HomeInsight‘ธุรกิจคาเฟ่’ ในเกาหลีใต้ ใหญ่กว่าร้านสะดวกซื้อเท่าตัว พร้อม 5 คอนเซ็ปต์ร้านกาแฟมาแรง

‘ธุรกิจคาเฟ่’ ในเกาหลีใต้ ใหญ่กว่าร้านสะดวกซื้อเท่าตัว พร้อม 5 คอนเซ็ปต์ร้านกาแฟมาแรง

แชร์ :

การเติบโตของธุรกิจคาเฟ่ หรือร้านกาแฟในเกาหลีใต้ ค่อนข้างเป็นที่จับตามอง เนื่องจากคนเกาหลีนิยมดื่มกาแฟเป็นอย่างมากกันอยู่แล้ว รวมทั้ง​กระแส Cafe Hopping ที่แพร่หลายไปทั่วโลก ทำให้เทรนด์ความนิยมเข้าร้านกาแฟกลายเป็นกระแสที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและคาดว่าจะเติบโตไปอย่างต่อเนื่อง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ข้อมูลของ Small Enterprises and Market Service หรือ SEMAS กระทรวงเอสเอ็มอีและ สตาร์ทอัพของเกาหลีใต้ ระบุตัวเลขร้านกาแฟเมื่อช่วงต้นปี 2019 ที่ผ่านมา พบว่า มีอยู่กว่า 100,000 ร้านทั่วประเทศ ซึ่งมีจำนวนมากกว่าร้านสะดวกซื้อเกือบ 1 เท่าตัว โดยในปัจจุบันประเทศเกาหลีใต้ มีร้านกาแฟถึง 90,809 ร้าน โดยยังไม่ได้นับรวมร้านขายเบเกอรี่ หรือขนมหวานที่ขายกาแฟด้วย ขณะที่ตัวเลขร้านสะดวกซื้อทั่วทั้งประเทศมีอยู่ราวๆ  54,000 ร้าน

ส่องปัจจัยขับเคลื่อนตลาดเติบโต 

วัฒนธรรมการบริโภคกาแฟของคนเกาหลีเป็นที่นิยมไปทั่วประเทศ ด้วยปริมาณการดื่มกาแฟมากกว่า 2.5 หมื่นล้านถ้วย ในปี 2016 หรือเท่ากับ 500 ถ้วยต่อคนต่อปีโดยเฉลี่ย และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา​ ตัวเลขรายได้จากการจำหน่ายกาแฟในประเทศมีการเติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว จากราวๆ 3 แสนล้านวอน เป็น 8.8 แสนล้านวอน ซึ่งถือว่ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ขณะที่ข้อมูลของ Euromonitor รายงานตลาดคาเฟ่และบาร์ในเกาหลีใต้มีมูลค่าการเติบโต (Value Growth) ​ 2% ​เท่ากับ 1.62 ล้านล้านวอน ในปี 2017 ซึ่งในปัจจุบันร้านกาแฟในกลุ่ม​ Speicalist Coffee Shop​ อาทิ  Starbucks, A Twosome Place, และ The Coffee Bean & Tea Leaf เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมา

เช่นเดียวกับการขยายสาขาเพิ่มมากขึ้นของแบรนด์ที่มีราคาปานกลาง (Economy Coffee Brand) อย่าง Ediya Espresso​​ รวมท้ังการมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาทำตลาดจำนวนไม่น้อย เช่น​ แบรนด์ไอศกรีม​ Baskin Robbins ก็หันมาตีตลาดร้านกาแฟในเกาหลี​ผ่าน Baskin Robbins Brown เมื่อปีที่ผ่านมา ​และพบว่ากลุ่ม Chained Cafe มีแนวโน้มมีประสิทธิภาพในการตอบสนองความต้องการของตลาดได้ดีกว่าร้านกาแฟของผู้ประกอบการรายย่อย ทั้งในแง่ของทุนในการบริหารและโปรโมทธุรกิจ โดย Starbucks Coffee ถือเป็นผู้นำตลาดในเกาหลีใต้​ ที่ครองส่วนแบ่ง 14.6% ในปี 2017 มากกว่า Ediya Espresso ที่มีแชร์ 5.7% ถึงเกือบ 3 เท่า

ถึงแม้คนเกาหลีจะมีวัฒนธรรมการดื่มกาแฟ (Coffee Drinking Culture) เป็นทุนเดิม โดยมีปริมาณการบริโภคกาแฟเฉลี่ยมากกว่า 1 แถ้วต่อวันต่อคนอยู่แล้ว แต่ในปัจจุบันพฤติกรรมในการบริโภคกาแฟ มีการเปลี่ยนไปตามกระแสโดยรอบ​​ ทำให้สามารถจำแนกกลุ่มลูกค้าในธุรกิจได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

1. Coffee Drinking Culture หรือกลุ่มที่บริโภคกาแฟเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ทำให้จุดประสงค์หลักในการเข้าร้านกาแฟของกลุ่มนี้ จะเน้นการเข้าไปซื้อกาแฟเป็นหลัก และจะคำนึงถึงคุณภาพและรสชาติของกาแฟเป็นหลัก และมักนิยมซื้อแบบ​​ Grab and Go เมื่อซื้อแล้วก็จะไปทำกิจวัตรอื่นๆ ต่อ เช่น ไปทำงาน ไปมหาวิทยาลัย โดยคนเกาหลีสามารถบริโภคกาแฟได้ตลอดทุกช่วงเวลาของวัน ​รวมทั้งเวลาหลังอาหารมื้อเที่ยงหรือเย็น เนื่องจาก คนเกาหลีส่วนใหญ่ชอบทำงานตอนกลางคืน และนอนค่อนข้างดึก

2. ​Cafe Hopping Trend เป็นหนึ่งกลุ่มที่เติบโตอย่างมาก สำหรับผู้บริโภคที่นิยมเข้าร้านกาแฟเพื่อดื่มด่ำกับบรรยากาศในร้าน หรือมาเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ เพิ่มเติม นอกเหนือจากการซื้อกาแฟเพียงอย่างเดียว ทั้งการพบปะพูดคุยกับเพื่อนฝูง พูดคุยเรื่องงาน หรือแม้แต่ใช้เป็นสถานที่เดท ทำให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้ จะให้ความสำคัญกับคอนเซ็ปต์ การตกแต่ง ธีมและบรรยากาศต่างๆ รวมทั้งหน้าตาของอาหารอื่นๆ ที่มีจำหน่ายอยู่ภายในร้าน และมีแนวคิดในการจ่ายเงินเพื่อซื้อบรรยากาศในร้านเพื่อตอบสนองความพึงพอใจโดยรวม มากกว่ามองแค่ความคุ้มค่าของกาแฟหรืออาหารเท่านั้น ​

อย่างไรก็ตาม​ ปฏิเสธไม่ได้ว่า กระแส Cafe Hopping กลายเป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก ซึ่งนอกจากในเกาหลีใต้แล้ว เทรนด์นี้ยังได้รับความนิยมในอีกหลายประเทศ ทั้งในอังกฤษ ญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งประเทศไทยเอง ทำให้เริ่มมีคาเฟ่น่ารักๆ หรือมีร้านกาแฟที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเพื่อดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

5 เทรนด์ร้านกาแฟมาแรงในเกาหลี

จากรายงาน “ธุรกิจร้านกาแฟในเกาหลีใต้”​ โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล ได้ทำการศึกษาลักษณะของตลาด กลุ่มผู้บริโภค รวมทั้งความหลากหลายของไอเดียสร้างสรรค์ในธุรกิจคาเฟ่ของเกาหลีใต้ เพื่อ​เป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบไทย ในการนำไปประยุกต์ใช้หรือต่อยอดกับธุรกิจของตัวเอง​ ​ทั้งในแง่ของการปรับตัว หรือการมองเห็นโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจเพิ่มมากขึ้น โดยได้สรุปคอนเซ็ปต์และเทรนด์ร้านกาแฟที่น่าสนใจจากตลาดในเกาหลีใต้ ดังต่อไปนี้

1. ธุรกิจคาเฟ่ที่ได้รับแรงบันดาลใจมากจากสถานที่ใดที่หนึ่ง เช่น ร้าน Awesome Malta ย่านยอนนัมดง ที่เจ้าของร้านได้รับแรงบันดาลใจ มาจากการไปเที่ยวประเทศมอลตา ภายในร้านจึงตกแต่งด้วยกลิ่นอายศิลปะสไตล์ Maltese ดังนั้น กลุ่มลูกค้าของร้านประเภทนี้จะค่อนข้างเจาะจงไปยังกลุ่มที่สนใจในสถานที่แห่งเดียวกัน และในปัจจุบัน ประเทศไทยได้มีคาเฟ่ที่ได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศค่อนข้างมากอยู่แล้ว แต่โดยมากจะมาจากประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากคนไทยค่อนข้างชอบสไตล์ญี่ปุ่น ​ทำให้เกิดคาเฟ่ที่มีสไตล์คล้ายๆ กัน​ ไม่มีความแตกต่างและหลากหลาย รวมทั้งขาดเอกลักษณ์และลดความโดดเด่นลง การใช้คอนเซ็ปต์เดียวกันแต่เลือกสถานที่ที่แตกต่างก็จะสร้างแต้มต่อให้ธุรกิจได้มากขึ้น

2. ธุรกิจคาเฟ่อาหารสุขภาพ ปัจจุบันผู้คนเริ่มหันมาใส่ใจรักสุขภาพ เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น แต่ก็ยังอยากทานอาหารที่ชอบ ธุรกิจคาเฟ่อาหารหรือเบเกอรี่ที่เลือกใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพและมีประโยชน์ จึงค่อนข้างตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้ ​เช่น กลุ่มลูกค้าที่ชอบบริโภคผลิตภัณฑ์จาก PlantBase, ผลิตภัณฑ์ Gluten – Free และ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอื่นๆ เช่น Plant Cafe ย่านอีแทวอน ที่ทุกเมนูของทางร้านจะเป็น Plant-Based ส่วนในประเทศไทย​ ผู้คนก็เริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ค่าเฟ่ที่ขายอาหารเพื่อสุขภาพ จึงเป็นธุรกิจหนึ่งที่น่าสนใจและมีแนวโน้มเติบโตได้ในประเทศไทยเช่นเดียวกัน ​

3. ธุรกิจคาเฟ่ที่มีจุดขายเป็นวัตถุดิบใดวัตถุดิบหนึ่ง คาเฟ่ประเภทนี้จะมุ่งเน้นการโฆษณาวัตถุดิบใดชนิดหนึ่ง เป็นจุดขายและเป็นส่วนผสมหลักของเมนูภายในร้าน เช่น ร้าน Osulloc Tea House ที่ปัจจุบันมีกว่า 63 สาขาในเกาหลีใต้​ มีจุดขายเป็นชาเขียว จากเกาะเจจู ที่ใช้เป็นวัตถุดิบหลักในหลายเมนูของทางร้าน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มชาเขียว​ เค้กโรลชาเขียว บิงซูชาเขียว และไอศกรีมชาเขียว ซึ่งในไทย แต่ละจังหวัดหรือภูมิภาคก็มีของดี ประจำท้องถิ่นอยู่แล้ว ดังนั้น ผู้ประกอบการสามารถนำแนวทางนี้มาประยุกต์ใช้ได้ นอกจากเป็นช่องทางในการสร้างเอกลักษณ์ให้ธุรกิจแล้ว ยังสนับสนุนผลิตภัณฑ์ของไทยได้อีกด้วย

4. ธุรกิจคาเฟ่ที่มีจุดขายหลักเป็นกิจกรรมต่างๆ คาเฟ่ประเภทนี้เน้นขายกิจกรรมต่างๆ เป็นหลัก โดยการซื้อเครื่องดื่มภายในร้าน จะเป็นทางผ่านในการเข้าไปทำกิจกรรมนั้นๆ ​ส่วนกิจกรรมเหล่านั้นจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมนอกเหนือจากค่าเครื่องดื่มหรือไม่ ขึ้นอยู่กับแต่ละร้าน

ธุรกิจคาเฟ่ประเภทนี้ จะมุ้งเน้นกลุ่มลูกค้าที่สนใจต่อกิจกรรมที่จัดขึ้น เช่น Ring Making Cafe ย่านฮงแด ที่ลูกค้าสามารถประดิษฐ์และออกแบบแหวนได้ด้วยตนเอง ตั้งแต่ เลือกรูปแบบแหวน สไตล์ รวมไปถึงการแกะสลักแหวนที่เราสามารถทำได้ตามชอบ โดยคิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ประมาณ 30,000 – 50,000 วอนเกาหลี เป็นต้น ซึ่งผู้บริโภคชาวไทยเอง ก็มีพฤติกรรมชอบประดิษฐ์ของเล็กๆ น้อยๆ ตามความสนใจอยู่แล้ว จึงเป็นอีกหนึ่งไอเดียที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทย

knowaboutkorea : Ring Making Cafe (반지만달기카페)

knowaboutkorea : Ring Making Cafe (반지만달기카페)

5. ธุรกิจคาเฟ่จากแบรนด์ที่โด่งดังอยู่แล้ว นอกจากเชนร้านกาแฟชื่อดัง หรือแบรนด์ของผู้ประกอบการรายย่อยที่สามารถพบเห็นทั่วไปแล้ว ในเกาหลีใต้ยังมีคาเฟ่​ที่เจาะกลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบแบรนด์ดีไซน์เนอร์ระดับโลก ที่เป็นที่รู้จักกันอยู่แล้ว คาเฟ่ประเภทนี้จะมีราคาค่อนข้างสูงกว่าคาเฟ่ทั่วไป และมีจุดขายคือแบรนด์ ​คอนเซ็ปต์ หรือเอกลักษณ์ของแบรนด์นั้นๆ ​เช่น Dior Cafe by Pierre Herme, Hermes Cafe เป็นต้น

​โอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย​ ซึ่งปัจจุบันมีแบรนด์เสื้อผ้าไทย​ที่มีโอกาสเติบโต และมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ดังนั้น การเลือกทำคาเฟ่ร่วมกับแบรนด์เสื้อผ้าของไทยที่กำลังเติบโต ก็อาจเป็นอีกหนึ่งช่องทางสร้างธุรกิจที่น่าสนใจ หรือแม้แต่เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าไทย หันมาทำคาเฟ่ที่สะท้อนเอกลักษณ์ของแบรนด์เข้าไป ก็เป็นอีกธุรกิจที่น่าสนใจไม่น้อยเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังได้สรุป​ปัญหาที่มักพบในธุรกิจคาเฟ่ ของเกาหลี ทั้งจำนวนคาเฟ่ที่มีมากเกินไป ทำให้เสี่ยงที่จะเกิด Over Supply และมีคู่แข่งจำนวนมาก เพราะธุรกิจคาเฟ่ในเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในธุรกิจที่เกิดขึ้นได้ง่าย และก็ปิดตัวลงได้ง่ายๆ เช่นเดียวกัน รวมทั้งเป็นธุรกิจที่มาเร็วไปเร็วแบบ Fast Trend คาเฟ่บางกลุ่มออกแบบมาเพื่อกลุ่มลูกค้าเฉพาะ หรือตอบสนองกระแสในช่วงเวลาใด เวลาหนึ่ง ทำให้อาจเป็นที่นิยมหรือสร้างกำไรได้แค่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง

ขณะที่ปัจจุบันกระแสหรือเทรนด์ต่างๆ เปลี่ยนไปค่อนข้างเร็ว จากการเข้าถึงโซเชียลมีเดีย ดังนั้น ​ธุรกิจที่จับกลุ่ม Coffee Drinking Culture ที่ไม่ได้เน้นการทำธุนกิจแบบเกาะกระแสก็จะมีโอกาสทำกำไรได้ในระยะยาวมากกว่ากลุ่มที่จับกลุ่มเป้าหมาย Cafe Hopping ที่อาจไม่สามารถทำกำไรในระยะยาวได้ จึงจำเป็นต้องปรับตัวให้ธุรกิจอยู่ในกระแสที่เกิดขึ้นได้อยู่ตลอดเวลา ​


แชร์ :

You may also like