HomeBig Featuredบาร์ “ผู้สูงวัย” พื้นที่สังสรรค์ของคนวัยดึก ธุรกิจใหม่ที่กำลังมาแรงในสังคมญี่ปุ่น

บาร์ “ผู้สูงวัย” พื้นที่สังสรรค์ของคนวัยดึก ธุรกิจใหม่ที่กำลังมาแรงในสังคมญี่ปุ่น

แชร์ :

หากพูดถึงร้านเหล้าญี่ปุ่นแล้ว เชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยอาจนึกภาพของร้านอิซากายะขึ้นมาเป็นแน่ แต่ในยุคที่ญี่ปุ่นเป็นสังคมผู้สูงอายุ และกำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราพบว่ามีการปรับเปลี่ยนของบาร์ประเภท Sunakku (มาจากคำว่า Snack) ให้เปิดรับผู้สูงอายุมากขึ้น แถมบางแห่งยังมีบริการพร้อมสรรพ ชนิดที่ว่ามีรถรับส่งผู้สูงอายุถึงบ้านกันเลยทีเดียว

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สำหรับใครที่นึกภาพบาร์ประเภท Sunakku ไม่ออก ก็ขอให้นึกถึงภาพยนตร์ญี่ปุ่นสมัยเก่า ที่ตามร้านเหล้าจะเป็นแหล่งรวมตัวของพนักงานบริษัท โดยมีเจ้าของร้าน หรือที่เรียกกันว่า “มาม่า” เป็นคนเตรียมอาหารและคอยดูแลเอนเตอร์เทนลูกค้า รวมถึงพูดคุยทักทายในเรื่องทั่ว ๆ ไปเพื่อทำให้พวกเขาสบายใจ

แน่นอนว่าบาร์ในลักษณะนี้ยังคงมีอยู่ในญี่ปุ่น แต่ก็ไม่ได้มีลูกค้าคับคั่งแบบในอดีต โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่มองภาพของร้าน Sunakku ว่าเป็นความล้าสมัย ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ร้าน Sunakku ต้องหากลุ่มลูกค้าใหม่ นั่นก็คือ ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านพักคนชรา เนื่องจากปกติแล้ว ผู้ที่อาศัยอยู่ให้บ้านพักคนชรา หรือ Nursing Home ในญี่ปุ่น มักจะเป็นคนมีฐานะนั่นเอง

หนึ่งในบริษัทที่จับเทรนด์นี้ได้มีชื่อว่า Atata ซึ่งแต่เดิมเคยทำธุรกิจคลินิกฝังเข็ม ร่วมกับบริการรับจ้างดูแลผู้สูงอายุโดยใช้ผู้บริบาลที่มีใบอนุญาต แต่ที่มาเปิดแฟรนไชส์นี้ได้เพราะบริษัทพบ Insight จากกลุ่มลูกค้าสูงวัยของตนเอง ว่าพวกเขาอยากไปสังสรรค์ในหมู่เพื่อนผู้สูงวัยเหมือนกัน หากสถานที่ที่จัดงานสังสรรค์นั้นมีพยาบาลดูแล ทางบริษัทจึงพัฒนาออกมาในรูปแบบของผับ Ryugujo สำหรับให้บริการเฉพาะลูกค้าที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป รวมทั้งผู้พิการเท่านั้น โดยทดลองเปิดที่เมืองโยโกสุกะ

ปัจจุบัน Atata เริ่มมีการการเปิดขายแฟรนไชส์ดังกล่าวแล้ว และตั้งเป้าว่าจะมีผู้สนใจร่วมเปิดธุรกิจมากถึง 200 แห่งทั่วประเทศ

เหตุที่แนวคิดของร้าน Ryugujo ได้รับความสนใจเพราะถือว่ามีบริการครบวงจรสำหรับผู้สูงวัยที่ต้องการออกมาดื่มสังสรรค์เลยทีเดียว ตั้งแต่บริการรับส่งจากบ้านไปถึงร้าน และเมื่อจบการสังสรรค์ก็มีบริการส่งกลับบ้าน ซึ่งทุกกระบวนการนั้นจะมีผู้บริบาลที่มีใบประกอบวิชาชีพทำหน้าที่ดูแลทุกย่างก้าว หรือหากใครที่เดินไม่ไหวก็มีรถเข็นคอยบริการอยู่ด้วย ส่วนค่าบริการนั้นคิดอยู่ที่ 8,000 เยน หรือประมาณ 2,200 บาท โดยรวมค่าเครื่องดื่มและกับแกล้มไม่อั้นสำหรับระยะเวลา 2 ชั่วโมง

ร้านพบปะสังสรรค์ของคนสูงวัยต้องใส่ใจทุกรายละเอียด

ที่น่าสนใจคือ ร้านในลักษณะนี้ต้องการการออกแบบที่มีความใส่ใจในรายละเอียดต่าง ๆ สูง เช่น การติดตั้งราวจับในเกือบจะทุกที่ การมีทางเดินที่สะดวกสำหรับผู้ใช้รถเข็น รวมทั้งติดตั้งกระดิ่งในห้องน้ำเผื่อผู้ใช้บริการต้องการความช่วยเหลือ นอกจากนั้น ประตูหน้าร้านก็จะติดกลอนประตูล็อครหัสเอาไว้ ป้องกันผู้สูงวัยออกไปเดินเล่นหน้าร้านหรือบนถนนอีกด้วย

สำหรับอาหารและเครื่องดื่มนั้น ทางร้านจัดกับแกล้มขนาดพอดีคำเพื่อให้กลืนง่าย และการจำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์โดยผู้บริบาลเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพที่จะตามมาอีกด้วย

ความแตกต่างของ Ryugujo กับร้าน Sunakku ทั่วไปนอกจากจะมีความปลอดภัยสำหรับผู้สูงวัยมากกว่าแล้ว เรื่องของเวลาการให้บริการก็ยังเปิดในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน นั่นคือ Ryugujo จะเปิดในเวลา 11.00 ถึง 20.00 น. เท่านั้น ขณะที่ร้าน Sunakku ส่วนใหญ่จะเปิดให้บริการเฉพาะตอนกลางคืน

ทากายะ ซาซากิ ผู้บริหารของ Atata กล่าวว่า “แนวคิดของร้านแบบ Ryugujo ได้รับการตอบรับค่อนข้างดี เห็นได้จากการมีผู้สนใจซื้อแฟรนไชส์เพื่อนำไปเปลี่ยนร้าน Sunakku ทั่วไปให้มาจับกลุ่มคนชรา และตอนนี้ยังมีแนวคิดสำหรับการเปิดร้านแบบ Ryugujo ในสถานที่อื่น ๆ เช่น บ่อน้ำพุร้อน และรีสอร์ทหลายแห่งอีกด้วย โดยเราพบว่า ไม่เพียงแค่ผู้สูงวัยจะอยากออกมาสังสรรค์กับเพื่อนฝูง แต่คนในครอบครัวอื่น ๆ ก็ต้องการเวลาพักผ่อนจากการดูแลผู้ใหญ่ในบ้านเช่นกัน”

อย่างไรก็ดี ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับเช่นกันว่า ร้าน Sunakku ที่ไม่ปรับตัวไปหาลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ นั้นก็มีแนวโน้มจะอยู่ยากขึ้น เนื่องจากคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ไม่สนใจร้าน Sunakku อีกต่อไป และมองว่าเป็นเชย ไม่ร่วมสมัยแล้วอีกด้วย ดังนั้น หากมีแฟรนไชส์ที่สามารถพาพวกเขาไปหาลูกค้ากลุ่มใหม่ได้ บางทีก็อาจถึงเวลาต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองเช่นกัน

Source


แชร์ :

You may also like