HomeBrand Move !!Salad Factory ธุรกิจที่สะดุดตั้งแต่ก้าวแรก ​กับการโตเป็น ‘แบรนด์สลัดพันล้าน’ ของ CRG

Salad Factory ธุรกิจที่สะดุดตั้งแต่ก้าวแรก ​กับการโตเป็น ‘แบรนด์สลัดพันล้าน’ ของ CRG

แชร์ :

หลายคนคุ้นเคยกับคำกล่าวว่า “ถ้าติดกระดุมเม็ดแรกถูก เม็ดต่อไปก็จะถูก แต่ถ้าเริ่มติดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะใส่เสื้อตัวนั้นได้อย่างถูกต้อง” เนื่องจาก ก้าวแรกของทุกการเริ่มต้นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะเป็นทั้งกำลังใจที่ดี เพื่อขับเคลื่อนไปสู่ก้าวต่อๆ ไป หรือบางคนอาจใช้เป็นหนึ่งในข้อพิสูจน์ว่า สิ่งที่กำลังเดินมาถูกทางแล้ว แต่คำกล่าวนี้ น่าจะสวนทางกับโลกของธุรกิจ เพราะก้าวแรกของธุรกิจมักไม่สวยหรู แต่เป็นการลองผิดลองถูก ที่มักจะเต็มไปด้วยอุปสรรคให้คอยแก้ คอยฝ่าฟัน เนื่องจากการทำธุรกิจและปัญหาเป็นของคู่กันเสมอ 

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เช่นเดียวกับเส้นทางของ Salad Factory (สลัด แฟคทอรี่) แบรนด์ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ ที่พบปัญหาใหญ่ตั้งแต่เริ่มธุรกิจเลยทีเดียว และไม่ใช่ปัญหาทั่วๆ ไปของธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้นอย่างลูกค้าน้อย แบรนด์ยังไม่เป็นที่รู้จัก หรือปัญหาเรื่องความลงตัวในการทำงาน แต่เป็นเรื่องของโครงสร้างของธุรกิจ​ เมื่อพาร์ทเนอร์ที่เคยตกลงว่าจะทำธุรกิจร่วมกันขอถอนหุ้นออกไปจนหมด​ ในเวลาเพียงแค่ 2 เดือนแรกเท่านั้น

แค่สตาร์ท ธุรกิจก็สะดุดแล้ว 

คุณกอล์ฟ ปิยะ ดั่นคุ้ม ผู้ก่อตั้งธุรกิจร้านอาหารเพื่อสุขภาพ Salad Factory เล่าถึงจุดเริ่มต้นธุรกิจเมื่อราว 6 ปีก่อน ซึ่งเดิมนั้นเป็นโปรเจ็กต์ที่จะทำร่วมกันระหว่างเพื่อนๆ โดยมี 3 ผู้ถือหุ้นหลัก สำหรับเม็ดเงินลงทุนเริ่มต้น 6 แสนบาท ซึ่งคุณกอล์ฟยอมรับว่า อาจจะด้วยความคิดเร็ว ทำเร็ว ไม่ได้พูดคุยตกลงกันให้ดีก่อน ประกอบกับยังเด็กไม่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจมาก่อน ทำให้การทำงานร่วมกันระหว่างตนและเพื่อนไม่ได้ราบเรียบมากนัก ดังนั้น เพียงแค่ 1 เดือน เพื่อนคนแรกก็ขอถอนตัวออกไป และอีก 1 เดือนต่อมา เพื่อนอีกหนึ่งคนก็มาขอขายหุ้นคืน ทำให้ในเวลาแค่ 2 เดือนแรกของการเริ่มต้นธุรกิจ หุ้นส่วนธุรกิจที่เคยคิดว่าจะเดินต่อไปด้วยกันก็ไม่มีแล้ว รวมทั้งพนักงานชุดแรกในช่วงบุกเบิกธุรกิจก็ทยอยลาออกไปจนหมด จึงต้องมีการปรับโมเดลธุรกิจจากที่จะทำเป็น Partnership ​ระหว่างกลุ่มเพื่อน กลายเป็นธุรกิจของครอบครัวอย่างเต็มรูปแบบ

“ช่วงแรกที่ตั้งใจเริ่มธุรกิจ เรามองว่าค่อนข้างมีโอกาสไปได้ดี เพราะธุรกิจครอบครัวทำสวนผลไม้อยู่แล้ว ขณะที่เพื่อนคนหนึ่งก็ปลูกผักออแกนิกส์ ปลูกข้าวเอง ส่วนอีกคนหนึ่งก็มีความรู้ด้านเชฟ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนผสมที่ค่อนข้างลงตัว ​รวมทั้งเทรนด์เรื่องสุขภาพต่างๆ ที่กำลังมา ก็ตรงกับคอนเซ็ปต์ธุรกิจที่ตั้งใจจะทำ จึงน่าจะไปได้ดี แต่เมื่อทำงานจริง ทุกอย่างไม่ได้สวยหรู มีปัญหาที่ต้องแก้ในแต่ละวัน​ ทั้งเรื่อง Operation​ รวมทั้งปัญหาจิปาถะอื่นๆ ประกอบกับตัวเลขในเดือนแรกที่ออกมาไม่ค่อยสวย ทำให้เพื่อนคนแรกขอถอนตัวไปก่อน และในเดือนต่อมาเพื่อนอีกคนก็ขอขายหุ้นคืน เราเองก็ต้องตัดสินใจว่าจะหยุดหรือไปต่อ ​​และเลือกปรึกษากับครอบครัว ซึ่งทุกคนก็พร้อมให้ความช่วยเหลือ น้องสองคนที่ยังทำงานประจำก็มาช่วยดูแลร้านในช่วงเลิกงานทุกวัน จนธุรกิจเริ่มเติบโตและอยู่ตัวน้องทั้งสองคนก็ออกมาช่วยดูแลธุรกิจร่วมกันอย่างเต็มตัว​ จนธุรกิจค่อยๆ ขยายสเกลในการเติบโตเพิ่มมากขึ้น”

ปัจจุบัน Salad Factory บริหารโดย 3 พี่น้อง โดยมีพี่ชายคนโตอย่าง คุณกอล์ฟ-ปิยะ ดั่นคุ้ม อายุ 35 ปี ดูแลภาพรวมของธุรกิจ เมนูอาหาร และการหาเครือข่ายเกษตรกรเพื่อป้อนวัตถุดิบให้ธุรกิจ, คุณแกป-ธนพงศ์ ดั่นคุ้ม น้องชายคนกลาง อายุ 33 ปี ทำหน้าที่ดูแลงานด้าน Operation และการบริหารสาขาต่างๆ และ คุณกิ๊ฟ-​ณฤชา ดั่นคุ้ม น้องสาวคนสุดท้อง อายุ 30 ปี ดูแลงานด้านตัวเลขต่างๆ ทั้งในส่วนของจัดซื้อ บัญชี รวมทั้งบริการเดลิเวอรี่

เติบโตสู่ “แบรนด์สลัดร้อยล้าน”   

แม้ธุรกิจของ Salad Factory จะเพิ่งมีอายุได้ 6 ปีกว่า แต่ก็เป็นธุรกิจที่เจอ Turning Point อยู่บ่อยครั้ง ตั้งแต่เรื่องของหุ้นส่วนและพนักงานในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ หรือแม้แต่เรื่องโลเกชั่นในการเปิดร้าน ที่เปิดได้เพียงแค่ราวๆ 2 ปี เจ้าของที่ก็ไม่ต่อสัญญา ทั้งที่ก่อนหน้าคาดว่าจะสามารถเช่าได้ในระยะยาว แต่ทุกๆ สิ่งไม่คาดคิดที่เกิดขึ้นก็นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงและโอกาสใหม่ๆ อยู่เสมอ

“ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจเราได้พื้นที่เป็นอาคารพาณิชย์แถวเมืองทอง แต่เปิดธุรกิจได้เพียงแค่ 2 ปี หลังจากเริ่มมีลูกค้า ธุรกิจเริ่มเข้าที่ก็ต้องหาที่เปิดร้านใหม่ เนื่องจากเจ้าของตึกต้องการขาย และตั้งร​าคาไว้​สูงถึง 15 ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจเรายังไม่สามารถสร้างรายได้มากพอที่จะซื้อตึกได้ แต่ที่ผ่านมา​เราได้รับคำแนะนำและความช่วยเหลือต่างๆ จากลูกค้ามาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการช่วยหาที่สำหรับขยายสาขาในช่วงที่หมดสัญญาเช่าที่ใน 2 ปีแรก การช่วยคิดเมนูอาหาร หรือการหาโลเกชั่นใหม่ๆ ในการช่วยขยายสาข​าอื่นๆ เพิ่มเติม รวมทั้งเครือข่ายของเกษตรกรที่ช่วยป้อนวัตถุดิบผักออแกนิกส์ คุณภาพดี ให้นำมาใช้ในร้าน”​ 

คุณกอล์ฟ เล่าให้ฟังว่า การย้ายสาขาจากเดิมที่เป็นอาคารพาณิชย์ ไปอยู่ที่​ BEE HIVE คอมมูนิตี้ในเมืองทองธานี​ ​​​ซึ่งเป็นทำเลที่ไม่ไกลจากสาขาเดิมมาก ทำให้ลูกค้าประจำเดินทางไปใช้บริการได้สะดวก ที่สำคัญด้วยความจำกัดของพื้นที่ ​เพราะเป็นร้านในห้างซึ่งพื้นที่ไม่มากนัก ทำให้ต้องเปลี่ยนจากการเตรียมอาหารในร้าน ย้ายไปเตรียมที่ครัวกลาง ทำให้ธุรกิจได้โมเดลสำหรับใช้ในการขยายสาขาใหม่ๆ ได้เพิ่มมากขึ้น จากการใช้ครัวกลางเดียวกัน นอกจากนี้การย้ายมาอยู่ในศูนย์การค้ายังลดปัญหาจุกๆ จิก และทำให้ลูกค้าเดินทางมาได้สะดวกขึ้น มีที่จอดรถ มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มากขึ้น ทำให้สามารถโฟกัสการดูแล​บริหารจัดการร้านและการให้บริการลูกค้าได้อย่างเต็มที่

ซึ่งหลังจากย้ายโลเกชั่นจากอาคารพาณิชย์ในเมืองทอง มาเป็นการเปิดในคอมมูนิตี้มอลล์ ยอดขายก็เติบโตเพิ่มขึ้นจากเดิมได้ถึง 3 เท่า รวมทั้งสามารถขยายสาขาเพิ่มได้มากขึ้น​เรื่อยๆ จน​มีสาขา​ถึง 6 แห่ง ในเขตรอบๆ กรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นโรบินสัน ศรีสมาน, คริสตัลพาร์ค เลียบด่วนรามอินทรา, เดอะ คริสตัล ราชพฤกษ์, เมกา บางนา, เสนาเฟส เจริญนคร​ ขณะที่ยอดขายจากเดิมที่ปีละ 3-4 ล้านบาท ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ ก็ขยับมาแตะเป็นหลักสิบล้าน และหลักร้อยล้านได้​ในเวลาไม่ถึง 5 ปี ขณะที่ยอดขายปีล่าสุดที่ผ่านมาทำได้ถึง 167 ล้านบาท

ปัจจุบันถือว่า Salad Factory ผ่านจุดที่ต้องลุ้นว่าธุรกิจที่สร้างขึ้นมานั้นจะ “รอด” หรือ “ไม่รอด” มาได้แล้ว พร้อมกับเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงอีกหนึ่งครั้งสำคัญของธุรกิจ ด้วยการขยับสเต็ปจากการเป็นธุรกิจครอบครัว มาสู่การเป็นหนึ่งแบรนด์ธุรกิจอาหารในอาณาจักรของ​เซ็นทรัล เรสตอรองส์​ กรุ๊ปหรือซีอาร์จี กลุ่มธุรกิจอาหารเครือเซ็นทรัลกรุ๊ปนั่นเอง

คุณปิยะ ดั่นคุ้ม และ คุณปิยะพงศ์​ จิตต์จำนงค์

ร่วมทุน CRG เพื่อเติบโตอย่างยั่งยืน

สำหรับการเข้ามาอยู่ในเครือ CRG ของ Salad Factory นั้น เป็นการเข้ามาในลักษณะของการตั้งบริษัทร่วมทุนที่ชื่อว่า บริษัท กรีนฟู้ด แฟคทอรี่ โดย CRG ถือหุ้น 51% และทาง​ Salad Factory สัดส่วน 49% เพื่อบริหารร้าน Salad Factory ทั้งสาขาใหม่ที่เปิดเพิ่มเติมหลังการทำ JV คือเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน และอีก 6 สาขาเดิม โดยการบริหารงานต่างๆ ยังคงเป็นหน้าที่ของคุณกอล์ฟ และครอบครัวดูแลเช่นเดิม ขณะที่ CRG จะเข้ามาสนับสนุนเรื่องของการเซ็ตระบบต่างๆ การขยายการลงทุนในธุรกิจ รวมทั้งการแชร์องค์ความรู้ต่างๆ ร่วมกัน

คุณปิยะพงศ์​ จิตต์จำนงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส CRG ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โมเดลการ Synergy กับทาง Salad Factory ถือเป็นการทำ JV ครั้งแรกของซีอาร์จี ตามนโยบายในการสนับสนุนให้กลุ่มธุรกิจ SME มีโอกาสเติบโตได้มากขึ้น เป็นอีกหนึ่งโมเดลในการขยายธุรกิจของซีอาร์จี จากเดิมที่มีโมเดลทั้งการสร้างแบรนด์เอง ซื้อแบรนด์ และซื้อลิขสิทธิ์แบรนด์มาขยาย รวมทั้งยังเป็นการเติมแบรนด์เข้ามาใน Portfolio ของบริษัทให้มีความ Diversify มากขึ้น จากปัจจุบันมีกลุ่ม QSR อาหารไทย อาหารญี่ปุ่น และเบอเกอรี่อยู่แล้ว

โดยเฉพาะในกลุ่มที่​มีศักยภาพเติบโตได้เป็นอย่างดีอย่างกลุ่มธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ ทั้งจากตลาดที่ใหญ่ไม่ต่ำกว่า 8.8 หมื่นล้านบาท รวมทั้งความสำคัญของ Health ที่เป็นปัจจัย Top 3 ที่ผู้บริโภคจะใช้ตัดสินใจเลือกในการรับประทาน​​ รวมทั้งเทรนด์ของการดูแลสุขภาพทำให้ความนิยมในการรับประทานสลัดและผักต่างๆ เพิ่มขึ้น ประกอบกับคู่แข่งในตลาดที่ยังมีไม่มากนัก โดยจุดแข็งของ Salad Factory ทั้งจากคุณภาพสินค้า รสชาติที่ดี และราคาไม่แพง

“การเลือก Salad Factory มาเป็นแบรนด์ในเครือ​ ทั้งโอกาสของตลาดอาหารสุขภาพ และที่สำคัญคือ Passion ของ Owner ​ท่ีมีความตั้งใจและเป้าหมายในการทำธุรกิจ ความเชี่ยวชาญที่มีต่อธุรกิจ รวมทั้งแรงจูงใจในการขับเคลื่อนธุรกิจในอนาคต ไม่ต่างจากการดูคู่แต่งงานที่ต้องหาคนที่มีเคมีตรงกัน เพื่อพูดคุยเรื่องเดียวกันและมีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน โดย CRG จะใช้จุดแข็งทั้งจากสาขาที่มีกว่าพันแห่ง และความเชี่ยวชาญในธุรกิจอาหารหลายสิบปี เพื่อช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้กับธุรกิจได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น” ​​

ขณะที่ คุณกอล์ฟ อธิบายถึงเหตุผลที่ตัดสินใจขยายสเกลธุรกิจจากการเป็น Family Business มาเป็นหนึ่งแบรนด์ในเครือ CRG เพราะต้องการเพิ่มโอกาสให้ทั้งพนักงานและเครือข่ายธุรกิจมีโอกาสเติบโตได้มากขึ้น เพราะการเป็นธุรกิจครอบครัวสเกลการเติบโตก็จะจำกัดอยู่ในระดับหนึ่งแต่หากได้รับการสนับสนุนจากมือออาชีพอย่าง CRG ก็มีโอกาสเติบโตได้ไกลและยั่งยืนมากขึ้นกว่าเดิม

และแม้ว่าการเร่งขยายธุรกิจจะเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญเพื่อสร้างการเติบโตนับจากนี้ แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมากกว่า คือการรักษามาตรฐานและคุณภาพของธุรกิจ เพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้ธุรกิจและรักษาความเชื่อมั่นในระยะยาว ก่อนจะเดินหน้าขยายสาขาทั้งในโลเกชั่นใหม่ๆ หรือในต่างจังหวัด รวมทั้งการให้บริการเดลิเวอรี่หรือการทำ Cloud Kitchen ในอนาคต ขณะเดียวกันจะเริ่มเดินหน้าทำตลาดอย่างจริงจัง เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ไปในวงกว้างให้เพิ่มมากยิ่งขึ้นด้วย

“หลังการร่วมทุนเรามีแผนจะสร้างครัวกลางแห่งใหม่ เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจ เนื่องจาก เป้าหมาย Long Term ที่วางไว้ร่วมกันใน 5 ปีจากนี้คือ การทำรายได้ให้แตะพันล้านบาท ซึ่งต้องขยายทั้งสาขาและเพิ่มกำลังผลิตให้เพียงพอ แต่ครัวกลางที่มีอยู่นั้นรองรับการขยายสาขาได้เพียงอีก 1-2 แห่งเท่​านั้น ประกอบกับเป้าหมายปีนี้ต้องขยายสาขา 4 แห่ง ดังนั้น Priority คือการเพิ่มศักยภาพของครัวกลางให้สามารถรองรับการเติบโตในอนาคตได้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการหาพื้นที่สำหรับตั้งโรงงาน รวมทั้งประเมินเม็ดเงินในการลงทุนไว้เบื้องต้นราว 60 ล้านบาท” 

อย่างไรก็ตาม ทั้งคุณปิยะพงศ์​ และคุณกอล์ฟ เห็นตรงกันว่า การจะทำธุรกิจร้านอาหารให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้นั้น นอกจากความแข็งแรงของโปรดักต์ ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพและรสชาติอาหาร หรือ Passion ในการทำธุรกิจแล้ว ​สิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กันก็คือ ความอดทน เพราะธุรกิจร้านอาหารเป็นธุรกิจที่ไม่มีวันหยุด ต้องอยู่บริหารร้านปีละ 365 วัน หากจะเข้ามาในธุรกิจนี้ ต้องถามตัวเองให้ดีว่ามีความอดทนมากพอที่จะทุ่มเทเวลา แรงกาย แรงใจ​ เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน โดยที่ยังไม่หมดไฟ และไม่ยอมแพ้ไปกลางทางเสียก่อนได้หรือเปล่า เพราะหากไม่มีความอดทนมากพอ โอกาสที่จะประสบความสำเร็จตามที่หวังนั้นก็น้อยลงไปด้วยเช่นกัน

Photo Credit : Salad Factory Thailand


แชร์ :

You may also like