HomeBrand Move !!ถอดภาพ 10 ปีข้างหน้าประเทศไทยผ่านมุมมอง “กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล” เหนื่อย-หนัก แต่จะไม่ซ้ำรอยเวเนซุเอลา

ถอดภาพ 10 ปีข้างหน้าประเทศไทยผ่านมุมมอง “กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล” เหนื่อย-หนัก แต่จะไม่ซ้ำรอยเวเนซุเอลา

แชร์ :

ต้องยอมรับว่าการคาดการณ์อนาคตอาจเป็นสิ่งที่ทำได้ยากขึ้นทุกทีในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในแง่ของพฤติกรรมผู้บริโภค, เทคโนโลยี, สิ่งแวดล้อม, โรคระบาด และนโยบายต่างประเทศ ที่ต่างเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน แต่หากมองจากมุมของเทคโนโลยีและธุรกิจ ชื่อของคุณกระทิง – เรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป ถูกยกให้เป็นหนึ่งในผู้ที่คาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงได้แม่นยำ และการคาดการณ์ของคุณกระทิงต่อการก้าวสู่ทศวรรษใหม่ก็ถูกส่งผ่านมายังทีมงาน Brandbuffet ด้วยแล้วเช่นกัน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

Q : ปี 2020 ในมุมมองของคุณกระทิงเป็นอย่างไร

ผมมองว่าเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงหลายเรื่อง อย่างเช่น Tech Disruption จริง ๆ ต้องบอกว่า อีก 5 ปีข้างหน้าจะเป็นช่วงที่ใกล้ End Game ของประเทศไทยแล้ว หลายธุรกิจจะเริ่มถูก Disrupt มากขึ้น และเป็นการ Disrupt ไล่กันไปเหมือนโดมิโน ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมสื่อ ที่เจอดิสรัปจากแพลตฟอร์มอย่าง YouTube หรือ Facebook

การท่องเที่ยวก็เช่นกัน จริง ๆ มันถูกดิสรัปไปแล้วรอบหนึ่ง แต่รอบใหม่นี้มันจะน่ากลัวยิ่งขึ้น เพราะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวตอนนี้มีมูลค่าถึง 13% ของ GDP ประเทศไทย และมีการจ้างงานเป็นล้าน ๆ คน แต่ตอนนี้เราเจออะไร ค่าเงินบาทแข็ง ของแพง นักท่องเที่ยวจีนก็มีปัญหา มันทำให้ประเทศไทยไม่เซ็กซี่อีกต่อไป

ส่วนอีคอมเมิร์ซ ตอนนี้เราพบว่าสินค้าของผู้ประกอบการไทยที่ขายของอยู่บน Shopee – Lazada มีจำนวนสินค้าน้อยกว่าคนจีนที่เอาของมาขายบนนั้นแล้ว และสินค้าเราไม่ค่อยมีนวัตกรรม ประเด็นคือ ณ ตอนนี้ แพลตฟอร์มพวกนี้เหล่านี้ต่างถมเงินเข้ามา เมื่อมีการถมเงิน คนก็หันมาช้อปออนไลน์มากขึ้น เงินก็ไหลกลับไปที่คนจีนมากขึ้น ต่างกับสมัยก่อนที่เราซื้อของออฟไลน์กัน ซึ่งการซื้อของออฟไลน์มันทำให้เงินหมุนเวียนกันในชุมชน มีการจ้างงาน แถมยังเสียภาษีให้รัฐได้อีกต่างหาก

อีกข้อคือเรื่องของ On-Demand Delivery ซึ่งตอนนี้มีมูลค่าตลาดประมาณ 30,000 ล้านบาท ที่ผ่านมา เราเห็นเขาถมเงินเข้ามาเยอะเลย เราเห็น Grab แข่งกับ Go-Jek แข่งกับ LINEMAN มีผู้บริโภคได้ประโยชน์มากมาย แต่ตอนนี้เป็นอย่างไร เขาเริ่มชาร์จร้านอาหาร คิดส่วนแบ่ง 30% ซึ่งร้านก็ตายละ ลงทุนไปตั้งเยอะ ตอนนี้จะออกก็ออกไม่ได้ต้องพึ่งแพลตฟอร์ม กลายเป็นว่าธุรกิจอาหารก็จะลำบากมากขึ้น คนผัดข้าว ทำงานหลังบ้านเหนื่อยแทบตาย สุดท้ายต้องไปเสียส่วนแบ่งให้แพลตฟอร์มเหล่านี้

เท่านั้นยังไม่พอ ภาคการเกษตรก็กำลังถูกดิสรัปตั้งแต่ Feed to Fork เลย คือตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ อาหารสัตว์ ฯลฯ ทุกอย่าง และตอนนี้มันเริ่มมี Synthetic Food หรือการเพาะแพลงก์ตอน ขยายพันธุ์โดยใช้ต้นทุนแค่น้ำทะเลกับแดด แล้วพอมันโตขึ้นมา ก็เอามาโปรเซสกลายเป็นเป็นโปรตีนผง นี่คือโลกที่เราอยู่

แต่เรามองแค่นี้ไม่ได้ เพราะยังมีอีกหลายปัจจัยที่มันฟีดเข้ามาพร้อม ๆ กัน เรามีปัญหา PM2.5 มีปัญหาความเหลื่อมล้ำมหาศาล เมื่อเกิดดิสรัปชัน คนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือคนที่อยู่ฐานล่าง คนกลุ่มนี้จะเจอกับปัญหาสภาพแวดล้อม ปัญหาสุขภาพ แต่เขาหยุดทำงานไม่ได้ เพราะเขาได้รายได้เป็นวัน และเขามีหนี้ แต่จะไปทำงานอย่างไร เพราะระบบออโตเมชั่นมาแล้ว

สมมติผมเป็นคนที่ป่วยจาก PM2.5 แต่ผมเป็นคนฐานล่าง ผมจะมีเงินไปซื้อหน้ากากอนามัยไหม จะมีเงินซื้อเครื่องฟอกอากาศตัวเป็นหมื่นไหม ไม่มี แล้วผมจะทำอย่างไร ผมไม่มีเงินผ่อนบ้าน มันเลยกลายเป็นวงจรที่ทำให้คนจนยิ่งจนลง สุขภาพแย่ลง เป็นหนี้มากขึ้น เป็นโลกที่อยู่ลำบากมากขึ้น แถมป็นหนี้อีก หนี้สาธารณะ 80% ของ GDP เด็กจบใหม่ออกมาทำงานต้องแบกหนี้ก้อนใหญ่ แถมมีคนแก่ให้ดูแลอีกตรึม ดังนั้นภาษีมันต้องขึ้นอยู่แล้ว แล้วคนรุ่นใหม่จะอยู่รอดได้อย่างไร

คนยุคต่อไปจะอยู่รอดได้ต้องมีเงินเดือนมากกว่าตอนนี้สองเท่า แต่ถามว่าอุตสาหกรรมที่จะจ้างงานคนด้วยเงินเดือนเท่านั้น ประเทศไทยมีกี่อุตสาหกรรม นี่จึงเป็นภาพของประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า

Q : จากที่เล่ามา อุตสาหกรรมที่เป็นเสาหลักของประเทศไทยกำลังจะถูกดิสรัปทั้งนั้นเลย

สำหรับผม ทศวรรษนี้จึงเป็นทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและน่ากลัวมาก และปี 2020 จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงแบบเร่งเครื่อง หรือ Accelerated change ที่ผมพูดมาเสมอ

ส่วน Tech Disruption ที่จะเกิดกับสถาบันการเงิน ผมคาดการณ์ไว้ประมาณอีก 3 ปี ตอนนั้น (2023) เราจะอยู่ในใจกลางของสึนามิเลย

Q : คุณกระทิงเห็นอะไรในปี 2023

Non-Bank เข้ามาแน่ ๆ อย่างสิงคโปร์เขาให้ดิจิทัลแบงกิ้งไลเซนต์ สองใบ คนสมัครเพียบเลย ประเทศไทยก็เช่นกัน ผมว่าจะมีดิจิทัลไลเซนต์สำหรับ Non-Bank แล้วแบงค์จะเหนื่อยมาก โดยเฉพาะแบงค์ที่ไม่ได้ลงทุนด้านเทคโนโลยี และแบงค์ที่ไม่มีสเกล

แต่กสิกรไทยรอด ผมมั่นใจ เพราะเราลงทุนล่วงหน้าปีละ 5,000 ล้านบาทมานานมาก เราทำ Transformation มาเป็นสิบปีแล้ว คุณปั้นท่านเป็นผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์มาก จะทำอะไรล่วงหน้าเสมอ ยุทธศาสตร์ของเราคือ Grow with the flow of commerce โลกการค้าอยู่ตรงไหนเราไปอยู่ตรงนั้น แล้วก็ต้องปล่อยกู้อย่างชาญฉลาด และระวังเรื่อง Cyber Security ท่านบอกทำสามอย่างนี้ได้จะบริลเลียนมาก

Q : นอกจากการลงทุนด้านเทคโนโลยีแล้ว ยังมีปัจจัยอะไรอีกบ้างที่องค์กรจำเป็นต้องใส่ใจ

องค์กรต้องลีน (Lean) ตัวเอง และต้องลงทุนในสิ่งที่เป็น Core Competency อย่าง KBTG เรามีพนักงาน 2,100 คนและเราตั้งเป้าจะเพิ่มเป็นสามพัน เราไม่ปลดคนเลย เราลดต้นทุนแต่เราไม่ลดคน

ผมว่า บริษัทในยุคต่อไปจะแสวงหากำไรสูงสุดเพื่อผู้ถือหุ้นอย่างเดียวไม่ได้แล้ว เพราะมันก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากขึ้นเรื่อย ๆ บริษัทในยุคต่อไปจะถูกกดดันจากผู้บริโภค จากพนักงาน และจากนักลงทุนให้ต้องรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้นเรื่อย ๆ และจะไม่ใช่การทำ CSR แบบผิวเผินอีกต่อไป เราจะพบว่า นอกจากทำ Digital Transformation แล้ว บริษัทจะเริ่มทรานสฟอร์ม DNA ของตัวเองให้มี Purpose ในการทำอะไรเพื่อสังคม และพนักงาน นี่คือสิ่งที่สำคัญ มันคือเรื่องของการแคร์ เรื่องของ ecosystem

อย่างกสิกรไทย เราลงทุนกับ Grab เราทำพาร์ทเนอร์ชิปกับ LINE กับ Lazada อันนี้ คือ Business ecosystem แต่ Social ecosystem ก็ต้องทำเช่นเดียวกัน อย่าง KBTG เราทำงานวิจัยร่วมกับเนคเทค และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาเป็น Thai NLP ให้คนไทยใช้กันฟรี ๆ เดี๋ยวในปีนี้จะมีออกมาอีกหลายตัว

Q : ทราบว่าเมื่อปีที่แล้ว คุณกระทิงไปบวชมา มีอะไรที่ได้เรียนรู้และนำไปปรับใช้ในยุค Disruption บ้าง

จริง ๆ มันสรุปออกมาเป็นประโยคเดียว “ทุกอย่างในโลกมันไร้สาระไปหมดเลย” เพราะแก่นของศาสนาพุทธคือทุกอย่างไม่มีตัวตน จริง ๆ ตัวเราก็ไม่มีตัวตน มันคือการที่เราหลุดพ้นจากทุกสิ่งทุกอย่าง นั่นคือนิพพาน ที่หมายถึงหลุดพ้นจากทุกอย่าง จากสังสารวัฏ หลุดพ้นจากทั้งความทุกข์ความสุข

แต่ขั้นรองลงมาจากนิพพาน คือเรื่องของสติ เมื่อก่อนผมเป็นคนที่ทำงานแบบ Multitasking แต่ตอนนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเรา รู้ว่าตอนนี้เราเกิดอารมณ์อะไรขึ้นมา แล้วให้ตระหนักถึงสภาวะปัจจุบันของเรา ตอนนี้เราพูดอะไรอยู่ ตอนนี้ผมไม่ได้เล่นมือถือ เวลาที่สำคัญที่สุดคือเวลาที่อยู่ตรงหน้า จงทำวินาทีที่อยู่ตรงหน้ากับคนที่อยู่ตรงหน้าให้ดีที่สุด ผมว่านี่แหล่ะคือสิ่งที่สำคัญที่สุดรองลงมาจากนิพพาน

Q : จากมุมของพุทธศาสนา เราสามารถนำมาปรับใช้เพื่อก้าวข้ามดิสรัปชันรอบนี้ได้อย่างไรบ้าง

ผมว่ามันคือการโฟกัส ประเทศไทยต้องโฟกัส และเลือกบางอุตสาหกรรมที่เราแข่งได้ อีกสิ่งหนึ่งคือการไม่ประมาท คนที่ไม่ประมาทคือคนที่จะอยู่รอด ยิ่งในยุคนี้คือดิสรัปชันมันมาจากเทคโนโลยีด้วยเนี่ย กำไรมันหายไปได้รวดเร็วมาก แล้วถ้าระหว่างนั้นเกิดดิสรัปชันอื่น ๆ เข้ามากระทบอีก เช่น สงครามการค้า, การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค หรือเกิดดิสรัปชันในธุรกิจที่เป็นซัพพลายเชนของเรา จำได้ไหม ตอนนั้นน้ำท่วมใหญ่ แล้วประเทศไทยเป็นซัพพลายเชนที่ใหญ่ที่สุดของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ ใครจะไปนึกว่าน้ำท่วมจะทำให้ซัพพลายเชนมันเละขนาดนั้น

การเกิดดิสรัปชันก็เหมือนกัน ถ้ามันไปทำให้ซัพพลายเชนของซัพพลายเออร์เราพัง จะทำยังไง ต้องคิดเตรียมตัวไว้เสมอ ไม่ประมาทดีที่สุด เพราะดิสรัปชันมักจะมาจากจุดบอดที่เรามองไม่เห็น

แต่สุดท้าย ผมว่าผมยังมองไม่เห็นว่าประเทศไทยจะเป็นเหมือนเวเนซุเอลา เรายังพอมีโอกาสรอด แต่จะเหนื่อยจากการทรานสฟอร์มตัวเองเยอะ และนั่นคือโจทย์ใหญ่ของซีอีโอในปีนี้ครับ


แชร์ :

You may also like