกต์ One Bangkok เสร็จได้เพียงข้ามคืน

แชร์ :

เพราะ “ฐานราก” เป็นส่วนประกอบสำคัญในการรองรับน้ำหนักของบ้านและอาคารทั้งหมด ทำให้เมื่อคิดจะสร้างบ้านสักหลังหรือพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์สักโครงการ การวางระบบโครงสร้างฐานรากจึงสำคัญมาก ยิ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ มีตึกสูงเป็นจำนวนมาก โครงสร้างฐานรากยิ่งต้องแข็งแรง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ทำให้ที่ผ่านมาผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จึงให้ความสำคัญกับงานฐานรากอย่างมาก เพราะหมายถึงความมั่นคงของตัวอาคารทั้งโครงการ ในบางโครงการใช้เวลาวางโครงสร้างฐานรากค่อนข้างนาน จนกลายเป็นโจทย์ท้าทายของผู้พัฒนาโครงการ เพราะยิ่งใช้เวลานาน ต้นทุนการก่อสร้างย่อมสูงขึ้นตามมา โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่การแข่งขันทางธุรกิจรุนแรง บวกกับสถานการณ์แรงงานขาดแคลน การบริหารจัดการงานฐานรากจึงทวีความสำคัญมากขึ้น เพราะหากจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถจะช่วยลดต้นทุน และทำให้การพัฒนาโครงการทำได้รวดเร็วขึ้น

โดยโครงการ วัน แบงค็อก (One Bangkok) เป็นตัวอย่างของโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่มีการก่อสร้างโครงสร้าง ฐานรากได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้ระยะเวลาเพียง 33 ชั่วโมงเท่านั้น ทั้งยังสามารถลดของเสียจากการก่อสร้างได้เป็นศูนย์ “One Bangkok” ทำได้อย่างไร Brand Buffet จะพาไปเจาะลึกวิธีคิดจากบุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการวางฐานรากครั้งนี้ นั่นคือ คุณชนะ ภูมี Vice President – Cement and Construction Solution Business ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี

จุดเริ่มต้นของความร่วมมือครั้งสำคัญ

คุณชนะเล่าถึงความเป็นมาของความร่วมมือในครั้งนี้ว่า เริ่มจากการที่ CPAC ได้รับความไว้วางใจจากโครงการ One Bangkok ให้เข้ามารับผิดชอบด้านคอนกรีตในงานก่อสร้าง โครงสร้างฐานรากของโครงการ โดยมีโจทย์ว่า ต้องการความเร็วในการดำเนินการ และไม่ว่าเวลาผ่านไปนานแค่ไหน โครงสร้างฐานรากยังคงรับน้ำหนักได้ดี ปลอดภัย และล้ำสมัย ซึ่งนับว่าเป็นโจทย์ท้าทายอย่างมาก เพราะที่ผ่านมาการเทคอนกรีตฐานรากใหญ่สุดในประเทศไทยอยู่ที่ 12,000 คิว แต่โครงการนี้เป็นการเทคอนกรีตฐานรากขนาด 23,725 คิว

ภายใต้โจทย์ที่ท้าทาย แต่ CPAC มองว่า ยังมีสิ่งน่าสนใจไม่น้อย เนื่องจาก One Bangkok เป็นโครงการมิกซ์ยูส (Mix-Used) ขนาดใหญ่บนพื้นที่ 104 ไร่ใจกลางเมือง และยังถูกวางเป้าหมายให้เป็นแลนด์มาร์คระดับโลกแห่งใหม่เมื่อส่วนแรกของโครงการเปิดให้บริการ เพราะฉะนั้น หากสามารถทำได้ ก็จะเป็นการยกระดับมาตรฐานการก่อสร้างไทยให้ก้าวไปอีกขั้น

ดังนั้น หลังได้รับโจทย์มา สิ่งแรกที่ CPAC ให้ความสำคัญคือ การวางแผนและดำเนินงานร่วมกับผู้พัฒนาโครงการ เพราะการทำงานครั้งนี้จะอาศัยหลัก Co-Creation ซึ่งแตกต่างจากการทำงานที่ผ่านมาที่จะแยกส่วนออกจากกัน เนื่องจากการเทฐานรากรูปแบบนี้มีความเสี่ยงสูง หากอุณหภูมิไม่ได้ ฐานจะเกิดความเสียหาย ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเจ้าของโครงการ บริษัทรับเหมาก่อสร้าง บริษัทที่ปรึกษา และ CPAC จึงต้องเข้าใจและทำงานร่วมกันตั้งแต่การออกแบบการเท ไปจนถึงขั้นตอนการเทเสร็จ

พัฒนานวัตกรรมคอนกรีตสูตรพิเศษและการเทครั้งเดียวสำหรับโปรเจ็กต์ระดับโลก

เมื่อทุกฝ่ายเข้าใจในกระบวนการทำงานแล้ว CPAC จึงเริ่มนำจุดแข็งด้านการผสมคอนกรีตมาคิดค้นนวัตกรรมคอนกรีตซึ่งใช้เวลาในการพัฒนาถึง 1 ปี จนออกมาเป็นสูตรพิเศษสำหรับโครงการนี้ โดยออกแบบให้มีความร้อนต่ำแบบพิเศษที่สามารถรับกำลังอัดได้สูงถึง 600 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร เพื่อให้สามารถรับน้ำหนักได้มากกว่าคอนกรีตทั่วไป

“นับเป็นโครงการแรกสำหรับงานเทฐานรากคอนกรีต ขนาดใหญ่ ที่มีกำลังอัดสูงขนาดนี้ เพราะในไทยยังไม่เคยมีงานเทฐานรากขนาดใหญ่ที่มีกำลังอัดสูงเท่านี้มาก่อน ปกติงานเทคอนกรีตที่ใช้ตามท้องตลาด ทั่วไปจะมีกำลังอัดอยู่ที่ 240-400 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร สำหรับการเทครั้งนี้ เราใช้กำลังอัดที่ 600 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร ซึ่งทำให้รองรับน้ำหนักได้ถึง 600 กิโลกรัมต่อพื้นที่รับน้ำหนัก 1 ตารางเซนติเมตร”

นอกจากนวัตกรรมคอนกรีตที่มีกำลังอัดสูงแล้ว CPAC ยังออกแบบการเทคอนกรีตแบบอย่างต่อเนื่องมากที่สุดถึง 23,725 ลูกบาศก์เมตร ด้วยอัตราการเทสูงสุด 1,150  ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ซึ่งนับเป็นสถิติมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับการเทคอนกรีตครั้งเดียวต่อเนื่องจนจบ โดยใช้รถโม่จัดส่งคอนกรีตรวมทั้งสิ้น 547 คัน และใช้ระยะเวลาการเทคอนกรีตจนเสร็จ 33 ชั่วโมงตลอดกระบวนการ รวมถึงนำเทคโนโลยี BIM (Building Information Modeling) ซึ่งเป็นระบบสร้างแบบจำลองเสมือนจริงในคอมพิวเตอร์มาใช้ในการออกแบบก่อสร้าง เพื่อให้ผู้ทำงานทั้งระบบเห็นส่วนประกอบทุกส่วนตรงกัน และสามารถตรวจสอบตำแหน่งในจุดต่างๆได้อย่างแม่นยำ โดยทุกกระบวนการจะคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

ช่วยลดทั้งระยะเวลาและต้นทุนก่อสร้าง แถมยัง Save สิ่งแวดล้อม

แม้ว่าโจทย์การทำงานครั้งนี้จะท้าทาย แต่ผลตอบรับที่กลับมา คุณชนะ บอกว่า คุ้มค่ามาก โดยสะท้อนได้จาก “คุณภาพ” งานออกมาดีกว่าการเทในรูปแบบเดิม เนื่องจากการแบ่งการเทคอนกรีตออกเป็น 2 ครั้งต้องมีการเสริมเหล็กเพื่อให้คอนกรีตสองชิ้นติดกัน นอกจากนี้ ยังช่วยลดระยะเวลาการก่อสร้างลงได้อีกด้วย ส่งผลให้ต้นทุนค่าแรงลดลงและวัสดุก่อสร้างต่างๆ น้อยลงด้วย รวมถึงช่วยลดของเสียจากการก่อสร้างได้เป็นศูนย์ (Zero Waste) ในส่วน CPAC เองก็ได้นวัตกรรมที่ทำร่วมกับเจ้าของโครงการและผู้รับเหมาที่จะช่วยปิดช่องว่างและยกระดับมาตรฐานการก่อสร้างไปอีกขั้น

“หลายคนอาจไม่ทราบว่าปัจจุบันงานก่อสร้างแต่ละครั้งมี Waste หรือขยะจากการก่อสร้างประมาณ 15-20% สมมุติเราใช้เงินสร้างบ้าน 1 ล้านบาท เราจะได้ของกลับมาประมาณ 800,000-850,000 บาท ที่เหลืออีก 150,000-200,000 บาท คือวัสดุเหลือทิ้งที่เกิดจากงานก่อสร้าง เช่น เศษคอนกรีต การขนวัตถุดิบที่ใช้แล้วรื้อทิ้ง และการเผื่อวัสดุ เป็นต้น การนำเทคโนโลยีมาช่วยในการออกแบบการเทคอนกรีต ส่งผลให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ต้องเผื่อวัสดุ ไม่เหลือเศษคอนกรีต จึงทำให้ลดของเสียที่ใช้ในงานก่อสร้างลง เปลี่ยนจาก Waste เป็น Wealth ให้กับทุกฝ่าย”

สำหรับความยากของการเทฐานรากครั้งนี้ คุณชนะบอกว่า ไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยีและการพัฒนาคอนกรีต แต่เป็นเรื่องของ “คน” ที่ต้องมีความเข้าใจและแชร์ข้อมูลร่วมกัน เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ และมีรูปแบบการเทเป็นแบบครั้งเดียวต่อเนื่องจนจบ จึงต้องเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

นอกจากเรื่องคนแล้ว การบริหารจัดการ “ซัพพลายเชน” เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่มีความยาก เพราะต้องสามารถบริหารจัดการหิน ทราย และรถทั้งหมด ให้เกิดการเทได้อย่างต่อเนื่องจนเสร็จ CPAC นำระบบไอทีเข้ามาช่วยคำนวณตั้งแต่การออกแบบ (Smart Supply Chain) อีกทั้งใช้รถที่มีอยู่เฉพาะในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ทำให้สามารถลดเวลาและลดพลังงานจากการขนส่งได้ ขณะเดียวกัน ยังต้องทำให้ชุมชนรอบไซต์งานได้รับผลกระทบน้อยสุดด้วย

“เราเข้าไปสำรวจสิ่งที่จะกระทบกับชุมชนรอบๆ ข้าง และรับฟังเสียงของทุกคน เพื่อนำมาออกแบบการทำงานเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้มากที่สุด เช่น  การประสานงานกับผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องการจัดการการเดินรถ อีกทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม มีการพ่นสเปรย์ละอองน้ำภายในโรงงานและบนวัตถุดิบเพื่อเพิ่มความชื้นในบรรยากาศและป้องกันฝุ่นละออง การออกแบบผ้าใบคลุมรถเพื่อป้องกันเศษคอนกรีตหล่นระหว่างทาง รวมถึงมีบ่อและระบบน้ำวนในการล้างล้อรถโม่ก่อนออกจากไซต์งานและโรงงาน”

ดังนั้น ความร่วมมือกันในครั้งนี้ จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่การวางระบบโครงสร้างฐานรากเท่านั้น แต่ยังเป็นการต่อยอดนวัตกรรมการก่อสร้างที่มีอยู่เดิมให้พัฒนาขึ้นไปอีก ซึ่งถือเป็นการยกระดับงานก่อสร้าง และทำให้ CPAC สามารถจะนำวิธีการทำงานและนวัตกรรมดังกล่าว ไปปรับใช้กับโครงการอื่นๆ ที่ทั้งต้องการความรวดเร็วและคุณภาพในการก่อสร้างมากขึ้นต่อไป

 


แชร์ :

You may also like